เชิง_รรถ สมมติ : หากไม่มีลิขสิทธิ์ นักเขียนจะอยู่อย่างไร? โดย นิธิ นิธิวีรกุล

Last updated: 19 พ.ย. 2565  |  1610 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เชิง_รรถ สมมติ : หากไม่มีลิขสิทธิ์ นักเขียนจะอยู่อย่างไร? โดย นิธิ นิธิวีรกุล

หากไม่มีลิขสิทธิ์ นักเขียนจะอยู่อย่างไร?
โดย นิธิ นิธิวีรกุล

---
ในฐานะนักเขียนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นพวกหัวเก่า โอลด์สกูลอะไรก็ว่ากันไป ข้าพเจ้ายังมีความเชื่อว่าการจะเป็นนักเขียนได้นั้น ไม่ใช่แค่การโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแล้วมีแค่เพื่อนไม่กี่คนมากด like กด love แล้วตั้งค่าสถานะให้เห็น ‘เฉพาะเพื่อน’

แต่การจะเป็นนักเขียนในความคิดข้าพเจ้า ข้อความที่อยากจะสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าส่วนตัว หรือเรื่องแต่ง หรือสารคดีใดๆ ก็แล้วแต่ ล้วนต้องได้รับการยอมรับจากผู้คนจำนวนหนึ่งก่อน นั่นหมายถึงข้อความ หรือข้อเขียนชิ้นนั้นๆ จะต้องถูกทำให้เป็น ‘สาธารณะ’ ไม่ว่าจะด้วยการตั้งค่า หรือถ้าในโลกยุคที่ข้าพเจ้าเติบโตมาก็คือ การได้รับ ‘การตีพิมพ์’ ให้ออกมาเป็นรูปเล่มที่เรียกว่า ‘หนังสือ’ (กับยุคปัจจุบัน เพียงได้รับการ ‘เผยแพร่’ ก็มากพอแรงแล้ว)

ยังไม่นับว่า มีกระบวนการพิจารณา มีกองบรรณาธิการ มีบรรณาธิการ มีขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ข้อเขียนชิ้นนั้นปรากฏในฐานะสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นสาธารณะ ไม่ใช่แต่เพียงการพร่ำบ่นอยู่ในห้องมืดๆ ทึมๆ คนเดียว เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น โลกวรรณกรรมคงไม่ได้รู้จัก ฟรันซ์ คาฟคา ที่ตั้งมั่นความปรารถนาของตนก่อนเสียชีวิตไว้ที่การเผาต้นฉบับ แทนที่จะใส่ซองติดแสตมป์ส่งไปให้สำนักพิมพ์สักแห่งในกรุงปรากพิจารณา

ทีนี้ เมื่อข้อความหรือข้อเขียนของใครสักคนถูกพิจารณาโดยกลุ่มคนสักกลุ่ม ซึ่งแน่ละ ในด้านหนึ่งเราล้วนมองได้ว่าเป็นเพียงความเห็นของกลุ่มคณะหนึ่งที่มีความคิดคล้ายกัน กระนั้น เมื่อข้อความหรือข้อเขียนชิ้นนั้นๆ ถูกพิจารณาให้ผ่านเพื่อตีพิมพ์ นับตั้งแต่นั้น ‘การลงทุน’ ได้เริ่มต้น โดยเจ้าของสำนักพิมพ์เป็นผู้แบกรับความเสี่ยงที่ไม่อาจคาดเดาได้เลยว่า สาธารณะชนจะชื่นชอบในหนังสือเล่มนั้นๆ จนมันถูก ‘พิมพ์ซ้ำ’ หลายต่อหลายครั้งอาจนำเม็ดเงินกลับมาสู่สำนักพิมพ์จนงอกงามเป็นกำไรให้ชีวิตที่ดำรงอยู่ภายใต้สำนักพิมพ์ต่างๆ สามารถมีชีวิตต่อไปในฐานะแรงงานทางปัญญา หรือ…อีกหลายต่อหลายครั้งเช่นกัน กลายเป็นเพียงหนังสือที่ขายได้แค่หลักร้อย (เช่นงานเขียนของข้าพเจ้า และของนักเขียน/กวีไทยอีกหลายคน) ส่วนที่เหลือถูกทิ้งให้อยู่ในโกดังรอวันถูกโละให้กลายเป็นหนังสือลดราคา

การลงทุนและการพิมพ์ซ้ำล้วนอยู่ภายใต้มิติกรอบคิดของระบบทุนนิยม ที่แม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่เห็นด้วยในบางแง่บางมุมของระบบนี้ แต่ทุนนิยมก็ยังเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนสังคม จนกว่าเราจะมีระบบอื่นที่ดีกว่าและคนทั้งสังคมยอมรับ เช่น สังคมนิยม รัฐสวัสดิการ ที่ข้าพเจ้าอยากจะขอใช้พื้นที่ในการแสดงความเห็นต่อไป ผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่ว่ากัน

เมื่อมีการลงทุนแล้ว จึงเป็นธรรมดาที่สำนักพิมพ์ย่อมคาดหวังผลกำไร อย่างน้อยที่สุดคือไม่ขาดทุน แต่อย่างไรก็ดี ธุรกิจหนังสือน่าจะเป็นธุรกิจเดียวในจำนวนธุรกิจอีกมากมายที่ประกอบกิจการด้วยหัวจิตหัวใจ ซึ่งเหมือนว่าจำเป็นต้องใช้มากกว่ากรอบคิดของระบบทุนนิยมที่หวังผลกำไรโดดๆ โดยเฉพาะกับสำนักพิมพ์เล็กๆ ทั้งหลายแหล่ที่การลงทุนออกมาเป็นรูปเล่มของนักเขียนและกวีไทยหลายต่อหลายคนล้วนประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน คือ ‘ขาดทุน’ นั่นจึงนำมาซึ่งการลงทุนในนิยายแปล งานวิชาการแปล ที่อย่างน้อยก็น่าจะพอช่วยให้ได้ทุนและกำไรกลับมาคืนมามากกว่า (แต่ก็ใช่ว่างานแปลทุกเล่มจะได้ทุนคืน) ทำให้สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่ถูกเขียนโดยคนไทยหรือจากต่างประเทศ กล่าวโดยเฉพาะเล่มที่ขาดทุน ล้วนต้องการเนื้อหาที่ตอบโจทย์สาธารณะชนมากพอให้เกิดเป็นการพิมพ์ซ้ำเพื่อสร้างผลกำไรให้สำนักพิมพ์ได้ต่อยอดทางธุรกิจเพื่อพิมพ์หนังสือต่อไป

และปัญหาการตอบโจทย์ของสังคมนี้เองทำให้ข้าพเจ้าหมกมุ่นอยู่กับคำตอบจนออกมาเป็นนิยายเรื่อง ‘อาณาเขต’ เพื่อจะตอบคำถามว่า หากนักเขียนที่มีชื่อมีผลงาน แล้วถูกสวมรอยโดยนักเขียนที่ไม่เคยมีผลงาน หรือมีชื่อในนามปากกา ‘สมมติ’ ขึ้นมา งานนั้นจะยังถูกสนใจไหม?

คนจะอ่านเพราะเป็นงานเขียนของ ‘นิธิ นิธิวีรกุล’ หรือเพราะเป็น ‘อัณณ์ คณัสนันท์’ --- นั่นเป็นประเด็นสำคัญของ ‘อาณาเขต’ 

ทว่า ‘ชื่อ’ ของนักเขียน/กวี ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของคำถามที่ว่า ทำไมวรรณกรรมไทยถึงขายไม่ได้ หรือขายได้น้อย ทำให้นักเขียนไทย/กวี ล้วนจำเป็นต้องหางานการอย่างอื่นทำเพื่อให้ชีวิตสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ บ้างก็ด้วยการเขียนในแนวอื่นๆ หรือก็ด้วยการทำงานประเภทอื่นไปเลย

ดังนั้น หากสำนักพิมพ์จำต้องอาศัยการพิมพ์ในจำนวนหนึ่งเพื่อสร้างผลกำไรได้แล้ว (โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 2,500-3,000 เล่ม) นักเขียน/กวี ก็จำต้องอาศัยลิขสิทธิ์เพื่อสร้างรายได้จากงานเขียน เพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ แตกต่างจากนักเขียนในยุคก่อนกฎหมายลิขสิทธิ์ราวคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ที่มีรายได้มากพออยู่แล้วด้วยสถานะทางชนชั้น ซึ่ง อธิป จิตตฤกษ์ ผู้เขียนหนังสือ ‘กำเนิดลิขสิทธิ์’ ได้อธิบายต่อเรื่องนี้ไว้ว่า


“...ด้วยพื้นฐานทางรายได้ของคนในชนชั้นที่ไม่ต้องทำมาหากินนี้ เมื่อพวกเขาเป็น ‘นักเขียน’  พวกเขาก็ไม่ต้องเผชิญปัญหาทำนอง ‘นักเขียนก็ต้องกินข้าว’ และเราก็จะเห็นได้ว่าการอ้างกรรมสิทธิ์ยิบย่อยในงานเขียนนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เลยก่อนศตวรรษที่ 18 ซึ่งเอาจริงๆ ในกรอบความคิดของโลกอภิชน การรับเงินจากการเขียนหนังสือดูจะเป็นเรื่องเสื่อมเกียรติด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นการกระทำเยี่ยงการขายแรงงานตนแบบพวกช่างและพ่อค้าที่เป็นชนชั้นต่ำกว่าอย่างสามัญชน…” 

กระทั่งต่อมาเมื่อมีกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว จุดประสงค์ในการร่างกฎหมายนี้ขึ้นมาก็เป็นไปเพื่อป้องกันการผลิตซ้ำจากบรรดาช่างพิมพ์และพ่อค้าที่รวมตัวกันเป็นผู้ถือสิทธิ์ผูกขาดในงานเขียนโดยที่นักเขียนไม่ได้มีส่วนใดๆ ในรายได้ที่เกิดจากการผลิตซ้ำเหล่านั้นเลย ทั้งด้วยสถานะทางชนชั้นสูงประการหนึ่ง และด้วยเหตุผลของการซื้อขาดต้นฉบับอีกประการหนึ่ง

กว่าที่ ‘ชื่อ’ ของนักเขียนจะมีสถานะประหนึ่งใบรับประกันสินค้าให้ตัวเล่มหนังสือต่อนักอ่าน ว่าซื้อไปแล้วจะได้รับอะไรบ้างจากการเสียเงินซื้อ ก็เมื่อกฎหมายลิขสิทธิ์ได้พัฒนา คลี่คลายตัวไปพร้อมๆ กับการขยายของระบบทุนนิยม ถึงจุดนี้ สถานะของความเป็นนักเขียนจากในยุคก่อนเกิดกฎหมายลิขสิทธิ์ก็เปลี่ยนกลายไปมากแล้วเมื่อเทียบกับปัจจุบัน กระนั้นการที่นักเขียนจะมีรายได้จนถึงขั้นดำรงอยู่ได้ด้วยอาชีพนักเขียนประการเดียวก็ดูเป็นไปได้ยาก และมีเพียงนักเขียนหยิบมือเท่านั้นที่ทำได้

กระบวนการผลิตหนังสือที่เริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือกของบรรณาธิการ มาจนถึงการใส่ใจในขั้นตอนต่างๆ ของการดูแลต้นฉบับงานเขียนสักเล่มก่อนเข้าสู่แท่นพิมพ์ จึงเข้ามาแทนที่ ‘ชื่อ’ ของนักเขียนที่ยังไม่สามารถสร้างฐานคนอ่านได้มากพอ ขณะเดียวกัน ปัญหาที่ยังคงมีคือ แม้แต่นักเขียนที่มี ‘ชื่อ’ มีฐานคนอ่านระดับหนึ่งแล้ว ก็ยังรับประกันไม่ได้ว่ายอดขายหนังสือแต่ละเล่มจะเป็นไปอย่างที่วางแผนการตลาดเอาไว้

‘ชื่อ’ ของนักเขียนจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาหนังสือขายไม่ออกของแวดวงวรรณกรรมไทย แต่การจะทำยังไงให้หนังสือเฉพาะทางเหล่านี้ถูกอ่าน ถูกพูดถึงในวงกว้างมากกว่านี้ต่างหากที่เป็นอีกส่วนของปัญหา ซึ่งไม่ใช่ขอบเขตของข้อเขียนชิ้นนี้ที่ข้าพเจ้าต้องการนำเสนอ

เกริ่นมาเสียยืดยาว ข้าพเจ้าต้องการใช้พื้นที่นี้เพื่อจะนำเสนอความคิดภายใต้ประเด็นที่ว่า หากปราศจากนามของนักเขียนแล้ว รายได้ที่นักเขียนจะได้รับภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์จะได้รับจากทางไหนได้บ้างเพื่อให้นักเขียน/กวีไทยสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

นั่นเพราะเอาเข้าจริงแล้ว ข้าพเจ้ามีความคิดว่านักเขียนไม่อาจสร้างงานขึ้นมาโดยเอ่ยอ้างหรือเคลมว่างานชิ้นนั้นๆ เป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียวได้ ไม่ว่าอย่างไร นักเขียนหรือกวีล้วนได้รับอิทธิพลทั้งจากงานเขียนของนักเขียนที่มีผลงานมาก่อน หรือชีวิตของผู้คนที่รายรอบ นักเขียนและกวีจึงเป็นเพียงผู้มองเห็น แล้วใช้ถ้อยคำเพื่อสร้างเรื่องให้เกิดเป็นรสที่เรียกว่าสุนทรียะทางการอ่านขึ้นมาเท่านั้น

แล้วกฎหมายลิขสิทธิ์ก็ให้ผลตอบแทนนักเขียน/กวีแต่เพียงในมิตินี้ กรอบคิดของกฎหมายยังยืนอยู่บนพื้นของความเป็นปัจเจกมากกว่าการดำรงอยู่ของชิ้นงานที่ล้วนได้รับการโอบอุ้มโดยคนตัวเล็กตัวน้อยของสังคม คนที่ถูกทิ้ง คนที่ถูกเมิน คนที่ถูกกักขัง หรือคนที่ถูกฆาตกรรมโดยอำนาจรัฐ หรือเพียงความริษยา ไปจนกระทั่งความต้องการที่ไม่มีสิ้นสุดของผู้คน

กล่าวสำหรับข้าพเจ้าเอง เมื่อได้เงินค่าลิขสิทธิ์มา ข้าพเจ้าก็ไม่เคยนำเงินไปให้คนไร้บ้าน หรือคนยากไร้ หรือกระทั่งมอบให้กองทุนการต่อสู้ทางการเมืองต่างๆ ข้าพเจ้านำไปใช้ส่วนตัวเสียจนเกือบหมด อาจเพราะข้าพเจ้าไม่ได้มีมากพอจะแบ่งปัน หรืออาจเพราะจริงๆ แล้วข้าพเจ้าเห็นแก่ตัวเองมากกว่า แต่ไม่ว่าเป็นแบบไหน กฎหมายลิขสิทธิ์ทำงานคุ้มครองแต่เพียงในมิตินี้

กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่เคยคุ้มครองไปถึงต้นเรื่อง หรือแรงบันดาลใจของแต่ละชิ้นงานที่นักเขียน/กวีนำมาเรียบเรียงให้เราๆ ได้อ่านกัน ถ้านักเขียนบอกว่า แรงบันดาลใจคือแม่น้ำ เราจะจ่ายยังไง ด้วยอะไร? อีกทั้งกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้สนใจที่มาที่ไปของเรื่องราวแต่ละเรื่องว่ามีต้นทางมาอย่างไร จึงมีปลายทางออกมาเป็นหนังสืออย่างที่เห็น

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา แม้จะถูกเขียนขึ้นโดยกรอบของการคุ้มครองตัวผู้สร้าง แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ก็ไม่เคยมองเห็น ‘ผู้สร้าง’ จริงๆ -ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนที่ถูกทิ้งในสังคม- เลยแม้แต่คนเดียว

พอเขียนมาเช่นนี้ ผู้อ่านอาจมีคำถามว่า ถ้ากฎหมายจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ต้นเรื่องของทุกเล่มแล้ว ใครจะจ่าย? สำนักพิมพ์หรือ? หรือตัวนักเขียนเองที่เป็นผู้ไปเอาเรื่องราวของเขาเหล่านั้นมา?

เท่าที่ข้าพเจ้าคิดได้ คือ 'รัฐ' เป็นผู้จ่ายผ่านภาษีของประชาชนทุกคน

แน่นอนว่าภายใต้ระบบทุนนิยม ทันทีที่รัฐยื่นมือเข้ามาสอด นั่นย่อมอนุมานได้ว่าอิสระเสรีภาพอาจไม่ใช่สิ่งแรกๆ ที่รัฐคำนึง และยิ่งหากมีคำว่าสังคมนิยม หรือรัฐสวัสดิการเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นั่นอาจถูกอนุมานได้อีกเหมือนกันว่า มึงจะเบียวซ้ายอีกแล้วล่ะหรือ?

เปล่า...ข้าพเจ้าไม่ได้เชื่อในคอมมิวนิสต์ การจะนำอำนาจไปฝากไว้ในมือของคณะหนึ่งคณะใด ไม่ว่าจะภายใต้ระบอบการเมืองแบบไหน ล้วนจำเป็นต้องถูกตรวจสอบเพื่อถ่วงดุลอำนาจทั้งนั้น ไม่ว่าจะทุนนิยม สังคมนิยม หรือ กษัตริย์นิยม ล้วนจำต้องถูกโค่นล้มลงในที่สุด เพราะรัฐดำรงอยู่ได้ก็ด้วยประชาชนในรัฐนั้นๆ

ดังนั้น เมื่อประชาชนคนหนึ่งลุกขึ้นมาเขียนงานสักชิ้นเพื่อชี้ให้เห็นการที่ประชาชนอีกหลายคนถูกเมินเฉยจากรัฐ กระทั่งถูกฆาตกรรม เขาควรได้รับการคุ้มครอง และได้รับการสนับสนุน ไม่ว่าจะในนามนักเขียนหรือในนามสำนักพิมพ์

ทั้งนี้ข้าพเจ้าไม่ได้กำลังเสนอเพื่อจะซ่อนนัยยะว่า อ้อ...อย่างนั้นงานเขียนในแนวอื่นๆ เช่น นิยาย Y ล้วนไม่ต้องได้รับการสนับสนุน ไม่ต้องถูกคุ้มครองโดยรัฐ?!?

ข้าพเจ้ากำลังจะเสนอว่า การที่นักเขียน/กวีไทยจะดำรงอยู่ได้โดยไม่จำเป็นหรือต้องอาศัยแต่เพียงลิขสิทธิ์ที่ถูกจ่ายให้โดยสำนักพิมพ์เพียงฝ่ายเดียว แน่นอนว่ามิติการร่วมจ่ายโดยรัฐ เราๆ คุ้นเคยกันดีอยู่แล้วจาก ‘คนละครึ่ง’ ที่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้แก้ไขหรือสร้างเม็ดเงินจากการค้าขายเท่าไหร่นัก แล้วทำไมรัฐจะต้องร่วมจ่ายให้กับงานเขียนที่รัฐอาจไม่ได้เห็นด้วย หรือประชาชนส่วนใหญ่อาจไม่ได้รู้จักนักเขียน/กวี กระทั่งสำนักพิมพ์นั้นๆ ด้วยล่ะ?

ข้าพเจ้ามองว่าสังคมไทยในปัจจุบันยังไม่พร้อมที่จะตอบคำถามนี้ พอๆ กันกับยังไม่พร้อมตั้งคำถามต่อตัวเองว่าสถาบันกษัตริย์ยังจำเป็นอยู่ไหมในโลกทัศน์ปัจจุบันของสังคมไทยที่เคลื่อนมาไกลจากยุคดาบ ธนู ปืนคาบศิลา และการกู้กรุงพอสมควรแล้ว

สังคมโดยส่วนใหญ่ยังคงมองเรื่องอุตสาหกรรมเหล็ก ซีเมนต์ และการท่องเที่ยว สำคัญกว่าอุตสาหกรรมหนังสือ แทนที่จะมองการขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าอย่างพร้อมเพรียงในทุกๆ มิติ

อุตสาหกรรมและการลงทุนสำคัญไหม? แน่นอนว่าสำคัญ แต่อุตสาหกรรมเพื่อการลงทุนทางศิลปะวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานของความเป็นชาติ เป็นตัวตนของสังคมนั้นๆ เป็นสิ่งชี้วัดให้เห็นว่า ‘เราเป็นใคร’ ก็สำคัญไม่แพ้กัน และในบางแง่สำหรับข้าพเจ้าเองแล้ว อาจสำคัญเสียยิ่งกว่าด้วยซ้ำไป

กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้มองตรงนี้ น่าเศร้าพอๆ กัน ที่คนในแวดวงหนังสือบางคนบางกลุ่มก็ไม่ได้มอง แต่ล้วนมองภายใต้กรอบของแนวคิดที่ถูกเอ่ยอ้างไว้ในหนังสือ ‘กำเนิดลิขสิทธิ์’ ว่า


“สิทธิของผู้สร้างงานทางศิลปวัฒนธรรมในการผูกขาดการผลิตซ้ำและดัดแปลงงานทางศิลปวัฒนธรรมนั้นๆ ภายใต้เวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมาย”

และเมื่อหนังสือเล่มหนึ่งเล่มใดถูกผูกขาดการผลิตซ้ำภายใต้เวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว ปัญหาการฟ้องร้องจึงเกิดขึ้นตามมา เพราะไม่ได้เป็นแต่เพียงนักเขียนเท่านั้นที่ถูกละเมิดเอาเปรียบสิทธิในการผูกขาด แต่สำนักพิมพ์เองก็พลอยได้รับผลกระทบ ซึ่งกฎหมายที่ถูกกำหนดขึ้นมาโดยรัฐก็ไม่ได้สนใจหรือมองว่าหนังสือควรจะมีความหลากหลายเพื่อสร้างทางเลือกให้สาธารณะในการที่จะอ่าน

ซึ่งเอาเข้าจริง ในประเทศนี้ แม้แต่สิทธิในการอ่าน บางเรื่องประชาชนยังต้องไปหลบๆ ซ่อนๆ โดยไม่สามารถอ่านมันในพื้นที่สาธารณะได้โดยไม่ถูกจับจ้อง หรือถูกจับกุมเลย กรณียืนอ่านหนังสือ 1984 หลังการประท้วงรัฐประหารคสช.คงยังไม่ลืมเลือนกันใช่ไหม?

และสิทธิในการอ่านนั้นเป็นคนละเรื่องกับสิทธิในการผูกขาด เอาเข้าจริงแล้ว อย่างที่ข้าพเจ้ากล่าวไป นักเขียน/กวี ไม่ได้-และอาจจะไม่เคยเป็น- เจ้าของเรื่องที่ตนเขียนขึ้นมาอย่างแท้จริง 100% เลยด้วยซ้ำ แต่ทำไมพอมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยว กลับป่าวร้องตะโกนคำว่าลิขสิทธิ์ๆๆๆ แล้วมองว่ามันเป็นสิทธิส่วนบุคคล เป็นสิทธิที่ไม่ควรถูกละเมิด

จริงอยู่ และไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการผูกขาดย่อมครอบคลุมไปถึงมิติของการพิจารณาตีพิมพ์ของสำนักพิมพ์แต่ละแห่งที่เจ้าของ (ผู้มักจะควบตำแหน่งบรรณาธิการ) ต่างมีรสนิยมแตกต่างกันไป นักอ่านและนักเขียนจึงต้องหาสำนักพิมพ์ที่เหมาะหรือต้องรสนิยมตัวเองให้เจอ คำถามประการต่อมาคือ เรามีนายทุนมากพอที่จะสร้างสำนักพิมพ์ที่ตอบโจทย์ความหลากหลายของสาธารณะขนาดนั้นไหม?

เรามีสำนักพิมพ์ที่กล้าพิมพ์งานนิยายที่กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ตรงๆ เหมือนในซีรี่ย์ต่างประเทศหรือเปล่า? เราสามารถเขียนได้ไหมว่ากษัตริย์บ้ากาม หรือกลายเป็นซอมบี้ที่มองเห็นประชาชนเป็นแค่แหล่งอาหารเลี้ยงดูชีวิตองค์กษัตริย์เอง

ยังไม่ต้องไปถึงคำถามว่าแล้วใครจะอ่าน?!? เพราะการปักธงความคิดแบบนั้นไม่ต่างอะไรจากการนำเสนอละครที่วนลูปแต่ในแนวทางเดิมๆ แล้วผู้สร้างละครก็ออกมาอ้างว่าคนส่วนใหญ่ชอบดูแนวนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความหลากหลายให้เขามากพอ

ในขณะเดียวกัน เมื่ออาศัยประเด็นนี้มองกลับมายังแวดวงวรรณกรรม ปฏิเสธไม่ได้อีกว่า ความหลากหลายไม่ได้การันตีผลกำไรที่มากพอ คำพูดในเชิงปลอบใจกันเองจึงเกิดขึ้นอย่างไม่อาจเลี่ยง ‘ก็อยู่ๆ กันไปแบบนี้’ , ‘คิดว่าเช่าเขาอยู่ละกัน’ ทั้งๆ ที่ความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบทางเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขเดียวที่จำเป็นเสมอไป หากแก่นกลางสำคัญปราศจากซึ่งการคิดคำนึงถึงเสรีภาพของประชาชนในสังคมนั้นๆ เป็นหลัก แล้วอาศัยระบบทางเศรษฐกิจมาอุ้มชูกลุ่มคนที่ไม่ได้มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากพอที่จะเปล่งเสียง ไม่ได้มีชื่อมีชั้นมากพอให้คนในสังคมหันมาสนใจ หรือกระทั่งเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่การฟ้องร้องไม่ได้ส่งผลต่อสังคมส่วนใหญ่ที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีสำนักพิมพ์เหล่านี้อยู่

ข้าพเจ้าคิดว่าสังคมเราน่าจะหยุดได้แล้วกับค่านิยม มีมากพอแล้วจึงแบ่งปัน เพราะแทนที่จะสร้างสังคมที่ยังคงความเหลื่อมล้ำเหล่านั้นไว้อยู่ ทำไมไม่ช่วยกันคิดกันสร้าง หรือผลิตผลงานทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเหล่านั้นให้แคบเข้ามาเพื่อไม่ให้ต้องมีคนที่ขาดมากเกินจนต้องมีกองทุน มีการบริจาคมาอุ้มชู ทั้งๆ ที่หน้าที่เหล่านี้ควรจะเป็นหน้าที่ของรัฐที่เราต่างสถาปนาให้ถือครองอำนาจแทนเราในฐานะรัฐบาล ไม่ใช่กลุ่มคนที่ทำหน้าที่จัดสรรผลประโยชน์ตามฤดูกาลการเลือกตั้งหรือตามใบสั่งใคร

อันโตนิโอ กรัมชี่ เคยเขียนไว้ว่า “คนที่ถูกกดขี่เป็นกลุ่มคนที่ ‘ไม่มีที่ทางในประวัติศาสตร์’ ของตนเองในเอกสารทางการของรัฐ ไม่ได้รับการเหลียวแลและจมจ่อมอยู่ภายใต้เรื่องเล่าหลักของผู้ปกครอง” [ จากหนังสือ “บทสำรวจความคิดทางการเมืองของอันโตนิโอ กรัมชี่” วัชรพล พุทธรักษา สนพ.สมมติ]

ข้าพเจ้ารู้ดีว่าลำพังความคิด และ ‘ชื่อ’ ของข้าพเจ้าไม่ได้มีอิทธิพลมากพอที่ใครจะมาสนใจแนวคิดที่ต้องการนำเสนอ ยังไม่นับว่าแนวคิดนี้จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะแนวคิดของข้าพเจ้าก็ไม่ได้ใหม่อะไร และข้าพเจ้าก็ไม่ได้วาดหวังอะไรกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย หรือสถาบันรางวัลทางวรรณกรรมที่มอบให้แต่ ‘คนหน้าเดิมๆ’ เพื่อให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอื่น สามารถมีแรงในการคิดสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นมรดกของชาติ หรือศิลปาธรต่อไป

ข้าพเจ้าเพียงแต่วาดหวังให้เรามีสังคมที่สามารถออกแบบกฎหมาย ออกแบบกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยไม่อิงแต่กรอบของผลประโยชน์และสิทธิผูกขาดบนพื้นฐานของกำไรแต่เพียงอย่างเดียว (ข้าพเจ้าไม่ได้บอกว่าเราไม่ควรมีกำไรมากๆ) เพราะแทนที่เราจะนำเงินภาษีของทุกคนไปจ่ายให้แก่คนเพียงไม่กี่คนที่ถูกตั้งขึ้นโดยชาวคณะที่มีความคิดคร่ำครึ ทำไมเราไม่จ่ายให้สำนักพิมพ์และนักเขียนให้สามารถผลิตงานในแนวทางของตัวเองออกมา แทนที่จะจมจ่อมอยู่ภายใต้เรื่องเล่าหลักของผู้ปกครอง ข้าพเจ้าไม่เชื่อหรอกว่า ถ้าคุณทำเศรษฐกิจให้ดีขึ้นมาก่อนแล้ว การสนับสนุนจากภาครัฐและกำลังซื้อจากประชาชนจึงจะตามมาเพื่อพยุงให้กิจการของสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่พิมพ์งานของนักเขียนที่แทบไม่มีใครรู้จักสามารถดำรงอยู่ได้

ตรงกันข้าม ข้าพเจ้าคิดว่าเราผลักดันเรื่องเหล่านี้ไปพร้อมๆ กันได้โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับกรอบแนวคิดที่ว่าให้ผู้มีประสบการณ์เท่านั้นทำเถอะ เพราะถ้าเช่นนั้น เราก็จะติดอยู่กับ ‘คนหน้าเดิมๆ’ อยู่ร่ำไปทั้งในทางการเมือง และในทางศิลปวัฒนธรรม 

ข้าพเจ้าไม่ปฏิเสธว่าแนวคิดนี้ของข้าพเจ้าเต็มไปด้วยจุดอ่อน และมีช่องโหว่ที่ไม่สามารถมีคำตอบที่ชัดเจนให้ได้...เฮ้อ...ข้าพเจ้าเป็นนักเขียนที่ไร้นามและชื่อชั้น ทุกวันนี้ยังต้องหาเลี้ยงตัวเองในฐานะคนงานในโรงงานอยู่เลย อีกทั้งข้าพเจ้ายังคิดว่าสังคมไทยในปัจจุบันยังไม่พร้อมสำหรับคำตอบในประเด็นที่ข้าพเจ้าได้นำเสนอ (หากมีคนอ่านมากพอ) เพื่อปรับเปลี่ยนมันหรอก ขออภัยหากคิดว่านี่คือการดูแคลน แต่ยอมรับไหมว่าเราต่างหวังพึ่งคนอื่นให้สู้แทนทั้งนั้น

ให้คุณลองนึกภาพวันที่ไม่มี เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นั่งอยู่ในคณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรม หรือวันที่ไม่มี ทักษิณ ชินวัตร และ ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’ ในสมการการเมืองไทยเอาแล้วกัน

บางทีคำตอบนั้น คุณผู้อ่านอาจจะตอบได้ดีกว่า.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้