จุดเริ่มต้นปัจเจกชนนิยม (individualism) กับ แนวคิดแบบ Anglo-American

Last updated: 4 ธ.ค. 2565  |  2698 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จุดเริ่มต้นปัจเจกชนนิยม (individualism) กับ แนวคิดแบบ Anglo-American

  •  การตัดขาดของศาสนาคริสต์กับศาสนายิว และการถูกลงโทษของพระเยซูโดยวิธีที่ใช้กับคนชั้นต่ำ
  • ความซับซ้อนของโลก มนุษย์ และสรรพสิ่งที่ถูกลดลง
  • ทำไมกรอบความคิด Anglo-American ให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกชน
  • รากฐานความเป็นโปรเตสแตนต์ (Protestant) และคาทอลิก (Catholic) ในยุโรป
  • ช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยกับยากจนที่มากขึ้น

 ==========

วิธีคิดแบบ Anglo-American คืออะไร? มีจุดกำเนิดมาจากไหน?

ความคิดแบบ Anglo-American เป็นหน่วยย่อยของความคิดแบบยุโรปตะวันตก แล้วอะไรคือความคิดแบบยุโรปตะวันตก? ขอตอบหยาบๆ ว่าเป็นความคิดแบบ ยิว-คริสต์ (Judeo-Christian) โดย Christian เป็นการผสมความคิดผิวเข้ากับความคิดกรีกโบราณ คำว่า Christ มาจากภาษากรีกคำว่า ‘Khristos’ หมายถึง ผู้นำที่จะปลดปล่อยมนุษย์ (Messiah) ดังนั้น สำนึกของยิวและศาสนาคริสต์คือต้องปลดปล่อย (liberate) เช่น โมเสส (Moses) ปลดปล่อยชาวยิวจากการเป็นทาสฟาโรห์ของอียิปต์โบราณ การ liberate จากฟาโรห์จึงทำในโลกนี้ ไม่ใช่โลกหน้า

ทั้งศาสนายิว คริสต์ และอิสลาม เป็นเอกเทวนิยม (Monotheism) หรือศาสนาอับราฮัม (Abrahamic religions) ที่สืบสาวกลับไปสู่บรรพบุรุษอย่าง อับราฮัม (Abraham) ศาสนาคริสต์แตกแขนงมาจากยิว พระเยซูเป็นยิว ศาสนาคริสต์ตัดขาดจากยิว จนนำไปสู่การพยายามที่จะแยกขาด พระคัมภีร์พันธะสัญญาเก่าและพันธะสัญญาใหม่ออกจากกัน ตัดขาดว่าศาสนาคริสต์กับศาสนายิวไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ พวก Christian ก็มีความเชื่อว่าพระระดับสูงจากยิวต้องการฆ่าพระเยซูแต่ไม่ได้ฆ่าเอง คนทำกระบวนการทั้งหมดเป็นทหารโรมัน พระเยซูถูกนำไปตรึงกางเขน (Crucifixion) ของโรมัน เป็นการลงโทษที่ใช้กับคนชั้นต่ำ

การตัดขาดแยกขาดจากกันก็ไล่ไปจนถึงศาสนาอิสลาม ซึ่งกลายเป็นคนละความคิดคนละศาสนากันไปแล้ว ไม่มีความต่อเนื่องและความเกี่ยวข้องกันแล้ว แต่ที่กล่าวมาก็เป็นการแยกจากกันในมิติของ space เพียงแต่การแยกนี้ก็ยังเป็นการแยกในมิติทางเวลาด้วย การแบ่งแยกทางเวลาจะไม่มีความไม่ต่อเนื่อง (discontinuity) ซึ่งก็แล้วแต่จะเรียก อาจจะบอกได้ว่าเป็น paradigm shift หรือ epistemological break แม้กระทั่ง revolution ไปจนถึงจะใช้คำว่า disruption ก็น่าจะได้ ไล่ไปจนถึงระดับอ่อนๆ ก็อาจจะเป็น period หรือ periodization ไปจนถึง stage ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนของ ‘time’

ศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาใหม่ หากแยกไม่ได้ก็มีศาสนาใหม่ไม่ได้ การปฏิเสธของเก่าเป็นเงื่อนไขของการเกิดสิ่งใหม่ ถ้าจะใช้ภาษาแบบฟรอยเดียน (Freudian) การเป็นโอดิปัส (Oedipus) ที่ต้องฆ่าพ่อ แสดงคุณลักษณะของการเกิดสิ่งใหม่ให้เป็นไปได้ ต้องก้าวข้ามพ้นร่มเงาของพ่อหรือบรรพบุรุษไปให้ได้ ไม่มีใครอยากอยู่ใต้ร่มเงาของใคร ประโยคในเพลง The Greatest Love of All ที่บอกว่า “I decided long ago. Never to walk in anyone's shadow” แสดงจุดยืนแบบนี้ จุดยืนที่เป็นอิสระ (liberate) แล้ว

..,

ถ้าพูดแบบหยาบๆ แน่นอนก็คงต้องหยาบๆ คร่าวๆ เพราะความซับซ้อนของโลก ของมนุษย์ ของสรรพสิ่ง ถูกลดลงมาให้เหลือเป็นคำสัมภาษณ์ หนังสือ งานวิจัย ทฤษฎี โลกทัศน์ และอะไรอื่นๆ อีกสารพัด กรอบความคิด Anglo-American ให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกชน (individual) ซึ่ง individual เองก็อยู่ในฐานะคุณลักษณะของ ‘persona’ ที่ยังถูกจัดระเบียบให้เป็นเรื่องของยุโรปซึ่งตรงกันข้ามกับโลกตะวันออก ถ้าเป็นโลกตะวันตกก็เป็น individual ในสังคมแบบอื่นๆ ก็อาจจะไม่เป็น ในยุโรปตะวันตกด้วยกันเอง อังกฤษก็จะถูกจัดให้เป็นพวกที่ individual มากกว่ายุโรปอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับยุโรปใต้ แต่เมื่อนับรวมพวก อเมริกันเข้าไปแล้วคนอเมริกันก็มีความเป็น individual มากกว่าคนยุโรป ถ้าไปทางตะวันตกจนถึงแคลิฟอร์เนียก็จะบอกว่า พวกคนแคลิฟอร์เนียมีความเป็น individual มากกว่าคนอเมริกันฝั่งตะวันออก

ถึงแม้ว่าในโลกเชิงประจักษ์ การแบ่งแบบนี้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจริงกับคนแต่ละคน เรื่องพวกนี้ก็เถียงกันได้ตลอด คำว่า individual เองก็ชัดเจน ในคำว่าปัจเจกชนนิยม (individualism) ว่าเป็นเพียงอุดมการณ์ เพราะคนจำนวนมากไม่ได้ยอมรับการแบ่งสองขั้วแบบนี้ มนุษย์จริงๆ ก็เป็นอะไรที่มั่วๆ ปนๆ กันไป จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะพูดถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และความซับซ้อนของยุโรปตะวันตก ถ้าจะเข้าใจกันในเวลาที่จำกัดก็คงจะเป็นในลักษณะที่หยาบมากๆ สิ่งที่จะกล่าวต่อไปจึงเป็นภาพกว้างๆ หยาบๆ

ภาพลักษณ์ของ personal ที่เป็นแบบ individual เป็นคุณลักษณะพิเศษของยุโรปตะวันตกทางเหนือ ถ้าจะพูดอีกแบบก็คือมีรากฐานความเป็นโปรเตสแตนต์ (Protestant) มากกว่ายุโรปใต้ที่เป็นคาทอลิก (Catholic)

ยุโรปตะวันตกเบี่ยงเบนออกจากส่วนอื่นๆ ของโลก เบี่ยงเบนได้ยังไง เป็นคำถามใหญ่ทางประวัติศาสตร์ เรื่อง "Divergence เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอีกในต้นศตวรรษที่ 21 อย่างเช่น The Great Divergence China, Europe, and the Making of the Modern World Economy งานอันโด่งดังของ เคนเนธ โพเมแรนซ์ (Kenneth Pomeranz) แล้วก็มีอีกมากมาย ไล่มาถึง The Long Divergence: How Islamic Law Held Back the Middle East ของ มูร์ คูรัน (Timur Kuran) และ Rulers, Religion, and Riches: Why the West Get Rich and the Middle East Did Not โดย จาเรด รูบิน (Jared Rubin) ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกฎหมายอิสลาม ยุโรปตะวันตกเทียบกับฝั่งตะวันออกกลางและจีน ‘เปรียบเทียบ’ ทำไมถึงแตกต่างกัน? แน่นอนสารพัดปัจจัย ในขณะที่พวกเชื่อใน Convergence" ก็ยังคงดำเนินต่อไป คำอธิบาย convergenceปรากฏมาตั้งแต่สมัยกรอบคิดความทันสมัย (Modernization) แล้วก็มาสู่โลกาภิวัตน์ (Globalization) ประเทศต่างๆ ก็จะเจริญเหมือนกับประเทศที่ร่ำรวย เส้นทางการพัฒนามาเป็นทุนนิยมก็จะคล้ายๆ กัน ส่วนพวก divergence ก็แตกต่างกัน ช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยกับยากจนก็จะมากขึ้น พวกนี้ก็จะเอนเอียงไปสู่เรื่องทำไมถึงร่ำรวย? มีอะไรพิเศษ?

 ==========

บางส่วนจากบทที่ 1 Christianity ในเล่ม ON ANGLO-AMERICAN ว่าด้วยแนวคิดแบบแองโกล-อเมริกัน โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา

สั่งซื้อคลิก ON ANGLO-AMERICAN ว่าด้วยแนวคิดแบบแองโกล-อเมริกัน


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้