บทสัมภาษณ์ | มาตรฐานราคากับการทำหนังสือในฐานะวิชาชีพ - ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล

Last updated: 30 พ.ค. 2563  |  3058 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บทสัมภาษณ์ | มาตรฐานราคากับการทำหนังสือในฐานะวิชาชีพ - ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล

เชิญเลือกซื้อหนังสือราคาพิเศษมากกว่า 80 ปก ลดราคาทุกปก SALE Online Bookfair เรายกงานหนังสือมาบนหน้า Website ที่นี่



เงินไม่ถึง 100 ก็ซื้อได้ ราคาตั้งแต่ 93 บาท!!!

จัดส่งฟรี!!! เอาใจผู้อ่าน เมื่อสั่งซื้อครบ 1,200 บาท
----------------

เลือกซื้อหนังสือ ดีลเด็ด ช้อปด่วน [จำนวนจำกัด] คลิก FLASH SALE




สนใจหนังสือเป็น SET ครบชุด ไม่ต้องการเลือกให้วุ่นวาย เราจัดมาให้แล้ว คลิก SPECIAL SET



======================================


แม้การทำ “สำนักพิมพ์” จะเป็นงานในฝันของคนที่รักการอ่าน แต่หลังจากทำสำนักพิมพ์มานานนับสิบปี “ต้อง-ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล” บรรณาธิการบริหารและบรรณาธิการผู้ควบคุมคุณภาพแห่ง “สำนักพิมพ์สมมติ” ก็พบว่าแค่ความชอบยังไม่พอ

การทำหนังสือในฐานะ “วิชาชีพ” จำเป็นต้องมี “มาตรฐานหรือข้อกำหนด” เพื่อให้ธุรกิจและความฝันหล่อเลี้ยงกันและกันได้ 


ซึ่ง “มาตรฐาน” เบื้องต้นสำหรับเขาและสำนักพิมพ์สมมติ คือ “มาตรฐานด้านโครงสร้างการตั้งราคา” ที่สัมพันธ์ต่อทั้งสำนักพิมพ์ ผู้อ่าน ร้านหนังสือ สายส่ง หรือตัวละครใดๆ ก็ตามในวงจรอุตสาหกรรมหนังสือ   

บทสัมภาษณ์นี้ต้องตั้งคำถามว่า เพราะอะไร “โครงสร้างการตั้งราคา” จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสำนักพิมพ์และธุรกิจหนังสืออื่นๆ อยู่รอด หรือกระทั่งเพราะอะไรจึงเป็น “มาตรฐาน” ที่คนทั้งแวดวงควรให้ความสนใจและหันมาพูดคุยกันอย่างจริงๆ จังๆ 

-- บทสัมภาษณ์ “สำนักพิมพ์สมมติ” โดย Paperless --
======================================


ทำไมถึงหันมาสนใจเรื่องโครงสร้างการตั้งราคา?

นอกจากคุณเรืองเดชที่พูดเรื่องนี้แล้วก็มีหลายคนที่พูดถึงประเด็นนี้ เพียงแต่คนที่พูดมาอย่างต่อเนื่อง พูดอย่างชัดเจน และซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือคุณเรืองเดช  สิ่งที่ติดใจผมที่สุดคือการที่คุณเรืองเดชซึ่งอายุขนาดนี้แล้วยังตั้งใจพูดถึงหลักการอะไรบางอย่างที่ดูเป็นอุดมคติ ผมก็เลยลองไปค้นหาว่าสิ่งที่เขาพูดคืออะไรกันแน่

ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ความหมายของคุณเรืองเดชคือ ทุกจุดขายต้องขายในราคาเท่ากัน ไม่เกี่ยวว่าจะขายลดราคาหรือไม่ คนภาคกลางต้องได้ซื้อในราคาเดียวกับภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ดังนั้นจึงเป็นอื่นไม่ได้นอกจากอุดมคติในการขายหนังสือ ทำหนังสือเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้ผู้อ่าน

เราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของหลักการ

โดยทั่วไปแล้วคนทำหนังสือสนใจแค่จุดเดียว คือถ้าหนังสือขายได้ก็จบ ไม่ต้องสนเรื่องอื่น ต่อให้อยู่ในโครงสร้างที่บิดเบี้ยวหรือมีปัญหาแค่ไหนก็ตาม  แต่สำหรับเรา ขายได้หรือไม่ได้ไม่ใช่ประเด็น ต่อให้ขายได้แต่ถ้าโครงสร้างบิดเบี้ยว เราก็ต้องพูดคุย ตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกตเพื่อให้มันเข้าที่เข้าทาง


เราไปถามคุณเรืองเดชมาแล้วเหมือนกัน ซึ่งนอกจากประเด็นความเท่าเทียมที่ว่านี้เขายังพูดถึงร้านหนังสืออิสระด้วยว่า การตั้งราคาหนังสือที่มีมาตรฐานจะทำให้ร้านหนังสือเล็กๆ อยู่ได้

สำหรับผม ผมคิดว่าคุณเรืองเดชไม่ต้องไปยุ่งเรื่องร้านหนังสืออิสระเลย (หัวเราะ) เขาอยู่ของเขาได้ เขารักที่จะทำร้านหนังสือ ต้องรู้วิธีจัดการ รู้ทางหนีทีไล่  วิธีการของคุณเรืองเดช (ที่รวมถึงการซื้อขาดหนังสือ) รังแต่จะบั่นทอนคนทำหนังสือ ทำร้านหนังสือเล็กๆ 


ทำไมคิดว่าการตั้งราคามาตรฐานเป็นการบั่นทอนล่ะ?


นี่ไม่ได้หมายถึงเรื่องการตั้งราคามาตรฐานอย่างเดียว แต่รวมถึงนโยบายการสนับสนุนร้านหนังสืออิสระที่คุณเรืองเดชพูดเกือบทั้งหมด หลายวิธีคิดไม่ได้อยู่กับความเป็นจริง  ในขณะที่คนทำร้านหนังสืออิสระเป็นคนอายุน้อยๆ ที่มีวิธีคิด วิธีดำเนินการ กลยุทธ์ และเครื่องมือของตัวเอง  ถึงได้บอกว่าให้คุณเรืองเดชอยู่เฉยๆ แล้วทำหนังสือรหัสคดีให้ดี (หัวเราะ) นี่ผมเคยพูดต่อหน้าแกแล้ว และแกก็เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือ ยินดีรับฟังในสิ่งที่เราพูด

ถ้าหันมาสนใจประเด็นปลีกย่อยทุกอย่าง ทั้งร้านหนังสือต้องอยู่ได้ เรื่องราคาหนังสือ เรื่องพรีออเดอร์ มันจะกลายเป็นปัญหาอีนุงตุงนังไปหมด เพราะฉะนั้นเราถึงต้องจับหลักการบางอย่างที่เป็นโครงสร้างจริงๆ ของระบบการทำหนังสือแล้วหยิบตรงนั้นมาคุยกัน ไม่อย่างนั้นมองไปทางไหนก็เห็นแต่ปัญหา คุยกันไม่จบ


คำถามคือ อะไรคือปัญหาสำคัญที่คนในวงการหนังสือควรจะมานั่งโต๊ะคุยกันจริงๆ สักที แล้วแก้ให้หมด เพื่อที่ว่าปัญหารองๆ เหล่านั้นจะคลี่คลายต่อไปได้


ย้อนกลับไปตอนแรกที่สนใจเรื่องนี้เพราะเห็นข้อเสนอของคุณเรืองเดช จากนั้นพี่ทำยังไงต่อ?

ผมกลับไปอ่านที่คุณเรืองเดชเขียนบนเฟซบุ๊ก ซึ่งผมถือว่าเป็นการเสนอต่อสาธารณะที่มีช่องทางให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสำหรับผม บางเรื่องเห็นด้วย แต่บางเรื่องก็ไม่สมเหตุสมผลโดยสิ้นเชิง

หลังจากนั้นสำนักพิมพ์สมมติก็กลับมาคุยกัน แล้วหาข้อมูลต่อว่ามันคืออะไรยังไง จนสิทธิ์ (สิทธิวัฒน์ เรืองพงศธร-ผู้ช่วยบรรณาธิการสำนักพิมพ์สมมติ) ไปเจองานเปเปอร์ชิ้นหนึ่งของเยอรมนี  


เปเปอร์ที่ว่านี้พูดถึงการขายหนังสือบนร้านออฟไลน์ แล้ววิจัยต่อว่าควรขายหนังสือระบบราคาเดียวกันต่อไปหรือไม่ ในทางหนึ่งบอกว่าหนังสือเป็น Cultural Product หรือสินค้าทางวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนสินค้าแบบอื่น ไม่ต้องแข่งเรื่องราคา แต่ควรช่วยกันปกป้อง


แต่ผลเปเปอร์นี้บอกว่า หลังจากใช้ระบบนี้มาไม่ได้ทำให้ยอดดีขึ้น เพราะไม่มีการชักจูงคนอ่านด้วยราคาขาย ถ้ายังรักษาระบบราคามาตรฐานในรูปแบบหนังสือเล่ม คนก็ยิ่งเลิกอ่านแล้วหันไปอ่านบนสื่ออื่น หรือต่อให้มีระบบราคาเดียวกัน บริษัทใหญ่ก็สามารถทำการตลาดได้ด้วยการแจกส่วนลดหรือโปรโมชั่นในรูปแบบต่างๆ ซึ่งร้านหนังสือขนาดเล็กกว่าทำไม่ได้ ในกรณีนี้คือต่อให้ไม่ลดราคาและขายตามราคาปก มันก็มีวิธีอื่นเพื่อบิดนิยามการลดราคาอยู่ดี


เดี๋ยว แปลว่าวิธีนี้ไม่เวิร์ค?

การมีราคาคงที่หรือมาตรฐานที่เท่ากันทุกจุดขายไม่เวิร์ค แต่ย้ำว่า ไม่เวิร์คในความหมายของโลกการค้าเสรีแบบยุคใหม่ที่คนมีตัวเลือกซื้อหนังสือมากกว่าสื่อกระดาษ   ในโลกสมัยใหม่ การกำหนดราคาขายเท่ากันทำให้หนังสือในรูปแบบกระดาษราคาสูงถ้าเทียบกับหนังสือรูปแบบดิจิตอลอื่นๆ   

สำหรับโลกอื่นที่คนอ่านหนังสือแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือหนังสือเสียงเป็นปกติ การกำหนดมาตรฐานราคาขายให้เท่ากันยิ่งกดยอดการขายหนังสือเล่ม ยุโรปหรืออเมริกาที่เคยกำหนดราคามาตรฐานสมัยยังไม่มีเทคโนโลยีดิจิตอลจึงต้องยกเลิกเพื่อให้อุตสาหกรรมเข้าสู่ตลาดการค้าเสรี มีราคาเป็นหนึ่งในเครื่องมือการทำธุรกิจ

เพราะฉะนั้นจากเปเปอร์ที่ว่า เยอรมนีจึงถูกอียูกดดันให้เลิกระบบราคามาตรฐานเพื่อเข้าสู่กลไกปกติในรูปแบบการค้าเสรี เพื่อให้ธุรกิจเติบโตในทางอื่นด้วยนอกเหนือจากหนังสือรูปแบบกระดาษ  

สิ่งที่เยอรมนีหรือประเทศอื่นพูดกันไม่ใช่ว่ามีคนอ่านหรือไม่มีคนอ่าน แต่เป็นเรื่องของช่องทางการค้าที่หลากหลายซึ่งเข้ามาเสริมยอดขายหนังสือกระดาษที่น้อยลง ทั้งรายได้จากยอดวิวบนยูทิวบ์ การขายอีบุ๊ค หรือเครื่องมืออื่นๆ ที่ทดแทนได้ เขาจึงใช้วิธีกำหนดราคามาตรฐานไม่ได้อีกแล้ว และธุรกิจในโลกสมัยใหม่จะเติบโตได้ต้องอาศัยช่องทางการขายที่หลากหลาย ดังนั้นวิธีกำหนดราคามาตรฐานก็เท่ากับทางตาย ปิดกั้นตัวเอง 

แต่สำหรับบ้านเรา สิ่งที่ต่างชัดเจนและควรตั้งคำถามคือ บ้านเราอาจยังไม่มีช่องทางอื่นๆ มากพอจะที่มาเติมช่องว่างของการขายหนังสือเล่ม เรายังอยู่ในโลกของกระดาษ  การกำหนดราคามาตรฐานนี้เป็นวิธีคิดแบบโลกเก่า แต่ที่เรายังต้องพูดกันเรื่องระบบราคามาตรฐาน ก็เพราะสังคมการอ่านของเรายังไปไม่ถึงโลกสมัยใหม่ใช่ไหม  นี่คือคำถาม


ถ้าเป็นต่างประเทศ เขาเลิกระบบนี้ได้เพราะถึงคนไม่ซื้อหนังสือเล่ม เขาก็ซื้ออีบุ๊ค ฟังหนังสือเสียง มันทดแทนได้ ในขณะที่บ้านเราไม่มีช่องทางอื่นนอกจากกระดาษ เป็นวิธีแบบโลกเก่า ดังนั้นเราถึงต้องคุยกันเรื่องการกำหนดราคาขายเท่ากันที่ว่านี้ซึ่งเป็นวิธีแบบโลกเก่าเหมือนกัน   


สำหรับโลกเก่าที่ยังไม่มีช่องทางอื่น การกำหนดราคามาตรฐานเป็นการปกป้องหนังสือในฐานะสินค้าทางวัฒนธรรม  แต่ก็มีคำถามในโลกสมัยใหม่มากมายอยู่ดีว่า อะไรคือสินค้าวัฒนธรรม การนิยามในตัวมันเองก็เป็นปัญหาและกินความและตีความกันอีกยาว เหมือนกับเราเป็นพวกครึ่งบกครึ่งน้ำ ระบบเวลาสมัยใหม่ครอบเราอยู่ด้วยโครงสร้างที่ไม่เป็นสมัยใหม่


แต่นี่ไม่พูดถึงเรื่องที่ว่าคนอ่านหรือไม่อ่าน หรือคนใช้เวลากับอย่างอื่นมากกว่าหรือเปล่านะ 


ในเบื้องต้นที่ชัดเจนมากคือ การกำหนดราคามาตรฐานเป็นการปกป้องคนทำหนังสือ สำนักพิมพ์ สายส่ง และร้านหนังสือ เพราะส่วนต่างที่มีอยู่จะถูกกระจายแบ่งส่วนกันเอง ไม่ได้นำไปเป็นส่วนลดให้ผู้อ่าน แนวคิดนี้ไม่ได้ปกป้องผลประโยชน์ของผู้อ่าน แต่แน่นอนว่าไม่มีใครการันตีได้ว่าจะไม่ทำให้คนอ่านน้อยลง 

มันอาจออกมาเป็นทางหนึ่งคือ คนอ่านเข้าใจและหันมาซื้อโดยไม่สนใจเรื่องราคา หรือจะเป็นทางที่ว่า พอราคาเท่ากัน ไม่ลดเลย คนก็ไม่ซื้อ ตัวสินค้าไม่มีแรงจูงใจเรื่องราคา ซึ่งนี่เป็นสมมติฐาน ไม่มีใครรู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร


สำหรับสำนักพิมพ์สมมติ ถ้าให้หาข้อเสนอบางอย่าง เราเสนอให้กำหนดราคาขายเท่ากันทุกจุดโดยมีกรอบเวลาที่ชัดเจน เช่น หนังสือออกวันที่ 1 มกราคม ใช้ราคาเท่ากันหมดไม่ว่าจะลดหรือไม่ลดราคาในระยะเวลา 1-3 ปี หลังจากนั้นทยอยลด 5-20%  นี่เป็นข้อเสนอที่เป็นตุ๊กตาไว้ก่อน แต่จะบวกลบเวลาหรือลดไม่ลดยังไงต้องมาหาข้อตกลงร่วมกันอีกที


สำนักพิมพ์สมมติทำหนังสือคลาสสิค เวลาปีหรือสามปีที่ไม่ลดราคาไม่น่ามีปัญหา แต่สำหรับสำนักพิมพ์ที่ต้องทำหนังสือแข่งกับช่วงเวลา แข่งกับเทรนด์ล่ะ แบบนั้นแฟร์กับเขาหรือ?

แบบนั้นยิ่งแฟร์เลย หนังสือที่ออกมาทันกับสถานการณ์ยิ่งได้เปรียบ เช่น ถ้าจะเลือกตั้งแล้วคุณออกหนังสือคู่มือเลือกตั้ง คุณยิ่งไม่ต้องลดเลยเพราะคนต้องซื้อหามาอ่านเพื่อให้รู้เท่าทันเหตุการณ์นั้นๆ ทันทีในแบบที่สื่ออื่นให้ไม่ได้ 


แต่พอเหตุการณ์ผ่านไปแล้วหนังสือเหลือล่ะ?

ก็เพราะแบบนี้ไงถึงต้องมีกรอบเวลา  สำนักพิมพ์สมมติถึงเสนอว่าให้กำหนดกรอบเวลาว่าจะใช้ราคาตั้งต้นนี้กี่ปี หลังจากนั้นค่อยลด 5-20%   ถ้าตามกรอบเวลาที่เราเสนอคือ 1-3 ปี สมมติว่าหนังสือเล่มละ 100 บาท ผ่านไปปีหรือสามปี ลด 5% เหลือ 95 บาท ผู้อ่านยอมรอถึงตอนนั้นก็รอได้ แต่กว่าจะถึงตอนนั้นหนังสือก็อาจจะหมดไปแล้ว? 

ถ้าขายไม่หมดในระยะแรกที่ไม่ลดราคา ระยะต่อมาก็ต้องมีส่วนลดเพราะถือว่าเป็นหนังสือค้างสต๊อก ต้องระบาย เราเข้าใจดีว่าถ้าทำแบบนี้อีกสัก 5 ปีสต๊อกต้องมีปัญหา ถึงตอนนั้นก็ค่อยลดอีก 15% หรือมากกว่านั้น  ทั้งหมดนี้เป็นตัวเลขสมมติ เราไม่รู้ว่ามันจะทำให้ยอดเพิ่มหรือไม่เพิ่ม คนอ่านจะมากขึ้นหรือลดลง มันไม่ใช่ข้อเสนอเพื่อสรุปว่ายอดขายจะเป็นอย่างไร แต่เป็นการหากติกาที่ชัดเจนระหว่างสำนักพิมพ์และคู่ค้าโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งก็คือสายส่งกับร้านหนังสือ 


ย้ำอีกทีว่านี่เป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อคนทำหนังสือ สำนักพิมพ์ สายส่ง และร้านหนังสือ  โดยหลักการแต่ละร้านเท่าเทียม แต่แน่นอนว่าร้านใหญ่กว่าก็อาจมีเครื่องมือมากกว่า หาช่องโหว่ได้มากกว่า ถึงตอนนั้นเราก็ต้องมาคุยกันอีกทีว่าจะหาจุดสมดุลอย่างไร 


การหาความเท่าเทียมในโลกธุรกิจเป็นเรื่องยาก ไม่มีทางที่ตัวละครทุกตัวจะได้ประโยชน์เท่ากัน บางคนอาจได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ถ้ามีหลักการที่ชัดเจน เราก็ค่อยๆ พัฒนาแล้วหาทางออกได้ ไม่อย่างนั้นจะสะเปะสะปะไปหมด ไม่รู้จะเริ่มแก้ปัญหาตรงจุดไหน


สรุปข้อเสนออีกครั้งได้ไหม?

ข้อเสนอของสำนักพิมพ์สมมติมีสองข้อ

ข้อแรกคือ กำหนดราคาขายที่ชัดเจน มีเงื่อนไขเวลาที่เหมาะสมในการลดราคา 


และอีกข้อคือ งานหนังสือควรเป็นงานที่ลดราคาตามข้อกำหนด (คือเท่ากันทุกจุด ไม่ว่าจะใช้ราคาแบบไหน ถ้าลดก็ลดเหมือนกัน ไม่ลดต้องไม่ลดทั้งหมด) และต้องมีงานหนังสือเพื่อโละสต๊อกแยกออกมาต่างหาก


งานหนังสือโละสต๊อกแบบไหน?

เป็นงานเคลียร์สต๊อกกลางปีเลย ลด 80-90% ว่าไป เพื่อช่วยแก้ปัญหาสต๊อกบวม ถึงเวลาสำนักพิมพ์แต่ละแห่งเอามาวางขาย ลดเท่าไหร่ลดไป แต่ต้องประกาศเลยว่าเป็นหนังสือเก่า 5 ปีขึ้นไป ไม่มีหนังสือใหม่  

ส่วนงานหนังสือปกติก็ใช้มาตรฐานราคาตามที่ตกลงกัน ถ้าอยากให้ลดก็รอไปตามโครงสร้าง กี่ปีๆ มาตกลงกัน


วิธีแบบนี้ดีหรือไม่ดีเราก็ตอบไม่ได้ ไม่ได้มีสติปัญญาขนาดนั้น แต่สิ่งที่รู้คือ ถ้าไม่มีกติกาอะไรเลยอย่างทุกวันนี้ มันแก้ปัญหาตรงไหนไม่ได้สักจุด


เราได้อ่านสิ่งที่คุณเรืองเดชเขียนถึงข้อเสนอของพี่เหมือนกัน ซึ่งเขาให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า บางทีกว่าจะถึง 2-3 ปีตามข้อตกลงด้านกรอบเวลา หลายที่อาจปิดตัวไปแล้วก็ได้?

กรอบเวลาที่ว่านี้เป็นแค่ตัวอย่างเฉยๆ จำเป็นต้องหาข้อมูลและข้อคิดเห็นร่วมกันเพื่อให้ได้สูตรที่นำไปใช้ได้จริง เรารู้แค่ว่าต้องหากติกาบางอย่างเพื่อให้มีข้อตกลงร่วมกัน  

แน่นอนว่าปัญหาข้อแรกที่จะตามมาทันทีที่ราคาทุกจุดเท่ากันคือ เจ้าที่ใหญ่กว่าจะใช้วิธีลดแลกแจกแถม ทุกร้านต้องหาจุดแข็งอื่นของตัวเองมาขาย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่แน่นกว่า หรือการบริการที่ดีกว่า รวดเร็วกว่า การนำเสนอที่น่าสนใจต่อผู้อ่าน สร้างคุณค่าอื่นนอกจากเรื่องราคา นั่นคือเป้าหมาย เราอยากคุยกันถึงเรื่องเหล่านั้นโดยไม่คุยเรื่องราคา  ถึงตอนนั้นต้องมาดูกันว่าผลลัพธ์มันเป็นยังไง ส่งผลให้มีคนอ่านเพิ่มขึ้นหรือลดลง มีผู้อ่านหน้าใหม่มากขึ้นหรือไม่ 


สุดท้ายก็คือจะทำให้ร้านต้องแข่งกันในจุดแข็งเฉพาะของตัวเองเท่านั้น?

คิดว่านะ เพราะข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่คำนึงถึงผู้ผลิตเป็นสำคัญ แต่เป็นผลประโยชน์เชิงคุณค่าอื่นๆ ต่อผู้อ่าน


สำนักพิมพ์สมมติเคยทดลองโมเดลนี้เองหรือยัง?

สำนักพิมพ์สมมติขายราคาปก 99% ส่วนที่เหลือคือโปรโมชั่นที่เราจัดรวมหลายเล่ม ตั้งราคาขายให้ถูกลงแต่ต้องหลายเล่ม และจำกัดจำนวนเล่ม จำนวนชุด รวมทั้งกำหนดช่วงเวลาโปรโมชั่นที่แน่นอน 

หนังสือรายเล่มปกติเราไม่ลดเลย ถ้าจะแข่งกันเรื่องราคา ผู้ที่เป็นสำนักพิมพ์ย่อมลดราคาได้มากกว่าคู่ค้าอยู่แล้ว และถ้าเป็นสำนักพิมพ์ที่มีประสิทธิภาพในการจัดส่ง มีหีบห่อของตัวเอง มีฝ่ายจัดส่ง มีเจ้าหน้าที่ตอบแชท ถ้าสำนักพิมพ์ไหนมีองค์ประกอบแบบนี้ สามารถขายแข่งด้วยราคากับคู่ค้าได้ทันที ซึ่งก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ 


สำหรับเรา เราไม่ใช้กลไกราคาขายแข่งกับคู่ค้า ถ้าจะมีก็คือโปรโมชั่นอย่างที่ว่าไปข้างต้น ซึ่งเราตอบคำถามได้ว่า เราไม่ได้ทำทั้งปี และทำจำกัดจำนวน เราเชื่อว่าไม่ได้กระทบต่อคู่ค้า เพราะเราทำหนังสือเข้าระบบสายส่งจัดจำหน่าย มีสายส่งและร้านหนังสือเป็นตัวแทนการขาย เราคำนึงถึงประเด็นนี้


จากผลที่ได้ ทำแบบนี้แล้วลูกค้าลดลงไหม?

ไม่ พูดกันให้ชัดๆ เลย และพูดไปหลายที่แล้วด้วย  ผู้อ่านถามเราตลอดว่าเล่มนี้ลดมั้ย สิ่งที่เราตอบเสมอคือ ถ้าสั่งซื้อกับสำนักพิมพ์จะถือเป็นการสนับสนุนสำนักพิมพ์โดยตรง เราขอขายในราคาปก และในออนไลน์มีร้านที่ลดราคา 5-10% หรือจัดส่งฟรี หรืออะไรก็ตาม บางครั้งเราแนบลิ้งค์แต่ละร้านให้เลยเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้อ่าน ไปซื้อได้ถ้าราคาคือเงื่อนไขสำคัญสำหรับเขา 

แต่ 7-8 คนใน 10 คนจะตอบกลับมาว่ายินดีซื้อในราคาเต็มเพื่อสนับสนุนสำนักพิมพ์ มีหลายคนรู้และไม่รู้ว่าราคาแต่ละร้านไม่เท่ากัน


กรณีที่การลดหรือไม่ลดราคาไม่ใช่ปัจจัยสำคัญสำหรับผู้อ่าน เป็นกรณีเฉพาะสำหรับผู้อ่านสมมติหรือหนังสือแนวนี้หรือเปล่า?

ผู้อ่านจะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด แต่เท่าที่สัมผัสมา มีผู้อ่านถามมาเหมือนกันว่าทำไมเราไม่ลดเหมือนร้านออนไลน์อื่นๆ หรือหน้าร้านในห้างทั้งๆ ที่มาสั่งตรงกับสำนักพิมพ์ควรจะได้ส่วนลดมากกว่าด้วยซ้ำ เราจึงมีหน้าที่แจ้งว่ากรณีสั่งตรงคือการสนับสนุนสำนักพิมพ์  แต่ถ้ามาถามว่าทำไมร้านนี้ลดได้ 10% ร้านนั้นลดได้ 15% ร้านนั้นลด 5% บอกตรงๆ ว่าเราไม่รู้จะตอบยังไง เพราะมันไม่มีมาตรฐาน 

ที่เราต้องออกมาพูดเรื่องนี้ก็เพราะชัดเจนว่าระบบหนังสือบ้านเรายังอยู่ในโครงสร้างแบบเก่า เพราะถ้าอยู่ในโครงสร้างแบบใหม่ จะมีอีบุ๊ค ยอดวิวยูทิวบ์ที่แปลงเป็นเงินได้ มีช่องทางอื่นๆ เพื่อทำรายได้กับหนังสือนอกจากการขายหนังสือเล่ม แต่บ้านเราไม่มีช่องทางอะไรเลยเพื่อให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็กหรือแม้แต่ขนาดใหญ่เองมีช่องทางหารายได้เหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ 


แล้วกับสำนักพิมพ์ที่ออกปีละไม่กี่ปกหรือคนที่เพิ่งเริ่มทำสำนักพิมพ์ล่ะ เขาจะผ่านช่วงแรกก่อนจะถึงช่วงเวลาเริ่มลดราคาไปได้ยังไง?

นั่นเป็นสิ่งที่สำนักพิมพ์ขนาดเล็กต้องหาทางแก้ปัญหา หาสูตรของตัวเอง สำหรับสำนักพิมพ์ขนาดเล็กหรือคนที่พิมพ์เองขายเอง ถ้าจุดเริ่มยังเล็กและไม่ได้เข้าระบบอย่างเป็นทางการที่ต้องใช้สายส่งจัดจำหน่าย หรือสำนักพิมพ์แบบพิมพ์เองขายเอง ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ถ้าเข้าสู่ระบบก็จะเริ่มเห็นปัญหา และก็ต้องอยากหากติกาบางอย่างร่วมกัน (หัวเราะ)

ข้อเสนอทั้งหมดนี้เรารู้ว่ายังมีจุดอ่อนเต็มไปหมด และการนำแนวคิดนี้มาใช้ก็อาจมีปัญหา แต่นี่คือสิ่งที่เราต้องมาหาข้อสรุปร่วมกัน


ปกติพอออกหนังสือใหม่มา ใครๆ ก็ต้องทำโปรโมชั่นกับหนังสือใหม่ แล้วสำนักพิมพ์สมมติจะไม่ทำโปรโมชั่นกับหนังสือใหม่เลยหรือ?

ทำ (หัวเราะ) เราทำโปรโมชั่นด้วย แต่โปรโมชั่นของเราคือการซื้อยกชุด ซื้อหลายเล่มทีเดียว และจำกัดจำนวนชุด


ต่อให้ไม่ลด เอามาจัดโปรโมชั่นแทน แล้วแบบนี้ไม่ใช่การเอาหนังสือใหม่มาลดราคาทางอ้อมแบบสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ที่มีทุนมากกว่าหรือ?

ถูกเลย นี่ไง ขนาดเราเสนอเรื่องนี้เองก็ยังถูกตั้งคำถาม แต่สิ่งที่เราทำคือ โปรโมชั่นของเราต้องจำกัดจำนวนที่แน่นอน ขายแค่ 30-50 ชุดก็ว่าไป ยึดหลักการให้ชัดเจน โปรโมชั่นจะไม่มีความหมายเลยถ้าไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่าจะขายให้คนกี่คน

เราเชื่อว่าในจำนวนเพียงแค่นี้ไม่กระทบต่อคู่ค้าของเรา แต่ในจำนวนเพียงแค่นี้มีผลต่อกระแสเงินสดของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กแบบเรา และพูดให้พ้นเรื่องเงินๆ ทองๆ มันก็คือกำลังใจโดยตรงที่ผู้อ่านหยิบยื่นให้เรา


ในทุกๆ วงการต้องมีกติกาของตัวเอง แต่ถ้าถามว่าอะไรคือกติกาที่คนทำหนังสือต้องประพฤติปฏิบัติกัน อันนี้ผมนึกไม่ออกเลย เพราะแบบนี้เราถึงต้องหากติการ่วมกัน  หลักสำคัญคือเราต้องหากฎเกณฑ์กติการ่วมกันให้ได้


เท่าที่ลองคุยกับหลายๆ ที่ บางแห่งบอกว่าดีมาก บางแห่งบอกว่าซบเซาลง หรือกลางๆ สำหรับสำนักพิมพ์สมมติ สถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?

ดีมาก ทิศทางเป็นไปในทางที่ดีขึ้น มีคนอ่านหน้าใหม่ๆ ที่พร้อมจะเปิดรับนักเขียนที่ไม่รู้จัก งานที่เขาไม่คุ้นเคย เพราะงั้นถ้ามองภาพรวมตรงนี้ถือว่าเราอยู่ในทิศทางที่ดีทีเดียว ดีในแบบเรา

ถ้าถามว่าเพราะอะไรนี่ตอบยาก โลกดิจิตอลช่วยให้เราสื่อสารกับผู้อ่านและทำงานได้อย่างต่อเนื่อง การเข้ามาของโลกดิจิตอลมีส่วนมาก แต่ถ้าเราอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเลยมันก็คงไม่มีผล ตรงนี้ผมถึงบอกว่าดีในแบบของเรา  


แต่ผมไม่กล้าบอกว่าดีร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะภาพรวมของหนังสือมันไม่ดี ต่อให้เราไปได้ดี แต่ถ้ารอบๆ ยังไม่ดี หรือภาพรวมมีปัญหา เราก็ไม่รู้สึกโอเคกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่


เรื่องราคาเป็นเรื่องที่ง่ายและพื้นฐานที่สุดที่เราสามารถหยิบขึ้นมาพูดกันได้ และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาส่วนใหญ่ในการขายหนังสือ นี่จึงเป็นข้อเสนอของสำนักพิมพ์สมมติต่อสาธารณะ ต่อเพื่อนสำนักพิมพ์ ต่อคนในวิชาชีพนี้ เราเห็นเหมือนกันหรือต่างกันยังไงต้องช่วยกันคิด


คำถามคือ ถึงเวลาที่เราต้องคุยกันหรือยัง?   สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยแนวร่วมและการระดมความคิดร่วมกัน เพราะมันทำคนเดียวไม่ได้ เราถึงต้องเรียกร้องต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าให้ถามตัวเองดูว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่มีปัญหาเลยใช่หรือไม่ แล้วถ้ามี เห็นประเด็นอื่นๆ หรือจุดไหนที่ยังอ่อน ก็ต้องยกขึ้นมาแล้วนำมาคุยกัน   


ที่รู้แน่นอนคือ ทุกคนในวิชาชีพนี้อยากให้วงการนี้อยู่ต่อไปให้นานที่สุด ให้มีผู้อ่านและผู้รักการอ่านเพิ่มขึ้นทุกวัน


ปัญหาพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ทุกวันนี้น่าจะเป็นเรื่อง “ขายไม่ได้” นะ?

ใช่ แต่สำหรับเรา เรามองว่าเป็นปัญหาด้านโครงสร้างระบบราคานี่แหละ การขายได้หรือไม่ได้อยู่ภายใต้เรื่องโครงสร้างราคาอีกที  


ถ้าถามว่าทำไมขายไม่ได้ มันตอบได้หลายร้อยเหตุผลเหมือนถามว่าทำไมคนไม่อ่าน แต่ถ้าเป็นเรื่องราคามันมีหลักเกณฑ์ที่วัดได้แน่นอน เพราะมันคือปัญหาเชิงโครงสร้าง และที่ผ่านมายังไม่เห็นมีใครพูดและเสนอให้ชัดๆ ว่าโครงสร้างของระบบราคาหนังสือเป็นอย่างไร  


เรื่องงานหนังสือเป็นอย่างไร ขายได้ขายไม่ได้ สุดท้ายจะวนกลับไปเรื่องราคาทั้งสิ้น


ข้อเสนอนี้เหมาะกับสำนักพิมพ์ทุกแห่งหรือหนังสือแนวทั่วไป แนวธุรกิจหรือเปล่า? 

สิ่งที่พูดอยู่นี้คือหนังสือวรรณกรรม หนังสือวิชาการ หนังสือที่มีความเฉพาะทาง  แต่สำหรับหนังสือพระ หนังสือเด็ก หนังสือท่องเที่ยว ก็ต้องไปสำรวจดูว่าเขามีปัญหาแบบไหน


แต่สำหรับผม ต่อให้หนังสือวรรณกรรมขายดีก็ต้องพูดแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเราขายดีแล้วรอด ขายได้คือจบ  ผมทำหนังสืออย่างเป็นวิชาชีพ และยืนยันว่าข้อเสนอเรื่องราคาเป็นข้อเสนอเพื่อปกป้องคนทำหนังสือกลุ่มเล็กๆ 


ทำไมถึงต้องปกป้องคนทำหนังสือล่ะ?

ใครๆ ก็ต้องอยากปกป้องวิชาชีพตัวเอง คนทำอาชีพไหนก็ต้องปกป้องอาชีพนั้นๆ  ทุกคนปกป้องอาชีพของตน ทุกอาชีพมีความยิ่งใหญ่และต่ำต้อยในแบบของตัวเองเหมือนๆ กัน แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องถามคนที่ไม่ได้ทำอาชีพนี้ว่าเขาอยากปกป้องคนทำหนังสือด้วยหรือเปล่า อยากปกป้องหนังสือในฐานะสินค้าแบบไหน


========================

เชิญเลือกซื้อหนังสือราคาพิเศษมากกว่า 80 ปก ลดราคาทุกปก SALE Online Bookfair เรายกงานหนังสือมาบนหน้า Website ที่นี่



เงินไม่ถึง 100 ก็ซื้อได้ ราคาตั้งแต่ 93 บาท!!!

จัดส่งฟรี!!! เอาใจผู้อ่าน เมื่อสั่งซื้อครบ 1,200 บาท
----------------

เลือกซื้อหนังสือ ดีลเด็ด ช้อปด่วน [จำนวนจำกัด] คลิก FLASH SALE




สนใจหนังสือเป็น SET ครบชุด ไม่ต้องการเลือกให้วุ่นวาย เราจัดมาให้แล้ว คลิก SPECIAL SET



----------------

New TOTE BAG 2020 
พร้อมจัดส่ง มีให้เลือก 5 ลาย ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ซ้ำใครแน่นอน

ขนาดใหญ่จุใจ พิมพ์ลายเต็มถุง แข็งแรงทนทาน

ราคาเปิดตัวสุดพิเศษ  340 บาท  จำนวนจำกัด (จากราคาเต็ม 420 บาท)  คลิก http://bit.ly/3b907Cu



----------------

สำนักพิมพ์สมมติขอเชิญชวน 'ผู้อ่าน' ร่วมสวมใส่ เสื้อไม่ไว้วางใจ และ เสื้อยืดคำประกาศของคณะราษฎร เพื่อเป็นหนึ่งสัญลักษณ์ของการไม่สยบยอมต่ออำนาจอันไม่ชอบมาพากล


1. เสื้อไม่ไว้วางใจ


ในราคาพิเศษ 380 บาท
คลิก http://bit.ly/39417qK






● เสื้อยืดสีดำแสดงความเงียบ สงบ ทว่ามีนัยถึงความแข็งแกร่ง ไม่โอนอ่อน และไม่สยบยอม
● ข้อความบนเสื้อยืดสีดำ ทำหน้าที่ส่งเสียงกู่ตะโกนถึงความต้องการและการต่อต้านอย่างเงียบสงบที่สุด!!!

=============================

2. เสื้อยืดคำประกาศคณะราษฎร

ร่วม
ระลึกถึงหลักการตั้งต้นของ 'คณะราษฎร' กลุ่มคณะผู้นำประชาธิปไตยมาสู่สังคมไทย ในวาระครบรอบ 88 ปี อภิวัฒน์ 2475


คลิกสั่งซื้อ เสื้อยืดคำประกาศคณะราษฎร

ราคา 380 บาท

กล่าวสำหรับข้อความ 'พึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร' คือวรรคทองวรรคหนึ่งที่ปรากฏอยู่ใน 'คำประกาศคณะราษฎร' ที่ถูกนำมาขณะย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิ.ย. 2475

และหากใครก็ตามที่ได้อ่าน 'คำประกาศฯ' จะเห็นว่า ข้อความ 'พึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร' นำหน้าประโยคที่ต่อท้ายมาอย่างมีนัยสำคัญ!!!

ถึงเวลายืนยันตัวตน และชัดเจนในสิ่ง 'จุดยืน' และ 'อุดมคติตั้งต้น'

ร่วมเป็นหนึ่งในผู้ครอบครองเสื้อ 'พึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร'


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้