ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ | อดีตของรัฐธรรมนูญ

Last updated: 8 พ.ย. 2563  |  3271 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ | อดีตของรัฐธรรมนูญ

เวลาส่วนใหญ่ของรัฐธรรมนูญไทยไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองมีจุดมุ่งหมายจะทำ นั่นคือการดำรงไว้ซึ่งการเป็นกฎหมายสูงสุดของระบอบปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตย

หากมองจากประวัติศาสตร์การเมืองในขอบเขตสากล ผมขอเริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า อะไรคือสิ่งที่แปลกและประหลาดของรัฐธรรมนูญไทยในโลกของรัฐธรรมนูญหรือระบบปกครองภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ผมพบว่าความประหลาดนั้นอยู่ที่มันสามารถรวบรวมและดำรงไว้ซึ่งความขัดกันในตัวเองและกับสังคมการเมืองที่รัฐธรรมนูญมุ่งจะปกครองอย่างมาก กระทั่งทำให้ในหลายวาระ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เวลาส่วนใหญ่ของรัฐธรรมนูญไทยไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองมีจุดมุ่งหมายจะทำ นั่นคือการดำรงไว้ซึ่งการเป็นกฎหมายสูงสุดของระบอบปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตย เพราะว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นมาจากปวงชน ในเวลาต่อมา รัฐธรรมนูญก็ได้รับการคาดหวังให้เป็นกติกาสูงสุดในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐและระหว่างสถาบันปกครองหลักของรัฐด้วยกัน
....
ตรงกันข้าม จากการปฏิบัติที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญไทยกลับสร้างความหมายที่แตกต่างจากที่อื่นๆ นั่นคือ รัฐธรรมนูญคือผลรวมของบรรดากฎหมายทั้งหลายที่ใช้อยู่ในอาณาจักรหรือประเทศ มองอีกด้านหนึ่ง รัฐธรรมนูญกลายเป็นอัตชีวประวัติของสัมพันธภาพทางอำนาจ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญต่อการเป็นกติกาหรือกฎหมายสูงสุดในการปกครองบ้านเมืองในนามของปวงชนเลย

ปัจจัยสำคัญประการเดียวที่ทำให้เนื้อหาหลักของรัฐธรรมนูญไม่เป็นที่รับรู้และเข้าใจได้ของประชาชนมาจากการที่หลักการใหญ่ของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ไม่ได้รับรองโดยการปฏิบัติในทางการเมืองของกลุ่มอำนาจต่างๆ ต่างหาก


ถ้าจะพูดในภาษาชาวบ้านก็คือ รัฐธรรมนูญยังไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในตัวมันเองตัวอย่างรูปธรรมของความไร้อำนาจศักดิ์สิทธิ์ก็คือการที่มันถูกฉีก ทำลาย เปลี่ยนแปลง ยักย้าย โยกคลอน ในความหมายหลักที่สำคัญตลอด 75 ปี กระทั่งทำให้เนื้อหาและความหมายของรัฐธรรมนูญกลายเป็นสิ่งที่ยากต่อความรับรู้และเข้าใจของคนทั่วไป กลายเป็นว่าการทำความเข้าใจและตระหนักถึงความหมายของรัฐธรรมนูญนั้น ต้องทำผ่านวิธีการเดียวคือการเรียนกฎหมายเหมือนนักศึกษานิติศาสตร์ทั้งหลาย ทั้งๆ ที่ปัจจัยสำคัญประการเดียวที่ทำให้เนื้อหาหลักของรัฐธรรมนูญไม่เป็นที่รับรู้และเข้าใจได้ของประชาชนมาจากการที่หลักการใหญ่ของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ไม่ได้รับรองโดยการปฏิบัติในทางการเมืองของกลุ่มอำนาจต่างๆ ต่างหาก แค่หลักการว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนและมาจากประชาชนเรื่องเดียวก็ยากที่จะอธิบายให้ประชาชนเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะความเป็นจริงที่เกิดนั้นล้วนตรงกันข้ามกับหลักการดังได้กล่าวมานี้ และเมื่อเป็นเช่นนี้ จะทำให้ประชาชนเข้าใจรัฐธรรมนูญได้อย่างไร
...
ในเวลาเดียวกัน เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ผู้มีอำนาจหรือคณะอำนาจใดสั่งสอนให้ราษฎรพลเมืองแห่งรัฐ เกิดความเข้าใจและตระหนักในความหมายศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ โดยที่ชีวิตการเมืองส่วนใหญ่ของพวกเราไม่ได้มีอำนาจอธิปไตยอยู่ในมือเลยแม้แต่น้อย ดังเช่นนิทานอีสปเรื่องแม่ปูกับลูกปูนั่นเอง

ในความเป็นจริง หากจะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดได้อย่างแท้จริง เงื่อนไขประการแรกสุดคือจะต้องไม่มีใคร หรือกลุ่มคณะใดมี (อภิ) สิทธิ์ในการยกเลิกและทำลายได้ รัฐธรรมนูญที่ถูกร่างขึ้นโดยกลุ่มคนคณะหนึ่งจึงไม่อาจทำให้ข้อเขียนเหล่านั้นกลายเป็นกฎหมายสูงสุดไปได้นอกจากจะต้องมีอำนาจเหนือกว่านั้นให้การรับรองและเป็นหลักประกันให้ เพราะไม่เช่นนั้นรัฐธรรมนูญที่ร่างแล้วล้มเลิกไปก็เป็นเพียงข้อตกลง ซึ่งแท้จริงแล้วก็เป็นเพียงข้อตกลงที่มาจากเจตนารมณ์ของคนกลุ่มหนึ่ง และไม่ได้เป็นแม้กระทั่งกฎหมายด้วย ที่ทำโดยผู้มีอำนาจให้ไว้กับผู้ที่ไม่มีอำนาจ มันจึงไม่ใช่สัญญาสังคม ดังนั้นจึงขาดพลังทางสังคมในการทำให้เนื้อหาศักดิ์สิทธิ์

หากจะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดได้อย่างแท้จริง เงื่อนไขประการแรกสุดคือจะต้องไม่มีใคร หรือกลุ่มคณะใดมี (อภิ) สิทธิ์ในการยกเลิกและทำลายได้

รัฐธรรมนูญโดยทั่วไปในระบบปกครองประชาธิปไตยที่ทำงานได้ค่อนข้างดี จึงไม่ต้องเขียนให้ละเอียด รุงรัง และยืดยาว แต่พยายามทำให้หลักการและเนื้อหาใหญ่ๆ ของมันจารึกอยู่ในใจคนมากกว่าจะมาเถียงและให้น้ำหนักที่ลายลักษณ์อักษรและการตีความตามตัวหนังสือ เพราะสามัญสำนึกบอกเราว่า อะไรที่เขียนได้ก็ถูกฉีกแก้ได้เช่นกัน

กล่าวโดยทั่วไป รัฐธรรมนูญในรัฐบาลเสรีนิยมมักให้ความสำคัญในสองเรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรกคือการประกันความมีสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากอำนาจรัฐ (รัฐธรรมนูญไม่ใช่ผู้ที่มาให้สิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชน เพราะสิทธิเป็นของประชาชน ซึ่งมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติของสังคมการเมือง รัฐธรรมนูญเพียงแค่ประกันและรับรองว่าจะไม่ให้ผู้มีอำนาจมาทำลายเบียดบังสิทธิเสรีภาพไปจากประชาชนต่างหาก) สอง การทำให้ระบบปกครองและกลไกรัฐสามารถตรวจสอบ ถ่วงดุล คานได้โดยประชาชน ทั้งสองหลักการนี้ต้องการและจำเป็นต้องมีระบบปกครองโดยกฎหมายที่ทำงานได้อย่างแท้จริง เพราะปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสรีภาพดำรงอยู่ได้คือการมีกฎหมาย ดังนั้นจึงกล่าวกันว่า ประวัติของรัฐธรรมนูญนั้นแยกไม่ออกจากประวัติและพัฒนาการของประชาธิปไตย และโดยเฉพาะเจาะจงก็คือ การเกิดขึ้นของมโนทัศน์ว่าด้วยการปกครองโดยกฎหมาย (หรือที่มีการเรียกว่านิติรัฐ)

ประวัติของรัฐธรรมนูญนั้นแยกไม่ออกจากประวัติและพัฒนาการของประชาธิปไตย

...
หลักการของนิติรัฐหมายความว่า กฎหมายทั้งหลายต้องอยู่ภายใต้หลักการสำคัญบางประการ แน่นอน หลักการนั้นย่อมไม่ใช่มาจากความต้องการของใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ การปกครองโดยกฎหมายจึงมีอะไรมากกว่าระบบรัฐธรรมนูญ ด้วยการทำให้การเข้ามาแทรกแซงหรือใช้ประโยชน์จากกฎหมายโดยรัฐบาลเป็นสิ่งที่ทำได้ยากขึ้น

จากข้อเท็จจริงที่ว่า การปกครองโดยกฎหมายคือการวางข้อจำกัดเหนือการออกกฎหมายทั้งหลาย (หรือการนิติบัญญัติ) หมายความว่าการปกครองโดยกฎหมายนั้นไม่ใช่ว่าเป็นเพียงกฎหมายที่ผ่านโดยฝ่ายนิติบัญญัติ เนื่องจากว่านิติบัญญัติเองอาจหาทางเลี่ยงจากการที่อำนาจของพวกเขาถูกจำกัดโดยกฎหมายด้วยการยกเลิกกฎหมายที่พวกเขาไม่ต้องการได้ ดังนั้นการปกครองโดยกฎหมายจึงไม่ใช่การปกครองของกฎหมาย หากแต่เป็นการปกครองที่คำนึงถึงว่ากฎหมายควรเป็นอย่างไร ทั้งนี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อนิติบัญญัติเองก็ตระหนักและยอมรับข้อผูกมัดนี้ ในระบบประชาธิปไตยนี่หมายความว่า ระบบปกครองโดยกฎหมายจะมีผลแท้จริงเมื่อมันก่อรูปขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของขนบธรรมเนียมทางจริยธรรมของชุมชนนั้น มีอุดมการณ์ร่วมกัน และยอมรับอย่างไม่มีข้อสงสัยโดยคนส่วนใหญ่

การปกครองโดยกฎหมายจึงไม่ใช่การปกครองของกฎหมาย หากแต่เป็นการปกครองที่คำนึงถึงว่ากฎหมายควรเป็นอย่างไร ทั้งนี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อนิติบัญญัติเองก็ตระหนักและยอมรับข้อผูกมัดนี้


อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการใช้และทำให้รัฐธรรมนูญเป็นจริงและมีน้ำยาได้นั้น จำเป็นต้องมีสถาบันทางสังคมและการเมืองที่แข็งแรงและมั่นคงระดับหนึ่งก่อนด้วย...หัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญสมัยใหม่คือการที่ประชาชนต้องมีความปรารถนาและใฝ่ฝันในอุดมการณ์ของการปกครองประชาธิปไตย ไม่ใช่เพียงความต้องการของผู้ปกครองที่อยากเห็นราษฎรประพฤติตนอย่างไรแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น

==============================

อ่านเพิ่มเติมได้ใน แปดทศวรรษสยามปฏิวัติ



แปดทศวรรษสยามปฏิวัติ
บทวิเคราะห์การเมืองและประชาธิปไตยสยามไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ : เขียน
ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล : บรรณาธิการ
ปฐมพงศ์ น้ำใจดี : ออกแบบปก

-- สารบัญ --
คำนำ โดยธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
1. การปฏิวัติประชาธิปไตยในสยามล้มเหลวจริงหรือ?
2. สู่วิญญาณของขบวนการเดือนตุลาคม
3. มนุษยภาพ: ว่าด้วยความกลัว ปัญญา และอิสรภาพ
4. บทบาททางประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญในระบบประชาธิปไตยไทย
5. พิทักษ์เจตนารมณ์ 14 ตุลาคม ของปรีดี พนมยงค์
6. แลหลังกบฎปฏิวัติรัฐประหารในการเมืองสยามไทย
7. แปดทศวรรษสยามปฏิวัติ: ความคิดว่าด้วยระบบประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่าน

ความหนา : 152 หน้า
ISBN: 9786167196220
==============================

สนใจงานเขียนยกชุกของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

คลิกที่รูปได้เลย รับราคาพิเศษ


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้