จากนักเขียนโนเบล Gunter Grass ถึงนิยายแปลสวีเดน - บันทึกของ Doctor Glas

Last updated: 15 มิ.ย. 2564  |  2849 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จากนักเขียนโนเบล Gunter Grass ถึงนิยายแปลสวีเดน - บันทึกของ Doctor Glas

หากย้อนดูประวัติศาสตร์ในช่วงที่ กุนเธอร์ กราสส์ (Gunter Grass) ขึ้นรับรางวัลโนเบลในปี 1999 จากนิยายเรื่อง The Rat ซึ่งตีพิมพ์ก่อนหน้านั้น 14 ปี ตามถ้อยแถลงของกราสส์เอง ห้วงเวลาในปี 1985 คงนับได้ว่าห่างกันไกลกับห้วงปี 1905 ที่นิยายเรื่อง Doctor Glas ได้รับการตีพิมพ์ถึง 80 ปี และห่างจากปีที่ กุนเธอร์ กราสส์ ขึ้นรับรางวัลโนเบล และได้กล่าวถ้อยแถลง 94 ปี

กุนเธอร์ กราสส์ (Gunter Grass)


ในช่วงระยะเวลา 94 ปีของประวัติศาสตร์ที่มีตั้งแต่การเกิดสงครามโลกถึงสองครั้ง ตามมาด้วยสงครามเย็น และสงครามร้อนในระดับย่อยในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก การขับเคี่ยวระหว่างสองมหาอำนาจเพื่อแย่งชิงพื้นที่บนความเวิ้งว้างในห้วงอวกาศ แต่ห่างไกลยิ่งนักต่อความว่างเปล่าในห้วงคำนึงของจิตใจมนุษย์

การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดสงครามความต่างทางอุดมการณ์ เพื่อถากทางพื้นที่การต่อสู้ระหว่างมนุษย์ด้วยกันบนพรมแดนของความเชื่อศาสนา และลัทธิทุนนิยมสมัยใหม่

94 ปีระหว่างหนึ่งนิยายกับหนึ่งถ้อยแถลงของสองนักเขียนบอกอะไรได้บ้าง

คงต้องย้อนจากวันเวลาปัจจุบัน ในปี 2 0 1 9 เพื่อกลับไปอ่านอีกครั้ง


[…] เรื่องเล่าชนิดใดที่ถูกเล่าในช่วงที่ยังไม่มีใครอ่านออกเขียนได้ และด้วยเหตุดังนั้นจึงยังไม่มีการบันทึก นับจากวันเวลาของ Cain และ Abel (บุตรของ Adam และ Eve) มันคือเรื่องเล่าเกี่ยวกับการฆาตกรรมและการฆ่าที่ไม่มีการไตร่ตรอง ความอาฆาตพยาบาทต่างๆ การล้างเลือด และความรุนแรง ซึ่งมักจะเป็นเรื่องเล่าที่ดีประเภทหนึ่ง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้เข้ามาสู่ภาพเหตุการณ์ตั้งแต่ต้น ขนานไปกับเหตุการณ์น้ำท่วมและความแห้งแล้ง เดือนปีแห่งความอดอยากยากแค้นและความอุดมสมบูรณ์ รายชื่ออันยาวเหยียดของไพร่ทาสและวัวควายที่ได้รับการยอมรับอย่างสมบูรณ์

[…] และไม่มีนิทานเรื่องใดสามารถเชื่อถือได้โดยปราศจากรายละเอียดของลำดับเชื้อสาย วงศ์ตระกูล หรือระบบเครือญาติ ผู้ซึ่งเกิดมาก่อนหน้าพวกเขาและจะสืบสานวงศ์วานเผ่าพันธุ์กันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวเกี่ยวกับวีรบุรุษ, รักสามเส้า, เป็นที่นิยมแม้กระทั่งทุกวันนี้ และนิทานเกี่ยวกับสัตว์ประหลาด ครึ่งคนครึ่งสัตว์ ซึ่งสร้างทางของพวกเขาโดยผ่านเขาวงกต หรือเฝ้าคอยอยู่ในดงหญ้าแฝก อันเป็นเรื่องที่ดึงดูดใจผู้ฟังส่วนใหญ่มาตั้งแต่ต้น โดยมิจำต้องกล่าวถึงตำนานเทพเจ้าและเทวรูปต่างๆ และเรื่องราวเกี่ยวกับการท่องทะเล ซึ่งต่อมาได้รับการส่งมอบให้คนรุ่นหลัง สิ่งเหล่านี้ได้ถูกขัดเกลา ขยายความ ปรับแก้ เปลี่ยนแปลงไปอย่างสมบูรณ์สู่เรื่องเล่าในทางตรงข้าม และในท้ายที่สุดได้ถูกจดจารโดยนักเล่านิทาน […] Gunter Grass: The Nobel Prize in Literature 1999 : สมเกียรติ ตั้งนโม แปล มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

[…] สิ่งที่ฉันบันทึกลงบนหน้าเหล่านี้มิใช่คำสารภาพ ฉันควรจะไปสารภาพกับใครล่ะ อีกทั้งฉันก็มิได้บอกความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับตัวฉันด้วย เพียงแต่ฉันรู้สึกสุขใจที่ได้เขียนออกมา แต่ไม่มีความข้อใดที่ไม่จริง ฉันไม่อาจบ่งความทุกข์ตรมออกจากวิญญาณด้วยการเล่าความเท็จได้ […] Doctor Glas บันทึกของคนเสื้อขาว / ยาลมาร์ โซเดอร์เบิร์ก : ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล แปล สนพ.สมมติ หน้า 29-30

ยาลมาร์ โซเดอร์เบิร์ก (Hjalmar Söderberg) ผู้เขียน Doctor Glas

เมื่ออ่าน ‘ข้อความ’ ของทั้งสองนักเขียนผ่านภาษาของนักแปล สิ่งที่คงจะพูดได้อย่างไม่เกินเลยว่าตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ นับจากก่อนคริสตกาล (ซึ่งก่อนหน้านั้นคือพุทธกาลและฮินดูกาล)

มนุษย์กระหายในการเล่าเรื่อง กระหายคนรับฟัง กระทั่งพัฒนามาเป็นกระหายเพื่อจดจารบันทึก ให้คนได้อ่าน ต่อไป และต่อไป ตกมาถึงมนุษย์ยุคสมัยใหม่ จนกลายเป็นวรรณกรรมดั่งที่ได้รู้จักกันดี ทว่ามากกว่านั้น คำถามสำคัญ มักจะมีคำถามสำคัญทุกเรื่องสิน่า วรรณกรรมหรือเรื่องเล่าแบบใดที่ทรงคุณค่า

ก่อนจะหานิยามที่อาจจะนำไปสู่บทสรุป หรือไม่มีบทสรุปใดๆ ในบทความชิ้นนี้

จำเป็นต้องทำความเข้าใจในสารัตถะเบื้องต้นก่อนว่า ความกระหายใคร่อยากในการรับรู้ในเรื่องราวของ ‘คนอื่น’ เปรียบเหมือนคำสาปที่แปรรูปให้ถูกทดแทนด้วยการอ่านเรื่องแต่ง ใช่หรือไม่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เลือกหยิบหนังสือสักเล่ม ฟัง Podcast จากใครสักคน เราปรารถนาใคร่รู้ในเรื่องราว เราปรารถนาความบันเทิงจากการได้รับฟัง/อ่าน ‘สาร’ เหล่านั้น ซึ่งนิยามความหมายของคำว่าบันเทิงของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนหรือเท่ากัน

บางคนอาจรู้สึกสนุกที่ได้ฟังเรื่องราวของประธานาธิบดีศรีลังกาที่มีอดีตมาจากการเป็นมือปราบกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในช่วงสงครามกลางเมืองของประเทศศรีลังกา ขณะที่บางคนอาจรู้สึกสนุกไม่แตกต่างเมื่ออ่านสรุปย่อเรื่องราวเลิกร้าง มือที่สามของคู่รักดาราที่บางคู่ บางคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อ ไม่เคยดูบทบาทการแสดงของพวกเขาด้วยซ้ำ แต่เรื่องราวในนั้นต่างหากที่เร้าความสนใจ

ความสนุกสนานในเนื้อหาเหล่านั้นต่างหากที่ดึงเวลาที่เป็นต้นทุนแสนแพงของแต่ละคนให้ใช้จ่ายหมดไปกับเรื่องราวที่สำหรับบางคนอาจดูน่าเบื่อ สำหรับบางคนอาจดูไร้สาระ

ดาราเลิกรักมันสำคัญเช่นไรต่อการต่อสู้เพื่อที่ดินของชาวเกษตรกรที่ถูกรัฐฟ้องร้องฐานละเมิดที่ดินของพวกเขามาแต่บรรพบุรุษเอง

ขณะเดียวกัน ปัญหาตัวเลขเศรษฐกิจถดถอย ภาวะว่างงาน และความเหลื่อมล้ำ ก็ยากเกินทำความเข้าใจ ยากเกินที่คนธรรมดาจะทำอะไรได้ เช่นนั้นแล้ว จะเสียเวลากับการหาความบันเทิงให้ตัวเองบ้างจะเป็นอะไรไป

ใช่ไหม

นั่นไม่ใช่คำถามหรอก เพราะต่างรู้ว่าเหตุและผลในการเสพเรื่องราวแต่ละคนไม่เหมือนกัน อีกทั้งการชี้นิ้วใส่เพื่อจะบอกที่คุณหรือเขาอ่านหรือฟังหรือดูนั้นไร้สาระ เป็นพฤติกรรมที่คนฉลาดไม่ทำกัน (อันที่จริงความฉลาดหรือความโง่อาจไม่จำเป็นต่อการเสพเรื่องราวแต่อย่างใด)

กลับมาที่ถ้อยแถลงของ กุนเธอร์ กราสส์ ได้กล่าวต่อว่า

[…] พวกเขาได้แปรเปลี่ยนเรื่องเล่าเหล่านั้นไปสู่ปัญญาชนที่อ่านออกเขียนได้ ติดแน่นกับงานเขียนดั่งที่เราเป็น อย่างไรก็ตาม เราได้เก็บรักษาความทรงจำเกี่ยวกับนักเล่านิทานด้วยปากเปล่าเอาไว้ การพูดคือจุดเริ่มต้นของวรรณกรรม […]

ซึ่งใจความสำคัญของถ้อยแถลงประโยคนี้ และถัดไป […] ตอนนี้มันดังขึ้นและชัดขึ้นทุกหนแห่ง จากการคำรามกับตนเองสู่การดอมดมเพื่อค้นหาแก่นสารที่แท้จริงของชีวิต ถ้าหากศรัทธาของเราในงานเขียนทำให้เราหลงลืมทั้งหมดที่กล่าวมานี้ การเล่าเรื่องของเราก็จะทำให้เรากลายเป็นเพียงหนอนหนังสือ ซึ่งแห้งผากดั่งฝุ่นผง […]

ก็อาจพออนุมานความหมายที่นักเขียนรางวัลโนเบลปี 1999 ต้องการจะสื่อได้ว่า การรับฟังเสียงทั้งจากภายในและภายนอกต่างเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าถึงจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ อาจไม่ต้องถึงขั้นบรรลุธรรมอะไร ทว่าแต่อดีต บรรดาศาสดาของทุกศาสนาต่างใช้เสียงเพื่อการสื่อสาร ก่อนอัครสาวกของศาสดาต่างๆ จะบันทึกเสียงนั้นลงในรูปเล่มของคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ที่โดยเนื้อแท้แล้วล้วนคือเรื่องเล่าที่ไม่ต่างจากบันทึกของ Doctor Glas ที่บันทึกห้วงอารมณ์ความรู้สึก เรื่องราวที่ได้รับรู้ จากผู้คนในแต่ละวัน



Doctor Glas First US edition
Cover art by Milton Glaser


กล่าวเช่นนี้ สำหรับผู้ศรัทธาในศาสนาเข้มข้นอาจเบะปากด้วยความไม่พอใจว่าเอาวรรณกรรมไปเปรียบกับคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร ดั่งที่อ้างอิงจากถ้อยแถลงของ กุนเธอร์ กราสส์ ซึ่งพยายามจะบอกเล่าให้ผู้เข้าร่วมในพิธีรับรางวัลโนเบลผ่านการคลี่ขยายภาพให้เห็นถึงที่มาที่ไปของคำว่าวรรณกรรม มาจนเหตุผลที่ทำให้กราสส์ต้องเขียนหนังสือ ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากการรับฟังซึ่งเสียงต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ผ่านเข้ามาในโมงยามของย่ำเย็นเมื่อเฝ้ามองดูดวงอาทิตย์ลับลาขอบฟ้าจากบนรถไฟฟ้าที่กำลังเคลื่อนผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา หรืออำลาทิวเขาสูงบนสันเขาระหว่างการเดินทางที่ไหนสักแห่งบนโลก


[…] ใช่, ผมรักในเสียงร่ำร้อง มันทำให้ผมมีเพื่อน เพื่อนคนหนึ่งที่พล่ามออกมาในหลายระดับเสียงซึ่งเรียกร้องให้ผมจดจารต้นฉบับออกมาด้วยลายมือ และไม่มีสิ่งใดที่ผมหลงใหลมากกว่าการได้พบหนังสือต่างๆ ของตัวเอง – หนังสือที่โบยบินออกจากกรงขังมายาวนานและถูกซื้อโดยผู้อ่าน – เมื่อผมอ่านออกมาดังๆ ให้กับผู้ฟัง กับตัวหนังสือที่วางนอนอย่างสงบบนหน้าหนังสือในช่วงเวลานั้น.

[…] สำหรับความเยาว์วัย ช่วงที่ยังอ่อนหัดทางภาษา และช่วงที่แก่ชราผมหงอก แต่ยังคงตะกละตะกลาม โลกของงานเขียนกลายเป็นเสียงพูด และความมหัศจรรย์ยังคงทำงานอยู่อย่างสม่ำเสมอ มันคล้ายดั่งหมอผีในการเป็นนักประพันธ์ที่มีรายได้เพียงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อทำงานเขียนทวนกระแสของวันเวลา โป้ปดตามหนทางของตนเองสู่ความเป็นจริงที่สมเหตุสมผล และทุกคนต่างเชื่อถือในคำสัญญาที่เงียบงันนั้น […] Gunter Grass: The Nobel Prize in Literature 1999 : สมเกียรติ ตั้งนโม แปล มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

[…] เคารพศรัทธาต่อชีวิตมนุษย์ – คำใดเอ่ยที่ฉันมักพร่ำพูดติดปาก แต่ช่างเป็นการตลบตะแลงเสแสร้งสิ้นดี คำใดเอ่ยที่มักจะหลุดร่วงจากริมฝีปากของใครก็ตามที่เคยปลีกอยู่ในครุ่นคำนึงยามคร้านงาน ‘ชีวิตมนุษย์’ มันวนเวียนอยู่รอบตัวเรา อยู่ในความรับผิดชอบของเราทุกคน แต่สำหรับชีวิตของผู้คนในดินแดนอันไกลโพ้นที่เราไม่เคยได้พบเห็น กลับไม่เคยมีใครคิดจะสนใจพวกเขาแม้แต่น้อย […] Doctor Glas บันทึกของคนเสื้อขาว / ยาลมาร์ โซเดอร์เบิร์ก : ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล แปล สนพ.สมมติ หน้า 32-33


Doctor Glas หรือ 'บันทึกของคนเสื้อขาว' ฉบับพิมพ์ภาษาไทยครั้งแรก



ชีวิตมนุษย์เป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยคำถามของปริศนาที่ไม่วันหาคำตอบได้อย่างสมบูรณ์ แต่หากคุณเป็นมนุษย์ประเภทเชื่อว่าทุกอย่างมีสูตรสำเร็จ หาอ่านได้ในหนังสือประเภท How-to หรือสร้างแรงบันดาลใจทั้งหลาย ถ้อยแถลงของกุนเธอร์และ บันทึกของคนเสื้อขาว อาจไม่ใช่สูตรสำเร็จเพื่อไขหาความกระจ่างให้กับสิ่งที่เรียกว่า ชีวิต เท่าไหร่นัก

นั่นเพราะในถ้อยแถลงของกุนเธอร์ เขาได้กล่าวถึงเหตุผลในการมาเป็นนักเขียนไว้ว่ามาจากความตื่นเต้นเมื่อได้อ่านวารสารของยุวชนฮิตเลอร์ จึงเขียนนิยายเรื่องแรกจากปูมหลังของแม่ตนเองโดยมีเนื้อหลักๆ ประมาณว่า

[…] ทั้งหมดที่ผมจำได้เกี่ยวกับมันคือ หลังจากโครงเรื่องสั้นๆ เกี่ยวกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในเขตด้อยพัฒนา Kashubian ผมก็เริ่มต้นด้วยการปล้นสะดมและการฆาตกรรมหมู่โดยการแก้แค้น มันเป็นเรื่องของการแขวนคอ การทิ่มแทง และความรุนแรง ศาลเถื่อนหรือศาลเตี้ยทำหน้าที่แขวนคอและประหารผู้คน นั่นคือการสิ้นสุดของบทแรก ตัวละครเอกและตัวละครรองทั้งหมดล้วนตายลง บ้างก็ถูกฝัง บ้างก็ถูกโยนให้แร้งกิน เมื่อสไตล์การเขียนของผมไม่ยอมให้ผมเปลี่ยนซากศพไปสู่ดวงวิญญาณอันยิ่งใหญ่ มันจึงทำให้นวนิยายเรื่องนี้กลายไปเป็นเรื่องผีๆ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผมต้องยอมรับความพ่ายแพ้ด้วยการจบลงอย่างทันทีทันใดและไม่มี “โปรดติดตามตอนต่อไป” (To Be Continued ...) แน่นอน นั่นไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก แต่พวกมือใหม่จะต้องเรียนรู้บทเรียนของตัวเอง นั่นคือ ต่อนี้ไปเขาจะต้องอ่อนโยนกับตัวละครต่างๆ ของเขามากขึ้นกว่านี้ […]

แน่ล่ะ เรื่องราวประเภทกระตุ้นเร้าอย่างการฆาตกรรม การล้างแค้น ย่อมกระชากความสนใจได้ดีกว่าเรื่องราวของหมอผู้เก็บเรื่องราวของผู้ป่วยในแต่ละวันมาบันทึกเป็นการระบายความรู้สึก แต่หากมองอย่างชิดใกล้ตัวมากขึ้น และไม่มีกรอบของคำว่า อะไรคือวรรณกรรมมาขีดเส้น สถานะของโลกออนไลน์ ทั้งบนแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม ไลน์ ล้วนมีที่ทางอยู่ที่การเล่าเรื่องราวในแต่ละวันของผู้คนแทบทั้งสิ้น มากกว่านั้น อย่างไม่อาจปฏิเสธด้วยซ้ำ คุณจะพบเจอเรื่องราวที่โหดร้ายเสียยิ่งกว่าที่กุนเธอร์เขียนไว้ในนิยายเล่มแรกของตนเอง

เช่นนั้นกลับไปยังเกริ่นนำเบื้องต้นของบทความนี้

94 ปีระหว่างหนึ่งนิยายกับหนึ่งถ้อยแถลงของสองนักเขียนบอกอะไรได้บ้าง

คำ ผกา เขียนไว้ในคำตาม ‘บันทึกของคนเสื้อขาว’ ไว้ว่า […] หลังจากอ่านไดอารี่ของคุณแล้ว มันยิ่งทำให้ฉันตระหนักในความอ่อนแอของมนุษย์ ยิ่งมนุษย์อย่างคุณหรือหญิงสาวคนนั้น-ภรรยาของสาธุคุณเจ้าที่คุณเฝ้าหลงรักหล่อน […] 

ขณะที่กุนเธอร์ กราสส์ กล่าวว่า […] อะไรคือส่งที่ทำให้หนังสือและนักเขียนต้องตกอยู่ในภาวะอันตราย… นั่นคือ 'โบสถ์'และ 'รัฐ' หรือ 'บรรดาคณะกรรมการโปลิสบูโร' และ 'สื่อมวลชน' ที่ต้องการจะเป็นปรปักษ์กับพวกนักเขียนใช่หรือไม่? ความเงียบและสภาพการณ์ที่เลวร้ายลงแทบจะไม่ใช่ผลลัพธ์ของการโจมตีโดยตรงตามอุดมคติของชนชั้นปกครอง.

[…] บ่อยครั้ง ทั้งหมดที่ยึดถือคือ การพาดพิงในเชิงวรรณกรรมถึงความคิดเกี่ยวกับ “ความจริง” ซึ่งดำรงอยู่ในความเป็นพหูพจน์หรือมากกว่าหนึ่งเสมอ มันไม่มี “ความจริงโดดๆ” หรือ “ความจริงเพียงอันเดียว” จะมีก็แต่ “ความหลากหลายของความจริง” เท่านั้น ซึ่งทำให้บรรดาผู้ปกป้องเกี่ยวกับความจริงเพียงอันเดียว หรือความจริงอีกอันหนึ่งรู้สึกตกอยู่ในอันตราย มันเป็นอันตรายที่ถึงตายทีเดียว […] 


อาจจะย่นย่อ (ด้วยความรับผิดชอบส่วนตัวของผู้เขียนบทความเอง) ได้ว่า 94 ปีของประวัติศาสตร์ระหว่างเรื่องเล่าสองเรื่องนั้น แม้จะมีความต่าง มีรายละเอียดปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ ที่ในฐานะคนอ่านแล้วจำเป็นต้องพิจารณาเพื่อเข้าใจถึงเหตุผลในการที่นักเขียนคนหนึ่งเขียนหรือบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นออกมาในช่วงเวลานั้นๆ ทว่า 94 ปีระหว่าง ดอกเตอร์ กลาส มาถึง กุนเธอร์ กราสส์ ในวันเวลาปัจจุบันของการมองย้อนกลับไปพิจารณาที่มาที่ไปของเรื่องเล่าจากมุขปาฐะสู่วรรณกรรม ท้ายที่สุดแล้ว อาจมีความหมายเพียงว่า เราทุกคนในฐานะมนุษย์ล้วนปรารถนาการเล่าเรื่องที่ปราศจากข้อจำกัดร้อยรัดในนามของสถาบัน กระทั่งในนามของนามธรรมที่ผู้คนจะเป็นจะตายเอากับมัน หากพบว่ามีการละเมิดฝ่าฝืน 

ดอกเตอร์ กลาส บอกเล่าความรู้สึกที่ผิดทำนองคลองธรรมต่อภรรยาสาธุคุณเจ้าในรูปรอยของบันทึก

กุนเธอร์ กราสส์ บอกเล่าถึงความจริงที่ซุกซ่อนอยู่ในแผ่นดินเกิดตนเอง ซึ่งจำต้องแลกมาด้วยอิสรภาพของการถูกเนรเทศ และถูกขับไล่ออกไปจากประเทศตนเอง 

มีหลายคนบนโลกปัจจุบันที่ติดคุกเพียงเพราะแชร์ข่าว บางคนแค่ตอบคำว่า “จ้า” ก็ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 

ไม่สำคัญ - กล่าวอย่างซื่อสัตย์ - ที่คุณจะอ่านวรรณกรรมด้วยเหตุและผลแบบใด

ไม่สำคัญ - หากคุณพะวงต่อการมองว่าตนเองจะดูฉลาดหรือไม่ โปรดจงดูผู้นำประเทศหนึ่งไว้ - ที่คุณจะชื่นชอบในเรื่องราวที่สำหรับบางคนแล้วช่างไร้สาระ

เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว วรรณกรรม คือ การบอกเล่าซึ่งสิ่งที่ไม่อาจพูดออกไป เราจึงเสกสรรปั้นแต่งมันขึ้นมา เราจึงสร้างโลกอีกโลกที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเพื่อจะหลบซ่อน เพื่อจะกู่ก้องถ้อยคำที่ไม่อาจเอ่ย ทั้งต่อบางคนในแง่มุมของความรัก ทั้งต่อบางคนในแง่มุมของการประท้วงทวงถามความอยุติธรรมต่ออำนาจรัฐ 

คุณอาจจะอ่าน บันทึกของคนเสื้อขาว ด้วยแง่มุมของคนแอบรักใครสักคน แล้วได้พบเจอไดอารี่ที่บอกเล่าความรู้สึกที่ซุกซ่อนอยู่ในใจ จนฉุดดึงให้คุณกล้าที่จะส่งข้อความ หรือโทร หรือเดินไปหาคนคนนั้นเพื่อจะบอกรัก แม้ว่าในท้ายที่สุดคุณอาจพบกับความผิดหวัง 

คุณอาจจะอ่านถ้อยแถลงของนักเขียนรางวัลโนเบลด้วยความรู้สึกห่างไกลจากโลกที่คุณคุ้นเคย จากบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่คุณได้แต่ร้องอิหยังวะกับตัวเลขเรียกเก็บจากผู้ให้บริการ ซึ่งคุณอาจจะได้หรือไม่ได้อะไรเลยกลับมา หลังจากอ่านถ้อยแถลงนั้นจบ ห่ะ แม้แต่บทความนี้เช่นเดียวกัน

กระนั้น นั่นแหละคือพลังอำนาจของเรื่องเล่า พลังของวรรณกรรมที่แฝงฝังอยู่ในตัวอักษร เพราะทันทีที่คุณฝังตัวเองแล้วลืมสิ้นทุกสิ่งที่เป็นปัญหา วรรณกรรมได้ทำงานแล้ว เรื่องเล่าเหล่านั้นได้ดึงคุณให้ออกจากอะไรก็ตามที่คุณประสบพบเจอในแต่ละวันแล้ว โดยไม่สำคัญว่าคุณจะได้หรือไม่ได้อะไรจากการอ่าน ได้รับรู้เรื่องราวเหล่านั้น 

ผมอาจจะบอกกับคุณ ณ บรรทัดนี้ได้ว่า คุณโดนผมหลอกแล้ว 

ทว่าในความเป็นจริง การจะประกาศตัวอย่างอหังการว่าคุณจะต้องได้หรือไม่ได้สิ่งใด ในการเสพเรื่องเล่า ไม่ว่าในรูปแบบใดนั้น ล้วนเป็นจองหองเย่อหยิ่งที่ไม่ใช่จุดประสงค์ และนิสัยส่วนตัวของผม เพราะถือว่า 'สิทธิ์ในการได้หรือไม่ได้อะไร' ไม่ได้อยู่ที่ตัวบท ไม่ว่าจะเป็นบทความ หรือนิยาย เรื่องสั้น บทกวี อีกทั้งไม่ได้อยู่ที่ตัวนักเขียนด้วย แต่มันอยู่ที่ตัวคุณเอง 

อยู่ที่ประสบการณ์ชีวิตคุณ มุมมองความคิดคุณ จินตนาการของคุณ ความใฝ่ฝันของคุณ และอิสรภาพของคุณ 

อย่าให้ใครแย่งมันไป ไม่ว่าเขาจะเป็นนักเขียนที่เก่งแค่ไหน ไม่ว่าใครจะบอกว่าอ่านเรื่องนี้สิดี 

ความรู้สึกที่คุณรู้สึก เป็นของคุณ 

ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยกับบทความนี้หรือไม่ ไม่ว่าคุณจะอ่านจบแล้วจะอยากกดสั่งซื้อหนังสือของสำนักพิมพ์สมมติหรือไม่ 

และนี่ต่างหาก คือ เหตุและผลของ 94 ปี จากถ้อยแถลงของ gunter grass ถึงบันทึกของ Doctor Glas

::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

บทความโดย Anonymous

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้