ว่าด้วยความแตกต่างอย่างเด็ดขาด | เวลากับแวดวง (1)

Last updated: 30 พ.ค. 2563  |  3367 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ว่าด้วยความแตกต่างอย่างเด็ดขาด | เวลากับแวดวง (1)

ผู้คนจากแต่ละแวดวงมีความแตกต่างกันอย่างน่าพิศวง หากคุณเคยทำงานราชการมาก่อน แต่แล้ววันนี้คุณผันตัวมาเป็นนักดนตรี คนรอบข้างคุณเปลี่ยนไป จากที่มองไปรอบๆ มีแต่ผมสีดำเทาน่าเชื่อถือ จู่ๆ คุณก็ได้รู้จักพวกทรงผมสีแดงชี้โด่ชี้เด่แบบในทีวี และไม่นานหลังจากนั้นคุณอาจพบว่าการนึกภาพตัวเองมีผมสีแดงบ้างก็ไม่ได้ยากขนาดนั้นอีกต่อไป การเดินทางระหว่างแวดวงหนึ่งไปสู่แวดวงอื่นจะมอบความรู้สึกคล้ายกับการท่องเที่ยวให้คุณเสมอ มันทำให้คุณอยู่ในบรรยากาศใหม่ มันทำให้คุณอยากค้นหา และทดลองกับจินตนาการใหม่ๆ

ผมมักจะมีจังหวะชีวิตต้องไปร่วมงานกับหลากหลายแวดวง และได้พบว่า ‘เวลา’ ของคนแต่ละแวดวงจะมีลักษณะร่วมกันอยู่ ลักษณะร่วมเหล่านี้ยังสามารถแตกต่างจากแวดวงอื่นอย่างเหลือเชื่อ เช่น หากเราพูดว่า ‘ขอให้เสร็จอย่างเร็วที่สุด’ กับคนทำงานในเอเจนซีโฆษณา เร็วที่สุดนั้นอาจจะหมายความถึงภายในครึ่งชั่วโมงนี้ไปจนถึงภายในเที่ยงคืนวันนี้ แต่หากเราพูดว่า ‘เร็วที่สุด’ กับคนจากโลกมูลนิธิ NGO หรือบริษัทพัฒนาเอกชน เร็วที่สุดนั้นหมายความถึงตั้งแต่พรุ่งนี้ไปจนถึงอาทิตย์หน้า ในขณะที่คำว่า ‘เร็วที่สุด’ สำหรับคนในโลกมหาวิทยาลัย หรือราชการ มันอาจหมายความว่า ‘รอไม่ได้ก็ไม่ต้องเอา’ ส่วนสำหรับบรรณภพ โลกของหนังสือ เร็วที่สุดน่าจะก็ยังถือว่า ‘นาน’ สำหรับทุกคน

ยุงตัวผู้มีอายุประมาณหนึ่งสัปดาห์ มันมีทุกเหตุผลที่จะฆ่าตัวตายไปเสียดีกว่าตั้งแต่วันแรกที่เป็นยุง เพราะเวลาของมันมีน้อยเหลือเกิน น้อยสำหรับเรา หากแต่มันสามารถรู้สึกเช่นนั้นได้หรือไม่? ผมไม่ขี้สงสัยเท่านักปรัชญา และมีความเชื่อว่าไม่

สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในเวลาของตัวมันเอง ไม่ได้รับรู้ว่าวิถีชีวิตของมันช้าหรือเร็วเกินไป แต่จะรับรู้ได้ก็ต่อเมื่อมันกำลังยืนอยู่บนจุดเปลี่ยนผ่านระหว่างเวลาเดิมของมัน กับเวลาใหม่ที่มันกำลังจะก้าวเข้าไป


หากยุงตัวหนึ่งกำลังจะกลายร่างเป็นมนุษย์ มันจะเริ่มรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของเวลารอบๆ ตัว หากวันหนึ่งคุณอ่านพันทิปแล้วพบว่าคนอายุเท่าๆ กันมีเงินเดือนเฉลี่ยมากกว่าคุณ คุณก็เริ่มรู้สึกขึ้นมาว่าเวลาที่ผ่านมาคุณได้ปล่อยมันไหลผ่านเฉยๆ มากเกินไป นั่นหมายความว่าคุณ ในชั่วพริบตาหนึ่ง ได้กำลังยืนอยู่บนจุดเปลี่ยนผ่านระหว่างความเป็นคุณคนเดิมกับความเป็นคุณอีกคนหนึ่ง

ระยะเวลาที่สัมพัทธ์กันระหว่างสิ่งต่างๆ น่าจะมีเหตุปัจจัยที่เราสามารถทดลองจินตนาการถึงมันได้อยู่ ด้วยแรงและประสบการณ์เท่าที่มี ผมอยากจะลองจินตนาการถึงเวลาของสามแวดวง คือโลกเอกชน-ธุรกิจ โลกของมูลนิธิ-ภาครัฐ และโลกวิชาการ โลกหลวมๆ สามใบบวกลบ ที่มีเวลาแตกต่างกันอย่างเด็ดขาด
=====

‘ความเสี่ยง’ ในฐานะปัจจัยกำหนดความรับรู้เรื่องเวลา

เราได้ยินวลี ‘เวลาเป็นเงินเป็นทอง’ กันเป็นปกติในโลกของธุรกิจ ไม่นานมานี้ผมเพิ่งทำธุรกิจเป็นของตัวเอง แม้จะยังวนเวียนอยู่กับงานเขียนงานอ่าน มันก็ยังทำให้ผมพบว่านั่นไม่ใช่วลีที่กล่าวกันเล่นๆ การได้รับเงินช้าลงหนึ่งเดือนส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อความเป็นไปได้ของทั้งองค์กร การรับทำงานที่ใช้เวลานานตัดโอกาสจากการรับทำงานอื่นๆ ชิ้นใหม่ และทำให้งานที่ใช้เวลานานจำเป็นต้องมีราคาที่แพงขึ้น เพราะหากคำนวนผิดพลาดเพียงเล็กน้อย มันจะหมายถึงชีวิตของคนทั้งองค์กรที่จะถูกนำไปแขวนไว้บนความเสี่ยง และด้วยยุคนี้เงินทองคือความเป็นความตาย เวลาของผมจึงเป็นความเป็นความตาย ต่างจากช่วงที่ทำงานวิชาการโดยมีเงินของครอบครัวหล่อเลี้ยง และต่างจากช่วงที่ทำงานมูลนิธิ โดยมีเงินของแหล่งทุนหล่อเลี้ยง

ในช่วงที่ผมทำงานกับมูลนิธิ ผมจะเกิดความรู้สึกประทับใจเวลาร่วมงานกับผู้คนในภาคธุรกิจเสมอในเรื่องเวลา เพราะพวกเขาจะเร็วกว่าเพื่อนร่วมงานทั้งหมดของผมโดยธรรมชาติ ความเร็วเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้เลยกับคนทำงานแบบมูลนิธิเพื่อสังคม พวกเรารอภาคีเครือข่ายกันไปมา ใช้เวลากับการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาประชุมกันโดยไม่ได้ข้อสรุป และสามารถรอข้อมูลดิบที่ไม่รู้จริงไม่จริงได้เป็นเดือนๆ โดยไม่ทะเลาะกัน ประหนึ่งว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้ไม่ใช่งานที่มีความสำคัญอะไรจริงๆ แต่เหมือนเป็นงานอดิเรก

ผมเคยไม่เข้าใจอยู่สองสามอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างแรกคือถ้าคนทำงานพัฒนาสังคมมีคุณภาพเท่านี้ พวกเราจะไปพัฒนาใครได้ อย่างที่สองคืองานพัฒนาสังคมที่ทำอยู่นี้มันพัฒนาสังคมได้จริงหรือไม่ ทำไมทุกคนถึงทำตัวเหมือนทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ และอย่างสุดท้ายคืออะไรกันที่ทำให้พวกเราเป็นกันแบบนี้ สองคำถามแรกยังไม่ทราบ แต่คำถามที่สาม ผมคงพอจะเห็นร่องรอยของคำตอบอยู่บ้าง

ไม่นานผมก็เข้าใจว่าความเร็วจากเพื่อนฝั่งเอกชนเกิดขึ้นได้เพราะมันแปรผันตรงกับเป็นความตายของพวกเขาเอง Deadline หรือเส้นตายของ ‘เวลา’ ขึ้นตรงอยู่กับความมั่นคงในชีวิตของพวกเขา การไม่รีบทำงานเท่ากับช่องว่างของการไม่มีจะกินในอนาคตที่รอจะอ้าออกอยู่ตลอดเวลา สำหรับลูกจ้าง อาชีพอิสระ และทุนรายเล็ก นั่นทำให้เกิดลักษณะการสะสมทุนแบบ ‘ต้องไม่ได้พัก’

เพราะหากคุณไม่ได้โชคดีมีราคาค่างวดหรือต้นทุนชีวิตสูงมาก การพักและความล่าช้าของคุณจะมีค่าเท่ากับช่องว่างของการไม่มีจะกินหรือการต้องมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีศักดิ์ศรี

ในประเทศนี้กำไรไม่ใช่ความร่ำรวยฟุ่มเฟือยอีกต่อไป แต่เมื่อไม่มีสวัสดิการอะไร ความร่ำรวยกลายร่างเป็นความจำเป็น ทุกคนต้องทำงานเหมือนคนอยากรวย ความเร็วของพวกเขาจึงน่าประทับใจ แต่การถูกขูดรีดเวลาชีวิตออกไปนั้นเป็นด้านมืดและความโหดร้ายของความน่าประทับใจนั้น เพราะทุกคนเพียงแต่กำลังเร่งฝีเท้าเพื่อแข่งขันกับความแก่ชราของตัวเองที่ไม่มีอะไรมารองรับ นั่นหมายความอย่างง่ายว่า เราต่างกำลังวิ่ง วิ่งหนีจากความผุพังในวัยชรา ในขณะที่กำลังวิ่งเข้าสู่ความเสี่ยงของการสูญเสียคุณภาพชีวิตในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ธรรมชาติของคนทำงานในสายมูลนิธิ ภาครัฐ และงานเพื่อสังคม ยากที่จะเข้าใจ

ธรรมชาติของงบประมาณแบบมูลนิธิและภาครัฐ คือมันได้ถูกอนุมัติจากแหล่งทุนใหญ่เป็นหลักรายปี และค่อนข้างจะเป็นเงินบริจาคที่มีความมั่นคง ส่วนหนึ่งถูกฟอกมาจากเศษส่วนของเงินเหลือเศรษฐี และในอีกส่วนหนึ่งก็คือพวกเขาไม่มีตัวชี้วัดที่สามารถทำให้ตัวเองแพ้ได้อย่างแท้จริง คนทำงานมูลนิธิแทบจะไม่มีวันล้มเหลวในเอกสาร เพราะพวกเขาสามารถจ้างนักวิชาการที่เห็นพ้องต้องกันมาประเมินได้ หรือไม่ก็สามารถติดตั้งตัวชี้วัดที่มั่นใจตั้งแต่แรกว่าตัวเองจะไปถึงได้อย่างแน่นอน ต่างจากยอดขายหรือการทำงานเพื่อมีชีวิตรอด ที่ไม่มีใครสามารถ ‘เล่นลิ้น’ กับตัวชี้วัดได้มากถึงเพียงนั้น ขายได้ก็เห็นยอด ขายไม่ได้ก็ไม่เห็นยอด

ดังนี้แล้วลักษณะความร้อนรนของการ ‘ไม่รู้ว่าจะรอดไหมในเดือนนี้ จึงต้องรีบทำเอาไว้ก่อน’ จึงเป็นคนละจังหวะกับสายงานแบบเอกชน เพราะมูลนิธิจะแบกรับความเสี่ยงก็ต่อเมื่อเกิดสถานการณ์ใหญ่ๆ ขึ้นเป็นบรรยากาศ หรือเกิดการเปลี่ยนนโยบายจากองค์กรใหญ่ๆ ไม่ก็เป็นเหตุฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้น ผู้บริหารในสายมูลนิธิจึงมีจังหวะของการเผชิญความเสี่ยงที่ห่าง และเวลาที่นาน ระหว่างการมาถึงของความเสี่ยงในแต่ละครั้งที่อาจมีผลต่อความเป็นความตายขององค์กร

นั่นเป็นจังหวะที่ต่างอย่างมหาศาลจากผู้บริหารในสายเอกชน นอกจากจะเรียนรู้จากเพื่อนในสายเอกชนแล้ว ผมยังพบเจอกับมันด้วยตัวเอง ตั้งแต่ผมออกมาทำองค์กรเป็นของตัวเอง ผมเผชิญหน้ากับความเสี่ยงเล็กๆ มีความเป็นไปได้สูงอยู่ถี่ๆ ทุกวัน และเผชิญความเสี่ยงใหญ่ๆ ที่ความเป็นไปได้ปานกลางในทุกๆ เดือน

สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้ผมต้องรีบทำงานอยู่ภายในระยะที่ซอยถี่ๆ ของเวลา ในขณะที่เมื่อทำงานอยู่ในมูลนิธิ ผมจะพบกับความเสี่ยงใหญ่ๆ ที่ความเป็นไปได้ต่ำประมาณสองเดือนหนึ่งครั้ง ส่วนความเสี่ยงเล็กๆ นั้นเดือนหนึ่งจะมีสักครั้ง แถมยังเป็นความเสี่ยงที่ต่อให้เกิดความเสียหายแล้วมันก็แทบไม่ใช่ความเสียหายที่แท้จริง (เช่น ต่อให้คนที่รับงานจากมูลนิธิไปทำเริ่มส่งงานช้าหรือจ้างไปสูญเปล่า มันก็แทบจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเป็นผลเสียที่ตามมาเลย) ดังนี้เราจะเห็นว่าจังหวะเวลาในการมาถึงของความเสี่ยงน้อยใหญ่ จะส่งผลต่อลักษณะการดำเนินงานขององค์กรทั้งหมด นำมาซึ่งความรับรู้เกี่ยวกับ ‘เวลา’ ของคนทั้งองค์กร ทั้งแวดวง
=====

การเคลื่อนไหวของทุน ปรัชญาแห่งรัฐ กับเวลาและความสำคัญ

ลักษณะการเคลื่อนไหวของทุนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กำหนดจังหวะเวลาความเสี่ยงในแต่ละแวดวงให้ต่างกัน การได้รับเงินก้อนใหญ่ทีละมากๆ จากแหล่งทุน (Grant) เพื่อใช้หมุนเวียนได้ในแบบมูลนิธิและภาครัฐนั้นต่างจากการหมุนเงินแบบธุรกิจ (โดยเฉพาะขนาดเล็กและอาชีพอิสระ)

ลักษณะพิเศษของแหล่งทุนในประเทศไทยคือนอกจากจะให้ทุนแล้ว ยังให้ภาระหน้าที่ในการใช้ทุนนั้นมาด้วย เช่นการกำหนดว่าเมื่อมีเงินแปดแสน เงินสี่ห้าแสนสามารถใช้ได้กับค่าเดินทางและค่าเอาคนมานอนรวมกันในโรงแรมสักสองสามคืน ในขณะที่สามารถจ่ายค่าแรงคนทำงานและวิทยากรได้รวมๆ กันแล้วยังเป็นหลักหมื่น ข้อกำหนดเหล่านี้ทำให้คนทำงานกับแหล่งทุนไม่สามารถ และไม่จำเป็นต้องคิดถึงความคุ้มทุนที่แท้จริงของการใช้เงินและเวลา นำมาซึ่งจารีตการใช้เงินแบบมูลนิธิที่น่าจะทำให้คนทำธุรกิจสามารถกรีดร้องได้ทุกเมื่อที่ได้เห็นงบประมาณ ไม่ใช่เพียงแต่มันไม่มีความแน่นอนว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ได้จริง แต่มันยังมีอัตราส่วนของ ‘ค่าจ้าง’ ที่มั่นคงแต่น้อยอย่างเหลือเชื่อเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายส่วนอื่น (อย่างที่ได้กล่าว ไม่มีอะไรเป็นประกันได้จริงๆ ว่างบประมาณเหล่านั้นสามารถสร้างประโยชน์ต่อสังคมได้จริง)

การหมุนเงินแบบ Grant ทำให้มูลนิธิเกิดสองเงื่อนไขที่สำคัญในการทำงาน

หนึ่ง คือทำดีหรือไม่ดีก็ได้เงินมาแล้ว คุณภาพของงานจึงไม่สำคัญขนาดนั้นเพราะมันไม่แปรผันตรงกับทุนอย่างตรงไปตรงมา ต่อให้ทำไม่ดี มันก็สามารถดูดีได้อยู่ดีด้วยตัวชี้วัดและผู้ประเมินที่เหล่ามูลนิธิรู้จักและจ้างมาทำอย่างเป็นกึ่งรูปธรรมนามธรรม การประเมินด้วยคำถามเช่น คุณได้รับความรู้ในเรื่อง ... จากการอบรมเพิ่มเติมหรือไม่ ที่ทุกคนจะต้องตอบว่าได้ เพราะมันก็ต้องได้ฟังอะไรบางอย่าง จะทำให้ผลการประเมินออกมายังไงก็ผ่าน แต่ก็ยังคงไม่มีอะไรที่บอกได้จริงเลยว่าจะมีอะไรดีขึ้นหลังจากนั้น ผมสามารถพูดได้ว่า ตัวชี้วัดเหล่านี้ลื่นไหลยิ่งกว่าเพศของผู้คนในปี 2020 นั่นทำให้แรงผลักดันในการทำงานส่วนหนึ่งเป็นแรงผลักดันเทียมที่ยังคงไม่ทำให้คนเห็นคุณค่าของการใช้ทรัพยากรและเวลา

สอง คือทำเร็วหรือทำช้าก็ได้เงินเท่าเดิม ส่วนผลของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้นก็มีแต่สิ่งที่เป็นรูปธรรม หรือต้องใช้เวลาดูกันนานๆ อย่างเหลือเชื่อ เป็นการรณรงค์อันไม่จบสิ้น ไม่มีการกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์กันอย่างชัดเจน (แม้จะมีตำแหน่งนักยุทธศาสตร์เต็มไปหมด)

‘Deadline’ อาจไม่มีความหมายเป็นความเป็นความตายที่แท้จริงในงานแบบมูลนิธิ ภาครัฐ หรือเพื่อสังคม

ผมพบว่างานพัฒนาสังคมไม่น้อยมีคนเลื่อน Deadline กันได้เรื่อยๆ แบบที่ไม่ได้มีใครสนใจอะไร ก็เพราะมันไม่มีอะไรให้สนใจ เลื่อนกันไปก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นแต่อย่างใด แต่นั่นก็นำมาสู่คำถามด้วยว่างานที่มูลนิธินั้นๆ ทำอยู่ จะมีความสำคัญจริงขนาดไหน เมื่อถ้าไม่ทำสิ่งที่ต้องทำ ก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นเลย?

ในขณะที่งานของภาคเอกชน การเลื่อน Deadline สามารถคำนวนได้เป็นมูลค่าความเสียหายที่ค่อยๆ ลดทอนลงไป หรือหายไปเลยทั้งหมด ทุกคนก็เลยเดือดร้อนกับ Deadline เพราะมันเป็นความเป็นความตายของตัวเอง

สภาวะของเวลาและความสำคัญที่แตกต่างได้อย่างน่าตกใจระหว่างสองแวดวงนี้ ส่งผลให้เกิดเป็นคำถามวกวนซ้ำๆ อยู่ในใจผมตลอดชีวิตการทำงาน ทำไมงานเอกชนที่ทำเพื่อแสวงหาผลกำไร จึงส่งผลต่อความเป็นความตายของผู้คนมากกว่างานเพื่อสังคมแบบมูลนิธิหรืองานของภาครัฐ ทั้งที่อย่างแรกทำมาเพื่อหากำไร และอย่างหลังทำมาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ทำไมทุกคนและระบบในมูลนิธิและภาครัฐสามารถทำตัวเชื่องช้าประหนึ่งว่าทุกสิ่งที่ไม่ใช่ธุระได้อย่างเป็นปกติ

ทำไมเราจึงไม่สามารถมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐและเจ้าหน้าที่มูลนิธิจำนวนมากที่ขยันขันแข็งและทะเยอทะยานอย่างเป็นวงกว้างได้เท่าช่างแต่งหน้าฟรีแลนซ์หรือผู้ช่วยผู้กำกับ? หรือเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่นโยบายและปรัชญาของรัฐล้มเหลวจนทุนนิยมได้กลายเป็นสิ่งที่พึ่งพาได้มากที่สุด?

หรือเราอยู่ในวันที่คุณค่าทางสังคมไม่สามารถถูกกำหนดหรือตัดสินความสำคัญได้เลยโดยปรัชญาแห่งรัฐ ปรัชญาที่กำหนดว่ารัฐนี้ให้ความสำคัญกับอะไร และจะส่งผลต่อทั้งทุนและความเสี่ยงต่อคนทุกคน แต่ในอีกสะดุ้งหนึ่ง หรือว่าเราก็แค่กำลังดำเนินไปตาม ‘ปรัชญาแห่งรัฐ’ ของประเทศไทยได้อย่างถูกต้องแล้วทุกประการ มีเวลาที่แตกต่างระหว่างแวดวง แต่ในเวลาของทุกแวดวงล้วนแผดเผาเราให้แสบร้อนได้ทั้งปีไม่ต่างจากแดดแล้ง

เท่านั้นกระมังที่ผมได้เรียนรู้มาเกี่ยวกับเวลา ผู้อ่านที่รัก เป็นเกียรติของผมเสมอที่ได้ใช้เวลากับคุณอีกครั้ง

ในบทต่อเนื่องจากนี้ ผมจะพูดถึงเวลาของโลกวิชาการ โลกใบหนึ่งที่ผมเชื่อว่ามี ‘นาฬิกาตาย’ แขวนอยู่บนผนังมากที่สุด



- วริศ ลิขิตอนุสรณ์ - ผู้เขียน

=====

ข้อเขียน 'ว่าด้วยความแตกต่างอย่างเด็ดขาด' คืออะไร

ความแตกต่างกลายเป็นแนวคิดที่ถูกกล่าวขานทุกลมหายใจในสังคมสมัยใหม่ บ่อยครั้งมันถูกทำให้ง่ายกว่าที่เป็น บางครั้งยากเกินจำเป็น หลายครั้งมันค้ำประกันความเคลื่อนไหวที่งดงาม และบางครั้งความเคลื่อนไหวนั้นกลับน่ากลัว ใน ‘ว่าด้วยความแตกต่างอย่างเด็ดขาด’ วริศ ลิขิตอนุสรณ์ เขียนถึงรายละเอียดของความแตกต่างในส่วนที่เล็กที่สุดที่จะพบเจอได้ระหว่างมนุษย์ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม
====================


สนใจสั่งซื้อ วาระสมมติ : ว่าด้วยวรรณกรรม On Literature / วริศ ลิขิตอนุสรณ์ : บรรณาธิการ



รวมบทความวิจารณ์ทั้งวรรณกรรมไทยและเทศที่ชวนอ่านอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีเรื่องสั้นอีก 4 เรื่องต่างประเด็น และต่างกลวิธีเล่าเรื่องที่แปลกใหม่!!!

"หนังสือเล่มนี้เป็นการเปิดเวทีความคิดของคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจ"
-- วาด รวี

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้