ศรีบูรพา | กุหลาบ สายประดิษฐ์ | บริบทของอิสรภาพ บทที่ 1

Last updated: 30 พ.ค. 2563  |  7273 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศรีบูรพา | กุหลาบ สายประดิษฐ์ | บริบทของอิสรภาพ บทที่ 1

บริบทของอิสรภาพ บทที่ 1 : ศรีบูรพา
โดย นิธิ นิธิวีรกุล

แม้ไม่เคยมีตราไว้ประหนึ่งกฎบัตรอันเคร่งครัด แต่ก็มีนักเขียน/นักประพันธ์ไม่น้อยที่มองพื้นที่ว่างเปล่าบนหน้ากระดาษ คือ เวที ของการประกาศเจตจำนงในเสรีภาพทางความคิด ทั้งเพื่อปลดโซ่ตรวนที่ฉุดรั้ง ทั้งเพื่อปลดแอกทางชนชั้นที่กดทับ และทั้งเพื่อแบกรับน้ำหนักของอุดมการณ์เพื่อปลายทางของความเป็นมนุษย์ที่มีอิสรภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพ (Liberté, Égalité, Fraternité) อย่างครบถ้วน แม้จะแตกต่างความเชื่อทางการเมือง

อิสรภาพของยุคสมัย จะพาไปรู้จักเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของยุคสมัยนักเขียน/นักประพันธ์ไทย 5 คนที่ใช้น้ำหมึกป่าวร้องถึงเสียงทุกข์ยากของผู้คนเพื่อให้ผู้มีอำนาจได้ยินซึ่งเสียงของความเงียบที่กึกก้องผ่านตัวอักษร แม้นแลกด้วยอิสรภาพ กระทั่งชีวิต

 

2448
เด็กชายกุหลาบ

ย้อนกลับไปในห้วงทศวรรษ พ.ศ.2440 ก่อนวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2448 บริบทของสังคมไทยในยุคที่ยังเรียกว่า ‘สยาม’ เกิดคณะนักเขียน ‘ลักวิทยา’ ขึ้นในปี พ.ศ.2443 ซึ่งคณะนักเขียนส่วนหนึ่งสืบสาแหรกมาจากคณะ ‘สยามหนุ่ม’ [1] อดีตกองบรรณาธิการหนังสือ ดรุโณวาท ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2417 ได้เพียงปีเดียวก็ยุติไป

นายสุวรรณและนางสมบุญ ได้ร่วมกันให้กำเนิดบุตรคนเล็กออกมาให้ชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยเติบโตขึ้นมาในห้องแถวของพระยาสิงหเสนีในละแวกหัวลำโพงได้เพียงหกปี พ่อผู้ให้กำเนิดก็มาเสียชีวิตจากไป ทิ้งแม่ให้ต้องนั่งตัดเย็บเสื้อผ้า โดยมีบุตรคนโต นางจำรัส นิมาภาส ที่แต่งงานกับนายกุหลาบ นิมาภาส เพื่อส่งเสียให้เด็กชายกุหลาบได้เล่าเรียน จนกระทั่งถึงชั้นประถม 4 จึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนทหารเด็กหลวง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำได้สองปี ผู้เป็นแม่ก็พาเด็กชายกุหลาบกลับมาเรียนต่อยังโรงเรียนเทพศิรินทร์ จนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ในปีพ.ศ.2468 หากแต่ก่อนหน้านั้นสามปี เด็กชายกุหลาบเริ่มหัดแต่งหนังสือ ทำหนังสือ และได้มีโอกาสบ่มเพาะวิชาการเขียน ร่วมกับ ชะเอม อันตรเสน และ สนิท เจริญรัฐ ภายใต้สำนักรวมการแปล ของนายแตงโม จันทวิมพ์ จนมามีงานตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของโรงเรียนในรูปแบบกลอนหก เรื่อง “ต้องแจวเรือจ้าง” มีหลวงสำเร็จวรรณกิจ (บุญ เสขะนันท์) ครูสอนภาษาไทยเป็นบรรณาธิการ

 

2468-2472
สาส์นหาย

ทศวรรษ 2460 เป็นช่วงเวลาที่ ‘ศรีบูรพา’ เริ่มทอแสงในโลกวรรณกรรม ทั้งจากการได้เป็นบรรณาธิการ รายทส(รายสิบวัน)ของนิตยสารชื่อ สาส์นสหาย แม้จะตีพิมพ์ออกมาได้เพียง 7 เล่ม แต่ก็เป็นหมุดหมายแรกของการวางรากฐานสู่การเป็นนักประพันธ์ ต่อมาในปี พ.ศ.2468 นายกุหลาบเข้าทำงานที่กรมยุทธศึกษาฯ ในตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ ในตำแหน่ง 'เจ้าพนักงานโรงวิทยาศาสตร์' อัตราเงินเดือน 30 บาท พร้อมๆ กับการทำงานในระบบระเบียบข้าราชการ นายกุหลาบก็เริ่มมีผลงานตีพิมพ์ในหลายนิตยสารด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น สมานมิตรบันเทิง (รายปักษ์) สวนอักษร (รายปักษ์) สาราเกษม (รายปักษ์) ปราโมทย์นคร (รายสัปดาห์) ดรุณเกษม (รายปักษ์) เฉลิมเชาว์ (รายเดือน) ฯลฯ [2] จวบจนในอีกสองปีต่อมา นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ ออกมาก่อตั้งกลุ่มคณะนักเขียนแบบเดียวกันกับกลุ่ม ‘สยามหนุ่ม’ และ ‘ลักวิทยา’ ในชื่อ ‘คณะสุภาพบุรุษ’ ออกจำหน่ายทุกวันที่ 1 และ 15 ของเดือน โดยฉบับปฐมฤกษ์วางแผงในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2472

ในช่วงระยะเวลา 10 ปีระหว่าง พ.ศ.2460 ถึง พ.ศ.2470 กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เปลี่ยนแปลงจากเด็กชายสู่นาย จากเด็กนักเรียนสู่ข้าราชการในร่างเงาของนักประพันธ์ ห้วงเวลานั้น ประวัติศาสตร์ทิ้งร่องรอยของชีวิตให้รับรู้เพียงว่ากุหลาบ สายประดิษฐ์ เรียน เข้าสู่วัยทำงาน หัดงานประพันธ์ มีงานประพันธ์ตีพิมพ์ประปราย นับตั้งแต่เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 จนถึงนิตยสารสุภาพบุรุษฉบับปฐมฤกษ์วางจำหน่าย กุหลาบใช้เวลาเพียง 4 ปีก้าวขึ้นมายืนในโลกวรรณกรรมสยามในฐานะบรรณาธิการและนักประพันธ์ภายใต้กลุ่มก้อนนาม ‘คณะสุภาพบุรุษ’

อะไรเป็นแรงผลักสำคัญ ความยากจนแต่เดิมของครอบครัวที่เติบโต การได้เห็นภาพแม่นั่งเย็บผ้า การได้รับรู้ว่าพี่สาวต้องไปเป็นนางรำเพื่อสมทบเงินร่วมกับแม่ส่งเสียตนเองให้เล่าเรียน หากเป็นแต่เพียงความยากจนแล้ว เหตุใดกุหลาบจึงไม่เลือกรับราชการต่อไป ซึ่งน่าจะสร้างรายได้และความมั่นคงให้กับตน และครอบครัวได้มากกว่า เหตุผลใดที่ทำให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ลาออกจากข้าราชการมาก่อตั้งคณะสุภาพบุรุษ และกลายเป็นหนึ่งในนักประพันธ์ที่มีส่วนเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมไปถึงความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคม จนที่สุดถูกจับกุม และถูกคุมขังในที่สุด

จากสายตาของปัจจุบันมองย้อนอดีตกลับไปในสายตาของ ‘ศรีบูรพา’ จะเห็นถึงสิ่งใดได้บ้าง?

 

2474/2435
สองช่วงเวลา

สุชาติ สวัสดิ์ศรี เขียนไว้ใน เพื่อนพ้องแห่งวันวาร ว่า
[…] กล่าวได้ว่าเรื่องสั้นในยุคบุกเบิกของสยามนั้น เป็นเหมือนตัวแบบของการทำหน้าที่ ‘ต่อสู้ทางความคิด’ มาตั้งแต่เมื่อ 135 ปีก่อนแล้ว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะกล่าวว่าแวดวงนักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ของเราแต่เดิมนั้นอยู่ในขนบงานเขียน ‘เชิงสังคม’ มาตั้งแต่ปีเริ่มก่อเกิด […]

หากจะนับการวิเคราะห์ของอดีตบรรณาธิการเครางามผ่านบริบทของยุคสมัยก่อนเด็กชายกุหลาบจะถือกำเนิด สังคมสยามผ่านการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่มาตั้งแต่การปฏิรูประบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 นำมาสู่การเกิดขึ้นของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นครั้งแรก และก่อนจะเกิดการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การนำเสนอความเห็นของ ‘เทียนวรรณ’ ต่อรัชกาลที่ 5 ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น ‘ปาเลียเม้นต์’ หรือระบบรัฐสภา ย่อมส่งผลไม่มากก็น้อยต่อสถานะของความมั่นคง ทว่าไม่ใช่ในฐานะกษัตริย์อันเป็นเจ้าชีวิต - ที่ยังคงเป็นอยู่ แม้เมื่อมีประกาศเลิกทาสแล้ว - แต่ในฐานะของการปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกของราษฎรที่หาญกล้าขึ้นมาท้าทายผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าเหนือหัวของราษฎรสยามทุกคนในห้วงเวลานั้น

แม้ไม่อาจรู้ กระทั่งประวัติศาสตร์ต่างชี้ว่าการปฏิรูประบบราชการรวมศูนย์อำนาจในปีพ.ศ.2435 เป็นผลมาจากความต้องการลดทอนอำนาจของขุนนางในสายตระกูลบุนนาคที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ.2325 แต่ประวัติศาสตร์เช่นกันที่ได้บอกเราให้รู้แน่ๆ หนึ่งข้อว่า จากผลของการเสนอความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็น ‘ปาเลียเม้นต์’ นั้นส่งผลให้ ‘เทียนวรรณ’ ต้องโทษจำคุก 17 ปี ทั้งๆ ที่กลุ่มเจ้านายชั้นสูงและข้าราชการจำนวนหนึ่ง อย่างเช่น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ฯ กรมพระสวัสดิ์วัฒนวิดิษฏ์ นายบุศย์ นายนกแก้ว หลวงเดชนายเวร [3] ต่างก็กราบทูลถวายบังคมทูลความเห็นให้มีการจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดินในทำนองเดียวกันกับ ‘เทียนวรรณ’ เช่นกัน แต่กลับมีเพียงราษฎรอย่าง ‘เทียนวรรณ’ เท่านั้นที่ต้องโทษจำคุก

‘ศรีบูรพา’ รู้จัก ‘เทียนวรรณ’ ไหม?

เป็นคำถามไม่อาจเลี่ยง หากจะมองว่าบริบทของสังคมสยามก่อนเด็กชายกุหลาบจะถือกำเนิดนั้นมีส่วนในการก่อร่างรูปเงาของนักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ ที่ยืนอยู่ข้างประชาชน ยืนอยู่ข้างความถูกต้องชอบธรรมให้เป็นตัวตนอันสมบูรณ์ของความเป็น ‘ศรีบูรพา’ คำตอบอาจไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ‘ศรีบูรพา’ ได้อ่านงานของ ‘เทียนวรรณ’ ได้ศึกษาข้อเสนอคิดเห็นต่อรัชกาลที่ 5 หรือไม่ ?

และแม้ไม่อาจล่วงรู้ได้เลยอย่างชัดเจน แต่อนุมานได้ใช่ไหมว่า ความคิดของ 'เทียนวรรณ' มีผลต่อ '
ศรีบูรพา' เหมือนที่ความคิดของ 'จิตร ภูมิศักดิ์' มีผลต่อนักคิด นักเขียน รุ่นหลัง แล้วทั้ง 'ศรีบูรพา' 'เทียนวรรณ' 'จิตร ภูมิศักดิ์' ล้วนมีอิทธิพลต่อนักคิด นักเขียน ที่มีหัวจิตหัวใจศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ศรัทธาในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกชนชั้น

ความศรัทธาในความเท่าเทียมนี้เอง คือ คำตอบของเหตุผลที่ 'ศรีบูรพา' ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เพราะ 'ศรีบูรพา' ได้พบเห็นความไม่เท่าเทียมในระบบข้าราชการที่ยังเต็มไปด้วยเจ้าขุนมูลนายภายในรั้วทหารกรมยุทธศึกษาทหารบก แล้วจึงตรงไปหา ครูอบ ไชยวสุ บอกเล่าถึงความตั้งใจที่จะออกหนังสือรายปักษ์ โดยรวบรวมนักเขียนฝีมือดีที่ได้รู้จักมาตั้งแต่สมัยทำ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ ร่วมกันมา ไม่ว่าจะเป็น 'พ.เนตรรังษี' 'พันเพ็ชร' 'พ.พรปรีชา' มาช่วยกันเขียน 'ครูอบ' หรือ 'ฮิวเมอริสต์' จึงได้ยก 'ห้องเกษมศรี' ที่ตั้งตามชื่อลูกสาวคนแรก อันเป็นบ้านไม้สองชั้นตรงข้ามวัดชนะสงคราม (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม) ให้เป็นสำนักงานโดยไม่คิดค่าเช่าแต่อย่างใด

เช่นนี้นั้น จึงกล่าวได้ว่า ทั้งโดยตัวแบบผ่านงานของ 'เทียนวรรณ' ทั้งโดยประสบการณ์จากชีวิตของเด็กหนุ่มยากจนที่ได้เข้าไปประสบพบเจอภายในรั้วกรมกองทหาร ได้หล่อหลอมให้ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ มองสังคมสยามในยุคก่อนอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ยังเป็นสังคมในแบบที่ถ่ายทอดไว้ในเรื่องสั้น 'ลูกพี่ลูกน้อง' เรื่องสั้นชิ้นแรกที่ตีพิมพ์ใน สุภาพบุรุษ ฉบับแรก ผ่านการบรรยายในช่วงต้นของเรื่องที่เขียนไว้ว่า


[…] แผ่นดินทางฝั่งซ้ายของลำน้ำเจ้าพระยาแปลกตามาก หน้าโรงพนังพัฒนากรตอนกลางคืนดูราวกับสี่แยกบอร์ดเวย์ในอเมริกา แต่ทางฝั่งขวาไม่มีอะไรแปลกไปกว่าเดิม คนแจวเรือจ้างคงนุ่งโสร่งหยักรั้งและไม่ใส่เสื้อในตามเคย หมูยังคงนอนเกลื่อนกลาดอยู่ตามทางเดิรและบริเวณอารามวัดแจ้ง […]


ภาพของแผ่นดินฝั่งซ้าย หรือฝั่งพระนคร ช่างตัดกันกับภาพแผ่นดินฝั่งซ้าย หรือฝั่งธนบุรี ราวกับว่าลำน้ำเจ้าพระยาไม่เพียงกั้นกลางระหว่างสองฟากฝั่ง แต่ยังขีดเส้นให้เป็นถึงความแตกต่างในวิถีชีวิตของผู้คน อันไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภาพเมื่อสมัยเกือบร้อยปีที่แล้วยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบันภายใต้ความเหลื่อมล้ำที่ไม่เพียงไม่มีลำน้ำมาขีดเส้นให้เห็นอย่างชัดเจนอีกแล้ว หากแต่ความแตกต่างในวิถีชีวิตของผู้คนได้แทรกชอนเข้าไปในทุกเหลือบเงาของมหานครที่ชื่อกรุงเทพมหานคร และความแตกต่างที่ว่านี้มีแต่จะยิ่งถ่างห่างออกไป-ออกไป แทบไม่เห็นหนทางที่ผู้คนในแต่ละชนชั้นจะสามารถขยับเข้ามาใกล้จนช่องว่างของความแตกต่างไม่มีอีกต่อไป หรือมีก็น้อยที่สุด

ความเหลื่อมล้ำในกาลเวลาเมื่อเกือบร้อยปีก่อนผ่านสายตาของ ‘ศรีบูรพา’ สะท้อนออกมาผ่านวรรณกรรมเรื่องแต่งหลายต่อหลายชิ้น แม้ว่าเรื่องราวโดยส่วนมากยังคงวนเวียนอยู่ในกรอบของเรื่องราวรักๆ ใคร่ๆ ที่เป็นค่านิยมในการเขียนของยุคนั้นมาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 7 แต่เรื่องราวความรักของ ‘ศรีบูรพา’ มักสอดแทรกปัญหาทางชนชั้นเข้าไปให้คนอ่านได้ตระหนักถึงสภาพที่เป็นและดำรงอยู่ กระทั่งนำมาสู่การเขียนบทความ 'มนุษยภาพ' ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งกล่าวถึงแง่มุมที่ควรเป็นของผู้ปกครองบ้านเมือง ในปี พ.ศ.2474 ลงในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ส่งผลให้ถูกสั่งปิด และแท่นพิมพ์ถูกล่ามโซ่ โดยเนื้อหาส่วนนั้นมีใจความว่า


[…] ในสมัยก่อนเราถามไม่มีใครตอบ ในสมัยปัจจุบันเราถาม มีคำตอบบ้างแต่ไม่ทั้งหมด และมีความจริงบ้าง โกหกบ้างในคำตอบเหล่านั้น ในสมัยที่เราๆ อยู่ข้างหน้า เราจะได้คำตอบที่เต็มตามคำถาม และต้องจริงทั้งหมด ความต้องการของมนุษย์ในที่สุดจะไปยุติอยู่ที่ความจริง 

ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในวันก่อนว่า อำนาจบันดาลความนิยม นี่เป็นความจริงมาแต่บรรพกาล ยังเป็นอยู่ในปัจจุบันสมัย และยังจะเป็นต่อไปอีกจนกว่าโลกแตก แต่ท่านผู้อ่านพึงระลึกไว้ว่า สิ่งอันปรุงแต่งอำนาจขึ้นนั้นไม่คงที่ ย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย ในโบราณสมัยอำนาจจะอยู่กับกษัตริย์หรือนักรบ บางคราวอยู่กับนักพูด บางคราวอยู่กับบุคคลชั้นสูง เป็นต้นว่าพวกเจ้านายและอำมาตย์ อำนาจย่อมอยู่กับเงิน ในประเทศรัสเซีย ณ สมัยปัจจุบัน อำนาจตกอยู่กับคนจน และในอารยประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปและอเมริกา อำนาจเฉลี่ยตัวของมันอยู่กับบุคคลทั่วไป อำนาจบันดาลความนิยม มันเป็นความจริงทุกกาลทุกสมัย แต่สิ่งที่ปรุงแต่งอำนาจย่อมแปรผันไปได้ตามโอกาส ในเมืองใดถ้าอำนาจอยู่ที่เงินกับชนชั้นสูง และผู้ที่กำอำนาจจะไม่ละเสียซึ่งการสู้หน้ากับความจริง แล้วหันเข้าความโกหกตอแหลตะพึดตะพือไป อำนาจจะคงที่ไม่แปรรูปไปเป็นอื่นได้

สมมติว่าตัวเราเองเป็นหัวหน้าบ้านอยู่ในบ้านบ้านหนึ่ง ถ้าเราเกิดขาดแคลนจนถึงไม่มีสตางค์ซื้อข้าวให้คนในบ้านของเรากิน ความจริงจะบอกกับเราและกล้าสู้หน้ากับความเป็นจริงดั่งนี้ เราย่อมจะเห็นแก่ท้องของเราจนเกินไปไม่ได้ เราคงจะยอมสละอาหารอย่างดีของเราชั้นหนึ่ง เพื่อแลกกับอาหารเลวๆ หลายชั้น แล้วเอามาแบ่งให้คนของเราได้กินโดยทั่วถึงกัน บ้านเราก็จะมีความสงบสุข ปราศจากความเดือดร้อนใดๆ โดยตัวเราเองจะขาดไปเพียงนิดหนึ่ง ก็ที่ตรงโอชารสอันเคยมีแก่ลิ้นของเราเท่านั้น […]

(ศรีกรุง ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พุทธศักราช 2474)

 

2472-2497
จากกบฏสู่สุภาพบุรุษ

ภายหลังนิตยสาร สุภาพบุรุษ ยุติการตีพิมพ์ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2473 'ศรีบูรพา' ได้เปลี่ยนบทบาทของตัวเองจากนักประพันธ์ไปสู่นักหนังสือพิมพ์ตามคำเชิญชวนของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ บางกอกการเมือง ให้มาเป็นบรรณาธิการหลังจากหนังสือพิมพ์ บางกอกการเมือง ประสบภาวะขาดทุน ยอดขายซบเซาต่อเนื่อง แต่ด้วยความที่เป็นผู้มีใจรักในความเป็นธรรมบวกรวมเข้ากับความสามารถในการพาดหัวข่าว แม้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ จะทำให้ยอดขายของ บางกอกการเมือง เพิ่มขึ้นจากการลงข่าวเกี่ยวกับการทุจริตของข้าราชการกระตุ้นความสนใจของประชาชนให้กระหายใคร่อ่าน แต่ก็ทำให้ผู้มีอำนาจไม่พอใจ ใช้อิทธิพลบีบผู้บริหารของ บางกอกการเมือง กดดันกุหลาบและคณะจนต้องลาออกหลังจากเข้ามาทำงานได้เพียงสามเดือน

เมื่อพ้นจากชายคา บางกอกการเมือง กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้รับการชักชวนให้ไปทำงานในตำแหน่งบรรณาธิการพร้อมคณะนักเขียนสุภาพบุรุษอีกครั้งให้กับหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ ด้วยคำขวัญ "ตั้งต้นชีวิตใหม่ โดยอ่านไทยใหม่" หลังจากหนึ่งปีผ่านไป กุหลาย สายประดิษฐ์ ผลัดเปลี่ยนให้ สนิท เจริญรัฐ ขึ้นเป็นบรรณาธิการ โดยนำเสนอบทความทางการเมืองที่ชื่อ 'ชีวิตของประเทศ' โดย 'ศรทอง' นามปากกาของพระยาศราภัยพิพัฒ เนื้อหาเรียกร้องให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบรัฐสภาแบบเดียวกับที่ ‘เทียนวรรณ’ เคยนำเสนอไว้ต่อรัชกาลที่ 5 ทำให้ ไทยใหม่ ถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลรัชกาลที่ 7 จนกระทั่งตีพิมพ์บทความ 'มนุษยภาพ' หลวงวิจิตรวาทการก็ได้เข้ามาถือหุ้น แล้วเปลี่ยนแปลงนโยบายของหนังสือพิมพ์ด้วยการลดการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลง ส่งผลให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และคณะสุภาพบุรุษลาออกทั้งคณะอีกครั้ง ก่อนตัวกุหลาบจะไปเข้าร่วมกับกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง และ สยามราษฎร์ เขียนบทความทางการเมืองหลายต่อหลายชิ้น หนึ่งในบทความที่สั่นสะเทือนรัฐบาลที่สุด คือ ‘มนุษยภาพ’ ที่กุหลาบได้นำมาเขียนต่อจากที่ลงค้างไว้ใน ไทยใหม่ ส่งผลให้หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ถูกปิดไป 9 วัน

กล่าวได้ว่า แม้นิตยสาร สุภาพบุรุษ จะปิดตัวลงไป แต่คณะสุภาพบุรุษ ยังคงเติบโต และยึดมั่นในงานเขียนอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับตัว กุหลาบ สายประดิษฐ์ เอง การได้เปลี่ยนมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ในห้วงปี พ.ศ.2473 ถึง 2474 ก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่งผลต่อทั้งความคิด และงานเขียนในเชิงวรรณกรรมเรื่องแต่งต่อมาในยุคหลัง จนมาถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในห้วงปี พ.ศ.2482-2488 จนกระทั่งถูกจับขังคุกในปี พ.ศ.2497 ในเหตุการณ์ ‘กบฏสันติภาพ’

ด้วยความที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นผู้ยึดมั่นในหลักการของมนุษย์ธรรม ซึ่งวางอยู่บนรากฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ใช่เพียงแต่สักใส่คำว่า 'ประชาธิปไตย' ลงไป แม้เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ในฐานะบทบาทของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติ กุหลาบยังคงเขียนบทความคัดค้านการปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย ส่งผลให้หนังสือพิมพ์ถูกสั่งปิดในปี พ.ศ.2476 ต่อเนื่องมาถึงการเขียนบทความคัดค้านรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่เข้าร่วมกับกองทัพญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2485 ส่งผลต่อเนื่องมาสู่การเข้าร่วมกับกองกำลังเสรีไทยภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ กระทั่งถึงปี พ.ศ.2495 เกิดการจับกุมประชาชน นักหนังสือพิมพ์หลายต่อหลายคนโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 102, 104, 177,181 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2478 มาตรา 4 ซึ่งมี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นหนึ่งในผู้ถูกจับกุมในฐานที่ออกมาคัดค้านการเข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามเกาหลี โดยหนึ่งในฉากและเหตุการณ์ก่อนถูกจับกุม กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้บริจาคเงินจำนวน 6 หมื่นบาท เสื้อผ้า 21 กระสอบ ไปช่วยบรรเทาทุกข์ภัยแล้งในภาคอีสาน ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2495 ก่อนในวันที่ 10 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน รัฐบาลจะออกมาโจมตีการเคลื่อนไหวของคณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย ซึ่งมี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นรองประธาน นำไปสู่การกวาดล้าง และจับกุม จนกลายเป็นที่มาของชื่อ 'กบฏสันติภาพ' ซึ่งในจำนวน 54 รายที่อัยการส่งฟ้อง มีตั้งแต่กลุ่มชาวบ้านที่คูซอด จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับเงินและเสื้อผ้าบริจาคจากกุหลาบ กลุ่มขบวนการกู้ชาติ และกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์ [4] ส่วนตัวกุหลาบเองถูกจับกุมในปี พ.ศ.2497 แล้วถูกคุมขังอยู่ 3 ปี จึงได้รับอภัยโทษในปี พ.ศ.2500 ในวาระฉลองพุทธศตวรรษที่ 25 จากนั้น กุหลาบจึงลี้ภัยการเมืองไปอยู่สาธารณรัฐประชาชนจีน และสิ้นชีวิตที่นั่นในปี พ.ศ.2517

หากนับเอาเหตุการณ์สำคัญของสังคมสยามก่อนการอภิวัฒน์มาสู่สังคมไทย นับตั้งแต่ 'เทียนวรรณ' นำเสนอความคิดในเรื่อง 'ปาเลียเม้นต์' ในห้วงปี พ.ศ.2435 ต่อรัชกาลที่ 5 จนมาถึงช่วงปลายรัชสมัยเมื่อเด็กชาย 'กุหลาบ สายประดิษฐ์' ถือกำเนิดในปี พ.ศ.2448 หกปีต่อมาเกิดกบฏนายสิบในปี พ.ศ.2454 อายุครบ 20 ในปี พ.ศ.2468 ได้เห็นข่าวการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เข้ารับราชการในกรมยุทธศึกษาทหารบก ได้เห็นความไม่ชอบธรรมภายใต้สังคมทหาร ซึ่งเต็มไปด้วยช่วงชั้นของอำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ เป็นหนึ่งในประจักษ์พยานร่วมกับราษฎรอีกนับล้านในคราวเศรษฐกิจตกต่ำ นำไปสู่การเขียนบทความ 'มนุษยภาพ' เพื่อชี้ให้เห็นถึงสังคมภายใต้การปกครองของอำนาจที่ควรมีและควรเป็นบนหลักธรรมของความเท่าเทียม และยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย แม้เมื่อรัฐบาลภายใต้ระบอบปกครองใหม่ปรากฏความไม่ชอบธรรมก็กล้าวิพากษ์วิจารณ์ผ่านจุดยืนของความเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ไม่หลงลืมความหมายแท้จริงของคำว่า ‘สุภาพบุรุษ’ กระทั่งเรียกร้องหาสันติภาพให้กับชีวิตของทหารที่ไปเข้าร่วมในสงครามที่ไม่ใช่ของตน สงครามบนความแตกต่างทางอุดมการณ์การเมืองที่ไม่ควรมี จนถูกจับกุมในข้อหาเป็นกบฏด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และลี้ภัยการเมืองไปจากประเทศที่ไม่ต้องการในที่สุด

ชีวิตของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นั้นวางลงบนเส้นสายของประวัติศาสตร์ตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต จนอาจกล่าวได้ว่า เขาได้ใช้ชีวิตคุ้มกับที่ได้เกิดมา หรืออาจจะไม่ในทางกลับกัน หากเขายังคงทำงานในกรมยุทธศึกษาทหารบกอยู่ต่อไป โลกวรรณกรรมก็จะไม่รู้จัก ‘ศรีบูรพา’ โลกหนังสือพิมพ์ก็จะไม่มี ‘กุหลาบ สายประดิษฐ์’ ที่ยืนหยัดบนหลักการอันถูกต้อง ไม่หวั่นเกรงต่ออำนาจรัฐ

 

2563
ความหมายของนักเขียน

กล่าวอย่างสัตย์ซื่อ ความพยายามในการปะต่อเรื่องราวของนักคิด นักเขียน นักประพันธ์ที่ชื่อ 'ศรีบูรพา' อาจเป็นความพยายามที่ไม่สมเกียรติ เมื่อวัดจากความเป็นนักเขียนของตัวผู้เขียนเองในวันเวลาปัจจุบัน ซึ่งหากว่าให้ถึงที่สุดแล้ว ไม่เคยหรือแม้แต่พฤติตนให้ได้สักครึ่งหนึ่งที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ทำ ทว่านั่นไม่ใช่จุดมุ่งหมายอันเป็นแกนหลักของการนำเสนอ แก่นแกนหลักของการนำเสนอภาพชีวิตพอสังเขปของ 'ศรีบูรพา' ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าภายใต้บริบทของสังคมสังคมหนึ่ง ภายใต้ชีวิตของคนคนหนึ่ง ซึ่งมีทั้งทางเลือกที่ไม่อาจเลือก และทางเลือกที่เลือกได้ เขาได้พาชีวิตตัวเขาไปสู่อะไร คำถามถึงทางที่เขาเลือก ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่ไปไกลกว่าความเป็นนักคิด นักเขียน นักประพันธ์

โดยมิพักต้องกล่าวถึงนักเขียน นักประพันธ์ กวี หลายต่อหลายคนในสังคมไทยปัจจุบันที่ปวารณาตัวเองเข้าร่วมกับรัฐบาลเผด็จการทหาร ยอมเปลี่ยนกลายตัวเองจากบทบาทที่ควรเป็นในฐานะนักประพันธ์ผู้ควรยึดมั่นในหลักการเหมือนเช่น 'ศรีบูรพา' ไปสู่การรับใช้รัฐบาลที่แปรร่างจากเผด็จการทหารมาสู่รัฐบาลที่ขาดจากทุกความชอบธรรมใดๆ ในฐานะที่ผู้มีอำนาจปกครองพึงมี

จนผู้เขียนอดที่จะรำพึงเบาๆ กับตัวเองไม่ได้ว่า พวกเขาเหล่านั้นได้หลงลืม 'ศรีบูรพา' ไปหมดแล้วหรืออย่างไร?

พวกเขาเหล่านั้นเป็นไปได้ถึงเพียงนี้ - ได้ยังไง?

และทั้งหมดนี้ คือ สุภาพบุรุษที่ชื่อ ‘ศรีบูรพา’ ผู้ที่ดำรงชีวิตในฐานะสุภาพบุรุษตั้งแต่วัยเยาว์จวบจนวันสุดท้ายของชีวิตสมดั่งที่ได้เคยให้นิยามของคำว่าสุภาพบุรุษไว้ว่า

[…] หัวใจของ ความเป็นสุภาพบุรุษ อยู่ที่การเสียสละ เพราะการเสียละเป็นบ่อเกิดของคุณความดีร้อยแปดอย่าง หากผู้ใดขาดภูมิธรรมข้อนี้ ผู้นั้นยังไม่เป็นสุภาพบุรุษโดยครบครัน ถ้าจะอธิบายความหมายของสุภาพบุรุษให้กะชับเข้า ก็จำต้องยืมถ้อยคำว่าที่ว่า 'ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น' […]


======================== 

[ ข้อมูลอ้างอิง ]

[1] สุชาติ สวัสดิ์ศรี เขียนไว้ใน ‘เพื่อนพ้องวันวาร’ ว่า […] ลักวิทยา เป็นสนามก่อเกิดนักเขียนเรื่องสั้นสยามในยุครอยต่อแห่งทศวรรษ 2440 และ 2450 และเป็นความนำสมัยของการนำเข้านวนิยายแปลเรื่องแรก คือ ความพยาม ที่ ‘แม่วัน’ (นามปากกาของพระยาสุรินทรราชา) แปลมาจากเรื่อง Vandetta นวนิยายสมัยปลายยุควิคตอเรีย ของนักเขียนสตรีชาวอังกฤษที่ชื่อ มารี คอเรลลี (Marie Correli : ค.ศ.1855-1924) ...ลักวิทยา หมายความว่า ‘ลักเอาความรู้ของคนอื่นมาทั้งนั้น...’ นักเขียนในคณะ ลักวิทยา ส่วนหนึ่งสืบมาแต่นักเขียนในคณะ ‘สยามหนุ่ม’ และอีกส่วนเป็นบรรดานักเรียนนอกทุนหลวงรุ่นแรก […]

[2] อ้างอิงจาก วิกิพีเดีย

[3] เพื่อนพ้องแห่งวันวาร สุชาติ สวัสดิ์ศรี

[4] อ้างอิงข้อมูลจาก บทความ กบฏสันติภาพ กิเลน ประลองเชิง ไทยรัฐ ออนไลน์

========================


อ่านบริบทของอิสรภาพ ของนักคิด นักเขียนไทย คนอื่นๆ


บทที่ 2 : นายผี | อัศนี พลจันทร

 
บทที่ 3 : สอ เสถบุตร


บทที่ 4 : ทีปกร | จิตร ภูมิศักดิ์


บทที่ 5 : เทียนวรรณ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้