ว่าด้วยความแตกต่างอย่างเด็ดขาด | เวลากับแวดวง (2) : ไม่มีอะไรหยุดความเชื่องช้าของโลกวิชาการได้

Last updated: 30 พ.ค. 2563  |  5595 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ว่าด้วยความแตกต่างอย่างเด็ดขาด | เวลากับแวดวง (2) : ไม่มีอะไรหยุดความเชื่องช้าของโลกวิชาการได้

--- เวลากับแวดวง (2): ไม่มีอะไรหยุดความเชื่องช้าของโลกวิชาการได้ ---

ขณะนี้พวกเรากำลังอ่านอยู่ท่ามกลางโรคระบาดทั่วโลก ผู้คนหลบหนีกันเอง เศรษฐกิจล้มละลาย แวดวงทั้งหลายผูกคอตายอยู่ในจินตนาการของตัวเอง ในขณะที่งานวิจัยในมหาวิทยาลัยไทย ถูกประเมินโดยประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยว่า ‘ไม่ได้รับผลกระทบอะไร’

“ไม่สะดุด ในทางกลับกัน ทำให้งานวิจัยบางอย่างเป็นไปได้ด้วยดี อาจารย์ไม่ต้องเดินทาง มีเวลาเขียนงานวิชาการ ศึกษาข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตมากขึ้น” [1]

สภาวะไม่รู้ร้อนรู้หนาวแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในยามที่โลกมีโรคระบาด มันเป็นแค่เพียงภาพสะท้อนของสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในโลกวิชาการต่อสังคม คือมากกว่าครึ่งของแวดวง ‘ไม่มีนัยสำคัญ’ ต่ออะไร และไม่มีอะไรมีนัยสำคัญต่อมันนอกจากเรื่องภายในของมันเอง และเกือบทั้งหมดของแวดวง กำลังอาศัยอยู่เพียงแต่ในเวลาอันเชื่องช้าของตัวเอง มันจึงสามารถถูกมองว่า ‘ไม่กระทบอะไร’ แม้ในวันที่มนุษยชาติกำลังสั่นคลอน

นี่คือข้อเขียน ‘ว่าด้วยความแตกต่างอย่างเด็ดขาด’ ต่อจากครั้งที่แล้ว หลังจากเราได้ลองสำรวจกันไปว่าทำไมเวลาของแวดวงต่างๆ จึงมีลักษณะที่ต่างกัน ผมยังคงติดค้างสัญญากับผู้อ่านเอาไว้ว่าจะสนทนาต่อเกี่ยวกับ ‘เวลา’ ของแวดวงวิชาการเพียงอย่างเดียวในชิ้นนี้


โรคระบาดในฐานะตัวชี้วัดเวลา

จริงอยู่ที่งานวิจัยทุกเรื่องไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับโรคระบาด แต่อีกความจริงหนึ่งก็คือทุกชีวิตและปัจจัยรอบตัวผู้วิจัย ต้องเกี่ยวข้อง และได้รับผลกระทบจากโรคระบาดอย่างเป็นปัจจุบันทันด่วน เมื่อนักวิชาการหรือนักวิจัยตัดความเกี่ยวข้องเหล่านั้นออกไปได้ในระหว่างที่ตนกำลังสร้างผลงาน นั่นหมายความว่าผลงานของเขาที่กำลังจะเสร็จสิ้น เป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะมี ‘ประโยชน์’ อยู่เพียงแต่ในจินตนาการถึงอนาคตในอดีตของเขาเท่านั้น มีประโยชน์อยู่ในมิติเวลาที่ไม่มีอยู่จริงอีกต่อไป พูดง่ายๆ ก็คือไม่มีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ตามจุดประสงค์เดิมของมันเลยในสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปหลังจากโรคระบาด

เมื่องานวิชาการหรืองานวิจัยเป็นงานที่ไม่ต่างจากงานอื่นๆ คือมีโจทย์ให้ตอบอยู่เสมอ และโจทย์นั้นต้องตอบต่อเวลาที่เฉพาะเจาะจงเวลาใดเวลาหนึ่งเสมอ ‘ตัวชี้วัดเวลา’ ของงานวิชาการ ณ วินาทีนี้จึงเป็นโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้น เราสามารถระบุได้ว่างานวิชาการชิ้นใดอาศัยอยู่ในเวลาที่เหลื่อมเร็วช้ากว่าสังคมอย่างไร ด้วยการสังเกตว่างานชิ้นนั้นได้รับผลกระทบจาก ‘เหตุการณ์ปัจจุบัน’ มากน้อยเพียงใด หากมันไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ปัจจุบันเลย ก็ย่อมหมายความว่ามันไม่ได้อาศัยอยู่ในเวลาปัจจุบันเลย และเมื่อมันไม่ได้อาศัยอยู่ในเวลาปัจจุบัน ก็ย่อมหมายความว่ามันได้แยกขาดออกจากสังคมปัจจุบันไปด้วย และได้กลายเป็นงานชนิดหนึ่งที่ทำอยู่บนจินตนาการอันหยุดนิ่ง


นาฬิกาตายในหอคอยงาช้าง

‘Armchair Theorist’ หรือนักทฤษฎีเก้าอี้นวม คือนักทฤษฎีประเภทที่นั่งคิดอยู่ในห้อง ไม่ออกไปไหน ทำวิชาการ ‘หอคอยงาช้าง’ แบบที่ไม่เข้าถึงใครและวางท่าไม่ได้สนใจว่าใครจะเข้าถึง เมื่อหลายปีที่แล้วผมได้อ่านข้อเขียนบางอย่างของ ยุกติ มุกดาวิจิตร ที่อธิบายถึงความจำเป็นในการมีอยู่ของวิชาการหอคอยงาช้าง และเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ จำไม่ได้ว่าเห็นด้วยว่าอะไร แต่จำได้ว่าเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์

‘นี่แหละ สังคมเราต้องการวิชาการหอคอยงาช้าง’ ในเวลานั้นผมคงเห็นด้วยกับยุกติเพื่อให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัยมากพอจะกลายร่างไปเป็นนักวิชาการหอคอยงาช้างได้อีกคน ข้อเขียนของยุกติทำให้ผมรู้สึกปลอดภัยที่มีคนที่น่าเชื่อถือมาคอยยืนยันความเชื่อแบบนั้นในตัวผม ‘ความเชื่อ’ ข้อเขียนของยุกติคงทำงานในฐานะ ‘ความเชื่อ’ กับผม ผมจึงจำได้เพียงว่าตัวเองเห็นด้วย แต่จำไม่ได้ว่าทำไมต้องเห็นด้วย

เวลาผ่านไปเป็นปีๆ ผมก็ยังคงเชื่อแบบนั้น และยิ่งนับวันก็ยิ่งเชื่ออย่างหนักแน่นกว่าเดิมเพราะเริ่มสร้างคำอธิบายของตัวเองมาเสริมเติมแต่งได้ ผมทึกทักเอาเองว่าวิชาการบนหอคอยงาช้างนี่แหละที่เป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับงานวิชาการติดดินหรืองานวิชาการเพื่อสังคมทั้งหลาย เป็น ‘สมอง’ ของแอคทิวิสต์ ของการเคลื่อนไหวทางสังคม ‘กู’ นี่แหละ เป็นคนคิดให้พวกมึงไปทำตามที่กูคิด

ถัดมาไม่นานก็พบว่า มึงก็คิดไปเถอะ นักปฏิบัติเขาไม่มีใครสนใจมึงมากขนาดนั้น ไม่มีใครเขาฟังอย่างตั้งใจถึงเสียงที่ตะโกนลงมาจากหอคอยงาช้าง นักปฏิบัติย่อมมีวิถีของนักปฏิบัติเองที่ไม่ได้มี และไม่จำเป็นต้องมี ‘แหล่งอ้างอิง’ เป็นโลกวิชาการเสมอไป

เวลาผ่านไป โลกค่อยๆ บีบให้ผมกลายเป็นนักวิชาการน้อยลง กลายเป็นนักปฏิบัติมากขึ้นโดยจำใจ ผมพบว่าเราอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้มากนักหากยังยืนกรานที่จะจัดตำแหน่งแห่งที่ตัวเองไว้เป็นนักวิชาการเพียงอย่างเดียว เพราะจะไม่มีใครเอาแนวคิดของคุณไปทำต่อหากคุณไม่ใช่ ‘เจ้า’ หรือคนมากบารมีในสังคม ไม่สำคัญว่าคุณจะสร้างความน่าเชื่อถือหรือผลงานอ้างอิงได้อย่างสมบูรณ์แบบมากเพียงใด หากคุณไม่ยอมลงไปเล่นในสนามของ ‘อำนาจ’ และ ‘แรง-งาน’ ด้วยตัวเอง งานวิชาการของคุณก็จะพบกับชะตากรรมถูกทิ้งไว้ และรอวีรชนบางคนมาบังเอิญเปิดอ่านเจอ ซึ่งก็มักจะไม่เกิดขึ้น เพราะความรู้ในประเทศนี้ไม่เคยทำงานได้บนกระดาษหรือวารสาร เพราะไม่มีคนอ่าน แต่มันจะเริ่มทำงานก็ต่อเมื่อมันเริ่มถูกกล่าวถึงในที่ประชุม มันจะเริ่มทำงานเมื่อเราเป็นคนนำมันไปทำงานเอง

ระหว่างนั้น ผมพบว่าตัวเองได้ประยุกต์ใช้ประโยชน์จากทฤษฎีที่เคยเรียนรู้จากงานวิชาการแบบหอคอยงาช้างในการมองสิ่งต่างๆ เพื่อทำงานภาคสนามและแก้ไขปัญหานโยบาย นั่นยิ่งตอกย้ำความเชื่อของผมไปอีกสักพักใหญ่ๆ ว่า ‘ยังไงสังคมไทยก็ยังต้องการหอคอยงาช้าง’ เพราะมันสามารถช่วยแก้ไขปัญหาหน้างานของเราได้ หากเราสามารถ ‘ประยุกต์’ หรือปรับใช้มันได้อย่างเป็นระบบ ดังนั้นการ ‘bridge’ หรือเชื่อมประสานแวดวงและขนบต่างๆ เข้าด้วยกันร่วมกับคนอื่นๆ จึงเป็นสิ่งที่ผมพยายามต่อสู้ต่อมาในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อร่วมพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จากงานวิชาการหอคอยงาช้างได้

ผมเคยเชื่อว่าถ้าเราสามารถสาธิตวิธีการใช้ประโยชน์จากวิชาการหอคอยงาช้างได้โดยมีแวดวงอื่นๆ เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์และร่วมสาธิตด้วย อาจารย์ภาควิชาปรัชญา มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ก็อาจไม่ต้องมานั่งบ่นเวลาที่ถูกตัดงบประมาณ เพราะมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากแวดวงอื่นไปช่วยยืนยัน มีผู้คนจากแวดวงอื่นๆ เห็นความสำคัญร่วมด้วย และไม่ต้องมานั่งตอบคำถามด้วยคำตอบ ‘bullshit’ ที่โรแมนติคจนไม่สามารถซื้อใจใครได้

เวลาที่ชาวบ้านถามว่า ‘มีภาควิชาของคุณไปทำไม’ ‘สิ่งที่คุณสอนมีประโยชน์อะไร’ เรามักจะได้ยินคำตอบ ‘bullshit’ เช่น

  • เรียนปรัชญาเพื่อเข้าใจมนุษย์
  • เรียนประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจอดีต
  • เรียนมนุษยศาสตร์เพื่อเข้าใจชีวิต
  • เรียนรัฐศาสตร์สอนให้ตั้งคำถาม


คำตอบพวกนี้ไร้สาระในสายตาของแวดวงอื่น เวลาคนอื่นถาม เขาไม่ได้ถามถึงประโยชน์ที่ตกต่อตัวคุณหรือแวดวงของคุณเอง หรือสิ่งที่คนเรียนอยากรู้ หรือแนวคิดกว้างๆ ของมัน แต่เขากำลังถามถึงประโยชน์ที่ตกต่อตัวเขาจริงๆ และสัมผัสรู้สึกถึงมันได้ เช่น

  • ฝ่ายบุคคลกำลังถามว่า ฝ่ายบุคคลจะได้อะไรจากนักศึกษาปรัชญา ได้จริงไหม?
  • เกษตรกรกำลังถามว่า เกษตรกรจะได้อะไรจากนักรัฐศาสตร์ ได้จริงไหม? เมื่อใด? อย่างไร? 


และคำตอบนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องชัดเจนและใกล้ตัวพวกเขา ไม่ใช่คำตอบเชิงแนวคิด คำตอบกว้างๆ ที่ไม่ต้องทำการบ้านมาก็ตอบได้ ซึ่งอาจารย์หรือนักวิชาการสังคมศาสตร์แทบจะร้อยทั้งร้อยที่ออกมาปกป้องศาสตร์และศิลป์ของตัวเองในสถานการณ์เช่นนี้ ‘ให้ไม่ได้’ และ ‘ไม่ได้ให้’ การต่อสู้เพื่อตำแหน่งแห่งที่ในสังคมของแวดวงวิชาการจึงวกวนอยู่ในเวลาของตัวเองด้วยการให้คำตอบเดิมและคำตอบเดียวทุกครั้งซ้ำๆ กัน

ยิ่งเวลาผ่านไป ผมก็ยิ่งเห็นว่าตัวเองที่กำลังพยายาม ‘ทำการสาธิต’ อยู่นั้น เหมือนกำลังต่อสู้ด้วยปืนปลอม ปัญหาก็คือการประยุกต์หรือการปรับใช้วิชาการจากหอคอยงาช้างอย่างเป็นระบบให้ไปเกิดเป็นประโยชน์ในที่อื่นได้ ดูเหมือนจะไม่เกิดขึ้นโดยทั่วไป ไม่ถูกแนะนำให้เกิดขึ้น ไม่ถูกบันทึกว่าเกิดขึ้น รวมถึงไม่มีการเรียนการสอนที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้น มันไม่ได้เป็นที่นิยมอะไรเลยหากเราจะอ้างอิงถึงนักปรัชญาสักคนเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมหรือชุมชน แต่เราจะนิยมอ้างอิงถึงนักปรัชญาสักคน เพื่อพูดถึงนักปรัชญาอีกคนก็เท่านั้น

มาถึงตรงนี้เราจะเห็นว่าวิชาการหอคอยงาช้างไม่ได้ไม่มีประโยชน์ในตัวมันเอง แต่กระบวนการในการจัดการให้มันเกิดเป็นประโยชน์ได้นั้นไม่ได้ถูกรับรู้ว่าต้องมีอยู่ในประเทศไทย ความจริงที่ว่าหอคอยงาช้างเป็นหอคอยที่ให้แรงบันดาลใจคนอื่นๆ นั้น จึงเป็นความจริงแค่เพียงครึ่งเดียวในประเทศนี้ เพราะความจริงอีกครึ่งหนึ่งก็คือ ‘แม่ง’ ไม่มีใครสนใจ คนในไม่อยากออก คนนอกไม่อยากเข้า แทบไม่มีใครแสดงความจริงใจที่จะข้ามไปยุ่มย่ามกับโลกและศาสตร์แขนงอื่นๆ และเข้าไปสร้างประโยชน์ที่นั่นอย่างจริงจัง ไม่มีใครสนใจที่จะส่งผ่านความรู้อย่างหนึ่งให้ไปเป็นประโยชน์ต่ออีกอย่างหนึ่งได้ นั่นทำให้ผมรู้สึกโดดเดี่ยว และไม่เคยสร้างความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้สำเร็จ จนตัดสินใจถอยออกมา ไม่ต่างจากคนอื่นๆ

แม้จะยังคงเห็นด้วยกับยุกติอยู่สักประมาณครึ่งหนึ่งจนถึงทุกวันนี้ (ทั้งที่ก็ไม่แน่ใจว่าเห็นด้วยกับอะไร) แต่ด้วยหน้างานที่ต้องทำได้เปลี่ยนไปมากจากงานวิชาการ ผมต้องยุ่มย่ามกับการจัดการการเงิน ทุน และตลาด และนั่นทำให้ผมเริ่มเห็นภาพของการแลกเปลี่ยนมูลค่าที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมมากขึ้น กล่าวง่ายๆ คือผมเริ่มที่จะสามารถมองโลกวิชาการด้วยสายตาเดียวกันกับที่ ‘คนนอก’ หรือคนจากโลกธุรกิจการค้า ชาวบ้านชาวช่อง เขามองกันได้เสียที และนั่นคือจุดแตกหัก

เมื่อเริ่มคำนึงถึงความคุ้มทุนที่สังคมเราจะต้องจ่าย ‘ภาษี’ ให้กับงานวิชาการแบบหอคอยงาช้าง ผมจะคิด (อย่างเกรงใจเพื่อนเสมอ) ว่ามันอาจเป็นการลงทุนของสังคมในแบบที่ ‘ล่องลอย’ และ ‘มีความเสี่ยงสูง’ เกินไปแทบทุกครั้ง เพราะเรากำลังสร้างงานวิชาการหอคอยงาช้างขึ้นมามากขึ้นทุกวัน โดยที่ไม่มีอะไรประกันกับสังคมที่เป็นเจ้าของเงินได้เลย

ไม่มีอะไรประกันได้เลยว่าจะมีใครได้รับแรงบันดาลใจจากมัน จะมีใครอ่าน เข้าถึงมัน มีชีวิตจิตใจที่ดีขึ้น หรือนำมันไปประยุกต์เป็นอะไรสักอย่าง ในขณะที่ผมยังคงเห็นด้วยว่าสังคมต้องการวัฒนธรรม ความบันเทิง ดนตรี เรื่องตลก ศิลปะ และหลายต่อหลายสิ่งที่เป็นคุณค่าทางจิตใจหรืออารมณ์ที่ไม่จำเป็นจะต้องเอา ‘ประโยชน์’ มาบีบคั้นชี้วัดกันก็เข้าใจได้ถึงความคุ้มทุนที่เราจะจ่ายให้สิ่งเหล่านั้นมีอยู่ในสังคม แต่กับงานวิชาการบางประเภท ผมนึกไม่ออก นึกไม่ออกกระทั่งว่าหากวันหนึ่งตัวเองต้องพูดในที่ประชุมเพื่อปกป้องให้สิ่งเหล่านี้ยังคงได้รับการสนับสนุนอยู่ต่อไป ผมจะพูดกับคนอื่นๆ ได้อย่างไรว่ามันมีประโยชน์ต่อเขา หรือคนนอกแวดวงวิชาการอย่างไร เพราะหลายครั้งมันก็ไม่มีจริงๆ

นักวิชาการน้อยคนเหลือเกินที่กระตือรือร้นจะพิสูจน์ว่าตัวเองมีประโยชน์ต่อแวดวงอื่น พวกเราเลือกที่จะฉลาดกันเองอยู่เงียบๆ บ่อยครั้งพวกเราดูถูกวิธีคิดของนักบัญชี นักขาย นักการตลาด คนทำงานแรงงาน คนทำงานโฆษณาและงานอื่นๆ ว่างานเหล่านี้เป็นเพียงงานที่ตอบโจทย์ตลาด ไม่มีอุดมการณ์ ไม่ได้สร้างความรู้หรือคุณูปการอะไร และเราก็ไม่เคยพยายามสร้างคำอธิบายหรือสร้างความเข้าใจต่อพวกเขาเลย ละทิ้งพวกเขาไปเฉยๆ และแสดงออกว่าพวกเขาจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจเราก็ไม่ได้มีนัยสำคัญอะไร เพราะคนสำคัญของเราคือคนในแวดวงที่จะช่วยให้เราเติบโตได้ก็เท่านั้น

และนั่นคือจุดแตกหักที่ทำให้ ‘นาฬิกาตาย’ บนหอคอยงาช้าง เวลาของโลกวิชาการไม่ได้เดินร่วมกับโลกใบอื่นๆ อีกต่อไป

แล้วจะมีสาระอะไรหากเรากำลังเติบโตในแวดวงที่เติบโตร่วมกับแวดวงอื่นๆ ไม่ได้? ในภาพที่ใหญ่ขึ้น คนที่ช่วยให้แวดวงวิชาการเติบโตได้ก็คือแวดวงอื่นๆ มาโดยตลอด ทุกแวดวงทำให้เกิดมูลค่าที่แลกเปลี่ยน ทุกแวดวงกำลังจ่ายทุน รวมถึงสนับสนุนแรงให้คุณทำงานของคุณอยู่ โดยที่คุณไม่ตระหนักเลยว่าเงินและแรงที่คุณใช้ทำงานนั้นล้วนแต่มาจากพวกเขา พวกเขาที่จะคละกันอยู่ในทุกที่ประชุม ที่จะกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับชีวิตทางวิชาการของคุณ และเมื่อคุณเลิกใส่ใจพวกเขา พวกเขาก็เลิกใส่ใจคุณ ชะตากรรมของคุณก็คือการออกมาเรียกร้องให้คณะหรือภาควิชาไม่ถูกยุบ คือการต้องนั่งบ่นว่าสังคมไทยไม่ให้การสนับสนุนคุณ ไม่มีพื้นที่ ไม่มีเวที ไม่มีคนสนใจ ซึ่งนั่นก็เป็นความจริงทั้งหมด และขออภัยที่หลายครั้งผมไม่ได้มองมันเป็นความจริงที่น่าเห็นใจ

เช่นนั้นแล้วเราควรจะปรับตัวอย่างไร? เราอาจจำเป็นที่จะต้องมีลักษณะการทำกิจกรรมทางวิชาการในรูปแบบที่เฉพาะตัวเพื่อที่จะแก้ไขปัญหา ‘นาฬิกาตายบนหอคอยงาช้าง’ อย่างที่เป็นอยู่

ผมเรียกมันว่าการใช้ ‘ปัญญาโลกที่สาม’ [2] ปัญญาโลกที่สามคือปัญญาแบบที่นักวิชาการโลกที่สามที่อยู่ในเวลาที่เกี่ยวพันอย่างเป็นปัจจุบันทันด่วนต่อสังคม (ไม่มีเวลาเพ้อเจ้อถึงอดีตหรืออนาคต เพราะปัจจุบันก็สาหัสแล้ว) ต้องใช้มันอย่างกระฉับกระเฉงโดยมุ่งเป้าหมายอยู่ที่ปัญหาและสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า เน้นการครุ่นคิดต่อสถานการณ์ตรงหน้าเพื่อสะสางความพะรุงพะรังของปัญหาก่อนเป็นอันดับแรก

ตัวอย่างเช่น หากคุณใช้ปัญญาโลกที่หนึ่ง คุณคงจะพูดถึงเรื่องการปรับผังเมือง แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณเริ่มใช้ปัญญาโลกที่สาม คุณจะเริ่มเข้าใจว่าคุณยังไปยุ่งอะไรกับผังเมืองไม่ได้ คุณไม่มีอำนาจมากมายขนาดนั้นในตอนนี้ และไม่มีใครเขาจะมาปฏิบัติการตามแผนปรับผังเมืองของคุณ จากนั้นคุณจะเริ่มคิดว่าคุณจะจัดการอย่างไรกับสายไฟที่พันอยู่กับเสาไฟฟ้าอย่างพะรุงพะรัง คุณจะจัดการอย่างไรกับพื้นที่รกร้างให้มันพอกลายเป็นพื้นที่ใช้สอยสาธารณะได้บ้าง และคุณก็ยังคงไม่ลืมเสมอที่จะเอาเรื่องการปรับผังเมืองกลับมาคิดทันทีที่มีโอกาสเข้าถึงอำนาจ

ปัญญาโลกที่สามไม่ได้ละทิ้งวิสัยทัศน์ แต่ปัญญาโลกที่สามจัดลำดับความสำคัญของความเร่งด่วนให้มาอยู่ข้างหน้าเสมอ ไม่เรื่องมาก ไม่สนใจว่าอะไรอยู่ในหรือนอกศาสตร์ของตัวเอง ขอแค่มันช่วยกันแก้ไขปัญหาได้ เท่านั้นก็พอ กิจกรรมทางวิชาการเช่นนี้จะช่วยดึงเวลาของงานวิชาการของคุณให้กลับมาเดินตรงกันกับโลกปัจจุบัน


‘ความน่าเชื่อถือในทางวิชาการ’ ล้มเหลวในฐานะระบบประกัน ประสบความสำเร็จในการถ่วงเวลา

สิ่งที่มีพลังอำนาจที่สุดในโลกวิชาการคือความน่าเชื่อถือ ความน่าเชื่อถือที่ปัจจุบันฝากฝังเอาไว้กับสิ่งที่เรียกว่า ‘Impact Factor’ หรือตัวชี้วัดว่างานของคุณมีอิทธิพลต่อโลกขนาดไหน สิ่งนี้ถูกกำหนดโดยมหาวิทยาลัยและเครือข่ายวิชาการทั่วโลก เพื่อที่จะสร้าง Impact Factor คุณต้องตีพิมพ์บทความลงวารสารที่ได้ ‘ลำดับชั้น’ ที่เหมาะสม ถูกอ้างอิงโดยคนลำดับชั้นเดียวกัน ตีพิมพ์หนังสือเล่มกับสำนักพิมพ์ที่มีชื่อ หรือทำภารกิจตามที่กำหนดบางประการ นั่นจึงจะทำให้คุณได้รับความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้แล้วคุณอาจต้องจบปริญญาเอกจากต่างชาติที่หมายถึงชาติตะวันตก คุณจึงจะได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ (ถ้าไม่มีเส้นสาย) คุณต้องอ้างอิงถึงโคตรพ่อโคตรแม่ของนักคิดในแวดวงของคุณในทุกบทความของคุณ คุณจึงจะได้มาซึ่งความน่าเชื่อถือ

เพื่อที่จะประกอบสร้างความน่าเชื่อถือในทางวิชาการ คุณใช้ ‘เวลา’ ในการหาแหล่งอ้างอิง สะสมความน่าเชื่อถือของคนอื่นที่น่าเชื่อถือกว่าคุณ มายืนยันในสิ่งที่คุณตั้งใจจะพูดอยู่แล้วตั้งแต่ต้น (มันต้องมีสักคนคิดเหมือนกูแต่น่าเชื่อถือกว่ากู กูก็เลยเอาชื่อมันมาใส่ ให้มันรับผิดชอบแทน) กว่าจะสร้างบทความวิชาการให้สำเร็จถูกต้องได้ คุณใช้เวลาหลายเดือน บางชิ้นเป็นปี

คุณต้องทำอะไรเหล่านี้เพื่อที่จะดูน่าเชื่อถือในโลกวิชาการ ทดทั้งหมดนั้นไว้ในใจ ถอยหลังออกมาเพียงครึ่งก้าว หรือไม่ต้องถอยก็ได้ คุณจะพบว่าที่พูดมาทั้งหมดนี้แทบไม่ได้ยืนยันอะไรได้เลยว่าคุณจะเป็นนักวิชาการที่ดีหรือมีประโยชน์ แทบไม่ได้ยืนยันได้เลยว่ามันกำลังคืนกำไรต่อสังคม แต่สิ่งที่เสียไปแล้วคือ ‘เวลา’

กระบวนการสร้างความน่าเชื่อถือ (เทียม) เหล่านี้ใช้ ‘เวลา’ มหาศาลจนเป็นปกติ กล่าวคือเพื่อนร่วมรุ่นอาจจะกลายเป็นผู้บริหารแล้วในบริษัทเอกชน ส่วนคุณเพิ่งเริ่มสอนวิชาที่คุณไม่ได้เลือก และกำลังถูกมองต่ำโดยเหล่าอาจารย์รุ่นพี่ในมหาวิทยาลัย และต้องเขียนงานวิชาการอย่างอ่อนน้อม ข้อเสนอไม่เยอะ แต่หนักไปทางอ้างอิง โดยสรุปแล้วภายในเวลาเท่าๆ กัน ในโลกวิชาการ คุณจะผลิตออกมาได้น้อย ด้วยคุณภาพที่ยังวัดไม่ได้ ในขณะที่แวดวงอื่นๆ สามารถไปถึงไหนต่อไหนกันได้แล้ว

ความน่าเชื่อถือและความแม่นยำ ‘ที่รับรู้กันภายใน’ อันเป็นระเบียบปฏิบัติ อันเป็นสาเหตุของความเชื่องช้าเหล่านี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่แวดวงวิชาการต้องทบทวน จริงอยู่ที่สังคมเราต้องการการวิจัยและการตัดสินใจบนฐานของข้อมูล แต่ก็ยังคงจริงด้วยที่ข้อมูลและสติปัญญามีหลากหลายรูปแบบ และแทบไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่เราจะยังคงต้องใช้รูปแบบเดียว ยังไม่นับรวมไปถึงโลกในปัจจุบันที่หากคุณถอยออกมาจากโลกวิชาการสักสองสามก้าวแล้วก็จะพบว่า ผู้คนในยุคสมัยนี้ไม่รอฟังความคิดเห็นของอาจารย์อีกต่อไปแล้ว ผู้คนสมัยนี้ไม่ได้รออ้างอิงงานจากวารสารอีกต่อไปแล้ว ความน่าเชื่อถือได้เปลี่ยนไปแล้ว และหากโลกวิชาการยังต้องการที่จะน่าเชื่อถืออยู่ในโลกปัจจุบัน โลกวิชาการก็ต้องตัดสินใจจับจังหวะของความเคลื่อนไหว และเล่นกับมันให้ได้


เหลียวหลังอย่างเดียว แลหน้าไม่มีอยู่จริง

ระบบประกอบสร้างความน่าเชื่อถือในโลกวิชาการทำให้เกิดความบ้าคลั่งชนิดหนึ่งขึ้นมา ความบ้าคลั่งชนิดนี้ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อวิทยาศาสตร์ แต่เป็นความงุ่นง่านในสังคมศาสตร์ มันคือความบ้าคลั่งในการตามชำระความถูกต้องในการอ่านและตีความวรรณกรรม ตามชำระกันไปมาอย่างไม่จบสิ้น ตีความวกวนกันอยู่ในอ่าง ชำระจนไม่เหลือช่องว่างให้จินตนาการได้ทำงาน [3]

ร้อยทั้งร้อย ความบ้าคลั่งชนิดนี้หาได้เป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงให้คนรุ่นใหม่ได้เอาไปใช้ต่อ แต่มันเป็นการฉุดรั้งทุกคนเอาไว้ข้างหลัง ผมร่วมฟังรายการเสนอบทความวิชาการที่มักจะตั้งชื่อคล้ายๆ กันหมด เช่น เหลียวหลังแลหน้า เหลียวหน้าแลหลัง มาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง และร้อยทั้งร้อยเป็นการเหลียวหลัง แม้กระทั่งการแลหน้าก็คือการแลหน้าไปข้างหลัง คือการกลับไป ‘รีวิว’ ว่านักวิชาการเก่าแก่ (จากฝั่งตะวันตก) ได้พูดอะไรเอาไว้บ้างต่อสิ่งใหม่ เพื่อนำมาสู่ข้อสรุปที่ไม่ต้องอ่านทั้งหมดนั่นก็สรุปแบบนั้นได้ ตัวอย่างเช่น การเสนอว่า Leo Strauss มีอะไรจะพูดเกี่ยวกับการศึกษาที่ควรจะเป็นในอนาคต (ของเขา) บ้าง และประเทศไทยไม่เป็นไปตามนั้นอย่างไร

หลังจากนั้นบทสนทนาที่จะเกิดขึ้นก็คือ นักวิชาการคนที่เสนอเกี่ยวกับ Leo Strauss นั้นตีความ Leo Strauss ได้ถูกผิดอย่างไร งดงามหรือตื้นเขินอย่างไร ตรงนี้ทุกคนจะเริ่มสนุกกันและถกเถียงกันต่อได้อย่างไม่จบสิ้น เป็นบรรยากาศที่เหมือนพิธีทรงเจ้า ทุกคนดูไม่เหมือนคนปกติ แต่มีฐานะและเป็นตัวแทนของอะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด

ขอให้ทุกท่านไม่ลืมว่าในตอนนี้การศึกษาไทยและอนาคต ได้หายไปเสียแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คือเรื่องของ Leo Strauss คนที่ตายไปแล้วคนนั้น

แปลกดีที่เราใช้เวลากับคนตายเยอะเหลือเกิน นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แวดวงนี้ไม่ค่อยมีเวลาให้คนเป็น


ส่งท้าย

อาจเป็นเพราะเหตุเหล่านั้น เวลาของโลกวิชาการจึงเดินไปอย่างเชื่องช้า และดูเหมือนว่าจะยังไม่มีอะไรหยุดความเชื่องช้าของมันได้เร็วๆ นี้ คงไม่มีใครเพียงลำพังไปปรับเวลาของทั้งแวดวงให้เดินเร็วขึ้นได้ ทำได้แค่เพียงก้าวออกไปจากมัน และในโลกที่ทุกอย่างเร่งเร้าให้รวดเร็วขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เท้าที่ย่างก้าวออกมาคงเพิ่มมากขึ้นทุกวินาที
=====

รายการอ้างอิง

[1] https://www.matichon.co.th/education/news_2105512

[2] จำไม่ได้ว่าเคยได้ยินที่อื่นมาก่อนไหม หรือว่าพูดมันขึ้นมาเอง หากมันเป็นแนวคิดของใครที่มีอยู่ก่อน ขอให้ประกาศได้เลยว่าเป็นของเขา ผมไม่มั่นใจว่านี่เป็นแนวคิดดั้งเดิมของผม แต่ก็สืบค้นไม่ได้ว่ามันมีที่มาจากไหน ขออภัย

[3]  ผมว่าเราควรเลิกเถียงกันว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือเหตุผล อารมณ์ ตรรกะ หรือจินตนาการ พวกเราอยู่กันมาได้จนถึงทุกวันนี้เพราะมีทั้งหมดนั้น เราควรเลิกเถียงกันอย่างเด็กน้อยได้แล้วว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร และมาหาวิธีทำให้ทุกอย่างทำงานร่วมกันได้อย่างดีที่สุด
=====

- วริศ ลิขิตอนุสรณ์ - ผู้เขียน

=====

อ่านบทความก่อนหน้า

ว่าด้วยความแตกต่างอย่างเด็ดขาด | เวลากับแวดวง (1)


=====

ข้อเขียน 'ว่าด้วยความแตกต่างอย่างเด็ดขาด' คืออะไร

ความแตกต่างกลายเป็นแนวคิดที่ถูกกล่าวขานทุกลมหายใจในสังคมสมัยใหม่ บ่อยครั้งมันถูกทำให้ง่ายกว่าที่เป็น บางครั้งยากเกินจำเป็น หลายครั้งมันค้ำประกันความเคลื่อนไหวที่งดงาม และบางครั้งความเคลื่อนไหวนั้นกลับน่ากลัว ใน ‘ว่าด้วยความแตกต่างอย่างเด็ดขาด’ วริศ ลิขิตอนุสรณ์ เขียนถึงรายละเอียดของความแตกต่างในส่วนที่เล็กที่สุดที่จะพบเจอได้ระหว่างมนุษย์ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม
====================

สนใจสั่งซื้อ วาระสมมติ : ว่าด้วยวรรณกรรม On Literature / วริศ ลิขิตอนุสรณ์ : บรรณาธิการ



รวมบทความวิจารณ์ทั้งวรรณกรรมไทยและเทศที่ชวนอ่านอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีเรื่องสั้นอีก 4 เรื่องต่างประเด็น และต่างกลวิธีเล่าเรื่องที่แปลกใหม่!!!

"หนังสือเล่มนี้เป็นการเปิดเวทีความคิดของคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจ"
-- วาด รวี
====================

เลือกซื้องานวิชาการเล่มอื่นๆ มากกว่า 30 ปก  ---  คลิก Non-Fiction



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้