นิธิ นิธิวีรกุล | ภาวะสันหลังคดทางสังคมไทย

Last updated: 29 ก.ค. 2564  |  2627 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นิธิ นิธิวีรกุล | ภาวะสันหลังคดทางสังคมไทย

 
“...หลังจากนั้นแล้ว ท่านทั้งหลายก็คงจะทราบว่าได้มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นหลายอย่างหลายประการด้วยกัน ประการแรก คือ วันที่สี่กรกฎาคม วันชาติของอเมริกันนั้นเองได้มีการเดินขบวนขับไล่ การเดินขบวนนั้นเป็นสิทธิเสรีภาพตามระบอบรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ทำเกินไป คือ การฉี่รดธงชาติของเขาเข้า เพียงแค่มีฝรั่งเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ถ่ายรูป ขึ้นไปขี่คอพระพุทธรูป เรายังยอมไม่ได้ เรายังมีการเรียกร้องกันให้นำฝรั่งคนนั้นมาขึ้นศาลถึงกับตัดสินจำคุก ถ้าคิดถึงว่ามีธงชาติไทยในประเทศอเมริกา ถูกคนอเมริกันดึงลงมาฉี่รดอย่างนั้นบ้าง หัวใจเราจะเป็นยังไง มาถึงวันที่ยี่สิบมีนาคม ปีหนึ่งเก้านี้เอง เราก็มีการเดินขบวนชุมนุมกันครั้งใหญ่ถึงกับถูกระเบิดล้มหายตายจากกันไป ซึ่งจนถึงวันนี้นั้นก็ยังจับไม่ได้ว่าใครเป็นมือระเบิด คนตายก็ตายไปไม่มีใครรับผิดชอบ การจัดการชุมนุมเองก็ร้องปาวๆ แต่ว่าจะสืบทอดเจตนารมณ์อันนั้นต่อไป ก็รออยู่เท่านั้นเองไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ข้อสำคัญ ในวันนั้น มีสิ่งที่น่าสังเกตอยู่ประการหนึ่ง ถ้าท่านทั้งหลายดูทีวี ดูข่าวในวันนั้นอยู่ จะเห็นว่าพอเขาเดินขบวนมาถูกระเบิดโครม คนตายตายไป คนที่เหลือจับมือมัดข้าวต้มเดินต่อไป ท่านสังเกตไหมคะว่าเพลงที่พวกเขาร้องนั้น คือ เพลงสู้ไม่ถอย ค่ะ เพลงสู้ไม่ถอยที่พวกเขาร้องในวันเดินขบวนก็บังเอิญค่ะ ก่อนที่จะเกิดเรื่องสองอาทิตย์ ดิฉันเข้าไปในป่าที่สุราษฎร์ธานี แล้วดิฉันไปต่อเพลงนี้กับหัวหน้ากองเกียรติทหารป่า คนที่เขาไปต่อกับดิฉันอีกสองคน คือ คุณรัชนี (ฟังไม่ออก) เข้าไปต่อเพลงกับเขา ดิฉันเข้าไปถามว่าเพลงนี้นั้นเขาร้องทำไม เขาบอกว่าเป็นเพลงเชียร์สำหรับให้ทหารป่าจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับทหารของเรา ดิฉันจึงคิดว่า วันนั้น วันที่พวกเขาร้องเพลงสู้ไม่ถอยกลางกรุงเทพฯ นั้น เป็นการตบหน้าคนไทยทั้งกรุงเทพฯ...”

 

- 1 -


ส่วนหนึ่งจากคลิปเสียงของ ทมยันดี นักเขียนเลืองชื่อ นามปากกาของคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ที่เผยแพร่บน soundcloud [1] บอกให้ข้าพเจ้าตระหนักอยู่ 2 ประการ

  1. โลกทัศน์ของฝ่ายขวาในเมืองไทยนับจากยุคสงครามเย็นมาจนปัจจุบันแทบไม่เปลี่ยนแปลงต่อทัศนะที่มีต่อนักศึกษาหัวก้าวหน้า ทั้งในปี 2519 และในปี 2563 ที่กำลังเกิดกระแส 'ตาสว่าง' ในหมู่นักเรียน-นักศึกษาทั่วประเทศจำนวนมาก อาจจะเรียกได้ว่าอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่

  2. ที่หลักที่ยืนของนักเขียนฝ่ายขวา แต่ไหนแต่ไรมา มักได้รับการชื่นชมจากสาธารณะชน และแวดวงสังคมชนชั้นสูงตลอด น้อยถึงน้อยครั้งมากที่นักเขียนฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายก้าวหน้าจะมีที่ยืนได้อย่างภาคภูมิใจ แม้เราอาจจะบอกว่าการเกิดใหม่ของ จิตร ภูมิศักดิ์ และการได้รับการยอมรับจากองค์กร UNESCO ต่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ 'ศรีบูรพา' เป็นเกียรติยศและคุณค่าเท่าที่นักเขียนคนหนึ่งพึงมีแล้ว คำถาม คือ สังคมต้องรอให้พวกเขาพ้นจากโลกนี้ไปก่อนอย่างนั้นหรือ ?

จากข้อตระหนัก 2 ประการข้างต้น ทำให้หวนกลับมาคิดถึงบทบาทของนักเขียนของตัวข้าพเจ้าเองในฐานะที่อาจจะพูดได้ว่าเป็นนักเขียนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายขวาคนหนึ่ง แต่อยู่ฝ่ายก้าวหน้าหรือฝ่ายซ้ายไหม? ข้าพเจ้าไม่อาจนิยามแบบนั้นให้ตัวเองได้

การที่ข้าพเจ้าจำกัดสถานะตัวเองเช่นนี้ เป็นเพราะเมื่อพิจารณาเนื้องาน และอุดมการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ อย่างถ่องแท้แล้ว ข้าพเจ้าไม่คิดว่าตัวเองยืนอยู่ในฟากฝั่งนักเขียนฝ่ายขวาอย่างแน่นอน แม้ข้าพเจ้าจะไม่ได้รังเกียจทุนนิยม หรือชิงชังศักดินาตามนิยามที่ปรากฏในงานเขียนชิ้นสำคัญของจิตร ภูมิศักดิ์ แต่สิ่งที่ข้าพเจ้ารังเกียจ และรู้สึกชิงชัง คือ การถือสิทธิ์ในการรักชาติ รักแผ่นดินของกลุ่มคนบางกลุ่ม กระทั่งเลยเถิดไปยังการขับไล่คนคิดไม่เหมือนกันให้ออกไปจากประเทศ ทั้ง ๆ ที่ตัวเขา และผู้ที่เขาอ้างสิทธิ์แทนหาได้เป็นเจ้าของประเทศแท้จริง



- 2 -


[…] ในวินาทีแห่งการสำนึกถึงเสรีภาพนั้นเอง ที่เรามีความรู้สึกว่า เพียงเราเขียนประโยคประท้วงสังคมและรัฐบาลเพียงวรรคเดียวบนผนังเหนือโถปัสสาวะผู้ชายในห้องน้ำที่ตึกห้องสมุดกลางของมหาวิทยาลัย ก็จะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งในตึกและในมหาวิทยาลัยแห่งนั้น และกระทั่งถึงรัฐบาลได้ [,,,] [2]

บรรยากาศของการ 'ตื่นตัว' ของนักศึกษาในช่วงก่อน 14 ตุลาฯ 2516 และส่งต่อมาถึงก่อน 6 ตุลาฯ 2519 อาจจะพออธิบายได้ด้วยประโยคที่หยิบยกมานี้จากหนังสือ กบฏวรรณกรรม โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศเล่าบรรยากาศของการจัดทำ 'หนังสือเล่มละบาท' ของกลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้าไว้ให้รู้สึกว่า ทำไมหนอการต่อสู้อำนาจรัฐของกลุ่มฝั่งฝ่ายซ้าย มักจะดู 'กระจอกงอกง่อย' เสียทุกทีไป ไม่ว่าจะเป็นการทำหนังสือในรูปแบบทำเอง การเขียนประโยคประท้วงบนผนังเหนือห้องน้ำ ในขณะ 'ที่ทาง' ของกลุ่มฝั่งฝ่ายขวา หรือฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายจารีต และฝ่ายนิยมเจ้า กลับเต็มไปด้วยความอลังการขรึมขลัง และแทบไม่เคยต้องแอบซ่อนการประท้วงไว้บนผนังห้องน้ำ กระทั่งใบอนุญาตสั่งฆ่านักศึกษา ประชาชน อย่างที่เราได้เห็นกันในกาลเวลาต่อมา

การชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2519 ที่ปรากฏอยู่ในคลิปเสียงของ ทมยันตี (อ่านว่า ทะ-มะ-ยัน-ตี แปลว่านางผู้มีความอดทนอดกลั้น) เป็นการชุมนุมใหญ่ของขบวนการนักศึกษาหลัง 14 ตุลาคม 2516 เพื่อประท้วงขับไล่ให้กองทัพสหรัฐอเมริกาถอนกำลังออกไป ซึ่งสุรชาติ บำรุงสุข ได้สะท้อนบรรยากาศของฝ่ายขวาในห้วงเวลานั้นเอาไว้ว่า


"...การเดินขบวนใหญ่วันนั้นสะท้อนถึงความตื่นตัวอย่างมากของนักศึกษาประชาชน แต่ความตื่นตัวดังกล่าวก็คือการตอกย้ำให้เกิดความกลัวในหมู่ชนชั้นนำและผู้นำทหารมากยิ่งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย เพราะเท่ากับบอกว่าฐานทัพสหรัฐในฐานะของการเป็น ‘หลักประกันความมั่นคง’ สำหรับปีกขวาไทยจะต้องถอนตัวออก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการสิ้นสุดภารกิจสงครามในอินโดจีน แต่พวกเขามองว่านักศึกษาเป็น ‘ผู้ไล่’..." [3] 


ในขณะที่เพลง 'สู้ไม่ถอย' ที่ทมยันตีบอกว่าเป็นการตบหน้าคนไทยทั้งกรุงเทพฯ นั้น ประพันธ์คำร้องโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตลกร้าย คือ ในขณะที่เพลงสู้ไม่ถอย นักศึกษานำมาร้องในการเดินขบวนเมื่อวันที่ 21 มีนาคมเท่ากับเป็นการตบหน้าคนไทยในกรุงเทพฯ แล้ว เพลงนี้ยังถูกนำมาร้องอีกครั้งในการชุมนุมของกปปส.เมื่อเดือนมกราคม 2557 โดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่า ณ เวลาตอนนั้น คุณทมยันตีทำอะไรอยู่ จะรับรู้และรู้สึกไหมว่าการชุมนุมที่เป็นการปิดกรุงเทพฯ ขัดขวางการเลือกตั้ง และถืออภิสิทธิ์ตรวจค้นรถทุกคันที่ขับผ่านบริเวณการชุมนุมย่อยของบรรดามวลมหาชนนั้นเป็นการตบหน้าคนไทยมากหรือน้อยแค่ไหน?


จริงอยู่ที่การชุมนุมของมวลมหาประชาชนจะมีผู้บาดเจ็บ มีผู้เสียชีวิต และหากกล่าวอย่างถึงที่สุด วาทกรรมที่มักกลายเป็นสาดโคลนไปมาในลักษณะของความเชื่อที่ว่า รัฐบาลไหนๆ มีการปรามปราบรุนแรงทั้งนั้น ล้วนปกปิดข้อเท็จจริงที่สำคัญเบื้องหลังบทบาทของกองทัพไทยที่มักเป็นผู้นำความรุนแรงมาสู่การชุมนุมไม่ว่าจะฝ่ายไหนเสมอๆ เพียงเพราะข้ออ้าง 'เพื่อดำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง'



- 3 -

จากข้อตระหนัก 2 ข้อที่ข้าพเจ้ามีต่อคลิปเสียงของทมยันตี ที่มาที่ไปของบทเพลง สู้ไม่ถอย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกขับร้องในการเดินขบวนของนักศึกษาต่อต้านเผด็จการทหารถนอม-ประภาส มาจนถึงการชุมนุมของกปปส.แล้ว การชุมนุมของนักศึกษา เยาวชน ทั้งในวันที่ 18 กรกฎาคม และในวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา การไม่มีบทเพลงจากยุคอดีต แง่หนึ่งแล้วอาจเพราะนักศึกษา เยาวชนในยุคปัจจุบัน ไม่เพียงแต่เกิดไม่ทัน กระทั่งอาจ 'ไม่อิน' กับบทเพลงเหล่านั้นอีกต่อไป การปรากฏขึ้นมาของเพลง 'ประเทศกูมี' 'Do you Hear People Sing?' 'วิ่งนะแฮมทาโร่' และ 'บทเพลงจากสามัญชน' ยังเท่ากับเป็นการตอกหมุดหมายของบทเพลงร่วมสมัยที่ไม่มีฝ่ายใดสามารถถือครองได้อย่างเบ็ดเสร็จ (โดยเฉพาะฝ่ายขวาและผู้อ้างตัวว่ารักชาติ เอามากล่าวอ้างว่าเป็นการตบหน้าคนไทยในกรุงเทพฯ) เพราะบทเพลงเหล่านี้ เป็นบทเพลงของอนาคตประเทศ เหล่าเยาวชน นักศึกษาที่ต้องการเปล่งเสียงให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองรับฟังเสียงพวกเขาเสียบ้าง หลังจากใช้ประวัติศาสตร์และประสบการณ์ของผู้มาก่อนในเชิงตำหนิ ติเตียน มาหลายปีดีดัก แต่ประเทศชาติ และสังคมยังคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเมื่อยุคที่ขบวนการนักศึกษาออกไปชุมนุมเรียกร้องขับไล่ให้กองทัพสหรัฐออกไปจากประเทศแต่อย่างใด

ไม่นับการสนับสนุนจากมวลชน ดารานักแสดงที่เป็นดั่ง 'ท่อน้ำเลี้ยง' ให้ขบวนการนักศึกษาในปัจจุบันจะทำให้เห็นถึงบรรยากาศของการต่อสู้ทางการเมืองที่นักศึกษา หรือฝั่งฝ่ายซ้ายไม่จำเป็นต้องตกอยู่ในบรรยากาศของ 'หนังสือเล่มละบาท' และ 'การเขียนประท้วงบนผนังห้องน้ำ' อีกต่อไป

ในฐานะนักเขียน แม้จะออกตัวว่าไม่ได้เป็นฝ่ายขวา และแม้ไม่อาจนิยามตัวเองได้ว่าอยู่ฝ่ายก้าวหน้าหรือไม่? (เพราะในความคิดข้าพเจ้า ผู้นิยามเราในฐานะนักเขียนฝั่งฝ่ายไหน คือ ประชาชนคนอ่านเท่านั้น) แต่ในเมื่อแต่ไหนแต่ไรมา นักเขียนฝ่ายขวามักไม่เคยกระมิดกระเมี้ยนในการปักหลักอุดมการณ์ที่ตนเองยึดถือ และไม่เคยเลย ไม่แม้แต่สักครั้งที่นักเขียนฝ่ายขวาจะเอ่ยถึงประชาชนมากไปกว่าการเอ่ยถึงชาติ ธง กษัตริย์ กองทัพ ซึ่งสำหรับข้าพเจ้าแล้วนั้น นามเหล่านั้นล้วนว่างเปล่าหากปราศจากประชาชน หากปราศจากผู้คนที่ถูกทำให้สูญหาย ประชาชนที่ถูกลืม นับตั้งแต่ 6 ตุลาคม 2519 มาจนถึงการล้อมปรามคนเสื้อแดงในปี 2553 การบังคับสูญหาย และการคุกคามจากอำนาจรัฐในนามของความสงบเรียบร้อย ในนามของความดีงามที่พร้อมจะกระทำอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนราวกับผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับค่านิยมส่วนใหญ่ของสังคม วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม เป็นอะไรสักอย่างที่ไม่ใกล้เคียงแม้แต่สิ่งมีชีวิต

ไม่ต้องเอ่ยว่าในสายตาของเหล่าคนดี พวกเขาเคยมองเห็นอีกฝั่งฝ่ายที่เห็นต่างเป็น 'คน' เหมือนกันหรือไม่ด้วยซ้ำ

นักเขียนฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายขวาอย่างข้าพเจ้า ซึ่งเชื่อได้ว่าไม่ได้มีแค่ข้าพเจ้าคนเดียว จึงถือเป็นหน้าที่ เป็นพันธกิจที่อาจจะพูดได้ว่าเป็นคู่ตรงข้ามกับสิ่งที่นักเขียนฝ่ายขวายึดถือ คือ การกระตุ้นให้พวกเขาหันมามองผู้คนที่ถูกทำร้าย ถูกฆาตกรรม โดยที่ผู้กระทำความผิดยังไม่เคยได้รับการโทษในฐานะคนเหมือนกันบ้างเพื่อผลักพวกเขาและเราให้เดินไปสู่ข้างหน้า มิใช่ถอยหลังกลับสู่อดีต

 

- 4 -

[…] โดโรที เธอคงจะเห็นได้แล้วว่า ในประเทศไทยแลนด์อันอำไพด้วยแสงเดือนแสงตะวัน อันชื่นบานด้วยอากาศสดบริสุทธิ์ และความรำเพยพลิ้วของลมเย็น อันระรื่นตาด้วยสีเขียวชอุ่มของต้นข้าวและใบไม้ อันได้รับประกันความอดอยากจากความอุดมสมบูรณ์ของที่ดินนั้น ในอีกด้านหนึ่งคือด้านการปฏิบัติต่อชีวิตของเพื่อนมนุษย์ในประเทศอันผาสุกนั้น เต็มไปด้วยความอัปลักษณ์โสโครกเพียงใด ด้วยอาศัยกลไกการปกครองและการจัดระเบียบสังคมอันเหี้ยมโหด เลือดเย็น และเต็มไปด้วยความอยุติธรรมอันน่าสยดสยองนั้น ชีวิตของคนเกือบทั้งประเทศถูกกดไว้ในความต่ำทรามอันน่าทุเรศ […] [4]

ข้าพเจ้าไม่อาจรู้ได้ว่าหาก 'ศรีบูรพา' ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน ได้เห็นต่อตาว่ารัฐไทยแลนด์อันอำไพนั้นกระทำเช่นไรต่อนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 'ศรีบูรพา' จะรู้สึกคิดเห็นเช่นไรต่อความอัปลักษณ์โสโครก ต่อความเหี้ยมโหด เลือดเย็นของฝั่งฝ่ายที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้จงรักภัคดี (เช่น ตัวแทนอย่างทมยันตี ผู้หนึ่ง) ดังที่ได้บรรยายไว้ในนิยายเรื่อง จนกว่าเราจะพบกันอีก ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในปี 2493 หรือแม้หากมีชีวิตยืนยาวนานมากพอจนได้เห็นเหตุการณ์นองเลือดต่อมา จากการปราบปรามรุนแรงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมในปี 2535 และในปี 2553 หรือความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 'ศรีบูรพา' จะยิ่งรู้สึกมากขึ้นเพียงไรว่ารัฐไทยแลนด์อันอำไพ บ้านเกิดของเราทุกคน ที่เกิดขึ้นมาในฐานะของคนไทย ที่เกิดขึ้นมาโดยไม่อาจเลือกแผ่นดินเกิดได้ กลับเต็มไปด้วยอำมหิตต่อคนในบ้านเกิดตัวเองที่เพียงลุกขึ้นประท้วง ที่เพียงลุกขึ้นส่งเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนอีกไม่น้อย ไม่พอใจก็ไล่ออกไป ไม่พอใจก็ไล่ล่า ไล่ฆ่า

อาจเป็นสิ่งดีแล้วที่ 'ศรีบูรพา' ได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2517 ไม่ได้อยู่มาจนเห็นความต่ำทรามที่นับวันกลับเพิ่มพูนมากขึ้นของสังคมที่ได้ชื่อ-และสร้างภาพ-ว่าเป็นสังคมอันสงบสุข

แต่ไม่ใช่กับข้าพเจ้า และคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน

ไม่ใช่สำหรับคนรุ่นหลังข้าพเจ้าที่จะยังมีชีวิตอยู่ต่อไป

ในสำเหนียกของความเป็นพลเมืองประเทศชาติ และมีหน้าที่ของประชาชนธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งหาเลี้ยงตัวเองด้วยอาชีพการเขียน ข้าพเจ้าอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าเราจะส่งต่อสังคมแบบไหนให้คนรุ่นต่อไป เราจะส่งต่อถ้อยคำในงานเขียนของเราที่จะมียังคงอยู่ แม้เมื่อข้าพเจ้าตายดับไปแล้ว แม้เมื่อหนังสือของข้าพเจ้าจะไปซุกอยู่ในกองขยะ หรือกองหนังสือเก่าในร้านหนังสือที่แทบไม่มีคนสนใจเรื่องการอ่านกันอีกแล้ว

ข้าพเจ้าก็ยังอดตั้งคำถามไม่ได้

เราจะส่งต่อสังคม บ้านเมือง แบบไหนให้คนรุ่นหลัง? แบบที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็อย่างนั้นมาตลอดห้าสิบหกสิบปีอย่างนั้นหรือ?

จะดีแค่ไหน หากไม่ต้องมีแต่ภาพจำแบบเดิมของชาวนาในฐานะกระดูกสันหลังของชาติที่ยากจนอย่างไร ร้อยปีผ่านยังคงยากจนเช่นเดิม

จะดีแค่ไหน หากไม่ต้องก้มกราบให้กับบางคน บางสิ่งที่ไม่มีเหตุผลใดมากไปกว่าเป็นประเพณีสืบทอดกันมา

และจะดีแค่ไหน หากเราสามารถยืนได้อย่างเท่าเทียมเสมอกันในฐานะมนุษย์ร่วมชาติ ร่วมแผ่นดิน ไม่ใช่ให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถือตัวว่าเป็นคนดีกว่าคนอื่นๆ แล้วจะกระทำอย่างไรต่ออีกฝ่ายก็ได้เพียงเพราะได้ชื่อแล้วว่าเป็นคนชาติ รักประเทศ รักสถาบันที่เลื่อนลอย ไม่ยึดโยงกับประชาชน

สำหรับอนาคตของประเทศนี้ ข้าพเจ้าไม่คิดว่าเป็นการขอที่มากเกิน หากคนรุ่นปัจจุบัน และรุ่นต่อๆ ไป จะไม่อยากก้มกราบให้สันหลังแสบไหม้ ไม่อยากให้พ่อแม่ที่เป็นชาวนา ชาวไร่ ต้องถูกแช่แข็งในฐานะกระดูกสันหลังชาติที่พอกระดูกนั้นคดงอเกินกว่าจะตั้งตรงก็กลับเหยียบกระทืบซ้ำไม่ให้แม้แต่โงหัวขึ้นมาได้ เพราะอย่างน้อย ครั้งหนึ่ง ในฐานะราษฎร สันหลังเราเคยตั้งตรงเมื่อ 2475

ปัจจุบัน 2563 ข้าพเจ้าคิดว่าเรามาไกลเกินกว่าจะกลับไปคดงออีกแล้ว

ในฐานะนี้ ฐานะเดียวของความเป็นนักเขียน ข้าพเจ้าจะส่งต่องานเขียนเพื่อผู้คน ซึ่งเสียงของพวกเขาไม่เคยได้รับฟังในประเทศที่เราจำต้องถูกบีบบังคับให้ฟังแต่เสียงอันสูงส่งเสียงเดียวมาตลอดหลายสิบปี



[1] https://soundcloud.com/enra-enratius-akathezia/62519a
[2] “กบฏวรรณกรรม” ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ สนพ.สมมติ
[3] สุรชาติ บำรุงสุข 41 ปี แห่งความเคลื่อนไหว (4) กระแสลมขวาจัดพัดแรง เผยแพร่บนเว็บไซต์ มติชน ออนไลน์ วันที่ 2 พ.ย.2560
[4] นิยาย “จนกว่าเราจะพบกันอีก” ศรีบูรพา สนพ.ดอกหญ้า

============


// สนพ.สมมติขอแนะนำหนังสือประวัติศาสตร์การต่อสู้ของนักศึกษาในยุโรป 

1968 เชิงอรรถการปฏิวัติ คลิกดูรายละเอียดและสั่งซื้อได้ที่รูปภาพ



1968: เชิงอรรถการปฏิวัติ อาจนับเป็นงานเขียนเล่มแรกๆ ในโลกภาษาไทยเกี่ยวกับเหตุการณ์ 'May 1968' หนึ่งในหลักเขตสำคัญของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่สื่อตะวันตกขนานนามว่า 'The Year That Rocked the World'

ท่ามกลางวัฒนธรรมบุปผาชนแห่งทศวรรษ 1960 ปี 1968 เกิดการประท้วงที่สำคัญเกิดขึ้นแทบทั่วทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงสงครามเวียดนาม การประท้วงใหญ่ของนักศึกษาและกรรมกรในฝรั่งเศส และหลายประเทศในยุโรปและลาตินอเมริกา
==============================

สำหรับนักอ่านที่สนใจงานวิชาการทั้งด้านการเมือง รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา

ขอแนะนำชุดหนังสือที่น่าสนใจ

// Set เรียนรู้การเมืองไทย
 //
// Set รื้อ-สร้าง และท้าทายทางความคิด
 //
// Set บทสรุปทางความคิดของนักคิดระดับโลก
 //
// Set เข้าใจการเมือง เข้าถึงประชาชน // 
=====

อย่าลืมใช้ Code ส่วนลด 100 บาท ใช้ได้ทั้ง Website (ชุดหนังสือราคาพิเศษ และ vintage print ไม่ร่วมรายการ)

ใส่ EYEOPEN100 ที่หน้าสรุปรายการสั่งซื้อ กรอกช่อง 'ใส่รหัสคูปอง' (เมื่อสั่งซื้อครบ 1,200 บาท)
==============================

บทความที่คุณน่าจะชอบ

คณะราษฎร 2475 | โหลดฟรี 10 บทความ /
รัฐประหารไทย | รวม 10 บทความสุดเข้ม /
สมบูรณาญาสิทธิราชย์ | โหลดฟรี 10 บทความ / 
ปรัชญาตะวันออก | โหลดฟรี 13 บทความ /
ราชาชาตินิยม | โหลดฟรี 10 บทความ /
20 หนังสือ อ่านเบิกเนตร /
ธงชัย  วินิจจะกูล | อุตสาหกรรมแห่งความจงรักภักดี /
สัญลักษณ์คณะราษฎรที่หายไป...เราจะจดจำไว้ /
ธงชัย  วินิจจะกูล | อำนาจของสาธารณชน จากบทกล่าวตามในหนังสือ 1984 /
/ 10 หนังสือสำหรับคน 'อยู่ไม่เป็น' /

==================

เสื้อยืดแนะนำสำหรับราษฎรทั้งหลาย ราคาเดียวกัน

1. เสื้อศรัทธา




2. เสื้อคณะราษฎร





3. เสื้อยืด 2475  | 
สกรีนลาย 2475 : Democracy Dies [?] 




4. เสื้อยืด The Code 

= = รุ่นนี้มีตำหนิ บางตัวเลขหาย?! = =




5. เสื้อยืดไม่ไว้วางใจ


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้