ทำไมต้องใส่ชุดนักเรียน?

Last updated: 5 ก.ย. 2565  |  12430 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทำไมต้องใส่ชุดนักเรียน?

แต่เดิมชุดนักเรียนและทรงผมไม่ได้มีมาตรฐานกลางในระดับประเทศ โรงเรียนมีอิสระที่จะเลือกชุดนักเรียนและทรงผมแบบใดก็ได้ อันเนื่องมาจากระบบการศึกษายังไม่แพร่หลายและจำกัดกลุ่มอยู่เพียงครอบครัวที่มีความสามารถส่งเรียนต่อหรือมีกำลังทางเศรษฐกิจ

อำนาจการควบคุมและสร้างมาตรฐานเครื่องแบบในโรงเรียนเพิ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมหลังการปฏิวัติสยาม 2475 ที่น่าสังเกตคือ รัฐให้ความสำคัญกับเครื่องแบบลูกเสือก่อนเครื่องแบบนักเรียน เห็นได้จากการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองเครื่องแบบลูกเสือและเจ้าหน้าที่ลูกเสือ พุทธศักราช 2476 ที่ห้ามมิให้ "บังอาจแต่งตัวด้วยเครื่องแบบหรือแต่งตัวเลียนแบบ" เครื่องแบบลูกเสือ

ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังเหตุ 'กบฏบวรเดช' ไม่กี่เดือน ต่อมาอีกสามปีได้มีพระราชบัญญัติเครื่องแบบลูกเสือพุทธศักราช 2479 ออกมาอีก เครื่องแบบลูกเสือมีลักษณะพิเศษคล้ายกับเครื่องแบบทหาร นั่นคือเป็นอาภรณ์ที่จำแนกอัตลักษณ์บุคคลจากสังคม มีการแบ่งจัดประเภทตามชั้นและแยกเหล่า ได้แก่ เหล่าเสนาและเสนาสมุทร ได้กำหนดเครื่องประกอบเครื่องแบบ เครื่องหมายสังกัด เครื่องหมายยศ การกำหนดเครื่องแบบมีตั้งแต่หมวก เสื้อ ผ้าผูกคอสายนกหวีด  กางเกง  เข็มขัด  ถุงเท้า  รองเท้า

แม้ว่าตามหลักสูตรปี 2480 วิชาลูกเสือจะอยู่ในหลักสูตรตั้งแต่ชั้น ป.3 และหลักสูตรปี 2491 เริ่มตั้งแต่ ป.1 แต่ในช่วงที่ระบบการศึกษาแบบมวลชนเพิ่งตั้งไข่ ส่งผลให้การสอนวิชาลูกเสือไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน เช่นเดียวกับเครื่องแบบลูกเสือที่กว่าจะขยายตัวในวงกว้างก็ในทศวรรษ 2500 ไปแล้ว จึงไม่แน่ว่ามีนักเรียนกี่มากน้อยที่แต่งกายตามระเบียบได้จริง ยกเว้นเครื่องแบบลูกเสือสำรองที่ระบุไว้ว่าให้แต่งเครื่องแบบปกติและให้มีเครื่องหมายหน้าเสือประดับอกเบื้องซ้ายที่พอจะเป็นไปได้

กว่าชุดนักเรียนจะอยู่ในกฎหมายและระเบียบที่เป็นหลักฐาน ต้องรอการประกาศใช้ พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2482 และระเบียบกระทรวงธรรมการที่ประกาศใช้ในปีเดียวกัน จะเห็นได้ว่าชุดนักเรียนมีความสำคัญน้อยกว่าชุดลูกเสือ โดยกฎหมายนี้คล้ายกับเครื่องแบบลูกเสือตรงที่หากผู้ใดไม่มีสิทธิแต่งเครื่องแบบ แต่ "บังอาจแต่งเครื่องแบบหรือแต่งเลียนเครื่องแบบ" ถือว่ามีความผิดตามระเบียบ
กระทรวงเช่นเดียวกับเครื่องแบบลูกเสือ ระเบียบได้กำหนดเครื่องแบบแบ่งแยกเป็นโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนราษฎร์ แบ่งแยกเครื่องแบบนักเรียนชายและนักเรียนหญิง โรงเรียนรัฐบาล นักเรียนชายต้องสวมหมวกในฐานะส่วนหนึ่งของเครื่องแบบด้วย
...

ในอีกด้าน ชนชั้นนำสมัยคณะราษฎรได้รับอิทธิพลการพัฒนาประเทศมาจากญี่ปุ่นไม่น้อย ในยุคที่ญี่ปุ่นมีแสนยานุภาพทางการทหาร และสร้างประเทศให้เจริญทัดเทียมตะวันตก

เป็นไปได้ว่าระบบการศึกษาไทยยุคนั้นอาจได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่น ซึ่งรวมทั้งระเบียบการแต่งกาย เห็นได้จากวิชากระบี่กระบองของไทยกับศิลปะประจำชาติญี่ปุ่นอย่างเคนโด้หรือฟันดาบ เมื่อปี 2476 หรือในสองปีต่อมารัฐบาลไทยแสดงความต้องการนำแบบอย่างการศึกษาของญี่ปุ่นมาปรับปรุงระบบการศึกษาไทย ทำให้กระทรวงศึกษาธิการส่งข้าราชการหลายกลุ่มไปดูงาน

นอกจากนี้ พบว่าในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องแบบนักเรียนที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทหารนิยมได้แพร่หลายทั้งในญี่ปุ่นและดินแดนที่ถูกครอบครอง  เช่น  ไต้หวัน

ต่อมา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้อุดมการณ์ทหารนิยมและความนิยมญี่ปุ่นเริ่มเสื่อมลงแต่การให้ความสำคัญกับเครื่องแบบมิได้ลดน้อยลง

ในปี 2492 ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการฉบับใหม่ถูกประกาศใช้ ความเปลี่ยนแปลงของระเบียบนี้สอดคล้องกับการขยายตัวของโรงเรียนและการจัดการศึกษาที่เป็นระบบมากขึ้น และสิ่งสำคัญคือกระบวนทัศน์การศึกษาเชิงปฏิบัติกับอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยมที่กลับมา ส่งผลให้เครื่องแบบเกิดความหมายใหม่ จากที่เคยเป็นสิ่งแสดงอัตลักษณ์และความเป็นอารยะหรืออาภรณ์เพื่อขัดเกลาจิตใจ ได้กลายเป็นการแสดงคุณค่าของสถาบันการศึกษา เกียรติยศของโรงเรียน

ขณะที่โรงเรียนที่สอนโดยชาวต่างชาติถูกควบคุมเข้มงวดเพื่อป้องกันเรื่องความมั่นคง สถานการณ์ช่วงเริ่มต้นสงครามเย็นได้ทำให้โรงเรียนกลายเป็นสมรภูมิสำคัญในการควบคุมความคิดไม่ให้ถูกครอบงำโดยฝ่ายซ้าย ต่างไปจากก่อนหน้านั้นที่โรงเรียนเป็นพื้นที่ผลิตซ้ำอุดมการณ์ประชาธิปไตย

ทั้งนี้ หากโรงเรียนใดแต่งกายเป็นอย่างอื่นต้องได้รับอนุญาตและประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา แสดงให้เห็นความหมกมุ่นในการควบคุมเรือนร่างของรัฐอย่างเห็นได้ชัด 

นอกจากเครื่องหมาย ไม่มีการแบ่งการแต่งกายตามประเภทโรงเรียนว่าเป็นโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเทศบาล โรงเรียนประชาบาล หรือโรงเรียนราษฎร์อีกต่อไป เครื่องแบบนักเรียนชายอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ส่วนนักเรียนหญิงแบ่งเป็น 3 หมวด คือ 1.ประถม 2.มัธยม-อาชีวศึกษาชั้นต้นและกลาง  และ  3.เตรียมอุดม  อาชีวศึกษาชั้นสูงและการเรือนชั้นสูง และรัฐออกระเบียบเครื่องแบบลูกเสืออีกครั้ง โดยแบ่งประเภทตามชั้นลูกเสือสำรอง ลูกเสือสามัญ และ ลูกเสือวิสามัญ

ลูกเสือสำรองเป็นชุดนักเรียนที่ประดับเครื่องหมายโลหะสีทองลายดุนเป็นหน้าเสือประดับกลางหน้าอกเสื้อซ้าย ส่วนลูกเสือสามัญและวิสามัญให้สวมเสื้อสีกากี หมวก ผ้าผูกคอ สอดคล้องกับการปรับวิชาลูกเสือให้ไปเริ่มเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1

ชุดลูกเสืออาจเป็นตัวแทนความหมกมุ่นของเครื่องแบบได้เป็นอย่างดีของทั้งฝ่ายรัฐ  และผู้ที่นิยมชมชอบกิจการลูกเสือ... จากนั้นปี 2498 ได้เพิ่มกางเกงนักเรียนชายให้มีได้ทั้งกางเกงขาสั้นและขายาวถึงข้อเท้า โดยกางเกงขายาวให้ใช้เฉพาะฤดูหนาว

เครื่องแบบจึงเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่แสดงความแตกต่างสำหรับคนที่อยู่ในสังกัดกับผู้ที่ไม่อยู่ในสังกัดนั้น ซึ่งนับได้ทั้งสังกัดโรงเรียน และสังกัดของคณะลูกเสือแห่งชาติที่จำเป็นต้องอิงแอบกับโรงเรียนไปด้วย เครื่องแบบนักเรียนจึงเป็นตัวบ่งบอกสังกัดคล้ายดังเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนที่มีมาตรฐานเดียวกันคือชุดสีกากี ต้องไม่ลืมว่าทศวรรษ 2480 การส่งเสริมให้แต่งกายแบบตะวันตกอันแสดงถึงนัยความมีอารยธรรม การต้องการสร้างความเป็น 'ไทยอารยะ' นั้นเป็นที่ยกย่องเชิดชูกันอย่างกว้างขวาง เครื่องแบบจึงเป็นการกระทำของอำนาจที่เชื่อมต่อกับแนวคิดดังกล่าว ความพยายามสร้างมาตรฐานของเครื่องแบบในยุคนี้ทวีความเข้มขึ้นในทศวรรษต่อไป


-- บางส่วนจาก บทที่ 2 การศึกษารวมศูนย์ของไทยหลังรัฐประหาร 2490 จนถึงรัฐประหาร 2500 (พ.ศ.2490-2500) โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์


ในเล่ม เลาะตะเข็บอำนาจประวัติศาสตร์การศึกษาไทย




คลิกสั่งซื้อในราคาพิเศษ ชุดหนังสือประวัติศาสตร์ที๋โรงเรียนไม่ได้สอน พร้อมให้คุณเบิกเนตรและตาสว่าง



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้