หนังสือ ‘ฮาวทู’ ได้ผลจริง หรือเพียงแค่ 'ยาระงับปวด'

Last updated: 19 มี.ค. 2566  |  6493 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หนังสือ ‘ฮาวทู’ ได้ผลจริง หรือเพียงแค่ 'ยาระงับปวด'

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2521 นิตยสารเพื่อนักอ่านและนักเขียน นาม 'โลกหนังสือ' ภายใต้บรรณาธิการ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 บนแผงหนังสือของประเทศไทย โดยในฉบับขึ้นปีที่ 2 นี้เอง มี 'เรื่องจากปก' ที่น่าสนใจ เพราะเป็นการพูดถึงภาพรวมของ 'เทรนด์' หนังสือขายดีในขณะนั้น ทางกองบรรณาธิการสนพ.สมมติจึงขอหยิบเอามาเล่าใหม่ใน พ.ศ. 2565 นี้

บทความ คัมภีร์เล่มนั้นชื่อ "ปรารถนา" หรือ "ยาระงับปวด" คู่มือสำหรับ พระ เพื่อน คู่รัก กะหรี่ และจิตแพทย์ เริ่มด้วยฉายภาพบรรยากาศของ ‘เทรนด์’ หนังสือในช่วงเวลานั้นที่มักจะขึ้นต้นชื่อเล่มหรือโปรยปกในทำนองว่า ‘เคล็ดลับ’ ‘กลวิธี’ ‘เทคนิค’ กระทั่งไปจนถึงระบุว่าเป็น ‘วิธี’ ซึ่งจะพ่วงต่อท้ายมาด้วยคำอื่นๆ เพื่อให้ดูเร้าใจยิ่งขึ้นเช่น ‘วิธีสร้างกำลังใจ’ ‘วิธีหาเงิน’ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็น ‘หนังสือขายดี’

ในบทความ พาเราไปดูกลไกต่างๆ ของหนังสือ ‘ฮาวทู’ นี่คือข้อสังเกตที่ผ่านมากว่า 4 ทศวรรษ ซึ่งต้องยอมรับว่า ยังคงร่วมสมัย อ่านสนุก และมันส์!!!

 



ก่อนจะมาเป็นหนังสือ ‘ฮาวทู’ หรือ ‘ยาระงับปวด’


ผู้เขียนเล่าว่า หนังสือประเภท ‘ฮาวทู’ มีประเทศอเมริกาเป็นออริจินัล เพราะด้วยสภาพสังคมทุนนิยมของประเทศอเมริกาที่เน้นสังคมแบบฟรีสไตล์ ตัวใครตัวมัน มือใครยาวสาวได้สาวเอา ทำให้ผู้คนใน ‘สังคมชนิดนี้’ เมื่อลืมตาดูโลกก็เท่ากับเหมือนลงสู่สนามแข่งขัน นับตั้งแต่เด็กเล็กเข้าโรงเรียน พ่อแม่ก็จะสอนว่าลูกต้องเก่ง ต้องสอบได้ที่ดีๆ ต้องได้ที่หนึ่ง เมื่อโตขึ้นก็ต้องให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน มีใบปริญญา เด็กในสังคมต้องรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่าชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยากำลัง ชีวิตต้องเดินหน้า ถ้าหากหยุดอยู่กับที่ก็เท่ากับถอยหลัง


คุณสมบัติของหนังสือ ‘ฮาวทู’ หรือ ‘ยาระงับปวด’

หนังสือประเภท ‘ฮาวทู’ ในลักษณะทั่วไป เนื้อหาส่วนใหญ่มักเน้นหนักค่อนไปทางจิตวิทยาของผู้คน อย่างจิตวิทยาประยุกต์ หรือจิตวิทยาในชีวิตประจำวัน! แนะนำและชี้นำให้เกิดกำลังใจ เล่มไหนก็เล่มนั้น บางเล่มมีสูตรสำเร็จสำหรับการฝึกฝน คล้ายกับจะให้ใช้เป็นประทีปส่องทางให้เห็นเส้นชัยรออยู่เบื้องหน้า อีกทั้งยังชวนให้ผู้อ่านเคลิบเคลิ้มคิดไปว่า เมื่ออ่านปุ๊บก็อาจสำเร็จปั๊บในเร็ววัน อุปมาคล้ายกับการไปนิพพานทางลัด!

ในบทความเล่าต่อไปอีกว่า ในเบื้องต้น หนังสือประเภท ‘ฮาวทู’ ให้ความหวังแก่ผู้อ่านหรือผู้เปิดอ่านอย่างน้อยๆ ก็ชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งจะเห็นได้จาก ‘การตั้งชื่อหนังสือ’ เลยทีเดียว เพราะไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบเดี่ยวหรือชุด อย่าง ‘ไขเคล็ดลับ’ หรือ ‘ฝึกกำลังใจ’ คนที่กำลังท้อถอยเบื่อหน่ายอาจจะรู้สึกสดชื่นขึ้นมาบ้างเมื่อเห็นถ้อยคำ ‘ฝึกกำลังใจ’ ข้างต้น โดยได้เสริมต่อไปอีกว่า กรณีคนที่จนหรือคนที่ยังรวยไม่พอ เมื่อเห็นหนังสือเคล็ดลับในการหาเงิน ก็อาจจะวูบวาบซู่ซ่าขึ้นมาบ้าง ไม่เว้นแม้แต่คนที่กำลังผิดหวังอกหัก หากได้เห็นชื่อหนังสือ ‘เทคนิคบรรลุความสำเร็จ’ ก็อาจจะรู้สึก ‘มีความหวัง’ และ ‘เห็นแสงรำไร’

 



คัมภีร์บทต่อมาว่าด้วย การขู่ การปลอบ และการให้สัญญา

ในหัวข้อนี้ ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า การที่หนังสือประเภท ‘ฮาวทู’ ติดตลาดและขายดีเป็นเทน้ำเทท่าได้ก็เพราะมีคุณสมบัติคล้าย ‘ฉลากยา’ ที่ให้สัญญากับผู้อ่านไว้มากมายหลายประการ ทำนองว่าถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้เล่มนั้นแล้ว จะสำเร็จสมประสงค์ในกิจการงานทั้งปวง

ผู้เขียนเล่าต่อไปว่า หนังสือประเภท ‘ฮาวทู’ ส่วนใหญ่มีเนื้อหาจูงใจที่เขียนขึ้นอย่างง่ายๆ เข้าใจง่าย ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องมีความรู้กว้างขวางก็อ่านได้สบายๆ หนังสือเปิดกว้างทุกระดับการศึกษา แฟนหนังสือประเภทนี้จึงมีมาก นับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีสถิติการจำหน่ายที่สูงและมีออกมาไม่ขาดระยะ

โดยรวมในเนื้อหาของหนังสือจะมีบรรยากาศและเหตุการณ์แบบฝรั่งอยู่บ้าง (หมายถึงภาษาต้นทางนั้นๆ) แต่ผู้แปลหรือผู้เรียบเรียงก็มักมีคำอธิบายต่อเติมเสริมแต่งให้เข้าใจง่ายและเป็นกันเอง โดยแทรกตัวอย่างประเภท ‘เกร็ดย่อย’ ของบุรุษหรือสตรีที่มือชื่อเสียง ผู้ที่ครั้งหนึ่งนานมาแล้วเขาเหล่านั้นเคย ‘ล้มเหลว’ แต่ในที่สุดเมื่อได้ปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้จึงพบแต่ความสุข ความเจริญ พบแต่ความสำเร็จปรากฏเรื่อยมา

และยิ่งไม่เกินเลยแต่อย่างใดหากจะบอกว่า ที่หนังสือประเภท ‘ฮาวทู’ ต่างๆ ขายดีก็เห็นจะเป็นเพราะทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเขาได้อะไรเพิ่มขึ้น (ตามที่ผู้เขียนหนังสือนั้นๆ ได้ให้สัญญาไว้) ส่งผลให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกมั่นใจขึ้นมาบ้าง (อย่างชั่วครั้งชั่วคราว) โดยในบทความให้ความเห็นว่า แฟนๆ หนังสือประเภท ‘ฮาวทู’ ที่มักรู้สึกขาดความมั่นใจในตัวเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้วต่อบางสิ่งบางอย่าง เมื่อพบว่าสูตรสำเร็จบางส่วนเกิดไปตรงกับความรู้สึกนึกคิดของตนเข้า เขาจะรู้สึกกระชุ่มกระชวย มั่นคงทางใจ

และเสริมเพิ่มเติมว่า โดยมาก คำแนะนำที่ได้จากหนังสืออันมีลักษณะของสูตรสำเร็จเฉพาะเรื่อง ส่วนมากมักไม่ค่อยตรงต่อความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน และเมื่อถึงตอนนั้น ผู้อ่านอาจรู้สึกได้ว่า หนังสือ ‘ฮาวทู’ ช่วยอะไรเขาไม่ได้เลย และเขาก็จะกลับไปสู่ความอึดอัดขัดข้องอย่างเดิมอีก ซึ่งบทความสรุปทิ้งท้ายต่อกรณีนี้ว่า “มาถึงตรงนี้หนังสือฮาวทูก็ดูจะไม่ต่างอะไรกับ ‘ยาระงับประสาทหรือยาระงับปวด’ ที่บรรเทาความเจ็บปวดได้ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น”

ในบทความได้พูดถึงกรณีของ ‘ตัวอย่าง’ และ การแก้ปัญหาแบบ ‘สูตรสำเร็จ’ ไปจนถึง ‘เทคนิคจูงใจผู้อ่าน’ ไว้ในหลายจุด ซึ่งขอสรุปไว้อย่างกระชับดังนี้

  • หนังสือฮาวทูบางเล่ม มักเสนอแนะการแก้ปัญหาด้วยสามัญสำนึกมากเกินไป
  • หนังสือฮาวทูบางเล่ม มักให้คำแนะนำแบบลัดวงจรหรือข้ามขั้นตอนเกินไป โดยผู้เขียนบทความเสริมว่า ควรเสนอปัญหาเพื่อให้ผู้อ่านคิดหรือสำนึกขึ้นมาก่อนเพื่อหาลู่ทางการแก้ไขด้วยตัวเอง ดีกว่าจะยัดเยียด ‘สูตรสำเร็จ’ แบบลัดวงจรส่งเดช!!
  • หนังสือฮาวทูบางเล่ม มักเน้นเรื่องจิตใจ ในความหมายที่เป็นวิญญาณ ซึ่งมีอำนาจเหนือกาย ด้วยสำคัญว่า ‘เมื่อฝึกใจให้แข็งแล้ว จะสามารถบังคับกายได้’
  • หนังสือฮาวทูบางเล่ม มักยกตัวอย่างบุคคลสำคัญสาขาต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมาให้ผู้อ่านเห็น โดยยกเฉพาะแง่มุมเด่นๆ ซึ่งแต่ละคนที่ยกมานั้นล้วนเป็น ‘ยอดคน’ ทั้งสิ้นในความอดทนและความมานะพยายาม

บทความทิ้งท้ายและให้บทสรุปทำนองว่า นักจิตวิทยาส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า หนังสือประเภท ‘ฮาวทู’ หรือประเภท ‘เคล็ดลับ’ ต่างๆ นั้น เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นสภาพจิตใจบางแง่มุมของผู้คนในยุคสมัยได้ค่อนข้างชัด นั่นคือ ถ้าผู้คนถูกกดขี่ด้วยอะไรก็ตาม ผู้คนก็ย่อมจะต่อสู้โดยทันทีในรูปของการต่อต้านทางหนึ่ง (Aggressive) หรือ ต่อสู้ในทางที่นุ่มกว่าอีกทางหนึ่ง (Passive Aggressive) ในรูปที่ ‘ถอยสู้’ ‘ไม่ใช่ถอยหนี’ ว่าที่จริงแล้วโดยบุคลิกภาพของนักอ่านมักเลือกหนทางที่จะสู้ประการหลังมากกว่า ยิ่งอ่านมาก ก็อาจหมายความว่าจะเตรียมตัวต่อสู้มากขึ้น อย่างน้อยๆ นักอ่านหนังสือทำนองนี้จะรู้สึกว่าเขาได้ฝึกสมองหรือหัด ‘ลับดาบ’ ไว้ให้คม ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่า ถ้าหนังสือทำนองนี้ ‘ขายดี’ มากขึ้น ก็ย่อมแสดงว่า สังคมกำลังแย่ลง หรือคนเจ็บป่วยทางกำลังใจกำลังเพิ่มขึ้นนั่นเอง

. . ,

ทิ้งท้าย
สำหรับหนังสือประเภท ‘เคล็ดลับ’ ในประเทศไทย ว่ากันว่าหนังสือประเภทนี้มีอยู่มาก พิมพ์ต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2481 (อาจมีก่อนหน้านั้น) โดยเฉพาะจากงานของ หลวงวิจิตรวาทการ และของ ไชยวัฒน์ (เจริญ ไชยชนะ) และพิมพ์ซ้ำอีกในช่วงปี พ.ศ. 2493 พร้อมๆ กับชุด ‘วิธี’ ของ Dale Carnegie ที่แปลโดย อาษา ขอจิตต์เมตต์ และชุดของ ม.ล. ฉอ้าน อิศรศักดิ์ ก็เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

หลวงวิจิตรวาทการ มีเรื่อง ‘กำลังความคิด กำลังใจ กุศโลบายสร้างความยิ่งใหญ่’ แปลจากเรื่อง Strategy in Handling People ของ Erwing T. Webb และ John Morgan ส่วนเล่มที่เรียบเรียงหรือเขียนขึ้นแบบไม่บอกที่มาก็มี ‘ทางสู้ชีวิต มหัศจรรย์ทางจิต’ และ ‘มันสมอง’

สำหรับ อาษา ขอจิตต์เมตต์ มีผลงานแปลชุด ‘ฮาวทู’ ของ Dale Carnegie จำนวน 9 เล่ม แต่ละเล่มขายดีต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้งพอๆ กับงานของ หลวงวิจิตรวาทการ โดยเฉพาะเรื่อง ‘วิธีชนะมิตรและจูงใจคน’ ตีพิมพ์ถึง 11 ครั้งในช่วงเวลานั้น

. . ,

สรุปและเรียบเรียงจาก บทความ คัมภีร์เล่มนั้นชื่อ "ปรารถนา" หรือ "ยาระงับปวด" คู่มือสำหรับ พระ เพื่อน คู่รัก กะหรี่ และจิตแพทย์ ในคอลัมน์ เรื่องจากปก โดย กิติกร มีทรัพย์

========================


แนะนำหนังสือที่น่าสนใจ ทั้งประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ปรัชญา ศิลปะ และสถาปัตยกรรม คลิก

สนใจเป็น SET จัดตามหมวดหมู่ให้เลือกสรร คลิก

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้