20 ปี เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง | วรพจน์ พันธุ์พงศ์

Last updated: 12 ก.พ. 2565  |  2282 จำนวนผู้เข้าชม  | 

20 ปี เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง | วรพจน์ พันธุ์พงศ์

เวลายี่สิบปี

ทารกคนหนึ่งเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่, คำพิพากษา-อัตราโทษคดี ‘อากง’ ข้อหาส่ง sms หมิ่น, ยุทธศาสตร์ชาติของคณะรัฐประหารประยุทธ์ ฯลฯ ระยะเวลายี่สิบปีของคุณหมายถึงอะไร?

นี่คือยี่สิบปีของผม...

กุมภาพันธ์ 2002

‘เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง’ ตีพิมพ์ครั้งแรก โดย openbooks ผมอายุ 31 ปีหน่อยๆ แต่ถ้าย้อนดูเดือนปีในช่วงเวลาทำงาน สารคดีคัดสรรที่ถูกรวบรวมไว้ในชุดนี้ส่วนใหญ่ทำในวัย 28 - 29 ปี พูดง่ายๆ ว่าเพิ่งเข้ามาทำงานสื่อสารมวลชนได้ราว 7 - 8 ปี เป็นช่วงที่คำว่า ‘เหนื่อย’ แปลว่าอะไร ไม่รู้จัก วันคืนโลดแล่นอยู่ในสนามแห่งความเมามันส์อย่างแท้จริง

หากมีคำถามว่าทำไม

ข้อแรก, ความสดน่าจะมีส่วนมาก ข้อสอง, ได้ทำงานกับเพื่อน เพื่อนที่มีความคิดฝันคล้ายๆ กัน ข้อสาม, สนาม GM เป็นพื้นที่เวทีที่ดี ทั้งงานสัมภาษณ์และสารคดี นอกจากใครจะดูหมิ่นดูแคลนค่ายนี้ไม่ได้ GM คู่ควรทุกประการกับคำว่า ‘สถาบัน’

นักสัมภาษณ์
เมื่อก่อนถ้าใครพูดคำนี้ออกมา มันฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เรียกว่าเป็นคำที่ยังไม่เข้าปากคน หลังๆ มานี้เริ่มมีสถานะชัดเจน เข้าใจร่วมกัน ผมทำสัมภาษณ์มาตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตนักหนังสือพิมพ์ในปี 1993 ผ่านมาเกือบๆ 30 ปี ถึงวันนี้ก็ยังพูดไม่ได้เต็มปากนักว่าเอาอยู่ สิ่งที่รู้และไม่เขินอาย ผมพร้อมจะลงแรงและเอาเวลาเข้าแลก

ถอดเทป
‘ไม่มีอะไรน่าเบื่อเท่ากับการถอดเทป’ วรรคนี้เป็นความจริง และลวง ตรงคำว่า ‘จริง’ ทุกคนคงเห็นพ้อง ไร้ข้อกังขา แต่ลวงนี่คืออะไร ล้อเล่นหรือเปล่า ผมซีเรียสและไม่ว่างจะล้อเล่น แก่นแกนของกิจกรรมถอดเทปคือการผลิตซ้ำ ฟังแล้วก็ต้องมาฟังอีก แง่หนึ่งมันย่อมน่าเบื่อแน่ๆ แต่ถ้าเนื้อหาหรือเรื่องเล่านั้นคือความสนุกล่ะ ถามต่อ--มีเซ็กซ์คือการผลิตซ้ำหรือเปล่า ทำไมเราอยากทำซ้ำๆ เหนื่อยและหลับ ตื่นมาก็อยากทำอีก หมดวันนี้ไป พรุ่งนี้ก็อยากทำอีก? แท้จริงการทำซ้ำจึงไม่ได้หมายความว่าน่าเบื่อเสมอไป ซ้ำทำให้ลึกขึ้น ซ้ำทำให้เชี่ยวชำนาญ ซ้ำทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ เวลาเกือบครึ่งค่อนของการงานผมคือถอดเทป นอกจากความถูกต้องซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของงานสัมภาษณ์และสารคดี ผมใช้เวลาซ้ำๆ เหล่านี้เพื่อคัดกรอง แยกแยะ ตอกย้ำ ตรงไหนควรทิ้ง ส่วนไหนควรทุบควรขยี้ ฟังมาก เวลาจับจะแม่น ถอดเทปด้วยตัวเอง โอกาสผิดพลาดน้อย เหนืออื่นใด กิจกรรมซ้ำๆ เช่นนี้เองที่อธิบาย priority เสียงในหูที่อยู่กับเรายาวนานบอกเล่าความรัก และในความรัก เราย่อมทะนุถนอม พิถีพิถัน อยากเห็นการงอกงาม เติบโต

the book
หยิบหนังสือ ‘เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง’ ขึ้นมา มันเหมือนเราหมุนนาฬิกากลับไปยี่สิบปีก่อน ผมทำงานอยู่นิตยสาร GM เดินขึ้นเดินลงอาคารพงศ์วราภา (บางวันทำเนียนแอบไปใช้ห้องสมุดหนังสือพิมพ์อาทิตย์ ที่อยู่เยื้องไปฝั่งตรงข้าม) ยี่สิบปีก่อน ผมอยู่บ้านแสงตะวัน นั่งรถเมล์สาย 80 ไปสนามหลวง แล้วต่อสาย 70 มาถนนพิชัย ตอนนี้ทั้งสองแห่งกลายเป็นอดีต กับเพื่อนช่างภาพที่เคยกินดื่ม ถกเถียง เดินทาง ร่วมงานกัน ไม่ว่า ศุภชัย เกศการุณกุล, นิติพัฒน์ สุขสวย และ ยุทธนา อัจฉริยวิญญู ทุกคนแยกย้ายห่างหาย ไม่ได้พบหน้า เช่นเดียวกับ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นาฬิกาเรือนเก่าแสดงวันเวลาเมื่อยี่สิบปีก่อนผ่านหนังสือเล่มนี้ ไม่มีเสียง แต่เปิดอ่านเมื่อไรก็ได้ยิน และมองเห็นภาพที่ไม่ได้ถ่ายบันทึก

ยี่สิบปีเป็นระยะเวลาที่นานพอจะทำให้ทารกคนหนึ่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทำให้กล้าไม้เล็กๆ แพร่พันธุ์เป็นผืนป่า หรืออาจเป็นเวลาที่ปีศาจคอยหลอกหลอนฉีกรื้อจนศักดินาล้าหลังค่อยอ่อนแรงเสื่อมทรุด และสุสานคือสถานีที่อยู่ไม่ไกล ฯลฯ ยี่สิบปีเป็นได้ทุกอย่าง ทั้งรุ่งเรืองและร่วงโรย เงียบหายตายจากหรืออาจบางทีแจ้งเกิดใหม่ กระบวนการยุติธรรมเมืองไทยไม่ยุติธรรมหรอก แต่ผมคิดว่าโลกยุติธรรมพอสมควร อย่างน้อยก็เรื่องหนึ่ง--เวลา เราแข็งขืนดึงดันทำให้ช้า หรือใจร้อนขยับเร่งให้เร็วขึ้นไม่ได้เลย ไม่มีเทพเทวดาหน้าไหนมีอำนาจฝ่าฝืนกฎเกณฑ์นี้ได้ ไม่ว่าฝนตกแดดออก กลางคืนหรือกลางวัน มันเดินของมันไปอย่างนั้น มั่นคง เที่ยงตรง แน่นอน ไม่มีวันหยุด ความหมายของเวลาคือการเคลื่อนไหว ทว่า-มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่หยุดมันได้ ผมคิดว่าสิ่งนั้นคือศิลปะ โดยเฉพาะเพลง ภาพยนตร์ และแน่นอน...  ตัวหนังสือ

บางส่วนจาก คำตาม ในเล่ม เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง ฉบับครบรอบ 20 ปี

==========

สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง ฉบับครบรอบ 20 ปี (ปกแข็ง)
จัดส่งพร้อมกันต้นเดือนมีนาคม 2565

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้