10 เหตุผลที่คุณต้องไม่พลาด 1984

Last updated: 2 มิ.ย. 2565  |  1778 จำนวนผู้เข้าชม  | 

10 เหตุผลที่คุณต้องไม่พลาด 1984

“It was a bright cold day in April, and the clocks were striking thirteen...”

(วันนั้นเป็นวันในเดือนเมษายนที่อากาศหนาวสดใส นาฬิกาตีบอกเวลาสิบสามโมง...)


ประโยคเปิดอันโด่งดังนี้ คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่หลังอ่านจบแล้วรู้ทันทีว่ามาจากเรื่องใด

งานของ จอร์จ ออร์เวลล์ แม้จะมีน้อยชิ้น แต่ก็ยังคงเป็นนักเขียนนิยายที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของยุค (แม้ความจริงออร์เวลล์จะเขียน Non-fiction มาก่อน Fiction ก็ตาม) และหลังจากงานแนวดิสโทเปียอย่าง 'แอนิมอลฟาร์ม' (Animal Farm) และ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984) ออกสู่ตลาด ไม่ต้องสงสัยเลยว่าชื่อของ จอร์จ ออร์เวลล์ จะได้สถิตอยู่บนชาร์ตหนังสือยอดฮิตตลอดกาลอย่างแน่นอน

แล้วทำไมหนังสืออย่าง 1984 ของออร์เวลล์จึงเป็นหนังสือที่ทุกคน 'ต้องอ่าน'?  เราลองมาดูเหตุผลแต่ละข้อกันเลย


1. ชื่อเรื่อง

ดูชื่อเรื่องอย่าง '1984' นี้ แม้เป็นวลีสั้นๆ แต่คนก็จะตั้งคำถามขึ้นในใจแล้วว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร? บางคนกล่าวว่าแต่เดิมออร์เวลล์ตั้งใจให้เรื่อง 1984 มีชื่อว่า 'The Last Man of Europe' ไม่ก็เพราะจะให้เป็นเลขพลิกกลับล้อกับปี 1948 ที่เขาเขียนหนังสือเล่มนี้จบ หรือที่เชื่อกันมากกว่าคือ เป็นการคาดเดาว่าในอนาคตปี 1984 น่าจะเป็นอย่างไร ความมีเสน่ห์ของมันคือ ปริศนาของเลข 4 ตัวนี้จะตีความเป็นอะไรก็ได้ หรือที่ง่ายที่สุด บางทีก็อาจเป็นแค่การตั้งชื่อเพื่อการตลาดชนิดหนึ่ง!


2. เนื้อหาที่มีความเป็นปรัชญา
แม้ 1984 จะมีสำนวนการเขียนที่อ่านเข้าใจง่าย แต่แฝงซ่อนไปด้วยนัยยะที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าภาพเรียบง่ายที่แสดงออก ในเรื่องที่เล่าถึงชีวิตประจำวันล้วนเต็มไปด้วยมุมมองทางการเมืองของออร์เวลล์ เขาเขียนถึงสิ่งที่ 'โลกอาจจะเป็น' ในเงื่อนไขที่ 'ถ้า' ปกครองด้วยระบบเช่นนั้นเช่นนี้ (ไม่ว่าจะในเรื่อง 1984 หรือแอนิมอลฟาร์มก็ตาม) โดยที่ผู้อ่านจะอ่านแค่ในฐานะนิยายดิสโทเปียเรื่องหนึ่งก็ได้ หรือจะมองให้ลึกลงไปแล้วตีความดูว่าออร์เวลล์มีความเชื่ออย่างไรด้วยก็ได้


3. ความเป็นวรรณกรรมดิสโทเปีย
'ดิสโทเปีย' คือเรื่องราวเกี่ยวกับโลกในอนาคตที่ทุกสิ่งเลวร้าย อาจจะด้วยภัยพิบัติ ระบอบการปกครอง หรือการเสื่อมสลายของอะไรบางอย่าง (เทียบกับโลกปัจจุบันที่เป็นอยู่) โดยหนังสือแนวนี้จะเล่าถึง 'ความเป็นไปได้' ที่สิ่งซึ่งเป็นอยู่ (ในวรรณกรรมแนวดิสโทเปีย) จะนำไปสู่การพังทลายทางความเชื่อ สังคม หรือแม้กระทั่งความเป็นมนุษย์ ตราบใดที่สิ่งต่างๆ ยังดำเนินไปในวิถีทางเช่นนั้น

วรรณกรรมอย่าง 1984 ก็ถือเป็นวรรณกรรมดิสโทเปียที่สะท้อนมาจากระบอบที่มีการสอดส่องควบคุมประชาชนอย่างเข้มงวด (แม้จะสามารถอ้างได้ว่าพูดถึงเผด็จการทุกรูปแบบ แต่ในเวลานั้นน่าจะมุ่งเป้าที่ระบอบของฮิตเลอร์และสตาลิน) และวรรณกรรมแนวนี้จะทำให้ผู้อ่านเสมือนหลุดไปสู่โลกอีกใบหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่ใช่โลกที่สวยงามนัก แต่แน่นอนว่ามันก็คือโลกที่น่าสนใจที่จะศึกษาและทำความเข้าใจด้วยเช่นกัน


4. เทคโนโลยีที่ปรากฏในเรื่อง
เทคโนโลยีหลายอย่างอาจดูธรรมดาในยุคนี้ แต่ถ้าลองคิดว่าตอนนั้นเป็นปี 1948!!! (ปีที่ออร์เวลล์เขียนเรื่องนี้จบ) การมีจอโทรทัศน์แบบทันสมัยที่ไลฟ์ปาฐกถาท่านผู้นำสดๆ ได้ทุกเมื่อ มีกล้องวงจรปิดสอดส่องประชาชนทุกคน แล้วไหนจะเครื่องจักรทันสมัยอื่นๆ ที่ช่วยในการทำงาน (และแน่นอน-ควบคุมการทำงานของเราด้วย) กล่าวได้ว่า ความรุ่มรวยทางเทคโนโลยีในงานของออร์เวลล์ ต่อให้จะเป็นคนยุคนี้อ่าน ก็ยังรู้สึกเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวได้


5. การตั้งคำถามถึงความเชื่อมโยงระหว่างอดีตกับความทรงจำ
ผู้นำอย่าง 'พี่เบิ้ม' ต้องการควบคุมทุกอย่าง ไม่ว่าจะอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต และเพื่อการนั้น ผู้นำก็ต้องพยายามควบคุมความทรงจำของคนในประเทศ เพราะถ้าเราไม่มีความทรงจำ เราก็จะไม่รู้อดีต และพี่เบิ้มก็จะเป็นผู้ควบคุมประวัติศาสตร์ได้ เพราะฉะนั้นประเทศ (ในเรื่อง) จึงห้ามไม่ให้มีการจดบันทึก หรือถ้ามีเอกสารและรูปถ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องนำไปทำลายเสีย   เมื่อคนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ก็ไม่รู้ว่าตอนนี้ตัวเองต้องทำอะไร และไม่รู้ว่าในอนาคตควรทำอะไรต่อ เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้นำก็จะกลายเป็นผู้นำอย่างสมบูรณ์ ทุกคนจะเชื่อฟังผู้นำ แต่คำถามคือ เราจะเชื่อถือความทรงจำที่ไม่ใช่ของเราเองได้ยังไง?


6. เรื่องรักในนิยาย
ถึงจะมีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ แต่เรื่องของออร์เวลล์จะไม่ใช่เรื่องรักโรแมนติกแบบนวนิยายอื่นๆ เพราะต่อให้ตัวละครจะรักกัน ตราบใดที่ทุกอย่างอยู่ใต้การปกครองของ “พี่เบิ้ม” ความรักนั้นก็ต้องถูกสอดส่อง และด้วยระบบการสอดส่องนี้เองจึงทำให้เรื่องรักของวินสตัน (ตัวเอก) กลายเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะต่อให้จะมีความสัมพันธ์กัน แต่ท้ายที่สุดความไม่มีอิสระก็บีบให้ตัวละครต้องเคลื่อนไหว ดังนั้นถึงจะมีเรื่องรัก แต่ก็ไม่ใช่แค่เรื่องรักผิวเผิน


7. ทำให้เรารู้จักนวัตกรรม “นิวสปีค” และ “การคิดซ้อน”
“นิวสปีค” หรือการประดิษฐ์คำขึ้นมาเพื่อให้เป็นภาษาแบบใหม่ คือการคัดเลือกให้เหลือแต่คำที่จำเป็น เป็นคำที่ได้รับการรับรองว่าเป็นภาษาทางการ เพื่อจำกัดขอบเขตในการอธิบายเรื่องต่างๆ ของคน   ในขณะเดียวกัน คนที่พูดด้วยภาษาแบบเดิม (โอลด์สปีค) ก็อาจกลายเป็น “อาชญากรทางความคิด” ได้ ดังนั้นการกำหนดว่าต้องพูดแบบใด ห้ามคิดอะไรเกินเลย จึงทำให้เกิดระบบ “คิดซ้อน” ขึ้นมา แต่จริงๆ แล้วการมีสิ่งเหล่านี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า ความคิดคนยังคงเป็นสิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้


8. วินสตันไม่ใช่ตัวเอกที่เลิศลอยจนไม่มีจริง
หนังสือเล่มนี้จะเล่าผ่านมุมมองของวินสตัน สมิธ บอกว่าเขาเกลียดพรรคแค่ไหน และอยากเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนอย่างไร แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ใช่พระเอกที่จะกอบกู้ประเทศให้พ้นจากการปกครองของพี่เบิ้ม ความที่วินสตันไม่ใช่ฮีโร่แบบในภาพยนตร์นี้เองที่ทำให้เขาดูเหมือนมนุษย์ที่มีตัวตนจริงๆ ซึ่งสุดท้ายมนุษย์ก็ต้องหาทางออกจากความยุ่งยากหรือปัญหาในชีวิตในแบบของตัวเอง


9. สัญลักษณ์ในเรื่อง
งานของออร์เวลล์มักมีคำเปรียบโดยการใช้สัญลักษณ์บางอย่าง เช่น ความทรงจำหรืออดีตที่ถูกแทนด้วยของเก่าที่วินสตันชอบไปหาซื้อจากร้านขายของมือสอง หรือแม้แต่การดัดแปลง “ภาษา” หรือ “ข้อเท็จจริง” แบบวันต่อวันก็เป็นสัญลักษณ์ของการควบคุมทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต   แม้กระทั่ง “พี่เบิ้ม” เองก็อาจหมายถึงได้ทั้งคนที่มีตัวตนจริงๆ หรือจะเป็น “ระบบทั้งระบบ” ก็ได้เช่นกัน

 
10. เรื่องนี้จะเปลี่ยนมุมมองที่คุณมีต่อสังคมและโลก
เรื่องนี้เขียนขึ้นในปี 1948 และเผยแพร่ในปี 1949 หรือกว่า 60 ปีที่แล้ว แต่ขณะนั้นก็เป็นนวนิยายที่สะท้อนสภาพที่สังคมเป็นอยู่ และทำท่าจะเกิดขึ้นได้จริงในอนาคต   สิ่งที่สะท้อนให้เห็นไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ คือความเห็นแก่ตัวที่พรากเอาทุกสิ่งไปจากชีวิตผู้คน และแสดงให้เห็นว่าผู้ที่กระหายในอำนาจพร้อมที่จะลบหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอดีตและอนาคตของคนใต้ปกครองได้ทุกเมื่อ   กระนั้นก็ตาม สิ่งที่เราต้องไม่ลืมเป็นอันขาดก็คือจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ เพราะไม่ว่าจะถูกกดทับด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จเพียงใด ไม่ว่า “พี่เบิ้ม” จะควบคุมชีวิตของคนได้แค่ไหน สิ่งที่ระบบเหล่านั้นไม่อาจเอื้อมมือไปถึงได้ก็คือหัวใจที่รักในเสรี มีความหวัง และเชื่อมั่นในมนุษยชาติ


==============================

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์วรรณกรรม The Paperless

==============================

คลิกสั่งซื้อ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่





ไม่ควรพลาดสำหรับนักสะสม! Set หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984) ฉบับครบรอบ 72 ปี | ครบชุดการออกแบบ - 4 ปก


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้