On This Day | ไอแซค ไดนีเสน (Isak Dinesen)

Last updated: 6 ก.ย. 2565  |  923 จำนวนผู้เข้าชม  | 

On This Day | ไอแซค ไดนีเสน (Isak Dinesen)

ไอแซค ไดนีเสน (Isak Dinesen) เกิดวันที่ 17 เมษายน ค.ศ.1885 ที่ Rungsted ประเทศเดนมาร์ก และเสียชีวิตในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ.1962 ที่คฤหาสน์ของครอบครัวในเมือง Rungsted ประเทศเดนมาร์ก 

================

เธอควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ.1959 ปีเดียวกับที่ Graham Greene, John Steinbeck และ Salvatore Quasimodo มีชื่อเสนอชิงรางวัล หนึ่งในคณะกรรมการ Anders Österling เลือกเธอเป็นอันดับแรกที่ควรได้รับรางวัลปีนั้น และหากต้องมอบรางวัลแก่นักเขียนหญิงอายุเจ็ดสิบสี่ปีคนนี้ก็ไม่ควรชักช้าและรีบมอบให้ทันที กรรมการอีกสองท่านเห็นด้วย แต่กรรมการอีกคนกลับเห็นแย้งและคิดว่า Salvatore Quasimodo กวีชาวอิตาเลียนควรได้รับรางวัลโนเบลในปีนั้น โดยให้เหตุผลว่า ‘นักเขียนในแถบสแกนดิเนเวีย’ ได้รางวัลนี้ไปถึงสี่ครั้ง มากกว่าชาติอื่นๆ สุดท้ายรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี ค.ศ.1959 ตกเป็นของ Salvatore Quasimodo

ไอแซค ไดนีเสน (Isak Dinesen) เป็นชื่อที่นักอ่านอเมริกันรู้จักเธอ แท้จริงแล้วเป็นนามปากกาของ คาเรน บลิกเซน (Karen Blixen) ความฝันวัยเด็กของเธอคือจิตรกร แต่เมื่อต้องออกเดินทางไปแอฟริกา ความฝันที่ก็ถูกเก็บไว้ในซอกหลืบ พ่อของเธอ วิลเฮล์ม ไดนีเสน (Wilhelm Dinesen) เป็นนักเขียนที่ชาวเดนมาร์กยกย่อง ส่วนแม่ อินเกบอร์ก เวสเทนโฮลซ์ (Ingeborg Westenholz) มาจากครอบครัวพ่อค้า เธอเป็นลูกสาวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง



งานเลี้ยงของบาเบตต์ (Babette's Feast) เริ่มต้นจากคำท้าทายของเพื่อน โดย Judith Thurman ได้เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือชีวประวัติของไดนีเสน เพื่อนของเธอไม่เชื่อว่าเธอสามารถเขียนเรื่องที่ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Saturday Evening Post ไดนีเสนรับคำท้าแต่ก็ไม่รู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไรให้ถูกใจตลาด เพื่อนแนะนำให้เธอเขียนเรื่องเกี่ยวกับ ‘อาหาร’ เพราะคนอเมริกันหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องอาหารการกิน นี่นับเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่อง งานเลี้ยงของบาเบตต์

นวนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้อ่านสนุกเพลิดเพลิน และเมื่ออ่านในอีกระดับ ก็จะพบกับแง่มุมทางประวัติศาสตร์ยุโรป ความเป็นศิลปินที่แท้ เบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ หรือความเชื่อทางศาสนา นักวิจารณ์และอาจารย์มหาวิยาลัยท่านหนึ่งเปรียบงานเลี้ยงของบาเบตต์ในค่ำคืนนั้นกับเหตุการณ์ ‘The Last Supper’


“จงอย่าหวาดกลัวต่อความไร้เหตุผล
จงอย่าหนีห่างจากจินตนาการอันโลดแล่น
และเมื่ออยู่บนทางสองแพร่ง จงเลือกทางที่ไม่คุ้นเคย ทางที่เสี่ยงอันตราย...
และขอให้คุณมีความองอาจกล้าหาญ” 

--- ไอแซค ไดนีเสน

=====

ค.ศ.1985 มหาวิทยาลัยหลายแห่งในโคเปนเฮเกนเฉลิมฉลอง ‘100 ปีชาตกาลของ คาเรน บลิกเซน’ และในปีเดียวกันนี้ บ้านไร่บริเวณไร่กาแฟของเธอในเคนยาก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ต่อมาในปี ค.ศ.1991 ‘พิพิธภัณฑ์คาเรน บลิกเซน’ ในโคเปนเฮเกนก็เสร็จสมบูรณ์

นี่คือความยิ่งใหญ่ของนักเขียนหญิงคนหนึ่งที่เคยทิ้งการเขียนเพื่อค้นหาชีวิตที่ดีกว่าในแอฟริกา และใช้เวลาอีกสามสิบปีที่เหลือกลับมาทุ่มเทกับงานเขียนอีกครั้งในเดนมาร์กหลังจากที่ผลเขียนชิ้นแรกตีพิมพ์ในช่วงอายุยี่สิบ กล่าวได้ว่าชีวิตช่วงหลังนี้เป็น ‘ห้วงเวลาแห่งการเขียนโดยแท้’

นอกจากนี้ ข้อพิสูจน์ถึงความสำคัญของเธอในระดับประเทศก็คือ การที่รูปของ ‘ไอแซค ไดนีเสน’ หรือ ‘คาเรน บลิกเซน’ อยู่บนธนบัตรราคา 50 โครนเดนมาร์ก รวมถึงดวงตราไปรษณีย์ก็มีรูปของเธอ

เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) กล่าวในวันรับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ.1954 ว่า

“ผมคงมีความสุขมากกว่าที่เป็นอยู่ หากรางวัลที่ผมได้รับนี้จะมอบให้กับนักประพันธ์ที่สวยสง่า ไอแซค ไดนีเสน”


==================


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้