Last updated: 22 ก.ย. 2565 | 1284 จำนวนผู้เข้าชม |
ประวัติศาสตร์โลกแสดงให้เห็นมาแล้วในหลายแห่งหน ถึงเล่ห์กลประการหนึ่งของพวกผู้ปกครองด้วยอำนาจเผด็จการที่พยายามแอบแฝงใช้ลูกเล่นทั้งหลายโดยประสงค์จะสยบความกระด้างกระเดื่องเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในสังคม ผู้เผด็จการมักยึดติดกับแนวคิดแบบเดียวกันว่า ไม่มีหนทางใดยอดเยี่ยมเหนือไปกว่าการกล่อมเกลาให้ผู้คนพลเมืองรู้สึกปลาบปลื้มยินดีหันมาสวามิภักดิ์และยกย่องบูชา ‘ผู้นำ’ ที่ใช้อำนาจเด็ดขาด หรือ ‘ผู้มีบารมี’ อันสูงส่ง โดยยกบุคคลนั้นเทิดไว้ให้อยู่ในสถานะสูงสุดอันมิอาจล่วงละเมิดได้ เฉกเช่นองค์พระเจ้าผู้ทรงมหิทธานุภาพ
‘ดิสโทเปีย’ (Dystopia) เป็นคำศัพท์ทางวรรณกรรมที่ให้นิยามแก่เรื่องราวแขนงย่อยแนวหนึ่งในบรรดาประเภทนวนิยายวิทยาศาสตร์อันหลากหลาย แนวคิดที่บอกเล่าถึงดินแดนหรือเขตปกครองดิสโทเปียน (‘สถานที่อันเลวร้าย’ หรือ ‘โลกที่ไม่พึงประสงค์’) เช่นนี้ สะท้อนสภาพใกล้เคียงกับประสบการณ์บัดซบแห่งชีวิตโดยรวม แบบที่พลเมืองของบางประเทศทั้งในอดีตและปัจจุบันสัมผัสพบเจอตามความเป็นจริงอยู่แทบทุกเมื่อเชื่อวัน
การจัดประเภทของ ‘วรรณกรรมดิสโทเปียน’ (Dystopian Literature) ขึ้นมาเช่นนี้ ในโลกยุคปัจจุบันน่าจะได้กลายเป็นหมวดหมู่งานสร้างสรรค์ทางวรรณศิลป์ที่ได้ปรับเปลี่ยนบริบทความหมายที่ครอบคลุมเสียใหม่ท่ามกลางสภาพบรรยากาศแบบเหนือจริงและวุ่นวายสับสนของหลายประเทศ – ที่ว่า ‘เหนือจริง’ นั้น ตัวอย่างคือการกล่อมเกลาตะล่อมให้ผู้ถูกกดขี่นั่นเอง น้อมรับการสั่งสมบ่มเพาะแล้วแสดงความรักและศรัทธาต่อผู้ที่กดขี่ตน หาไม่จะเป็นความผิดและถูกลงโทษ ซึ่งเป็นสภาพสังคมที่มีอยู่จริงแบบเหลือเชื่อ และที่ว่า ‘วุ่นวายและสับสน’ ตัวอย่างคือมหกรรมการสังหารหมู่โดยเปิดเผยโจ่งแจ้งในที่สาธารณะกลางเมืองหลวงครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่หวั่นเกรงต่อกฎหมายหรือศีลธรรม – ระบอบการเมืองที่กดขี่และเข่นฆ่าพลเมืองของตนอย่างโหดร้ายเช่นนี้ จึงได้ถูกนำมาบอกเล่าเชิงเสียดสีและแสดงออกในทางวรรณศิลป์ถึงความไม่พึงพอใจให้สังคมได้รับรู้มานานหลายทศวรรษแล้ว
สวัสดิกะไนท์ (Swastika Night) ของนักประพันธ์ชาวอังกฤษ แคทธารีน เบอร์เดกิน (Katharine Burdekin) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 1937 คือหนึ่งในบรรดา ‘วรรณกรรมดิสโทเปียน’ ตามแนวคิด ‘จะเกิดอะไรขึ้นหากพวกนาซีเป็นฝ่ายชนะสงคราม’ ซึ่งเขียนขึ้นก่อนที่คนส่วนใหญ่เข้าใจได้กระจ่างถึงเนื้อแท้ของลัทธินาซีแห่งเยอรมนี ว่ามันจะก่อพิษภัยอันร้ายกาจต่อสังคมและความเป็นมนุษย์ได้ขนาดไหน มันแสดงให้เห็นถึงโลกภายใต้อำนาจเผด็จการที่หลอนลวง ความยึดมั่นในลัทธิบุคลาธิษฐานแบบหูหนวกตาบอดต่อความเป็นจริง ภาพที่สร้างขึ้นมาล่อหลอกผู้คนพลเมืองโดยอำนาจรัฐ การบิดเบือนประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นใหม่หรือลบล้างความจริงออกจนหมด และนำเอาปรัชญาอันบิดเบี้ยวของเหล่าผู้ครองอำนาจในส่วนที่เลวร้ายที่สุด เช่นการเชิดชูความรุนแรงและความเหี้ยมโหดมาทำให้เป็นบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม แล้วละเลยอย่างสิ้นเชิงในส่วนที่เป็นแนวทางประชาธิปไตย แสดงภาพของระบบ ‘ชายเป็นใหญ่’ ที่เป็นภัยคุกคามโดยการใช้ความรุนแรงแวดล้อมบีบบังคับผู้หญิงทุกคนและทุกขณะของการดำรงชีวิต ซึ่งถูกลดสถานะลงเหลือเพียงเป็นร่างกายสำหรับสืบต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ และคนส่วนใหญ่ก็หลงเชื่อหรือคล้อยตามอย่างไม่ลืมหูลืมตาโดยสยบสมยอมรวมหมู่ต่อผู้ที่กดขี่พวกตน
การวิพากษ์วิจารณ์สิ่งเหล่านี้ด้วยวรรณศิลป์และสื่อทางสังคมประเภทอื่นเพื่อแยกแยะให้เห็นชัดถึงโครงสร้างของกระบวนทัศน์ที่สนับสนุนอำนาจอธรรมอย่างเป็นระบบ ตัวอย่างเช่นความไม่เสมอภาคในสังคม การเอารัดเอาเปรียบทางชนชั้น การกดขี่ขูดรีดผู้ด้อย การลิดรอนสิทธิของกลุ่มชน และการเหยียดหยันเพศสภาพ อาจส่งผลให้ความคิดในสังคมก้าวหน้าไปได้อย่างดีด้วยวิธีการต่างรูปแบบกัน วรรณกรรมดิสโทเปียนเป็นหนึ่งในบรรดาเครื่องมือเหล่านั้น
ตลอดหลายยุคในอดีตมีการใช้ศิลปะและวรรณกรรมเป็นรูปแบบของการประท้วงคัดค้านและวิพากษ์เชิงสร้างสรรค์แล้วมากมายด้วยหลากหลายวิธีการ เพื่อต่อต้านอำนาจไม่เป็นธรรมและรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ที่มักถูกทำให้ลืมเลือนหรือเขียนขึ้นใหม่โดยผู้ปกครองหรือผู้มีบารมีที่เป็นทรราช เมื่อมีการร่วมกันใคร่ครวญและอภิปรายว่าโลกในปัจจุบันอาจมีลักษณะอย่างไรถ้าหากเหตุการณ์เช่นนั้นหรือเช่นนี้ได้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ หรือเราอาจสามารถจินตนาการถึงอนาคตทางเลือกที่ดีกว่าก็ย่อมเป็นได้ โดยอาศัยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านทางสื่อสร้างสรรค์เหล่านั้น
ความตาสว่างจากสภาพมืดบอดและความรู้เท่าทันต่ออำนาจครอบงำสามารถดลบันดาลให้ผู้คนในสังคมเกิดสำนึกอิสระ และรู้จักคิดย้อนกลับไปวิเคราะห์ประวัติศาสตร์แห่งการหลอนลวงของยุคเดิม รวมไปถึงสถานการณ์ยุคปัจจุบันด้วยวิสัยทัศน์แบบใหม่โดยสิ้นเชิง วรรณกรรมที่แฝงฝังแนวคิดก้าวหน้าอาจหนุนเนื่องให้เกิดสำนึกตระหนักที่ก่อตัวขึ้นได้จากการเรียนรู้โดยการวิเคราะห์ฐานข้อมูลเก่าในความคิดคำนึงของผู้อ่าน ลบล้างอดีตที่ถูกล่อลวงให้หลงนับถือศรัทธา รู้เท่าทันการกำกับควบคุมความคิดของสังคม และยินดีกับเสรีภาพแห่งสติปัญญา เฉกเช่นที่ได้เกิดขึ้นกับตัวละครเอกของ แคทธารีน เบอร์เดกิน ในวรรณกรรม สวัสดิกะไนท์ (Swastika Night) นี้
บางส่วนจาก อารัมภบทของผู้แปล Swastika Night
โดย ไพรัช แสนสวัสดิ์
ตุลาคม 2020
==========
คลิกสั่งซื้อ สวัสดิกะไนท์ (Swastika Night)
วรรณกรรมโลกสมมติลำดับที่ 10
สั่งซื้อยก SET ครบชุดราคาสุดพิเศษ // ชุดวรรณกรรมโลกสมมติ //
11 ม.ค. 2564
26 ธ.ค. 2565
17 ต.ค. 2563