การเมืองของคนเสื้อแดง

Last updated: 26 ก.ย. 2565  |  1163 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การเมืองของคนเสื้อแดง

งานวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจประชาชนในนามเสื้อเหลืองและเสื้อแดง เริ่มน่าสนใจขึ้นจากการเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์มติชนของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งบทความของนิธิต่อมาได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงว่าด้วยชนบทที่เปลี่ยนไปของนักวิชาการไทย และทำให้สังคมเริ่มมาสนใจอีกครั้ง

นิธิเริ่มต้นว่า ชนบทไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากการทำการเกษตรเพื่อยังชีพได้กลายเป็นการผลิตในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ เมื่ออุตสาหกรรมและธุรกิจเอกชนรุกเข้าไปสู่ชนบท โดยเฉพาะลูกหลานที่ได้รับการศึกษา และครอบครัวชนบทมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการค้า เกิดอาชีพใหม่ขึ้นในชนบท

คนเหล่านี้มีเงินเพิ่มขึ้นในการจับจ่ายใช้สอย มีความคิดทางการเมืองที่ต้องการนโยบายสาธารณะซึ่งตอบสนองต่อผลประโยชน์ของตนเอง โดยที่ ‘พรรคไทยรักไทย’ เข้ามาได้จังหวะพอดี เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน ส่งเด็กในแต่ละอำเภอให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น คนชนบทที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเมืองจากการทำมาหากินประกอบอาชีพ รายได้เพิ่มสูงขึ้น ทักษะประสบการณ์ด้านอาชีพ และเริ่มกลายเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเมืองระดับชาตินี้ คือการเลื่อนชั้นทางสังคมของคนระดับล่าง ให้กลายมาเป็น ‘ชนชั้นกลางระดับล่าง’

ด้วยนโยบายเรียกว่า ‘ประชานิยม’ ของ ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ชนชั้นนำไทยและพลังต่อต้านประชาธิปไตยเกิดความวิตกกังวล เพราะจะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่เป็นผลดีกับกลุ่มตน จึงรังเกียจและดูแคลน ประชานิยมถูกทำให้มีฐานะไม่ต่างจาก ‘ทักษิณ’ และ ‘ระบอบทักษิณ’ ชนชั้นนำไทยสร้างระบบการแบ่งแยกการรับรู้ทางการเมืองที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอรัปชั่น มีการซื้อเสียงเพื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจ

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงเสนอสิ่งที่เรียกว่า การเมืองใหม่ กล่าวคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง 70% และให้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน 30% โดยให้เหตุผลว่า เพื่อสร้างหลักประกันให้กับทุกสาขาอาชีพได้เข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการแต่งตั้ง ลดอำนาจนักการเมืองในระบบผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง ข้อเสนอของพันธมิตรแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ต้องการลดอำนาจของประชาชนซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่มีอิทธิพลกำหนดบุคคลที่เข้ามาเป็นนักการเมือง ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. โดยเพิ่มสัดส่วนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในสาขาอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น

และแม้ว่าในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะมุ่งปะทะนักการเมืองในระบอบทักษิณ โดยไม่กล่าวโจมตีไปที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในชนบท แต่ในชุมชน กปปส. เริ่มชัดเจนว่า ต้องการจำกัดสิทธิเลือกตั้งในชนบท ตามแนวทางที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้วางเอาไว้ โดยผู้ขึ้นเวที กปปส. มักจะกล่าวทำนองว่า คนในชนบทเป็นปัญหาของระบอบการเมือง เพราะขาดความรู้ หลองเชื่อนักการเมือง 

แต่แท้จริงแล้ว คนเสื้อแดงคือชาวบ้านที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกทุนนิยม วิถีชีวิตในระบบเศรษฐกิจทำให้ชาวบ้านเหล่านี้ติดต่อสัมพันธ์กับเมือง เดินทางออกมาทำงานนอกหมู่บ้าน ชาวบ้านชนบทในนามเสื้อแดงจึงเป็นชาวบ้านที่ติดต่อกับโลกกว้าง มากกว่าคนเสื้อเหลืองที่มักจะมีฐานะเศรษฐกิจดีกว่าอยู่แล้ว

บางส่วนจาก ชนบทในฐานะพื้นที่ทางการเมือง : ทำความเข้าใจชนบท ผ่านการเมืองของคนเสื้อแดง | บทสำรวจวาทกรรมชนบทและบ้านนอกในความเป็นไทย | สามชาย ศรีสันต์

อ่านฉบับเต็ม คลิก บทสำรวจวาทกรรมชนบทและบ้านนอกในความเป็นไทย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้