Last updated: 18 มี.ค. 2566 | 1648 จำนวนผู้เข้าชม |
สัญชาตญาณของมนุษย์และข้อกำหนดทางสังคมมักเป็นขั้วตรงข้ามกันเสมอ หลายครั้งหลายคราวที่ทั้งสองสิ่งปะทะกันจนสร้างความเสียหายแก่มนุษย์เสียเอง
ในแง่ของงานวรรณกรรม มีหนึ่งในนักเขียนที่บรรยายความปรารถนาอันซับซ้อนซึ่งซ่อนเร้นอยู่เบื้องลึกในจิตใจได้ดีที่สุด นักเขียนคนนั้นคือ ดี.เอช.ลอว์เรนซ์ (D.H. Lawrence) นักเขียนชาวอังกฤษที่มีชีวิตอยู่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
Lady Chatterley's Lover วรรณกรรมโรแมนติคดราม่าเย้ายวนใจระดับมาสเตอร์พีซของลอว์เรนซ์ ว่าด้วยความรักอันละมุนละไมที่ก้าวข้ามกำแพงของ 'ชนชั้น' และ 'การแต่งงาน' เป็นต้นแบบแก่งานวรรณกรรมจำนวนมากในแง่ของการกระทำ 'ทางเพศ' และถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วหลายเวอร์ชั่น
เคยมีคำกล่าวว่า ลอว์เรนซ์คือศาสดาของการปฏิวัติเรื่องเพศในศตวรรษที่ 20 จากการที่เขาได้ปลุกเร้าเหล่าหนุ่มสาวให้หันหลังใส่กรอบคิดอันคร่ำครึ เพื่อก่อร่างสร้างความสัมพันธ์ใหม่ที่ยึดโยงอยู่กับ 'อิสรภาพในการเลือก' และ 'ความรู้สึกของก้นบึ้ง'
งานเขียนของลอว์เรนซ์เผยให้เห็นเรื่องราว 'ทางเพศ' อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความปรารถนาต่อเพศเดียวกัน นอกจากนี้ยังปรากฏการรับรู้เรื่อง 'จุดสุดยอด' ของผู้หญิงไว้มากมาย และเป็นการป่าวประกาศเรื่องที่ผู้คนสมัยนั้นเห็นว่าเป็นพื้นที่อันลึกลับต้องห้าม ลอว์เรนซ์ไม่เพียงยอมรับเพศหญิงอย่างหนักแน่น แต่เขายังหลงใหลในศักยภาพของผู้หญิงอีกด้วย
ผลงานที่เด่นชัดในเรื่องสัญชาตญาณของมนุษย์อีกเรื่องหนึ่งของลอว์เรนซ์ คือ The Virgin and the Gipsy หรือฉบับแปลไทยชื่อว่า เด็กสาวและชายยิปซี ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวโยงกับเรื่องเพศและศีลธรรมในบรรยากาศทางสังคมในอังกฤษขณะนั้น เขาได้ตั้งคำถามต่อผู้อ่านว่า ความรักและชีวิตคืออะไร ชีวิตของหญิงสาวพรหมจรรย์ที่วาดฝันในสิ่งอื่นนอกจากชีวิตอันน่าเบื่อหน่าย จนกระทั่งวันหนึ่งที่โชคชะตาพาให้เธอได้เจอ 'ความรัก'
อีเว็ธ - ตัวละครสาวในเรื่อง ท้าทายอำนาจของพ่อ ที่สุดท้าย พ่อเธอก็แปรความรักเข้ากระดูกดำที่เขามีให้เป็นพายุศีลธรรมอันบ้าคลั่งและนำปีศาจที่ซุกซ่อนออกมา อีเว็ธ คือ 'คนชายขอบ' ที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของสังคม
ตัวละครสำคัญสำคัญในเรื่องทั้งสามคน อีเว็ธ แม่ของอีเว็ธ และชายยิปซี คือคนที่ถูกเหยียดหยามจากพวกหัวสูงทั้งหลาย พวกเขาไม่เพียงถูกจับวางอยู่ในที่ที่มีแต่ความมืดมิด แต่พวกเขายังโดนถ่มน้ำลายรดอีกด้วย ส่วนยิปซีคือกลุ่มคนที่แตกต่างและต้องแยกให้โดดเดี่ยว พวกเขาไม่นับถือคริสต์และไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม
นิยายขนาดสั้นเรื่องนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการรู้จักกับลอว์เรนซ์ หรือผู้ที่ค้นหา 'ความหมายของความรัก' ความขัดแย้งระหว่างความปรารถนาและศาสนาปรากฏชัดในงานเขียนชิ้นนี้ และชัดยิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาที่อีเว็ธและพ่อของเธอ การอบรมเลี้ยงดูตั้งแต่เด็กทำให้สัญชาตญาณ ความรัก ความใคร่ และอารมณ์ทางเพศของเธอถูกปฏิเสธเสมอ
-- บางส่วนจากบทนำในเล่ม
เด็กสาวและชายยิปซี (The Virgin and the Gipsy)
ดี. เอช. ลอว์เรนซ์ (D. H. Lawrence) : เขียน
พันทิพา บูรณมาตร์ : แปล
26 ธ.ค. 2565
17 ต.ค. 2563
11 ม.ค. 2564