Last updated: 19 มี.ค. 2566 | 1338 จำนวนผู้เข้าชม |
ความรู้สึกกังวลใจที่ไม่มี ‘คนดี’ ในอนาคตของสยาม ดูจะเป็นประเด็นปัญหายิ่งใหญ่ตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านทางสังคมและการเมืองในสมัยรัชกาลที่ 7 มาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งประเด็นดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงข้อกังวลใจของชนชั้นนำอนุรักษนิยมเท่านั้น แต่กลายเป็นปัญหาและข้อกังวลใจร่วมของคนในสังคมไทยจำนวนมากต่อการไม่มีคนดีมาปกครองประเทศ
การเมืองศีลธรรมและชุมชนศีลธรรมคือ ชุดของความคิดและความจริงที่ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อในศีลธรรมแบบศาสนา และอำนาจแบบบุญบารมีของกษัตริย์
โดยชุมชนศีลธรรมเปรียบเสมือนโครงสร้างหลักของสังคมและวัฒนธรรมไทย ที่รวมอำนาจ ความเชื่อและอารมณ์ความรู้สึกในอุดมการณ์ทางการเมือง อำนาจเชิงบารมีของสถาบันกษัตริย์และศีลธรรมทางศาสนาไว้ด้วยกัน
การรวมกันดังกล่าวนำไปสู่การก่อตัวของชุมชนศีลธรรมในรูปแบบของนิกาย (cult) อย่างหนึ่ง โดยการสร้างระบบความเชื่อ คุณค่า การรับรู้ และระเบียบทางศีลธรรมร่วมกัน
โดยนิกายแบบชุมชนศีลธรรมได้สร้างความสมดุลกันระหว่างแรงขับทางสังคม การปลูกฝังความเชื่อ ความรู้สึก และความเข้าใจทั่วไปของผู้คนในสังคม และแรงขับความต้องการส่วนบุคคลที่มาจากการปฏิสังสรรค์ของบุคคลที่มีต่อสังคมโลก อันเป็นเหตุผลว่าทำไมชุมชนศีลธรรมจึงกลายมาเป็นลักษณะของระเบียบทางสังคมและการเมืองไทย รวมทั้งอัตลักษณ์วัฒนธรรมไทย
ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและศูนย์กลางของชุมชนศีลธรรมเกิดขึ้นบนฐานความสัมพันธ์เชิงอำนาจในโครงสร้างแบบช่วงชั้นทางสังคม (the hierarchical structure) ความเชื่อและอารมณ์ความรู้สึกร่วมต่อความเป็นชุมชนเดียวกันที่ถูกผูกมัดรวมไว้ด้วยศีลธรรม (ในทางศาสนาและความเชื่อร่วมกัน) และอำนาจนำของสถาบันกษัตริย์
ดังนั้น การเกิดขึ้นของชุมชนศีลธรรมจึงอยู่บนพื้นฐานของอำนาจและศีลธรรม เช่น ความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ ไสยเวท ความศักดิ์สิทธิ์ ผี และความคิดแบบศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและพุทธที่ฝังรวมอยู่ในความเชื่อและอารมณ์ความรู้สึกร่วมกันของคนไทยส่วนใหญ่
ฉะนั้น การเกิดขึ้นของชุมชนศีลธรรมในรัฐและสังคมไทยจึงเป็นสิ่งที่ถูกตอกย้ำปลูกฝังมายาวนาน ตั้งแต่สังคมยุคโบราณของไทยผ่านความเชื่อในอำนาจและศาสนา และบรรทัดฐานของอารมณ์ความรู้สึกร่วมกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรัชสมัยกษัตริย์ภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9: ค.ศ.1927 - 2016) ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญของการสร้างชุมชนศีลธรรมในวัฒนธรรมทางการเมืองไทยและสำนึกการรับรู้ของคนไทยจำนวนมาก ที่กลายมาเป็นแรงขับทางวัฒนธรรมของอารมณ์ที่แรงกล้าของผู้คนในสังคม
...
ชุมชนศีลธรรมไทยเป็นเสมือนชุมชนบารมีและศักดิ์สิทธิ์ (the sacred and charismatic community) ที่มีกษัตริย์อยู่ศูนย์กลางในฐานะบุคคลที่มีบารมีหรือบุญสูงสุด
นอกจากนี้ ศาสนาพุทธยังได้ถูกใช้ในฐานะที่เป็นเครื่องมือของรัฐสำหรับการบูรณาการภาคส่วนต่างๆ ของรัฐทั้งหมดเข้ามาสู่ชุมชนเดียวกันของรัฐสยาม สิ่งนี้ปรากฏเห็นอย่างชัดเจนจากการปฏิรูปคณะสงฆ์และพระในท้องถิ่นที่กำกับโดยสถาบันกษัตริย์
..,
บางส่วนจาก บทนำ ในเล่ม มหาบุรุษแห่งชุมชนศีลธรรม
วัฒนธรรมอำนาจนิยมและอารมณ์เชิงวัฒนธรรมไทย
ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช : เขียน
ยศ สันตสมบัติ และ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น : คำนิยม
สั่งซื้อหนังสือ คลิก
11 ม.ค. 2564
26 ธ.ค. 2565
17 ต.ค. 2563