กำเนิดลูกเสือชาวบ้านและเครือข่ายสายสัมพันธ์ของในหลวง (รัชกาลที่ 9)

Last updated: 21 มี.ค. 2566  |  3155 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กำเนิดลูกเสือชาวบ้านและเครือข่ายสายสัมพันธ์ของในหลวง (รัชกาลที่ 9)

กำเนิดลูกเสือชาวบ้านและเครือข่ายสายสัมพันธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับกลุ่มองค์กรจำนวนหนึ่งในรูปแบบต่างกัน ด้วยการรับองค์กรเหล่านี้มาอยู่ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ และสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในลักษณะที่ต่างกัน กรณีที่น่าสนใจ ได้แก่ ‘ลูกเสือชาวบ้าน’ ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งฝ่ายขวาขณะนั้นเพียงองค์กรเดียวที่ได้รับการจัดตั้งภายในระบบราชการ และมีการรองรับอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานราชการ มีอุดมการณ์และเป้าหมายชัดเจนในการก่อตั้ง โดยได้รับการสนับสนุนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยการรับเป็นองค์กรในพระบรมราชูปถัมภ์ ดังปรากฏว่า กิจกรรมการพระราชทานธงประจำรุ่นของลูกเสือชาวบ้าน ได้กลายเป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สำคัญที่ทรงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอขณะเสด็จพระราชดำเนินเยือนราษฎรในชนบทในยุคการพัฒนาเพื่อความมั่นคง

ลูกเสือชาวบ้าน เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นจากการฝึกอบรมครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2514 ที่หมู่บ้านเหล่ากอหก อ.ด่านซ้าย จ.เลย จากการริเริ่มของ พล.ต.ต.สมควร หริกุล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 4 ค่ายเสนีย์รณยุทธ จ.อุดรธานี และต่อมาได้ขยายพื้นที่ไปสู่เขตรับผิดชอบของ ตชด. เขต 4 ได้แก่ จังหวัดเลย อุดรธานี หนองคาย นครพนม สกลนคร และร้อยเอ็ด (Bowie 1997: 57-59; พุทธพล มงคลวรวรรณ
2546: 188-189)

จุดเริ่มต้นของการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้าน เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2510 สมควร หริกุล ริเริ่มจัดตั้งสมาชิกชาวบ้านในบริเวณแนวชายแดนพื้นที่ภาคอีสานตอนบนโดยให้หมวดตำรวจตระเวนชายแดนเป็นองค์กรกลาง ต่อมาในปี พ.ศ.2512 เมื่อสมควรได้เข้าฝึกอบรมวิชาผู้บังคับบัญชาลูกเสือสามัญชั้นวูดแบดจ์ที่ค่ายลูกเสือจังหวัดสกลนครแล้ว จึงเกิดแนวความคิดในการจัดตั้งลูกเสือนอกกองโดยใช้ประชาชนเป็นกำลังหลัก มาทำการฝึกอบรมตามหลักสูตรของลูกเสือ แต่ปรับปรุงหลักสูตรให้กระชับขึ้นโดยเอาวิธีการและกิจกรรมของลูกเสือมาใช้ โดยการรวมกลุ่ม มีกิจกรรมร่วมกัน และสอดแทรกอุดมการณ์ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพื่อให้สมาชิกผู้รับการฝึกอบรมเป็นมวลชนพื้นฐานในการต่อต้าน และร่วมปฏิบัติการกับเจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ ‘กิจการลูกเสือชาวบ้าน’ ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่เริ่มแรก โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเสด็จพระราชทานธงประจำรุ่นและผ้าพันคอลูกเสือในต่างจังหวัดตั้งแต่ พ.ศ.2516

สายสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับลูกเสือชาวบ้านมีจุดเริ่มต้นจากการที่สมควรได้เชิญ พล.ต.ท.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผบ. ตชด. ให้เดินทางไปเยี่ยมชมการฝึกอบรม ต่อมาเจริญฤทธิ์จึงได้กราบบังคมทูลฯ เชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อให้เสด็จทอดพระเนตรกิจการลูกเสือชาวบ้าน

ต่อมา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ทอดพระเนตรกิจกรรมลูกเสือชาวบ้านที่ค่ายเสนีย์รณยุทธ จ.อุดรธานี ได้พระราชทานเงิน 100,000 บาท เป็นทุนทรัพย์ในการจัดหาผ้าผูกคอลูกเสือชาวบ้าน ห่วงรัดผ้าผูกคอ และหน้าเสือ แล้วทรงรับกิจการลูกเสือชาวบ้านเข้าไว้ใน ‘พระบรมราชูปถัมภ์’ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ทรงมีรับสั่งให้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยตามหนังสือของกรมราชองครักษ์ที่ กท.0204/2477 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2515 ขอให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้สนับสนุนกิจการของลูกเสือชาวบ้าน โดยให้ความร่วมมือกับกองกำกับการ ตชด. โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ไปพระราชทานผ้าพันคอและธงประจำรุ่น พร้อมด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแก่ลูกเสือชาวบ้านด้วยพระองค์เอง  (Bowie  1997: 11)
..,

บางส่วนจาก  โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ :
การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ : เขียน

สั่งซื้อหนังสือ คลิก


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้