Last updated: 3 เม.ย 2566 | 1954 จำนวนผู้เข้าชม |
ประเด็นสำคัญในความขัดแย้งแบบแบ่งแยกในสังคมไทยคือ ความซับซ้อนของการช่วงชิงความหมายทางการเมือง ประชาธิปไตย และความยุติธรรม ระหว่างกลุ่มของผู้คนในสังคมที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวชุมนุมกับเสื้อเหลืองและเสื้อแดง อันเป็นสาเหตุความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงที่ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์ความคิดทางการเมือง
สำหรับกลุ่มคนเสื้อเหลือง การเมืองในความหมายของพวกเขาสื่อถึงการเมืองศีลธรรม (moral politics) ที่ก่อรูปด้วยความเชื่อและอารมณ์ความรู้สึกต่ออำนาจเชิงบารมีของกษัตริย์และศีลธรรมทางศาสนาแบบพรามหมณ์ ฮินดู และพุทธ ที่กลายเป็นอุดมการณ์และความปรารถนาทางการเมืองต่อประชาธิปไตยแบบศีลธรรม (moral democracy) ที่อยู่บนพื้นฐานของแนวคิดเรื่องคนดีและการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ซึ่งได้สะท้อนถึงความคิดและความเชื่อในอุดมการณ์แบบราชาธิปไตย (royal democracy) และราชาชาตินิยม (royal-nationalism) ในวัฒนธรรมทางการเมืองไทย
ฉะนั้น สำหรับคนชนชั้นกลางที่สนับสนุนกลุ่มคนเสื้อเหลือง พวกเขาไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย พวกเขาต้องการประชาธิปไตยที่ปกครองโดยศีลธรรมทางศาสนา
สำหรับคนเสื้อเหลืองอนุรักษนิยม พวกเขาเชื่อว่าประชาธิปไตยไทยควรปกครองโดยคนดีและหลักศีลธรรม เพราะเป็นสิ่งชอบธรรมถูกต้องและนำสังคมสู่ความเป็นปกติด้วยความสงบและสามัคคี ความดีคือสิ่งที่สร้างความชอบธรรมทางการเมือง และเป็นมาตรฐานทางศีลธรรมสำหรับคนไทยทุกคน
ขณะเดียวกัน ประชาธิปไตยแบบศีลธรรมได้สร้างเหตุผลรองรับความชอบธรรมทางการเมืองให้กับอำนาจการปกครองของไทยที่มักอ้างถึงอุดมการณ์แนวคิดแบบการเมืองศีลธรรมและราชาชาตินิยม อันเป็นลักษณะสำคัญของชุมชนศีลธรรมแบบไทยที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและศีลธรรม ชุมชนศีลธรรมนี้ไม่อาจแยกออกได้จากแนวคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์ ชาติ และรัฐ
ประชาธิปไตยศีลธรรมจึงช่วยธำรงไว้ซึ่งประชาธิปไตยราชาชาติ (royal democracy) ที่หมายถึงประชาธิปไตยที่ชี้นำโดยชนชั้นนำและสถาบันกษัตริย์ ในแง่นี้ ประชาธิปไตยราชาชาติจึงไม่ใช่ประชาธิปไตยในแบบแนวคิดของตะวันตก แต่เป็นการปกครองโดยอำนาจศูนย์กลางของรัฐและรองรับความชอบธรรมโดยอำนาจบารมีของสถาบันฯ
ประชาธิปไตยลักษณะนี้จึงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของหลักนิติรัฐ ความเท่าเทียม และความชอบธรรมทางอำนาจที่มาจากฉันทมติของประชาชน
กล่าวได้ว่า ความยุติธรรมมีความหมายถึง ‘ความจริง’ และ ‘ความถูกต้อง’ สอดคล้องกับ ‘ศีลธรรม’ ในหลักคำสอนทางศาสนาพุทธและฮินดู โดยเฉพาะเรื่องกฎแห่งกรรม
สำหรับคนที่เข้าร่วมกลุ่มคนเสื้อเหลือง ถ้าสังคมและคนไทยมีความเป็นธรรมที่หมายถึง ‘ธรรม’ (ความจริง) สอดคล้องกับศีลธรรมก็จะนำสังคมไปสู่ความปกติและความสงบได้
ดังนั้น การเมืองที่ดีคือการเมืองศีลธรรมบนฐานแนวคิดและความเชื่อในอำนาจเชิงบารมีและศีลธรรม ซึ่งประเด็นนี้ได้สะท้อนนัยยะของความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางเก่ากับชนชั้นกลางใหม่และคนชนชั้นรากหญ้าในการต่อสู้เพื่ออำนาจครอบครองทรัพยากรที่มีคุณค่าและทุนในระบบสังคมวัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ
การต่อสู้เชิงอำนาจนี้เกิดขึ้นจากความแตกต่างของภูมิหลังประสบการณ์ทางชนชั้น อารมณ์เชิงวัฒนธรรม การรับรู้ความเป็นจริงทางสังคมการเมือง และความเป็นจริงทางอารมณ์ของผู้สนับสนุนคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง
ด้านกลุ่มชนชั้นรากหญ้าที่เข้าร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดง ‘ประชาธิปไตยกินได้’ แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาทางทุนนิยมและความหวังต่อการมีชีวิตที่ดีขึ้นของชนชั้นกลางใหม่และรากหญ้า ฉะนั้น ความหมายของการเมืองที่พวกเขาพูดถึงคือ การเมืองที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของพวกเขา
ขณะที่ผลของการเรียนรู้ทางการเมืองและการมีประสบการณ์และอารมณ์ความรู้สึกร่วมกันระหว่างผู้ประท้วงคนเสื้อแดง ได้ส่งผลต่อการนิยามความหมายของการเมืองในแบบเสรีประชาธิปไตยบนพื้นฐานของนิติรัฐ ความเท่าเทียม ความยุติธรรม และเสรีภาพ
สำหรับกลุ่มคนเสื้อแดงหัวก้าวหน้า (the progressive red shirts) รัฐบาลและรัฐควรถูกปกครองโดยนิติรัฐและกระทำการที่สอดคล้องกับกฎหมาย อันเป็นเรื่องสำคัญต่อการได้มาซึ่งความยุติธรรม ความเท่าเทียม และความสามัคคีปรองดองในสังคมไทย
ส่วนคนเสื้อแดงหัวก้าวร้าว (the radical red shirts) ก็ปรารถนาการเมืองแบบประชาธิปไตยเสรีโดยการปฏิวัติของประชาชน ในฐานะสิ่งที่เปลี่ยนระเบียบทางสังคมและการเมืองที่ถูกครอบงำโดยชนชั้นสูงและสถาบันกษัตริย์ได้ทั้งหมด
..,
บางส่วนจาก บทที่ 4 ในเล่ม มหาบุรุษแห่งชุมชนศีลธรรม
วัฒนธรรมอำนาจนิยมและอารมณ์เชิงวัฒนธรรมไทย
ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช : เขียน
ยศ สันตสมบัติ และ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น : คำนิยม
สั่งซื้อหนังสือ คลิก