'มโนทัศน์อำนาจนำ' ของ อันโตนิโอ กรัมชี่

Last updated: 21 มี.ค. 2566  |  6150 จำนวนผู้เข้าชม  | 

'มโนทัศน์อำนาจนำ' ของ อันโตนิโอ กรัมชี่

สำหรับแนวทางการศึกษาประเด็นการสถาปนาพระราชอำนาจนำ มีนักทฤษฎีตะวันตกจำนวนหนึ่งพัฒนาแนวทางข้างต้นไว้ คนสำคัญ ได้แก่ อันโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci) นักทฤษฎีและนักปฏิวัติมาร์กซิสต์ชาวอิตาเลียน ผู้ทุ่มเทชีวิตให้กับการปฏิวัติและการพัฒนาทฤษฎีมาร์กซิสม์ในอิตาลีอย่างต่อเนื่อง

กรัมชี่เสนอมโนทัศน์อำนาจนำ (Hegemony) ในฐานะที่เป็นยุทธศาสตร์การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ นักคิดที่ได้พัฒนาแนวทางการวิเคราะห์ต่อเนื่องมาจากกรัมชี่  ได้แก่  ชานทัล  มูฟฟ์ (Chantal  Mouffe)

อันโตนิโอ กรัมชี่ ได้รับอิทธิพลจากนักคิดประวัติศาสตร์นิยมแนวเฮเกวเลียนที่ชื่อ เบเนเดตโต โครเช่ (Benedetto Corce) กล่าวได้ว่ากรัมชี่เป็นมาร์กซิสต์ที่ซึมซับประวัติศาสตร์มากกว่าใครตั้งแต่มาร์กซเป็นต้นมา

กรัมชี่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประวัติศาสตร์นิยม (historicism) เนื่องจากงานของเขาให้ความสำคัญระหว่าง ‘ปัญหาจิตสำนึก’ กับ ‘ปัญหาประวัติศาสตร์’ การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของกรัมชี่เป็นผลมาจากการได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติรัสเซียในปี ค.ศ.1917 (McLellan  1998: 193; กาญจนา  แก้วเทพ  2527: 3)

กรัมชี่เริ่มต้นชีวิตในฐานะนักปฏิวัติด้วยการเข้าร่วมกับพรรคสังคมนิยมอิตาลี (Italian Socialist Party-PSI) ในปี ค.ศ.1913 ต่อมาเขาได้ทำงานกับกรรมกรในเมืองตูรินในขบวนการสภาโรงงาน (Factory Councils Movement) พร้อมกับบรรณาธิการ นสพ. Ordine Nuovo ในปี ค.ศ.1916 ถึง 1919

ภายหลังจากความล้มเหลวของขบวนการสภาโรงงานในปี ค.ศ.1921 ถึง 1926 เขาได้มีส่วนร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอิตาลี (Communist Party of Italy-PCI) (McLellan 1998: 192)

งานเขียนของกรัมชี่พัฒนาขึ้นในช่วงสุดท้ายของชีวิตในขณะที่เขาติดคุกเกือบสิบเอ็ดปี (ค.ศ.1926 - 1937) ด้วยการรวบรวมและทบทวนประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ใน Prison Notebooks กรัมชี่ได้ใช้ทัศนะเชิงปรัชญามายกระดับประสบการณ์รูปธรรมของตนให้กลายเป็นทฤษฎีการเมืองและอุดมการณ์

โดยแนวคิดหลักที่นำเสนอในงานชิ้นนี้ ได้แก่ บทบาทของปัญญาชน มโนทัศน์เรื่องอำนาจนำ และผลจากยุทธศาสตร์ที่แตกต่างในการปฏิวัติของประเทศในแถบตะวันออกและตะวันตก มโนทัศน์เรื่องอำนาจนำเป็นคำตอบไขปัญหาความสามารถของระบบทุนนิยมในการรักษาประชาธิปไตยกระฎุมพีในสังคมตะวันตก (McLellan 1998: 197, 204; กาญจนา แก้วเทพ  2527ข: 3)

มโนทัศน์หลักของกรัมชี่ที่นำมาใช้ในการศึกษาในที่นี้ประกอบด้วย 1.อำนาจนำ (Hegemony) 2.กลุ่มทางประวัติศาสตร์ (Historical Bloc) และบทบาทของปัญญาชน (Intellectuals) และ 3.อุดมการณ์ (Ideology) และปฏิบัติการทางอุดมการณ์ (Ideological  Practice)

แนวคิดของกรัมชี่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการทฤษฎีมาร์กซิสม์อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการวิเคราะห์โครงสร้างส่วนบน (superstructure) กรัมชี่ใช้มโนทัศน์ ‘อำนาจนำ’ หรือ Hegemony เพื่ออธิบายสาเหตุที่มวลชนยังอยู่ในภาวะกดขี่ขูดรีดและไม่ปฏิวัติภายหลังเหตุการณ์ปฏิวัติรัสเซียในปี ค.ศ.1917

กรัมชี่เป็นนักทฤษฎีมาร์กซิสม์คนแรกที่วิเคราะห์อย่างจริงจังต่อกระบวนการที่กระฎุมพีสร้างการครอบงำผ่านการยินยอม (consent) มากกว่าบังคับ (coercion) (McLellan1998: 204)

ขณะที่มูฟฟ์ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแนวคิดข้างต้นต่อเนื่องจากกรัมชี่ เสนอว่าแนวความคิดเรื่องอำนาจนำในมิติ ‘ความเป็นพันธมิตร’ (alliance) และระดับที่สอง การก่อรูปของ ‘ผลประโยชน์แห่งชาติ’ (National  Interest) (Wright  1992: p.5  of  29)

‘อำนาจนำ’ หรือ Hegemony เป็นคำที่กรัมชี่ใช้ครั้งแรกในงานเขียน “Notes on the Southern Question” ในปี ค.ศ.1926 งานเขียนชิ้นนี้ กรัมชี่เน้นย้ำถึงเงื่อนไขทางการเมือง ศีลธรรม และภูมิปัญญา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิวัติ

อำนาจนำในงานชิ้นดังกล่าวถูกนำเสนอภายใต้เงื่อนไขของการสร้าง ‘ระบบสัมพันธมิตรทางชนชั้น’ (Class Alliance System) เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ของชนชั้นกรรมาชีพในการระดมมวลชนเพื่อต่อต้านทุนนิยมและรัฐกระฎุมพี (กาญจนา แก้วเทพ 2527ข: 12; Mouffe  1979: 178)

ต่อมา มโนทัศน์เรื่องอำนาจนำถูกทำให้เด่นชัดขึ้นในงาน Prison Notebooks โดยกรัมชี่นำมาใช้ในความหมายปฏิบัติการของชนชั้นปกครองในการสร้างความยอมรับจากชนชั้นอื่นๆ ในสังคมด้วยการสร้างความร่วมมือกันระหว่างผู้นำทางการเมือง ปัญญาชน และผู้นำทางศีลธรรม (Mouffe 1979: 179)

ทั้งนี้ ปฏิบัติการของการสถาปนาอำนาจนำเริ่มจากการขยาย ‘ผลประโยชน์ของชนชั้น’ (Class Interest) ออกไป และค้นหาผลประโยชน์ภาคสาธารณะ (Public Sectors) แล้วทำให้ความต้องการของชนชั้นของตนกลายเป็นความต้องการของมวลชน

อำนาจนำ หมายถึง การที่คนบางกลุ่มหรือชนชั้นบางชนชั้นสามารถสร้างและรักษาสถานภาพการครอบงำเหนือกลุ่มอื่นๆ ได้ เนื่องจากแสดงตัวว่าเป็นกลุ่มที่มีความสามารถสูงสุดในการตอบสนองผลประโยชน์และความต้องการของชนชั้นหรือกลุ่มทางสังคมอื่นๆ ได้

นอกจากนี้ การสถาปนาอำนาจนำยังเป็นเงื่อนไขของกระบวนการที่ชนชั้นครอบงำไม่ได้ควบคุม แต่ชี้นำมวลชนผ่านผู้นำทางจริยธรรมและภูมิปัญญา (Storey  1993: 119)

บางส่วนจาก บทที่ 1
ในเล่ม โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ : เขียน

สั่งซื้อหนังสือ คลิก

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้