Last updated: 19 มี.ค. 2566 | 3148 จำนวนผู้เข้าชม |
วัฒนธรรมการเมืองของไทยสถาปนามายาคติอย่างน้อย 3 ประการ ที่ยังคงจำเริญงอกงามและได้รับการผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง (ท่ามกลางการท้าทายของคนรุ่นใหม่)
ประการแรก ‘การเมือง’ ไม่ใช่การต่อสู้แย่งชิง แข่งขัน ให้ได้มาซึ่งอำนาจในการบริหารจัดการกิจการสาธารณะและการจัดสรรทรัพยากร แต่การเมืองเป็นเรื่องศีลธรรม (ล้วนๆ)
ประการที่สอง อำนาจคือธรรม สังคมไทยปิดบังกลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นภายใต้ทฤษฎีมหาบุรุษ ราชาชาตินิยม ความเป็นไทย ความสามัคคี (เพื่อความอยู่รอดของส่วนรวม) บนการยอมรับความไม่เท่าเทียม รู้จักที่ต่ำที่สูง รู้จักสถานะของตน รวมไปถึงการตีความทางพุทธศาสนาในเรื่องบุญกรรมและอำนาจ ซึ่งทั้งหมดนี้กลายเป็นพื้นฐานของระบบอุปถัมภ์ ที่ยังคงได้รับการผลิตซ้ำจนถึงปัจจุบัน แนวคิดเรื่องบุญกรรม นำไปสู่การเมืองเรื่องการกีดกัน (politics of exclusion) กีดกันสิทธิไม่ให้ชนชั้นล่างมีอำนาจตีตนเสมอ (ชนชั้นสูงกว่า)
ชนชั้นนำและชนชั้นกลางได้รับประโยชน์จากระบบอุปถัมภ์และการใช้เส้นสาย มากกว่าระบอบประชาธิปไตยและแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ คนเหล่านี้ไม่ยอมรับหลักการประชาธิปไตย เพราะส่วนลึกแล้ว สันดาน (habitus) ของชนเหล่านี้สอดคล้องรองรับระบบอุปถัมภ์มากกว่า การสมาทาน/ยึดติดอยู่กับทฤษฎีมหาบุรุษและชาตินิยม จึงเป็นผลผลิตของทั้งโครงสร้างของจิตใจ (mental structure) กับ โครงสร้างทางการเมือง (political structure) ที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ทางชนชั้น ยิ่งไปกว่านั้น วัฒนธรรมการเมืองไทยยังให้ความสำคัญกับระบอบอัศวินขี่ม้าขาวหรือตัวบุคคล (Personal rule) มากกว่าการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการเมือง
มายาคติประการที่สาม คือ การมองพัฒนาการทางการเมืองเป็นเส้นตรงเพียงอย่างเดียว วิธีคิดแบบเส้นตรง (unilinear) ทำให้เราเข้าใจพัฒนาการทางการเมืองคลาดเคลื่อนจากบริบทความจริงได้ง่าย โดยเนื้อแท้ความจริงแล้ว บ่อยครั้งที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยเป็นการแกว่งไปมาระหว่างขั้วการเมืองที่ขัดแย้งกันสองขั้ว นั่นคือระหว่าง ‘เผด็จการทหาร’ กับ ‘ระบอบเลือกตั้ง’ การแกว่งมักเกิดขึ้นทุก 15 ถึง 20 ปี (รอบของรัฐประหาร)
ด้วยเหตุนี้เอง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยจึงมิได้หมายถึงเฉพาะการสร้างสถาบันหรือองค์กรใหม่ๆ และปฏิรูปปรับเปลี่ยนสถาบันหรือองค์กรเก่าที่ล้าสมัยเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการทางวัฒนธรรมที่พัฒนาขึ้นในประวัติศาสตร์ของชุมชนการเมืองทุกหนแห่ง การไม่สนใจมิติทางวัฒนธรรมทำให้เราไม่เข้าใจวิกฤติเชิงความหมายในระบบการเมืองไทย
..,
บางส่วนจาก คำนิยม โดย ยศ สันตสมบัติ
ในเล่ม มหาบุรุษแห่งชุมชนศีลธรรม
วัฒนธรรมอำนาจนิยมและอารมณ์เชิงวัฒนธรรมไทย
ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช : เขียน
สั่งซื้อหนังสือ คลิก
14 เม.ย 2564
14 เม.ย 2564