ทำไมชนชั้นกลางเกลียดทักษิณ

Last updated: 3 เม.ย 2566  |  2275 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทำไมชนชั้นกลางเกลียดทักษิณ

ชนชั้นกลางส่วนใหญ่เกลียดทักษิณเพราะการกระทำของทักษิณล่วงล้ำมาตรฐานเชิงศีลธรรมและระเบียบของชุมชนศีลธรรม อีกทั้งคุกคามผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ

สำคัญอย่างยิ่งคือ ทักษิณละเมิดศีลธรรมสูงสุดและพยายามแทนที่อำนาจเชิงบารมีของกษัตริย์ด้วยอำนาจที่ไม่ชอบธรรมในสามัญสำนึกเชิงประสบการณ์และการรับรู้ของพวกเขา นั่นคือชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งมองว่าทักษิณเป็นผู้ไม่มีบุญ คือปราศจากความดีหรือบุญบารมีที่สั่งสมมา

เมื่อเปรียบเทียบกับกษัตริย์ ทักษิณจึงถูกมองว่าไม่มีความชอบธรรมทางการเมือง และกลายมาเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันกษัตริย์และชาติ ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนการฝังตรึงของชุมชนศีลธรรมในระเบียบการเมืองไทยที่ความชอบธรรมทางอำนาจการเมืองอยู่บนพื้นฐานของอำนาจเชิงบารมีของกษัตริย์ในการเมืองวัฒนธรรมไทย

ขณะที่อารมณ์ความรู้สึกเกลียดและรังเกียจถูกสร้างโดยอคติเชิงชนชั้นภายใต้โครงสร้างทางศีลธรรมแบบช่วงชั้นของไทย (the moral hierarchy structure) หลังจากที่พวกเขารับรู้และรู้สึกว่าตนเองเป็นคนชนชั้นกลางที่มีความรู้และศีลธรรมสูงส่งกว่าคนชนชั้นล่าง

ประเด็นนี้ได้นำไปสู่การแบ่งแยกระหว่างชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง และการแบ่งระหว่างกลุ่มคนในเมืองกับชนบท ชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งจึงต้องการประชาธิปไตยเชิงศีลธรรม ซึ่งอยู่บนพื้นฐานศีลธรรมในแบบศาสนาพุทธและอำนาจเชิงบารมี (charismatic power) ในบุญและความดีที่กษัตริย์เป็นเสมือนบุคลาธิษฐานของความดีสูงสุดและมาตรฐานของความถูกต้องมากกว่าประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง

กล่าวได้ว่า ชนชั้นกลางไม่ได้ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตย แต่พวกเขาต้องการประชาธิปไตยแบบศีลธรรมที่ความชอบธรรมทางอำนาจการเมืองมาจากความดีและสนับสนุนโดยอำนาจเชิงบารมีของกษัตริย์

เมื่อระเบียบการเมืองไทยที่มีกษัตริย์เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความเป็นศูนย์กลางถูกท้าทายจากคนหลายกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่สนับสนุนขบวนการประท้วงคนเสื้อแดง จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงการรับรู้และอุดมการณ์ของความชอบธรรมแบบราชอำนาจ (the legitimacy of royal power) ที่ไม่ได้เป็นสิ่งสากลของคนทั้งประเทศ

เพราะความชอบธรรมทางอำนาจดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อเรื่องบารมี (charisma) ที่เชื่อมโยงกับความเชื่อในศาสนา อำนาจเหนือธรรมชาติ และความรู้สึกแบบชาตินิยม ซึ่งกลายมาเป็นอารมณ์ทางวัฒนธรรม (cultural emotions) ที่เป็นแรงขับในจิตใจของคนไทยหลายคน เช่น การมองและเชื่อว่ากษัตริย์เป็นเสมือนที่เคารพสักการะสูงสุด และเป็นที่รักด้วยบารมี (ความดี/บุญ)

ประกอบกับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา ภาพลักษณ์และการกระทำของกษัตริย์ถูกนำเสนอและผลิตซ้ำมาโดยตลอด ผ่านสื่อโครงการพระราชดำริและวาทกรรมทางการเมืองของรัฐ

กล่าวได้ว่า กษัตริย์ถูกยกสถานะเป็นประมุขของประเทศและสัญลักษณ์ของความเป็นชาติและจิตวิญญาณของประชาชน คนไทยรับรู้กษัตริย์ในฐานะที่เป็นผู้อุทิศตนแก่ประเทศชาติและประชาชนด้วยความชอบธรรม ทรงมีเมตตากรุณา และเป็นผู้ปกป้องสังคมไทย ซึ่งกลายเป็นการรับรู้ความจริงทางสังคม การเมือง และความจริงของความรู้สึกผูกพันระหว่างประชาชนกับกษัตริย์

รวมถึงสิ่งสำคัญยิ่งคือ ความเชื่อข้างต้นถูกสร้างให้เป็น ‘ระเบียบทางสังคมและการเมืองไทย’ ที่ช่วยดำรงรักษาความมั่นคงของสถาบันเชิงจารีตและสถาบันกษัตริย์

..,

บางส่วนจาก บทที่ 2 ในเล่ม มหาบุรุษแห่งชุมชนศีลธรรม
วัฒนธรรมอำนาจนิยมและอารมณ์เชิงวัฒนธรรมไทย

ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช
: เขียน
ยศ สันตสมบัติ
และ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น : คำนิยม

สั่งซื้อหนังสือ คลิก

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้