บันได 3 ขั้นสู่ 'ความไม่เท่าเทียม' ของรุสโซ

Last updated: 4 ต.ค. 2566  |  527 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บันได 3 ขั้นสู่ 'ความไม่เท่าเทียม' ของรุสโซ

ในวันที่มนุษย์เลือกจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน รุสโซกล่าวว่า เมื่อสังคมถือกำเนิดขึ้น สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ก็คือคนในสังคมจะเริ่มมีความคิดเรื่อง ‘ความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ’ เป็นต้นว่า บริเวณนี้คือที่ดินของฉัน และวิธีคิดแบบถือครองกรรมสิทธิ์ (la propriété) นี้เองที่เป็นจุดกำเนิดความฉ้อฉลและความไม่เท่าเทียมในสังคมมนุษย์

รุสโซกล่าวถึงบันไดสามขั้นสู่ความไม่เท่าเทียม (les trois étapes de l’inégalité)

ขั้นแรก เมื่อมนุษย์เริ่มถือครองกรรมสิทธิ์ ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่คนกลุ่มหนึ่งจะมีทรัพย์สินมากกว่าอีกกลุ่ม เกิดเป็นคนมั่งมีและคนยากจนขึ้น ถือเป็นความไม่เท่าเทียมเบื้องต้น และพวกมั่งมีก็ย่อมหาทางปกป้องทรัพย์สินของตน ซึ่งไม่มีวิธีการใดจะดีไปกว่าการออกกฎหมาย เป็นต้นว่าออกกฎหมายห้ามลักทรัพย์ ซึ่งแง่หนึ่งก็เท่ากับเป็นการรับรองให้คนคนหนึ่งประกาศเป็นเจ้าของสิ่งหนึ่งโดยชอบธรรม ผู้ใดไปยุ่มย่ามแย่งชิงถือว่าละเมิดกฎหมาย ทั้งนี้ การมีกฎหมายคุ้มครองการถือกรรมสิทธิ์นั้นนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมขั้นต่อมา

ขั้นสอง สังคมต้องคัดสรรกลุ่มบุคคลที่จะมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายนั้น กลายเป็นว่าบุคคลคณะดังกล่าวมีสถานะสูงกว่าผู้อื่น ความไม่เท่าเทียมในสังคมจึงเพิ่มระดับขึ้น จากเดิมที่เป็นเพียงการมีทรัพย์สินไม่เท่ากัน บัดนี้ผู้คนยังมีสถานะไม่เท่าเทียมกันอีกด้วย ซึ่งก็คือเกิดความไม่เท่าเทียมจาก ‘การจัดลำดับความสูงต่ำทางสังคม’ (l’inégalité de la hierarchie sociale) นั่นเอง และแทนที่กลุ่มผู้ปกครองผู้บังคับใช้กฎหมายจะใช้อำนาจไปอย่างชอบธรรมและหมุนเวียนอำนาจให้ผู้อื่นได้ถือครองบ้าง แต่กลับใช้อำนาจนั้นตามแต่ใจและหวงอำนาจให้อยู่เพียงแต่ในครอบครัวของตน

‘ความไม่เท่าเทียม’ จึงพัฒนามาถึงขั้นสุดท้าย ในวันที่ผู้มีอำนาจใช้วิธีสืบอำนาจทางสายเลือด กลายเป็นเผด็จการผู้ถือครองอำนาจฝ่ายเดียว

สังคมเป็นต้นเหตุทำให้มนุษย์ฉ้อฉล ทุกสิ่งที่เป็นผลผลิตของสังคมล้วนมีส่วนทำลายความดีดั้งเดิมของมนุษย์ ศิลปะก็มิใช่ข้อยกเว้น ในข้อเขียนเรื่อง จดหมายถึงดาลองแบร์ว่าด้วยการแสดงมหรสพ (Lettres à d’Alembert sur les spectacles) รุสโซแสดงความชิงชังต่อศิลปการละคร ซึ่งคนฝรั่งเศสตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เรื่อยมายกย่องให้เป็นศิลปะชั้นสูงที่สุด

รุสโซไม่เชื่อว่าละครจะช่วยยกระดับจิตใจและศีลธรรมของผู้ชมให้ดีขึ้นได้ สุนทรียศาสตร์แบบคลาสสิกอวดอ้างว่าละครโศกนาฏกรรมจะทำให้คนดูเข้าถึงภาวะ catharsis หรือ ‘การปลดปล่อยชำระอารมณ์’ รุสโซกลับเห็นว่าในละครประเภทนั้นมีแต่ตัวละครที่ถูกอารมณ์ตัณหาอันไร้ศีลธรรมเข้าครอบงำ หากผู้ชมเกิดความหลงใหลตัวละครขนาดคิดไปขณะชมละครว่าตนเป็นตัวละครนั้น รู้สึกอย่างเดียวกับตัวละครก็เท่ากับว่าผู้ชมกำลังตกเป็นเหยื่อให้ความชั่วร้ายเย้ายวนเชิญชวนให้กระทำสิ่งไร้ศีลธรรมเช่นเดียวกับตัวละคร

..,

บางส่วนจากบท 'ความคิดฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่ 18'

ในเล่ม แสงสว่าง ปัญญา และการลงทัณฑ์
ประวัติความคิดฝรั่งเศส จากศตวรรษแห่งเสรีภาพสู่การล่มสลายของมนุษยนิยม
(l’Histoire de la pensée française)

พิริยะดิศ มานิตย์ : เขียน
ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล : บรรณาธิการสำนักพิมพ์
สิทธิวัฒน์ เรืองพงศธร : บรรณาธิการเล่ม
DESIGN | ● สมมติ STUDIO ● | จิรวัฒน์ รอดอิ่ม

พิมพ์ครั้งที่สอง ตุลาคม 2566
[ ปรับปรุงจากฉบับพิมพ์ครั้งแรก ในชื่อ 'ประวัติความคิดฝรั่งเศส']
ความหนา : 352 หน้า
ราคาปก : 380 บาท
ISBN : 978-616-562-053-6

สั่งซื้อหนังสือ คลิก




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้