อะไรคือสภาพทางสังคม 5 ขั้นของ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx)

Last updated: 4 ต.ค. 2566  |  3516 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อะไรคือสภาพทางสังคม 5 ขั้นของ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx)

อะไรคือสภาพทางสังคม 5 ขั้นของ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx)

ชุมชนบุพกาล • สังคมทาส • ระบอบศักดินา • ระบอบทุนนิยม • ยุคสังคมนิยม


คาร์ล มาร์กซ์ ปราชญ์เอกเยอรมัน เป็นตัวอย่างสำคัญของผู้ที่พยายามอธิบายประวัติศาสตร์มนุษยชาติตามแนวของปรัชญาประวัติศาสตร์ มาร์กซ์เสนอทฤษฎีที่เรียกว่า วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (le matérialisme historique) โดยเชื่อว่าในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ไม่ว่าจะเชื้อชาติใดนั้นจะต้องผ่านสภาพทางสังคมทั้งหมด 5 ขั้น

ขั้นแรก
สังคมมนุษย์นั้นเรียกได้ว่าเป็น ‘ชุมชนบุพกาล’ (la communauté primitive) ผู้คนเท่าเทียมกัน ไม่มีชนชั้นทางสังคม และคนในสังคมนั้นอยู่กันตามธรรมชาติโดยมีกรรมสิทธิ์ในธรรมชาติร่วมกัน

ขั้นที่สอง
สังคมมนุษย์พัฒนากลายมาเป็น ‘สังคมทาส’ (la société esclavagiste) เริ่มมีชนชั้นทางสังคม คือมีเสรีชน (l’homme libre) ซึ่งเป็นชนชั้นนายทาสฝ่ายหนึ่ง และมีชนชั้นทาส (l’esclave) อีกฝ่ายหนึ่ง ในขั้นนี้สังคมมีความก้าวหน้ามากกว่าชุมชนบุพกาล เพราะมนุษย์พวกหนึ่งเริ่มรู้จักการใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นเครื่องมือในการผลิต ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปโดยที่คนในสังคมไม่ต้องลงแรงทำงานกันทุกคน แต่มีทาสเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุด

ขั้นที่สาม
สังคมทาสพัฒนากลายเป็น ‘ระบอบศักดินา’ (le régime féodal) ปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดเปลี่ยนจากทาสมาเป็นที่ดิน (le fief) ชนชั้นขูดรีดเปลี่ยนจากนายทาสมาเป็นเจ้าศักดินาที่ดิน (le suzerain) และชนชั้นที่ถูกขูดรีดก็เปลี่ยนจากทาสมาเป็นเลกหรือไพร่ (le vassal) ซึ่งเป็นคนงานที่ทำงานในที่ดินของเจ้าศักดินา ในขั้นสังคมศักดินานี้ได้เกิดความก้าวหน้าขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขูดรีดกับผู้ถูกขูดรีดเป็นความสัมพันธ์แบบตอบแทนซึ่งกันและกัน (un service réciproque) ไพร่ไม่ได้ทำงานให้เจ้าศักดินาแบบกินเปล่าอย่างที่ทาสทำให้นายทาส แต่ว่าได้รับผลตอบแทนซึ่งอาจเป็นส่วนแบ่งจากผลผลิตหรือได้ความคุ้มครองจากเจ้าศักดินา

ขั้นที่สี่
ระบอบศักดินาจะพัฒนากลายเป็น ‘ระบอบทุนนิยม’ (le régime capitaliste) ในขั้นนี้ปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดได้แก่ทุน (le capital) ชนชั้นผู้กดขี่เปลี่ยนจากเจ้าที่ดินมาเป็นชนชั้นกลาง (le bourgeois) ผู้เป็นนายทุน และได้เกิดชนชั้นผู้ถูกกดขี่ขึ้นใหม่คือชนชั้นกรรมาชีพหรือชนชั้นแรงงาน (le prolétariat) ในขั้นนี้ทุกคนในสังคมมีสิทธิ์ครอบครองทรัพย์สินส่วนบุคคล ซึ่งการถือกรรมสิทธิ์แบบเอกชน (la propriété privée) นับเป็นความก้าวหน้าของสังคมทุนนิยม และเมื่อสังคมมนุษย์เจริญก้าวหน้าสูงสุด ระบอบทุนนิยมก็จะเสื่อมสลายลง

พัฒนาการขั้นสุดท้าย
จะนำมนุษยชาติเข้าสู่ยุคสังคมนิยม (la période socialiste) อันเป็นยุคที่ไม่มีชนชั้นทางสังคมอีกต่อไป เป็นสังคมเศรษฐกิจระบบสหการ (la propriété collective) หรือร่วมกันทำแบ่งกันกินเช่นเดียวกับยุคชุมชนบุพกาล แต่โดยวิธีการที่หลากหลายและมีคุณภาพที่สูงกว่า

จะเห็นได้ว่า ‘วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของมาร์กซ์’ เป็นปรัชญาประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง กล่าวคือ เป็นระบบทฤษฎีที่อธิบายประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ตลอดจนคาดการณ์ไปถึงสภาพสังคมในอนาคต ปรัชญาประวัติศาสตร์เชื่อว่า ‘ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ’ มีทิศทางที่ชัดเจนและต้องก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ โดยมาร์กซ์ก็ชี้ว่าสังคมมนุษย์ไม่ได้ดำเนินไปอย่างไร้ทิศทาง แต่ต้องพัฒนาจากชุมชนบุพกาลมาจนถึงยุคสังคมนิยมเท่านั้น จะเป็นอื่นมิได้ 

..,

บางส่วนจากบท 'ความคิดฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่ 19'

ในเล่ม แสงสว่าง ปัญญา และการลงทัณฑ์
ประวัติความคิดฝรั่งเศส จากศตวรรษแห่งเสรีภาพสู่การล่มสลายของมนุษยนิยม
(l’Histoire de la pensée française)

พิริยะดิศ มานิตย์ : เขียน
ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล : บรรณาธิการสำนักพิมพ์
สิทธิวัฒน์ เรืองพงศธร : บรรณาธิการเล่ม
DESIGN | ● สมมติ STUDIO ● | จิรวัฒน์ รอดอิ่ม

พิมพ์ครั้งที่สอง ตุลาคม 2566
[ ปรับปรุงจากฉบับพิมพ์ครั้งแรก ในชื่อ 'ประวัติความคิดฝรั่งเศส']
ความหนา : 352 หน้า
ราคาปก : 380 บาท
ISBN : 978-616-562-053-6

สั่งซื้อหนังสือ คลิก




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้