ปัญหาในการวิจารณ์วรรณกรรม | ควันหลงจากจัตุรัสความคิด กับกลุ่มวรรณกรรมพินิจ

Last updated: 12 พ.ย. 2566  |  880 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปัญหาในการวิจารณ์วรรณกรรม | ควันหลงจากจัตุรัสความคิด กับกลุ่มวรรณกรรมพินิจ

ควันหลงจาก ’จัตุรัสความคิด’ กับกลุ่มวรรณกรรมพินิจควันหลงจาก ’จัตุรัสความคิด’ กับกลุ่มวรรณกรรมพินิจโลกหนังสือ ปีที่ 4 ฉบับที่ 3 ธันวาคม 2523

จากการคุยกับกลุ่มวรรณกรรมพินิจในโลกหนังสือ ฉบับตุลาคม ว่าปัญหาในการวิจารณ์วรรณกรรมนั้น มีข้อถกเถียงที่หาข้อสรุปไม่ได้อยู่หลายประการ ในที่นี้ประเด็นสำคัญที่อยากจะขอร่วมแสดงความเห็นบ้างมีอยู่ 2 ประการ คือ 
1. ความจริงและความสมจริง 2. ความจริงใจ (sincerity) หรือความซื่อสัตย์ต่อตนเอง


1. ความจริงและความสมจริง

อริสโตเติลได้กล่าวไว้ใน The Poetics ว่า ศิลปะคือการเลียนแบบแห่งชีวิต หากความหมายของการเลียนแบบ (imitatiom) ของอริสโตเติลนั้น มิได้หมายถึงการลอกเลียนธรรมชาติเหมือนรูปถ่ายที่จำลองจากของจริง หรือรูปปั้นขี้ผึ้งในพิพิธภัณฑ์ของมาดามทุสโซ ในบทที่ 9 ของ The Poetics ได้อธิบายอย่างละเอียดว่า หน้าที่ของกวีมิใช่การลอกแบบแต่เป็นการสร้างสรรค์ ความหมายของการเลียนแบบในทัศนะของอริสโตเติลก็คือ การเสนอสิ่งที่เป็นจริง (real thing) ผสมผสานกับการสร้างสรรค์ของกวี นั่นก็หมายความว่า จะมีแต่ละคนจะมองสิ่งที่เป็นแล้วนำมาสร้างสรรค์ขึ้นด้วยจินตนาการของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ออกมาในผลงานต้องสมจริงหรือเป็นไปได้ (possibility)

พลาโตเองก็ได้กล่าวถึงกวีนิพนธ์ (poetry) ใน The Republic บทที่ 10 ว่ากวีคนนั้นเป็นศิลปะแห่งการเลียนแบบ โดยเปรียบว่า ช่างวาดมองเตียงแล้วก็เลียนแบบวาดภาพออกมาตามสายตาที่มองเห็น ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ความจริง

กรมหมื่นราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้ส่งให้ทัศนะไว้ในชุมนุมนิพนธ์ว่า "บางคนก็สำคัญว่าวรรณคดีเป็นอุปกรณ์แสดงความจัดเจน และความจัดแจงเป็นความสำคัญของชีวิต วรรณคดีมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้เรามีชีวิตชีวา แต่ความเห็นเช่นนี้ก็เป็นการเอาวรรณคดีเข้าไปแข่งขันกับชีวิตที่เป็นจริง... อันที่จริงวรรณคดีจะแข่งขันกับชีวิตที่แท้จริงไปไม่ได้ เพราะความจากเกมที่วรรณคดีจะให้ได้นั้น เป็นความชัดเจนในจินตนาการของผู้ประพันธ์ คือไม่ใช่เหตุการณ์ที่เป็นจริง"

เจตนา นาควัชระ ได้อธิบายอย่างละเอียดถึงความจริง ความรวม และความสมจริง ในหนังสือทฤษฎีเบื้องต้นแห่งวรรณคดี บทที่ 5 โดยผู้เขียนจะขอสรุปอย่างย่อๆ ว่า โลกวรรณคดีเป็นโลกสมมติ แต่มีความสมจริงพอมิได้อยู่ไกลเกินจากความเป็นจริงในชีวิตจริง ทั้งนี้เพราะส่วนมากแล้ว นักประพันธ์จะดึงวัตถุดิบมาจากชีวิตจริงในสังคมที่ตนอยู่ ดึงเอาเหตุการณ์ที่เกิดเกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งรู้จักกันชีวิตจริง ฉะนั้น โลกของนักประพันธ์จึงมีทั้งส่วนที่เป็นประสบการณ์ของชีวิตกับส่วนที่สร้างสรรค์ด้วยจินตนาการของผู้ประพันธ์

ถ้าพิจารณาจากทัศนะที่นักวิจารณ์ทั้งสี่คนได้กล่าวไว้ ก็อาจสรุปได้ว่าโลกของความจริงก็คือ ธรรมชาติสิ่งที่เป็นจริงในชีวิตประจำวันที่เห็นๆ กันอยู่ ส่วนวรรณกรรมไม่ใช่ชีวิตจริง โลกวรรณกรรมเป็นโลกของความรวมซึ่งกวีได้สร้างสรรค์ขึ้นมาให้มีความสมจริง ทั้งนี้ อาศัยประสบการณ์ที่ได้จากความเป็นจริงกับจินตนาการของกวี

และอาจเป็นไปได้ว่า ความสมจริงของเหตุการณ์ที่กวีเขียนขึ้นมา อาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง หรือยากที่จะเกิดขึ้น แต่ถ้าหากสิ่งนั้นเป็นไปได้ (possibility) หรืออาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริงก็ถือได้ว่าเป็นความสมจริง (verisimilitude) เช่นกัน ในนัยกลับกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง แต่หากนำมาเขียนโดยไม่มีเทคนิคลีลาอย่างศิลปะ ก็อาจจะขาดความสมจริงไปได้ ดังที่ เจตนาได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน

ฉะนั้น ต่อคำกล่าวของ ไชยันต์ รัชชกูล ผู้ร่วมเสวนาที่ว่า การที่ตัวละครเอาเงินปาเข้าเตาผิงนั้น เป็นความไม่สมจริง (เพราะในชีวิตจริงไม่มีใครกล้าทำเป็นแน่) ผู้เขียนขอโต้แย้ง เพราะถ้าผู้ประพันธ์สามารถวาดภาพตัวละครให้มีลักษณะนิสัยพัฒนาไปถึงจุดที่กระทำอย่างมีศิลปะและสมเหตุผล ผู้ประพันธ์ก็สามารถทำให้เหตุการณ์นั้นดูสมจริงและเป็นไปได้ในโลกแห่งวรรณคดีเมืองเหมือนกับที่ S.M. Schreiber นักวิจัยและนักวิชาการคนหนึ่งของอังกฤษถึงกับกล้ากล่าวยืนยันว่า “Graet tragedy can never be realistic” (โศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ไม่เคยเป็นจริง)

เรื่องราวความสมจริงนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากในระหว่างศตวรรษที่ 17 ของฝรั่งเศสมีการถืออย่างเคร่งครัด จนกระทั่งนักวิจารณ์ฝรั่งเศสในสมัยนั้นบางคนคือ ชาเปอแลง (Chapelain) โดบิญญาค (D’ Aubignac) และบุตเตอ (Butteux) ต้องข้อแตกต่างระหว่างความสมจริงชนิดพิเศษซึ่งยากจะเกิดขึ้น (vraisemblanc extraordinaire) และความสมจริงชนิดธรรมดา (vraisemblanc ordinaire) เช่น ผี ซึ่งอาจจะเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ไม่แน่ว่าเป็นไปไม่ได้ เป็นต้น ข้อสังเกตถึงความแตกต่างเช่นนี้ อาจได้รับรากฐานความคิดมาจาก คลาสเตลเวโตร (Castelvetro) นักคิดชาวอิตาเลียน

ฉะนั้น เมื่อดูจากความกว้างขวางของทฤษฎีที่นักวิจารณ์ เปิดโอกาสให้นักประพันธ์มีเสรีพอที่จะเลือกหาความสมจริงในวรรณกรรมของเขาได้ นักวิจารณ์ก็ไม่ควรติดตัวเองหรือมีอคติเอาใจฟักใส่อยู่ในความสมจริงชนิดใดชนิดหนึ่ง แล้วรังเกียจเกียรติฉันความสมจริงอีกชนิดหนึ่ง เพราะหน้าที่ของนักวิจารณ์มิใช่มุ่งเห็นหาแต่ความสมจริงหน้าที่อื่นที่สำคัญยิ่งกว่ายังรออยู่เบื้องหน้ามากมายนัก 

จากเรื่องจริงและความสมจริงนี้ เจตนายังได้อธิบายต่อไปด้วยว่า ถ้าความสมจริงของวรรณกรรมใดก่อให้ผู้อ่านเกิดความรู้ความรู้สึกคล้อยตามไป ซึ่งอาจเป็นเพราะมีประสบการณ์ร่วมกับวัตถุดิบที่น่าเกลียดนำมาใช้ก็จะทำให้ผู้อ่านเพลิดเพลินในผลงานนั้น จนตกอยู่ในสภาวะที่เรียกได้ว่า ‘มายาอันสมบูรณ์’ ทำให้แยกไม่ออกว่า อะไรคือโลกที่เป็นจริง อะไรคือโลกสมมติ เหมือนดังที่คนดูลิเกเกลียดตัวผู้ร้ายทั้งในและนอกเวทีนั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงมีนักประพันธ์สมัยใหม่บางกลุ่มไม่ต้องการให้ผู้อ่านตกอยู่ในสภาวะมายาอันสมบูรณ์ ซึ่งพยายามสร้างผลงานโดยใช้วัตถุดิบในชีวิตจริงให้น้อยที่สุด ไม่พยายามชักจูง โน้มน้าวอารมณ์ให้ผู้อ่านคิดไปว่า วรรณกรรมของเขาคือชีวิตจริง เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า ความสมจริงจะดูลดน้อยถอยลงไปในวรรณกรรมสมัยใหม่ เช่น วรรณกรรมศิลป์แบบแอบเสิร์ด (litarary of the absurb) นวนิยายคลื่นลูกใหม่ (nouveau roman) เป็นต้น ‘แรด’ (Rinoceros) ของอิเอาเนสโก ‘คอยโกโด’ (Waiting For Godot) ของเบ็คเก็ต ‘วันเวลาผ่านไปเลย’ ของสายไท ก็อยู่ในข่ายนี้ 

ดังนั้น การจะเอาทฤษฎีความสมจริงมาจากวรรณกรรมประเภทนี้ ก็เห็นทีจะไม่ได้เหมือนกับจะเอาทฤษฎีละครฝรั่งเศสมาจากลิเกไทย ทั้งนี้เพราะการนำเสนอสองกับจุดมุ่งหมายต่างกัน การจะนำเอาทฤษฎีความสมจริงจากภาพหรือนวนิยายก็ไม่ได้เช่นกัน เช่นที่กล่าวถึงคนกวาดขยะ แล้วขยะลอยเข้าหัว เพราะนั่นเป็นแนวคิดเหนือจริง (Surrealism) อันทฤษฎีความสมจริงนั้น มาใช้กับวรรณกรรมประเภท สัจจนิยม (realism) และธรรมชาตินิยม (naturalism) ได้เหมาะสมที่สุด นักวิจารณ์ต้องระวังระไว ในข้อที่จะใช้ทฤษฎีใดเข้าไปกับงานชนิดใดด้วย เพราะในการวิจารณ์นั้นนอกจากจะต้องตระหนักว่าวรรณกรรมไม่ใช่รูปถ่ายจำลองจากของจริงตามเนื้อผ้าแล้ว จะต้องรู้ด้วยว่าไม่มีหลักใด แนวใด หรือมาตรฐานใดตายตัวสำหรับการวิจารณ์ ดังที่เจตนาได้กล่าวไว้ในสัมมนาวิจารณ์ศิลปะที่วิทยาลัยทับแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อกลางปีนี้ว่า

“ไม่มีกฎเกณฑ์ใดเป็นที่ยอมรับว่าเป็นมาตรฐานสากลในการประเมินคุณค่างานศิลปะของทุกยุคทุกสมัย และทุกถิ่น กวีศาสตร์(The Poetics) ของตะวันตกที่รู้จักกันว่าเป็นของอริสโตเติลนั้น ความจริงเป็นงานวิจารณ์ที่ที่ตั้งอยู่รากฐานของตัวอย่างวรรณกรรมเอกของกรีก มีทั้งส่วนที่เป็นความคิดทั่วไปที่ยังอาจใช้ได้อยู่ และส่วนที่ผูกติดอยู่กับประเพณีการปฎิบัติของกรีก เช่น ในเรื่องเอกภาพ 3 ประการ ซึ่งไม่ใช่เกณฑ์ที่จะใช้วัดคุณภาพของละครทุกประเภทได้... ในทำนองเดียวกัน กฎเกณฑ์ของวรรณคดีสโมสรที่ว่า อะไรเป็นวรรณคดีนั้น ก็อาจยอมรับไม่ได้โดยดุษณีเสียแล้ว...”

สิ่งที่อยากจะย้ำเกี่ยวกับทฤษฎีความสมจริงก็คือ นักวิจารณ์อย่าผูกติดกับทฤษฎีความสนใจจนเกินพอดี ไม่ควรพยายามเห็นทุกอย่างที่ปรากฏในวรรณกรรมออกมาได้ว่า จริง สมจริงหรือไม่ เหมือนดังที่พวกฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17 เคร่งครัดเรื่องความสมจริง จนกระทั่งกอร์แนย์ (Corneille) ต้องร้องขอความเห็นใจให้เพือลงเสียบ้าง นักวิจารณ์ควรมีลักษณะนิสัยที่เรียกว่า ‘willing suspension of disbelief’ คือ ทำใจที่จะสลัดความไม่เชื่อออกเสียงบ้าง เช่นใจที่ยอมรับว่า กรอบสี่เหลี่ยมบนเวทีเป็นสัญลักษณ์ของประตูบ้าน เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีสามัญสำนึกพอที่จะนำลักษณะนิสัยนี้ออกมาใช้อย่างพอเหมาะพอควร ไม่พร่ำเพรื่อหรือผิดทาง

อนึ่ง อาจมีผู้อ่านหรือนักคิดบางกลุ่มนำเอาทฤษฎีแห่งความลวง ความจริง และความสมจริง ไปปะปนกับคุณค่าของงานว่า ในเมื่อโลกแห่งวรรณคดีเป็นโรคแห่งความรวมแล้ว เราจะหาสัจธรรมพบได้หรือ พลาโตเองก็เคยกล่าวว่า ‘กวีนิพนธ์ไม่มีประโยชน์’ เพราะถ้าดูทางด้านปรัชญาแล้ว กวีนิพนธ์มิได้ให้สัจธรรมทางปรัชญาเลย (philosophical truth) แต่อันที่จริงแล้วแม้โลกแห่งวรรณคดีเป็นโลกแห่งความรวมเราก็สามารถหาสัจธรรมบางประการได้ในเรื่อง และโดยเฉพาะแก่นของเรื่องที่เกี่ยวกับความลวง ความจริง (theme of illusion and reality) ดังเช่น ‘Far Form The Madding Crowd’ ของฮาร์ดี้ ซึ่งแก่นของเรื่องเกี่ยวกับความลวงและความจริง (ตัวนางเอกลงรูปภายนอกของผู้ชายคนหนึ่ง และกว่าจะรู้ว่าเค้าไม่ได้งานเช่นลูกโฉมก็นับว่าสายไปเสียแล้ว) หรือใน ‘เวนิสวานิช’ ของ เช็คสเปียร์ จากที่บัสสานีโย เลือกตะกั่วซึ่งมีรูปของนางเปอร์เซียอยู่ เป็นต้น

สำหรับความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว เมื่อแรกมิได้คิดว่าเรื่องความจริง ความสมจริง จะเป็นปัญหาสำคัญเท่าใด ถ้าเทียบกับการประเมินคุณค่าของงาน และการประเมินการสร้างสรรค์ของงานขึ้นมาอย่างมีศิลปะ หากถึงเวลานี้ได้เริ่มจุกคิดขึ้นว่า อาจจะเป็นปัญหาสำคัญเบื้องต้นของนักวิจารณ์บ้านเรา ซึ่งได้ศึกษาทฤษฎีแห่งการวิจารณ์ของทางตะวันตก เนื่องจากศาสตร์แห่งการวิจารณ์นั้นเริ่มมาจากทางตะวันตก จึงมีความจำเป็นที่เราต้องศึกษาทฤษฎีของเขาเพื่อจะได้นำมาปรับปรุง และรับเอาส่วนที่เป็นหลักสากลมาใช้ หรือประยุกต์ให้เหมาะสมกับการวิจารณ์วรรณคดีไทยหรือวรรณกรรมไทย ถ้านักวิจารณ์มิได้ตระหนักหรือสัมผัสกับทฤษฎีแห่งความสมจริงแล้ว ก็อาจจะเขวไปได้

อีกประการหนึ่ง เราอาจได้รับลักษณะนิสัยซึ่งสั่งสมกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ (Cutural heritage) ว่าด้วยการเสพศิลปะและวรรณคดีไทย โดยเฉพาะการละครซึ่งผู้ดูมักเอาตัวเข้าไปพัวพันกับละครที่เล่นบนเวทีโดยไม่คำนึงว่า ‘นั่นเป็นโลกสมมติ’ ซึ่งตัดขาดจากโลกแห่งความเป็นจริงเป็นโลกอีกโลกหนึ่ง ตรงกันข้ามโลกการแสดงของไทยจะเชื่อมโยงกับโลกแห่งความเป็นจริง ผู้ดูและตัวละครจะแยกจากกันไม่ได้ ความสมจริงบนเวทีก็อาจขาดหายไปในบางครั้ง เพราะคนดูกลายเป็นส่วนหนึ่งของเวทีพระเอกลิเกอาจหันมายักคิ้วหลิวตาร้องเกี้ยวคนดูได้ เหมือนดังที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า

“หัวใจของการแสดงของไทยไม่ใช่ความสมจริง เพราะจะสนใจทำไมกับความสมจริงบนเวที มันเป็นส่วนเดียวของการแสดงทั้งหมด” (จากบทความ “ความล้ำลึกของน้ำเน่าในหนังไทย” ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2523)

ดังนั้น การนำเอาปัญหาเรื่องความจริง ความสมจริง มาถกเถียงกันอย่างลึกซึ้ง นำประโยชน์มาให้ทั้งผู้อ่าน และนักวิจารณ์หรือแม้แต่นักเขียน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีผู้รู้เรียบเรียงศาสตร์แห่งการวิจารณ์วรรณคดีออกมาเผยแพร่ในลักษณะวิชาการแล้ว จะช่วยให้วงการวิจารณ์ขยายตัวไปในทางที่ดีทั้งคุณภาพและปริมาณ จึงฝากความเห็นมา ณ ที่นี้ด้วย 


2. ความจริงใจหรือความซื่อสัตย์ (Sincerity)

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่กว้างจนยากแก่การถกเถียง เช่น อาจเป็นปัญหาเรื่องความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อผลงาน หรือต่อความจริง เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดว่า ใครมีความจริงใจมากน้อยแค่ไหน บ้างก็ดีความจริงใจออกไปได้หลายสถาน เช่น โจหยาง ลัทธิชาวจีนถือว่าการซื่อตรงต่อความจริงกับนัยโน้มเอียงทางปฏิวัติย่อมเป็นสิ่งที่ไปด้วยกัน บ้างก็ว่างการซื่อตรงต่อความจริง คือการสะท้อนบรรยากาศความจริงที่เห็นออกมา บ้างก็ว่านักเขียนควรมีความจริงใจ มีสุขคิดมั่นอุดมอุดมการต่อตนเองแต่ละคนแต่ละกลุ่มก็ยกเหตุผลขึ้นมาอ้างเพื่อสนับสนุนข้อโต้แย้งหรือความเห็นของตน

ในที่นี้ ผู้เขียนไม่ขอถกเถียงตามความเห็นส่วนตัวและความเชื่อตามหัวข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้
ก. นักเขียนกับความจริงใจต่อตนเอง ข. วรรณกรรมกับความจริงใจ ค. นักวิจารณ์กับความจริงใจ

ก. นักเขียนกับความจริงใจ
“การสร้างทำเป็นเชื่อในสิ่งที่เราไม่เชื่อ นั่นคือความไม่จริงใจ ไม่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง” นักเขียนย่อมมีธรรมะในข้อนี้ ต้องจริงใจต่อสิ่งที่เขียนออกมา มีจุดยืนของตนเอง ถ่ายทอดสิ่งที่เขาคิด รู้สึก และเข้าใจอย่างถ่องแท้ มิเช่นนั้นผลงานที่เสนอออกมาจากชืดชา ไร้ความรู้สึกและอารมณ์ที่ละเมิด แข็งกระด้าง เพราะผู้เขียนไม่ได้ถอดใส่ความรู้สึกที่แท้จริงของตนลงไปและเป็นหนทางที่ทำให้ความนึกคิดคลุมเครือไม่กระจ่างชัด เหมือนดังที่โจหยาง นักคิดชาวจีนได้ให้ข้อคิดเรื่องความซื่อสัตย์ (โดยเฉพาะนักเขียนเพื่อชีวิต) ในแง่ความเข้าใจและความรู้สึกไว้ว่า

“ถ้าหากนักเขียนมิได้มีความรักอันรุนแรงในมวลชนแห่งชนชั้นกรรมกรและชาวนา ไม่เคยคุ้นกับชีวิต ความรู้สึก และภาษาของประชาชนแล้ว เค้าจะเขียนงานที่มีชีวิตและพลังซึ่งสะท้อนภาพมวลชนแห่งชนชั้นกรรมกรและชาวนาอย่างซื่อสัตย์ได้อย่างไร (จาก โจหยาง : คำปราศรัย, จิตร ภูมิศักดิ์ แปล)

วิธีที่เราจะจับว่าผู้เขียนมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองหรือไม่ก็คือศึกษาอย่างพินิจพิเคราะห์ในผลงานทั้งหลายของเขาว่ามีจุดยึดมั่น นามเสียงหรือทัศนะ และวิญญาณ (Spirit) มั่นคงหรือไม่

หากวิธีการตรวจสอบเช่นนี้ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้เสมอไป เพราะบางครั้งวรรณกรรมที่ดีก็อาจถูกเขียนขึ้นจากความไม่จริงใจของนักเขียนได้ เช่น นักเขียนต้องการเงิน ชื่อเสียง ต้องการให้ผลงานของตนเด่นขึ้นมา จึงเขียนงานแก่นที่กำลังนิยมเป็นที่กล่าวฝันถึงมาเป็นงานเขียน ทั้งๆ ที่ตนมิได้มีศรัทธา เพราะฉะนั้นการจะรู้ว่าวรรณกรรมที่ดีนั้นเขียนขึ้นจากความจริงใจของนักเขียน ซึ่งมีอุดมการเช่นนั้นจริงหรือไม่ จะยากอยู่สักหน่อยเหมือนกับที่ว่า ‘มนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้-หยั่งถึง’ เพราะถ้านักเขียนเล่นละครตบตาเก่ง มีศิลปะในการหลอกลวงตนเองและผู้อ่านอย่างแนบเนียนแล้ว คงจะใช้เวลานานที่จะเผลอไผลชนิดแสดง Freudian Slip ดังที่ฟรอยด์ตั้งทฤษฎีไว้

แต่ถ้านักเขียนมีความจริงใจต่อตนเอง เขียนเพื่ออุดมการอย่างที่ตนคิดเอาไว้ แต่เป็นอุดมการใช้ไม่ได้เหมือน ‘วรรณกรรมดอกไม้พิษ’ (อย่างที่ ไพลิน รุ้งรัตน์ ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความ ‘ลักษณะสามแบบของงานวรรณกรรม’) จะถือว่านักเขียนมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองหรือไม่ ถ้าพิจารณาจากความจริงใจในแง่ของนักปราชญ์จีนในหนังสือ The Chung Yung or the Centre, The Common (Longman) แล้ว จะเห็นว่า นั่นไม่ใช่สิ่งที่จริงใจ เพราะคนที่จะเข้าถึงความจริงใจได้คือคนที่เลือกแต่สิ่งที่ที่ดี และยึดมั่นในจุดที่ดีนั้นอย่างมั่นคง ถ้าเราไม่เข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่ดีงามแล้ว ผู้คนนั้นก็จะไม่มีวันเข้าถึงความจริงใจได้เลย เมื่อไรที่เรามีความฉลาด มีปัญญา เราก็จะเข้าถึงความจริงใจได้ และเมื่อไหร่ที่เรามีความจริงใจ เราก็จะมีความฉลาด

ข. ผลงานกับความจริงใจ
ข้อนี้จะต่อเนื่องกับข้อแรกเพราะผลงานที่ซื่อสัตย์ตรงต่อความจริงความจริง ย่อมไม่ใช่ผลงานที่บิดเบือน ในทำนองเดียวกันกับข้อสังเกตในข้อ ก. ว่า ถ้าผลงานนั้นเป็นผลงานที่ผู้เขียนมีความจริงใจ แต่ซื่อสัตย์ต่ออุดมการที่มัวเมา ไร้ศีลธรรมแล้ว ผลงานนั้นจะเป็นผลงานที่มีความจริงใจได้หรือไม่ ไอ. เอ. ริชาร์ดส์ (I.A. Richards) ดูจะให้ความเห็นในหนังสือ Practical Criticism ว่า ถ้าสิ่งที่เขียนออกมาแล้วไม่ให้ประโยชน์ ก็ไม่เป็นสิ่งที่จริงใจ เพราะมันเหมือนกับที่เราเกลียดกลิ่นเหม็น เมื่อไรที่เรามีกิริยาต่อกลิ่นเหม็น นั่นคือความจริงใจที่แท้ พอๆ กับที่เราชอบของดีงาม ความเปรียบของริชาร์ดส์ ทำให้เราเข้าใจว่า ถ้ามนุษย์เราเกลียดสิ่งเหม็นต่ำทรามแล้วยังเขียนเรื่องที่คล้ายคลึงกันเช่นนั้นออกมา นั่นย่อมไม่ใช่ความจริงแน่ หากเขียนเพื่ออะไรบางอย่าง เงิน ชื่อเสียง บารมี เป็นต้น และนั่นย่อมไม่ใช่ความจริงใจต่อตนเองเป็นแน่แท้ ดังได้กล่าวไว้ในข้อ ก.

ไอ. เอ ริชาร์ดส์ ยังให้ความเห็นต่อไปว่า ความเรียบง่าย (simplicity) ในภาษา คือภาษาที่งดงาม ง่ายต่อการเข้าใจ อันเป็นของแท้ (gennuine) ก็อยู่ในข่ายของความจริงใจด้วย ตรงกันข้ามกับภาษาที่ดีดดิ้นสมบัติสำนวน (sophisticated) เป็นภาษาปั้นแต่งเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ของแท้ หากข้อนี้ผู้เขียนยังไม่เห็นด้วยนัก จริงอยู่วรรณคดีที่ดีนั้น ถ้าเป็นไปได้ควรจะเข้าทำนองที่ว่า ‘Simple, percise, and clear’ แต่ในศิลปะในการประพันธ์ เช่น การร้อยคำให้ไพเราะนั้น ไม่น่าจะขัดแย้งต่อความจริงใจ ถ้าผู้เขียนถ่ายทอด. ยึดมั่นที่สูงส่ง และผลงานนั้นมีคุณค่า เข้าทำนอง ‘คำดี ความดี’

นอกจากนี้ ริชาร์ดส์ยังให้คำถามสำหรับผู้ที่ไม่แน่ใจว่าตนเองจะมีความจริงใจหรือเปล่า ก็คือ ‘Do I really Think so, do I feel so?’ ซึ่งฟังดูเข้าที แต่เชื่อได้ว่าคำตอบที่แท้จริงคงจะออกมาไม่ง่ายนัก

ค. นักวิจารณ์กับความจริงใจ
ตามความคิดเห็นส่วนตัว นักวิจารณ์ที่แท้จริงย่อมกล้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ยุติธรรม และจริงจังด้วยใจจริง โดยใช้หลักการที่ถูกต้อง มีหลักเกณฑ์ และต้องกล้าที่จะวิพากษ์วรรณกรรมทุกชิ้นที่ตนสนใจโดยเห็นแก่หน้าค่าชื่อ ก็ในเมื่อคิดจะแตะวรรณกรรมชิ้นนั้นแล้ว จะหลอกตนเองโดยการยกยอปอปั้นกราวแต่เชิงบวก โดยไม่มองเชิงลบที่มีอยู่ทำไมกัน

ข้อนี้ออกจะลำบากอยู่สักหน่อยสำหรับบ้านเมืองที่ยึดถือประเพณีอย่างบ้านเรา ซึ่งนักเขียนไม่ชอบให้ใครมาวิจารณ์ กรณีพระองค์จุลจักรพงษ์ และหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง คงเป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง หากข้อนี้ยังไม่เท่าไหร่ เพราะเป็นกรณีพิพาทระหว่างนักวิจารณ์และนักเขียน อันเป็นของธรรมดา แต่สำหรับกรณีวรรณกรรมที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมเอกแล้วแล้วก็ ถ้านักวิจารณ์คนใดไปแตะเข้า ก็อาจถูกโตกลับมาอย่างเผ็ดร้อนและใช้อารมณ์ได้ กรณี ชลธิรา กลัดอยู่ วิจารณ์ ’ขุนช้างขุนแผน’ โดยใช้ทฤษฎีตะวันตกเข้าจับ และกรณี สุธา ศาสตรี วิจารณ์ ‘สามกรุง’ ของ น.ม.ส. ก็เป็นข่าวฮือฮาอยู่พักหนึ่งเช่นกัน

หรือกรณีที่นักวิจารณ์ไปแตะวรรณกรรมที่นักเขียนเป็นบุคคลที่ได้รับยกย่องนับถือ นักวิจารณ์ก็อาจถูกลูกศิษย์ลูกหา หรือเพื่อนฝูงของนักเขียนนั้นโจมตีอย่างสาดเสียเทเสียก็เป็นได้อีกเช่นกัน ยิ่งถ้านักวิจารณ์เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งแล้วด้วยก็ต้องมีการถูกด่าว่า ‘เป็นลูกศิษย์คิดล้างครู’ ไปโน่น (ซึ่งความจริงลูกศิษย์ล้างครูทางวิจารณ์เป็นการดีไม่น้อย แสดงว่าครูมีความสามารถเป็นเยี่ยมในการถ่ายทอดวิชาการ) ออกจะเห็นด้วยกับคำของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่กล่าวไว้ว่าความกตัญญูเป็นธรรม : แต่นำมาใช้ในวงวิชาการไม่ได้ และผู้เขียนยังฝังใจกับคำของ ส.ศิวลักษณ์ ซึ่งตอบจดหมายผู้อ่านคนหนึ่งเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ความว่า การเทิดทูนสถาบันอันสูงส่งเป็นของดี แต่อย่าประจบสอพลอจนเกินงาม

ปัจจุบันนี้ข้อขัดแย้งเช่นที่กล่าวมา จากแพร่จากวงวิจารณ์วรรณกรรมไปสู่วงการการศึกษา ประวัติศาสตร์ และเลยเรื่อยไปสู่วงวิชาการละครมหาวิทยาลัยไปเสียแล้ว แต่นักวิจารณ์ก็ไม่ควรย่อท้อ ถ้าเราวิจารณ์ด้วยความตั้งใจดี มีหลักการโดยไม่ใช้อารมณ์ชนิดนี้โมหาคติหรือแม้แต่ฉันทาคติ ถ้าย่อท้อจนขาดความจริงใจไม่กล้าวิพากย์ในข้อเสียที่พบเห็น ก็เท่ากับเป็นการไม่กล้าเผชิญหน้ากับความเป็นจริง สิ่งที่วิจารณ์ออกมาแม้จะไม่บิดเบือนในทางตรงก็โดยทางอ้อมแล้วผลงานของนักวิจารณ์ผู้นั้นจะมีความซื่อสัตย์ได้อย่างไร ผู้เขียนชื่นชมบรรยากาศแห่งการวิจารณ์ ที่ ’สุญญตา’ วิจารณ์รามเกียรติ์ แล้ว ดวงมน จิตรจำนงค์ วิจารณ์กลับ เพราะนั่นเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างงดงามพอสมควรทีเดียว

ส่วนกรณีนักวิจารณ์เอาใจนักเขียนหรือสำนักพิมพ์ อย่างที่พูดกันให้เกรอไปว่า ‘หมาเฝ้าสวน’ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็เท่ากับเป็นคนที่ไม่มีมาตรฐานในตนเอง ไม่รู้จักความแตกต่างระหว่างความดี ความเลว ความงาม ความน่าเกลียด ถ้าเป็นเช่นนั้นนักวิจารณ์ผู้นั้นจะกล้ากล่าวว่า ตนเองเป็นนักวิจารณ์ที่มีความจริงใจได้หรือ ในเมื่อตัวเองยังไม่สามารถเข้าถึงความซื่อสัตย์ได้อย่างถ่องแท้

ปัจจุบันการวิจารณ์จะมีบรรยากาศคึกคักขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะในด้านวรรณกรรม ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำฝันที่ ‘เหมาเจ๋อตง’ กล่าวไว้ในปี 1956 ว่า “ให้บุปผชาตินานาพันธุ์บานพร้อมกัน และให้ความคิดนานาสำนักประชันกัน” (จิตร ภูมิศักดิ์ แปล) เพราะจะช่วยให้บรรยากาศแห่งการวิจารณ์ ขยายขยายไปในวงกว้างและร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันโดยไม่มีการถือพรรคถือพวก การจัดสัมมนาการวิจารณ์ในสถาบันวิชาการก็นับเป็นสิ่งดี ที่จะช่วยกระตุ้นสากนี้ให้มีชีวิตชีวา และรุดหน้าต่อไป

จาก ควันหลงจาก ’จัตุรัสความคิด’ กับกลุ่มวรรณกรรมพินิจ | กอบกุล อิงคุทานนท์
ใน โลกหนังสือ ปีที่ 4 ฉบับที่ 3 ธันวาคม 2523 63 - 68

บรรณาธิการโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี

คลิก อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับ 'โลกหนังสือ'

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้