Last updated: 12 ส.ค. 2563 | 8084 จำนวนผู้เข้าชม |
เฮอร์เบิร์ต จอร์จ เวลส์ (Herbert George Wells) หรือที่รู้จักในนาม เอช. จี. เวลส์ (H.G. Wells: 1866-1946) นักเขียนชาวอังกฤษผู้มีผลงานเขียนกว่า 100 เรื่องในหลากหลายแนว ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย บทความ และสารคดี ผลงานที่สร้างชื่อและทำให้เป็นที่จดจำมากที่สุดคืองานเขียนประเภทนิยายวิทยาศาสตร์ อย่าง The Time Machine (1895), The Invisible Man (1897) และ The War of the Worlds (1898) มีผู้นำงานเขียนจำนวนมากของเวลส์มาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อดัง
เอช. จี. เวลส์ ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของนวนิยายวิทยาศาสตร์ร่วมสมัย โดยมีคู่แข่งคนสำคัญร่วมสมัยเดียวกันคือ จูลส์ เวิร์น (Jules Verne: 1828 - 1905) แตกต่างกันที่เวลส์นั้นเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์เชิงสังคมโดยแฝงทัศนคติทางการเมืองส่วนตัวแทรกเข้าไปด้วย ทำให้มีลักษณะวิพากษ์ ในขณะที่เวิร์นพยายามลดมิติทางสังคมและการเมือง แต่หันไปเน้นมิติของความซับซ้อนทางเทคโนโลยีแทน
ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ งานของเวลส์มีด้านของความเป็นมนุษย์สูงกว่างานของเวิร์นอย่างเห็นได้ชัด แต่อ่อนด้อยกว่าในการนำเสนอแนวคิดทางด้านเทคโนโลยี และตัวละครของเวลส์จะมีลักษณะมองโลกในด้านลบและทำลายล้างน้อยกว่าเวิร์นอย่างมาก
เวลส์เริ่มเขียนหนังสือจริงจังตั้งแต่อายุ 27 ปี และมีผลงานตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1895 จำนวน 4 เล่ม รวมถึงนิยายเรื่องแรก The Time Machine ซึ่งเป็นเรื่องราวของนักเดินทางที่ใช้ยานพาหนะที่เรียกว่า ‘ไทม์ แมชชีน’ เดินทางท่องเวลาไปปี ค.ศ.802701
นิยายเรื่องนี้เสียดสีการแบ่งแยกชนชั้นของอังกฤษ วิจารณ์ความก้าวหน้าของสังคมอุตสาหกรรม และกล่าวถึงเรื่องเวลาในฐานะที่เป็นมิติที่สี่ได้น่าทึ่ง หลายปีหลังจากนั้น ไอน์สไตน์ (Albert Einstein: 1879 - 1955) จึงพิมพ์ทฤษฎีว่าด้วยมิติของอวกาศและกาลเวลา
"...ที่ใดไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ที่ใดไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง
ที่นั้นไม่จำเป็นต้องมีสติปัญญา..."
- บางส่วนจาก เดอะ ไทม์ แมชชีน
ในภาพรวม นิยายส่วนใหญ่ของเวลส์เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ เช่น TheIsland of Doctor Moreau (1896) ที่ว่าด้วยนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องผู้เปลี่ยนสัตว์ให้เป็นสัตว์มนุษย์ ซึ่งในยุคนั้น วงการวิทยาศาสตร์อังกฤษกำลังถกเถียงกันเรื่องการนำสัตว์ที่มีชีวิตมาทดลอง
The Invisible Man นิยายว่าด้วยนักวิทยาศาสตร์ผู้พยายามเปลี่ยนแปลงธรรมชาติเพื่อให้ได้อำนาจเหนือมนุษย์เขาทำให้ตัวเองกลายเป็นมนุษย์ล่องหน เรื่องนี้ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ครั้งแรกใน Pearson’s Magazine ในปี ค.ศ.1897
The War of the Worlds งานเขียนว่าด้วยชาวดาวอังคารบุกโลก โดยตัวละครเอกเล่าเหตุการณ์จากลอนดอน ซึ่งจิตนาการให้ชาวดาวอังคารมีรูปร่างคล้ายหมึกยักษ์ขนาดเท่าหมี และเจริญก้าวหน้ากว่ามนุษย์
พอจะกล่าวได้ว่า นิยายของเวลส์มักทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น สงครามโลก การสู้รบทางอากาศด้วยเครื่องบินและเครื่องบินทิ้งระเบิด การใช้อาวุธเคมี การตัดต่อพันธุกรรม เขาทำนายการกำเนิดเครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ เครื่องอัดวิดีโอ เขียนเรื่องมนุษย์ท่องอวกาศไปดวงจันทร์
แต่อย่างไรก็ตาม งานเขียนของเวลส์มักมองโลกอนาคตในแง่ร้ายและเห็นว่ามนุษยชาติเดินไปสู่ความหายนะ
นอกจากนี้ เวลส์ยังมีผลงานนิยายขนาดสั้นเล่มหนึ่งชื่อ The Country of the Blind หรือในชื่อภาษไทยคือ ดินแดนคนตาบอด -- เรื่องราวการผจญภัยไปในดินแดนลึกลับที่มีแต่คนตาบอด โดยเวลส์ได้ใช้นิยายเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความบกพร่องของมนุษย์ในการตีความหมาย การวิพากษ์ และการพิจารณาถึงความจริง
"...เขาเริ่มประจักษ์แก่ใจว่า
คนเราไม่อาจต่อสู้หักหาญกับเพื่อนร่วมโลก
ที่มีพื้นเพความคิดจิตใจเป็นคนละแบบกับเราอย่างสิ้นเชิง..."
- บางส่วนจาก ดินแดนคนตาบอด
ในบั้นปลายชีวิต เวลส์เป็นโรคเบาหวาน เขาเสียชีวิตในวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.1946 ที่บ้านในกรุงลอนดอนด้วยวัย 80 ปี ในฐานะนักเขียนที่ร่ำรวยมีชื่อเสียง ร่างของเขาถูกเผาและนำอัฐิไปโปรยลงทะเล
และสำหรับผลงานของบิดานิยายวิทยาศาสตร์นาม เอช. จี. เวลส์ ที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย สำนักพิมพ์สมมติจัดพิมพ์ไว้ 2 เรื่องด้วยกัน คือ The Time Machine และ The Country of the Blind
========
คลิกสั่งซื้อ Set 2 เล่ม รวมผลงานของ เอช.จี. เวลส์
นิยายทั้ง 2 เรื่องข้างต้น นับเป็นผลงานชิ้นสำคัญและควรค่าแค่การได้อ่านและศึกษางานเขียนของ เอช. จี. เวลส์
เดอะ ไทม์ แมชชีน (The Time Machine)
วรรณกรรมโลกสมมติลำดับที่ 4
เอช. จี. เวลส์ (H. G. Wells) : เขียน
ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล : แปล
วิษณุ โชลิตกุล : บทกล่าวตาม
ปฐมพงศ์ น้ำใจดี : ออกแบบปก
ความหนา : 180 หน้า
ราคาปก 200 บาท
ดินแดนคนตาบอด (The Country of the Blind)
วรรณกรรมโลกสมมติลำดับที่ 6
เอช. จี. เวลส์ (H. G. Wells) : เขียน
มโนราห์ : แปล
มุกหอม วงษ์เทศ : บทกล่าวตาม
ปฐมพงศ์ น้ำใจดี : ออกแบบปก
ความหนา : 120 หน้า
ราคาปก 150 บาท
16 ก.ย. 2565
25 ก.ย. 2565
26 ก.ย. 2565
26 ส.ค. 2565