Last updated: 16 ก.ย. 2565 | 4520 จำนวนผู้เข้าชม |
ประวัติศาสตร์ในผลึกคิดของ ธงชัย วินิจจะกูล
บันทึกจากงานเสวนาในหัวข้อ "จะหาเรื่องกับประวัติศาสตร์อย่างไร?" คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อวันที่ 5 กรกฏาคม พ.ศ.2562 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาบัณฑิตศึกษาในหัวข้อ “จะหาเรื่องกับประวัติศาสตร์อย่างไร?” โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำคณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) สหรัฐอเมริการ่วมบรรยาย
งานเสวนาครั้งนี้เน้นไปที่การถกเถียงเรื่องปรัชญาและวิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์เป็นหลัก กล่าวคือ มุ่งเน้นไปที่คำถามพื้นฐานว่า ประวัติศาสตร์คืออะไร วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างประวัติศาสตร์กับทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ บทบาทของประวัติศาสตร์ต่อสังคม ทิศทางและความน่าจะเป็นของประวัติศาสตร์ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีหน้าที่ทำให้ใครรักชาติมากขึ้นหรือน้อยลง
ศาสตราจารย์ธงชัยกล่าวถึงวิชาประวัติศาสตร์ว่าคือ 'วิชาว่าด้วยการศึกษาเพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่ง' พยายามอธิบายสังคม ณ จุดหนึ่งว่ามีพลวัตเปลี่ยนแปลงอย่างไรจนถึงจุดนั้น ประวัติศาสตร์แบบที่รัฐมักไล่ให้ไปเรียนคือ 'ประวัติศาสตร์แบบหยุดนิ่ง' ไม่ใช่ประวัติศาสตร์แบบที่ควรจะเป็น ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีหน้าที่ทำให้ใครรักชาติมากขึ้นหรือน้อยลง ดังนั้น เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์หยุดนิ่ง เราจึงต้อง 'หาเรื่อง' กับประวัติศาสตร์ ทำให้คนขี้สงสัย คิดวิเคราะห์ ตั้งคำถาม ตรวจสอบ พิสูจน์ ต่อสู้จัดการกับประวัติศาสตร์
ธงชัยกล่าวว่า จุดมุ่งหมายของประวัติศาสตร์แท้จริงแล้วคือการเล่าเรื่องเล่าดีๆ สักเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องเล่าที่ทำให้คิด ท้าทายสมอง ประลองปัญญา แต่ไม่ใช่การเล่าเรื่องในลักษณะของการเขียนนิยาย ไม่ใช่แค่สำนวนโวหาร อ่านสนุก กล่าวได้ว่า ประวัติศาสตร์ควรมีสาระ หนักแน่น มีแนวคิด ทฤษฎีไม่เยอะจนขัดหูขัดตา เกะกะละลาน ปล่อยให้ทฤษฎีรับรู้ได้ควบคู่ไปกับเรื่องเล่า
การหาเรื่องที่ดีหรือประวัติศาสตร์ที่ดีต้องสื่อสารด้วย 'เรื่องเล่าที่ดี'
การเล่าเรื่องที่ดีคือการเล่าเรื่องเล็กให้สะท้อนสัมพันธ์กับเรื่องใหญ่ ใช้การศึกษากรณีเฉพาะเชื่อมโยงกับภาพกว้างเพื่อฉายให้เห็นภาพใหญ่ การเล่าเรื่องที่ดีคือการเล่าเรื่องเล็กๆ ที่ใส่ใจในรายละเอียด เล่าเรื่องรูปธรรมเล็กๆ ได้อย่างมีชีวิตชีวา แต่พลังอยู่ตรงที่ว่าเรื่องเล็กๆ ดังกล่าวเป็นอุปมา อุปไมย อุปมานิทัศน์ (allegory) ที่สามารถฉายให้เห็นเรื่องอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่ใหญ่โตกว่านั้น ก่อให้เกิดการคิด จินตนาการ เลยพ้นไปจากกรณีประวัติศาสตร์รูปธรรมเฉพาะ ไปสู่การเข้าใจประวัติศาสตร์ที่กว้างขึ้น ศาสตราจารย์ธงชัยเปรียบเทียบ 'การศึกษาประวัติศาสตร์ที่ดี' กับ 'การศึกษาในสาขาวิชามานุษยวิทยา' ผ่านการเล่าเรื่องใน 3 ระดับ
ระดับที่หนึ่ง
ศึกษาหมู่บ้านหมู่บ้านหนึ่งแล้วนำทฤษฎีมาพิสูจน์ว่าสามารถปรับใช้ได้หรือไม่อย่างไร มีความใหม่ในแง่ของสถานที่หรือหมู่บ้านที่ยังไม่เคยมีใครศึกษามาก่อน
ระดับที่สอง
ศึกษาหมู่บ้านหมู่บ้านหนึ่งแล้วนำทฤษฎีมาพิสูจน์ ต่อยอด พัฒนา อุดช่องว่าง หาจุดอ่อนและข้อจำกัดของทฤษฎี อธิบายได้ว่าทฤษฎีที่ใช้ควรใช้ในเงื่อนไขใด ปรับใช้ได้หรือไม่ได้อย่างไร และนำไปศึกษาหมู่บ้านได้หรือไม่ อย่างไร เป็นการเล่าเรื่องที่เลยพ้นไปจากหมู่บ้านนั้น แต่สามารถถกเถียงอธิบายในระดับทฤษฏีได้
ระดับที่สาม
ศึกษาหมู่บ้านหมู่บ้านหนึ่งจนสามารถตั้งทฤษฎีใหม่ขึ้นมาได้ ไม่ใช่เพียงแค่พิสูจน์ ตรวจสอบ และปรับใช้ทฤษฏี แต่สามารถสร้างทฤษฏีขึ้นมาแล้วนำปรับใช้กับกรณีอื่นๆได้อีกด้วย
ประวัติศาสตร์ : ความรู้ที่ทรงอำนาจเหนือผู้คน
ศาสตราจารย์ธงชัยกล่าวว่า ประวัติศาสตร์เป็นความรู้ประหลาดที่ทรงอำนาจเหนือผู้คนมาก แม้คนส่วนมากเห็นว่าน่าเบื่อ ไม่น่าเรียนรู้ และแทบไม่ต้องเรียนรู้เลย ก็นึกว่าตนเองรู้ประวัติศาสตร์เป็นอย่างดีได้ สมัยนักเรียน ประถม มัธยม คงมีไม่กี่คนที่ชอบประวัติศาสตร์เพราะเป็นวิชาน่าเบื่อหน่าย ไม่สนุก เต็มไปด้วยเรื่องรายละเอียดเรื่องราวเก่าๆ ที่ไม่เข้าใจว่าจะมีประโยชน์อะไรกับชีวิตปัจจุบัน แต่คุณครูก็ย้ำแล้วย้ำอีกว่าเป็นความรู้สำคัญเพื่อความภาคภูมิใจในชาติของเรา อีกทั้งยังเรียนแล้วเรียนอีก เนื้อหาซ้ำๆ เพียงแต่รายละเอียดเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ
วิชาประวัติศาสตร์มีข้อดีแต่เพียงว่า เรียนไม่ยากเพราะแค่ท่องจำก็พอสอบได้ ครั้นโตเป็นผู้ใหญ่ คนส่วนมากเห็นว่าเป็นวิชาคร่ำครึ และไม่ช่วยทำให้เกิดรายได้หรืออาชีพการงานที่รุ่งเรืองมั่นคง แถมดูเหมือนว่าใครๆ ก็เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องฝึกฝน ร่ำเรียน ตอนเป็นผู้ใหญ่นี่แหละที่เรามักเชื่อว่าเรารู้ประวัติศาสตร์ของชาติเป็นอย่างดี
ยามใดที่มีความขัดแย้งสาธารณะซึ่งเกี่ยวพันกับความรู้ทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าชาติอื่นมาสะกิดแตะต้องประวัติศาสตร์ของชาติเรา ผู้ใหญ่ทั้งหลายจะแสดงตัวเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์กันเยอะแยะเต็มไปหมด โต้แย้งชนชาติอื่นทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่เคยตั้งใจหรือสนใจเรียนประวัติศาสตร์ วิชาประวัติศาสตร์จึงประหลาดตรงที่ "ยิ่งคนที่ไม่เรียนรู้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นผู้รู้มากเท่านั้น" ทุกคนกลายเป็นผู้รู้ ภูมิใจจนน้ำหูน้ำตาไหล
การละเมิดประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม : อาชญากรรมทางความคิดที่สมควรถูกลงโทษ
ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมถูกใช้เพื่อปลูกฝัง ศรัทธา หรือความเชื่อชุดหนึ่งที่ไม่พึงสงสัยผ่านการผลิตซ้ำ ตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นอุดมการณ์ที่แทบจะกลายเป็นศาสนา มีความศักดิ์สิทธิ์ในระดับที่มีไว้ให้ชื่นชมดื่มด่ำ การละเมิดประวัติศาสตร์ประเภทนี้จึงเป็นอาชญากรรมทางความคิดที่สมควรถูกลงโทษอย่างรุนแรง ทำนองเดียวกันกับการลบหลู่ทางศาสนา การค้นคว้าใหม่ๆ เป็นเพียงการเพิ่มเรื่องเล่าเล็กๆ ที่ประกอบกันเข้าเพื่อยืนยันและแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของชาติและบรรพบุรุษโดยเฉพาะเจ้ากรุงเทพตามที่เรื่องเล่าแม่บทได้สถาปนาไว้นานแล้ว ประวัติศาสตร์ประเภทนี้กีดกันและผลักไสคำถามที่อาจบ่อนเซาะความเชื่อหลักให้สงบเงียบและกลายเป็นชายขอบ
ประวัติศาสตร์ประเภทนี้คือ 'การสร้างตำนานปรัมปรา (myth)' ที่เล่าซ้ำจนมั่นใจได้ว่า 'เหมือนเดิม' ถูกต้องเสมอ ประวัติศาสตร์แบบนี้ไม่ได้มีไว้ให้คิด แต่มีไว้ให้คนท่อง จดจำจนเกิดศรัทธา รักชาติ รักบ้านเมือง ทั้งนี้ ตำนานปรัมปราสามารถสร้างสีสันได้ด้วยการปรับแต่ง ต่อเติม เนื้อเรื่องเล็กน้อยเพื่ออรรถรส ความสนุกสนาน แต่โครงเรื่อง (plot) และสาระสำคัญต้องไม่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องไม่ไปขัดกับ 'บรรทัดฐานทางสังคม' เนื้อเรื่องจะผิดมากไม่ได้ ประวัติศาสตร์แบบนี้ถูกใช้เพื่อตอกย้ำอุดมการณ์ บรรทัดฐานทางสังคมที่มีอยู่เดิม ตอกย้ำเพื่อยืนยันในสิ่งที่คนรู้อยู่แล้วว่ามันถูกต้องแท้จริง สร้างตำนานให้เกิดศรัทธา หยุดนิ่ง ตายตัว เปลี่ยนแปลงไม่ได้
จงหาเรื่องกับประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์อาจฆ่าคนได้
ทั้งนี้ การ 'หาเรื่อง' ไม่ใช่การหาความรู้ที่ถูกต้องที่สุด แต่การหาเรื่องคือการกวนน้ำให้ขุ่น ท้าทายกับความคิดที่มีอยู่เพื่อให้เกิดการคิด จุดประสงค์สำหรับวิชาประวัติศาสตร์สำหรับธงชัยก็คือ การทำให้เซลล์สมองโต เมื่อเซลล์สมองแตกตัว เติบโตก็อาจไปคิดเรื่องอื่นได้ ประวัติศาสตร์ช่วยให้เข้าใจและอธิบายการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น การสร้างคำถามของนักประวัติศาสตร์อาจเกิดขึ้นมาได้ด้วยการพลิกมุมคิด ปรับมุมมอง (perspective) เปลี่ยนจุดสนใจ แทนที่จะสนใจจุดเดิมๆ ก็หันไปสนใจจุดใหม่ๆ แทน และต้องระวังอย่าให้ประวัติศาสตร์ ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ต่างๆ หยุดนิ่ง ตกตะกอน
เมื่อใดที่ประวัติศาสตร์ ความคิด และความเชื่อหยุดนิ่งตกตะกอน จะกลายเป็น 'สิ่งอันตรายที่น่ากลัว' ศาสตราจารย์ธงชัยกล่าวถึงบันทึกเดือนตุลาเช้าวันพุธที่ตนเองเขียนในบรรทัดสุดท้ายว่า 'ประวัติศาสตร์ช่างโหดร้ายเหลือเกิน' ดังนั้นแล้วเราจึงต้องหาเรื่องกับประวัติศาสตร์เพราะประวัติศาสตร์มีอำนาจมากเกินไป ประวัติศาสตร์อาจฆ่าคนได้ อย่าให้ประวัติศาสตร์แบบใดก็ตามมีอำนาจมากเกินไป สิ่งที่ควรจะเป็นคือการปล่อยให้มีประวัติศาสตร์หลากหลายแบบในสังคมเดียวกัน ประวัติศาสตร์ต้องไม่มีคำตอบเดียว แต่มีคำถามใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ หาเรื่องใหม่ได้เสมอ อย่าให้ความรู้หยุดนิ่ง ตกตะกอน
การควบคุมประวัติศาสตร์ / เสรีภาพทางความคิด / ความเข้าใจผิดของมนุษย์
ศาสตราจารย์ธงชัยกล่าวถึงการบรรจุเหตุการณ์ 6 ตุลา 2516 และ 14 ตุลา 2519 ในแบบเรียนว่า ตนเองไม่เห็นด้วย ต่อให้บังคับยัดเยียดลงไปในแบบเรียน ผู้เรียนก็จะเพียงแค่ท่องจำ เป็นนกแก้วนกขุนทอง อีกทั้งตัวเนื้อหาเหตุการณ์เองก็ออกจะไม่เข้ากับโครงเรื่องประวัติศาสตร์กระแสหลัก สิ่งที่ควรจะเป็นคือต้องไม่ควบคุม กำกับ บังคับ บรรจุประวัติศาสตร์เลย แต่ปล่อยให้มีประวัติศาสตร์หลายแบบ เปิดเสรีภาพทางความคิด อันตรายจะได้ลดลง ปล่อยให้สังคมตัดสิน
ถ้าคนไทยยังอนุรักษนิยมกันอยู่ก็ต้องสู้กันทางความคิดต่อไป อย่าบังคับกะเกณฑ์ให้ต้องท่องจำ ยกเลิกการบังคับทางวัฒนธรรม ต้องไม่ทำแบบเดียวกับอำนาจนิยม เปิดเสรีภาพให้กับทุกฝ่าย ไม่มีทางอื่น นอกจากสู้กันต่อไป ปล่อยให้สู้กันไป ทะเลาะกันไป ยืนยันหลักการว่าต้องการเสรีภาพ แล้วปล่อยให้เกิดการต่อสู้กันทางความคิด มนุษย์อยู่กับความลวง ความเข้าใจผิดมาโดยตลอด การต่อสู้ดำเนินเสมอมา สิ่งสำคัญจึงคือการปล่อยให้การต่อสู้เป็นไปโดยปราศจากความรุนแรง
ธงชัยทิ้งทายถึงกลุ่มคนที่ทำงานทางปัญญาในสังคมอับจนปัญญาว่า อย่าเอาภาวะทางการเมืองในปัจจุบัน การขาดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การเซ็นเซอร์ มาเป็นข้ออ้างในการทำงาน เราควรต่อสู้ทางปัญญาและอุดมการณ์ทางความคิดต่อไป เพื่อช่วยให้สังคมมีตัวเลือกมากขึ้น ช่วยกันขยับขยายเพดานความคิดที่ต่ำเตี่ยเรี่ยดินให้สูงขึ้น ให้คนได้มีโอกาสที่จะพบกับความคิดที่แตกต่างหลากหลาย เสรีภาพเป็นสิ่งที่มีเสน่ห์ ขอให้เราทุกคนมีความหวัง ศรัทธา ความหวังมาจากศรัทธาส่วนบุคคล ไม่ได้มาจากเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความหวัง ขอให้ทุกคนจงเชื่อมั่นว่าประเทศไทยดีกว่านี้ได้
==============
คลิกสั่งซื้อ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984)
อ่านบทกล่าวตามโดย ธงชัย วินิจจะกูล -- อำนาจกับการขบถ
หรือคลิกสั่งซื้อ Set ครบชุดวรรณกรรมโลกสมมติ ในราคาพิเศษ