8 ตำนานนักเขียนหญิงที่โลกลืม

Last updated: 11 ส.ค. 2565  |  7785 จำนวนผู้เข้าชม  | 

8 ตำนานนักเขียนหญิงที่โลกลืม

เมื่อพูดถึงงานเขียนคลาสสิค เรามักได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของนักเขียนชายเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่จริงแล้ว...มีนักเขียนหญิงจำนวนไม่น้อยที่มีทั้งพรสวรรค์และความมุมานะต่อการเขียน

เราขอแนะนำนักประพันธ์หญิง 8 คน ที่ได้ฝากผลงานเลื่องชื่อให้แก่วงการวรรณกรรม  ย้ำเตือนกันอีกครั้ง ก่อนที่พวกเธอจะหายไปจากความทรงจำ
============



1. จอร์จ ซองด์ (George Sand)

‘จอร์จ ซองด์’ เป็นนามปากกาของนักเขียนสตรีที่มีชื่อจริงว่า ลูซิล ดูแปง เธอใช้ชื่อของบุรุษมาเป็นนามแฝงเหมือนเช่นนักเขียนสตรีอังกฤษที่ชื่อ ‘จอร์จ อีเลียต’ งานเขียนนิยายของ จอร์จ ซองด์ จัดอยู่ในยุคโรแมนติคเช่นเดียวกับนักเขียน นักประพันธ์สตรีในสมัยศตวรรษที่ 19 แทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เจน ออสเตน, จอร์จ อีเลียต และพี่น้องตระกูลบรองเต (ชาร์ล็อตต์, เอมิลี และแอนน์) งานเขียนของนักเขียนสตรีอังกฤษเหล่านี้มีแบบอย่างของการเรียกร้องความเท่าเทียมบุรุษเพศไม่ทางตรงก็ทางอ้อม แต่งานของ จอร์จ ซองด์ มีอิสระมากกว่า การใช้ชีวิตของเธอก็โลดโผนมากกว่า

หลังจากชีวิตแต่งงานล้มเหลว จอร์จ ซองด์ ก็ใช้ชีวิตเป็นคู่นอนกับคีตกวี - เฟรเดริก ฟรองซัวส์ โชแปง และนักประพันธ์ - อัลเฟรด เดอ มุสเซท์ จนกลายเป็นเหมือนตัวแบบเรื่อง ‘สามคนผัวเมีย’ แบบชาย 2 หญิง 1 ชีวิตในความเป็นจริงของ จอร์จ ซองด์ ค่อนข้างโลดโผน ตรงข้ามกับนิยายของเธอที่ดูอ่อนโยน และนำเสนอชีวิตเรียบง่ายในชนบทมากกว่าชีวิตวุ่นวายในเมือง นิยายเรื่อง Indiana เป็นงานสร้างชื่อเสียงให้เธอในยุคแรก และที่มีชื่อเสียงอีกเรื่องหนึ่งของเธอคือ La mare au diable ที่ฉบับภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า The Devil’s Pool จอร์จ ซองด์เขียนถึงพ่อหม้ายลูกสามที่มีเหตุต้องเดินทางไปพบสาวใหญ่เจ้าของที่ดิน โดยมีเด็กสาวชื่อ ‘มารี’ (Mare) ร่วมเดินทางไปด้วย ระหว่างทางทั้งคู่ไปหยุดที่สระน้ำแห่งหนึ่งและได้พบภาพหลอนแปลกๆ คล้ายกับว่าในอดีตชาติทั้งสองเคยเป็นคนรักกัน นอกจากจะมีชีวิตส่วนตัวโลดโผนแล้ว ยังมีผู้เขียนประวัติของ จอร์จ ซองด์ ไปในทำนองว่าเธอเป็นผู้นิยมรักเพศเดียวกัน  (lesbianism)  อีกด้วย
============



2. แอนน์ บรองเต (Anne Brontë)

งานเขียนของสามพี่น้องในตระกูลนี้ ‘บรองเต’ มีนิยายที่แปลเป็นไทยอยู่แล้วสองเรื่อง คือ Jane Eyre โดย ชาร์ล็อต บรองเต ในชื่อ เยนแอร์ แปลโดย จูเลียต และ Wuthering Heights โดย เอมิลี บรองเต ในชื่อ ต้นรักดอกโศก แปลโดย พิมพา ความจริงยังมีงานเขียนของพี่น้องในตระกูล ‘บรองเต’ อยู่อีกหนึ่งคน คือ แอนน์ บรองเต งานนิยายในลีลา ‘กอธิกแบบอังกฤษ’ ของเธอผู้นี้มีลักษณะจริงจังมากกว่าพี่สาวทั้งสอง และน่าจะได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเสียให้ครบทั้งสามคนพี่น้อง

ผลงานเรื่อง The Tenant of Wildfell Hall ของ แอนน์ บรองเต นำเสนอเรื่องชั่วร้ายอย่างไม่ปิดบัง เป็นเรื่องความเสื่อมที่ไม่มีทางออก เช่น การติดเหล้า การทำร้ายร่างกาย และการขืนใจ นักวิจารณ์อังกฤษบางคนกล่าวว่านิยายของ แอนน์ บรองเต มีลักษณะที่เป็นคติสมัยใหม่ (modernism) มากกว่านิยายของพี่สาวทั้งสอง และได้ให้ความสำคัญกับคำว่า ‘สตรีนิยม’ อย่างมีชั้นเชิงมากกว่า น่าเสียดายที่นักแปลในรุ่น ‘จูเลียต’ และ ‘พิมพา’ และในรุ่นต่อๆ มากลับมองข้าม แอนน์ บรองเต ไปเหมือนไม่เห็นความสำคัญของเธอ
============



3. เอลิซาเบธ กัสเคลล์ (Elizabeth Gaskell)

นิยายของนักเขียนสตรีชาวอังกฤษผู้นี้เข้าใจว่าไม่เป็นที่รู้จักในบ้านเราเช่นเดียวกัน ทั้งที่เธอเป็นนักเขียนสตรีผู้สนใจประเด็นทางสังคมไม่แตกต่างไปจากนิยายของ ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ และ โธมัส ฮาร์ดี้ งานเขียนคลาสสิคของ เอลิซาเบธ กัสเคลล์ ที่มีผู้ยกย่องไว้คือนิยายเรื่อง North and South นิยายเชิงสังคมเรื่องนี้นำเสนอภาพชีวิตของคนอังกฤษยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่วิถีชีวิตแบบชนบทกำลังจะกลายเป็นวิถีแบบเมือง และวิถีชีวิตแบบสังคมเกษตรที่พึ่งตนเองกำลังจะแปรสภาพไปเป็นวิถีชีวิตแบบ ‘ขายแรงงาน’ ในโรงงานอุตสาหกรรม (ว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากสังคมไทยในปัจจุบัน)

North and South เป็นนิยาย ‘เพื่อชีวิต’ ในลีลาแบบอังกฤษสมัยกลางศตวรรษที่ 19 ที่ไม่เคยเดินทางมาถึงขบวนการฝ่ายซ้ายในสังคมไทย ภาพชีวิตตีนถีบปากกัดของตัวละครชื่อ มาร์กาเร็ต เฮล (Margaret Hale) ในนิยายเรื่องนี้ นอกจากจะนำเสนอภาพที่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับผู้คนในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษแล้ว ยังถือเป็นนิยายในบริบท ‘ก้าวพ้นวัย’ หรือ ‘coming of age’  ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งด้วย นี่คือนักเขียนสตรีของอังกฤษในสมัยปลายยุควิกตอเรียที่ผลงานของเธอยังมีผู้ศึกษาวิจัยและให้การยกย่องในปัจจุบัน
============



4. จอร์จ อีเลียต (George Eliot)

นักเขียนสตรีผู้ใช้นามปากกาเหมือนบุรุษผู้นี้มีนามจริงว่า แมรี แอนน์ อีวานส์ งานนิยายของเธอมีชื่อเสียงไม่แพ้งานนิยายของ เจน ออสเตน และ พี่น้องตระกูลบรองเต (Brontë family) ผลงานมีชื่อของ ‘จอร์จ อีเลียต’ เริ่มมาจากนิยายเรื่อง Adam Bede และ Silas Marner แต่นิยายคลาสสิคอีกสองเรื่องของเธอที่มีผู้กล่าวยกย่องเอาไว้คือ The Mill on the Floss และ Middlemarch งานประพันธ์ของ ‘จอร์จ อีเลียต’ ก่อเกิดร่วมสมัยกับ สีแดงกับสีดำ ของสต็องดาล น่าเสียดายที่นิยายของเธอไม่มีฉบับแปลเป็นภาษาไทยเลยแม้แต่เรื่องเดียว ตรงกันข้ามกับนิยายของ มารี คอเรลลิ ที่มีผู้แปลเป็นภาษาไทยมากกว่า 5 เรื่อง และบางเรื่องมีแปลซ้ำกันด้วย เช่นเรื่อง เต็ลมา  ที่มีทั้งสำนวนแปลของ  ‘แม่อนงค์’  และ  ‘อมราวดี’

นิยายเรื่อง The Mill on the Floss จัดเป็นงานแบบโศกนาฏกรรม แก่นแกนว่าด้วยภัยธรรมชาติ (อุทกภัย) ที่ทำให้ความบาดหมางในครอบครัวยุติลง นี่เป็นพล็อตเรื่อง ‘เมโลดราม่า’ ที่ต่อไปเราจะเห็นบริบททำนองนี้ในนิยายและภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง และว่ากันให้ลึกมากขึ้นก็น่าจะสืบขนบมาจากเรื่องบทละคร The Tempest ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ กล่าวคือ เมื่อเรื่องร้ายๆ ผ่านพ้น เรื่องดีๆ  ก็จะเกิดขึ้นตามมา
============



5. เซลมา ลาเกอร์เลิฟ Selma Lagerlöf

นี่คือผลงานนิยาย ‘ระดับโลก’ ของนักเขียนสตรีคนแรกของสวีเดนที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เมื่อปี ค.ศ. 1909 ผลงานของ เซลมา ลาเกอร์เลิฟ เรื่องนี้เป็นเหมือนมหากาพย์ของกลุ่มชนในประเทศแถบยุโรปเหนือ งานเขียนของเธออยู่ในขนบแบบเก่าที่มีลักษณะคล้ายนิทานเปรียบ-เทียบ นี่คือนิยายของสตรีรุ่นบุกเบิกของสวีเดนและของโลกวรรณกรรมในสมัยปลายศตวรรษที่ 19 ที่อยู่ในยุคเดียวกับ โธมัส ฮาร์ดี้ และ เซอร์ อาเธอร์โคแนน ดอยส์ นักอ่านเรื่องแปลบ้านเราพอจะรู้จัก โธมัส ฮาร์ดี้ และ อาเธอร์โคแนน ดอยส์ ผ่านทางงานแปลอยู่บ้าง แต่ผลงานของ เซลมา ลาเกอร์เลิฟ ที่เป็นเหมือนตัวแทนของนักเขียนสตรีแห่ง ‘ยุโรปเหนือ’ ผู้นี้ เรากลับไม่รู้จักแม้แต่น้อย นิยายเรื่อง The Saga of Gösta Berling เป็นงานเขียนเรื่องแรกของเธอที่มีส่วนฟื้นฟูวรรณกรรมโรแมนติคของสวีเดนในสมัยปลายศตวรรษที่ 19

นิยายเรื่อง The Miracles of Antichrist ของลาเกอร์เลิฟใช้ฉากที่ซิซิลี การไปเยือนอียิปต์และปาเลสไตน์ทำให้ลาเกอร์เลิฟเขียนผลงานเรื่อง Jerusa-lem I และ Jerusalem II จนเป็นผลงานที่สร้างชื่อให้เธอเป็นนักเขียนสตรีแถวหน้าของสวีเดน งานรวมเรื่องสั้นชุด Invisible Links นำความสำเร็จมาให้เธอในฐานะนักประพันธ์ชั้นยอด แต่ เซลมา ลาเกอร์เลิฟ มักถูกมองว่าเป็นเพียง ‘นักเล่านิทาน’ เหมือนเช่น ไอแซค ไดนีเสน นักเขียนสตรีของเดนมาร์ก เจ้าของผลงานเรื่อง Out of Africa (มีฉบับแปลภาษาไทยในชื่อ พรากจากแสงตะวัน  แปลโดย  สุริยฉัตร  ชัยมงคล)
============



6. เคท โชแปง Kate Chopin

เคท โชแปง (Kate Chopin: 1850-1904) นักเขียนหญิงคนแรกๆ ของอเมริกาที่เขียนถึงตัวละครผู้หญิงในประเด็นที่ท้าทายสังคมยุคนั้นอย่างเรื่องเพศ การหย่าร้าง อิสรภาพ เรื่องชู้สาว ความสัมพันธ์ของสามีภรรยา และศาสนากับการกดขี่ผู้หญิง

นิยายของ เคท โชแปง เล่าเรื่องผู้หญิงที่แสวงหาสมดุลระหว่างความต้องการของตัวเองและความรับผิดชอบที่ตนมีต่อสังคม นิยายที่โดดเด่นที่สุดของเธอคือเรื่อง The Awakening (1899) หรือในชื่อภาษาไทยว่า 'การฟื้นตื่นของเอ็ดน่า'



เคทเขียนเรื่องสั้นกว่า 100 เรื่อง ตีพิมพ์ในนิตยสารชื่อดัง เช่น Vogue, Atlantic Monthly, Harper’s Young People และ The Century

ในวัย 18 ปี เมื่อถึงเวลาต้องออกงานสังคมเพื่อหาคู่ครองที่เหมาะสม เคทเขียนในบันทึกของเธอว่า “ทั้งหมดช่างน่ารำคาญ -- ฉันอยากให้มันจบเสียที ... งานปาร์ตี้ โอเปร่า คอนเสิร์ต การเล่นสเก็ต และงานรื่นเริงไม่รู้จบสิ้น ทำฉันเสียเวลาไปมาก การอ่านและการเขียนที่ฉันรักมากต้องถูกทอดทิ้ง” เธอเขียนอีกด้วยว่า “ฉันเต้นรำกับคนที่ฉันชัง สนุกกับผู้ชายที่มีดีแต่ที่เท้า”

เอมิลี ทอร์ธ (Emily Toth) ศาสตราจารย์ด้านภาษาอังกฤษและสตรีศึกษา กล่าวว่า “ฉันอ่านงานของเธอครั้งแรกเมื่อได้หนังสือ The Awakening จากผู้หญิงที่บอกฉันว่า ‘เธอควรอ่านเล่มนี้’ และคำถามข้อใหญ่ที่เราถามตัวเองก็คือ เคท โชแปง รู้ทั้งหมดนี้ได้อย่างไรในปี 1899”

เป็นเรื่องที่น่าโศกเศร้าไม่น้อยที่นักเขียนคนหนึ่งอย่าง เคท โชแปง จะเสียชีวิตไปโดยไม่มีโอกาสรู้ว่า ปัจจุบันผู้คนชื่นชมยกย่องและศึกษางานเขียนของเธอ และเห็นว่าเธอเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ ‘มาก่อนกาล’
============



7. ไอแซค ไดนีเสน (Isak Dinesen)

เธอควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ.1959 ปีเดียวกับที่ Graham Greene, John Steinbeck และ Salvatore Quasimodo มีชื่อเสนอชิงรางวัล ไอแซค ไดนีเสน (Isak Dinesen) เป็นชื่อที่นักอ่านอเมริกันรู้จักเธอ แท้จริงแล้วเป็นนามปากกาของ คาเรน บลิกเซน (Karen Blixen) ไดนีเสนเกิดวันที่ 17 เมษายน ค.ศ.1885 ความฝันวัยเด็กของเธอคือจิตรกร แต่เมื่อต้องออกเดินทางไปแอฟริกา ความฝันที่ก็ถูกเก็บไว้ในซอกหลืบ

ค.ศ.1985 มหาวิทยาลัยหลายแห่งในโคเปนเฮเกนเฉลิมฉลอง ‘100 ปีชาตกาลของ คาเรน บลิกเซน’ และในปีเดียวกันนี้ บ้านไร่บริเวณไร่กาแฟของเธอในเคนยาก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ต่อมาในปี ค.ศ.1991 ‘พิพิธภัณฑ์คาเรน บลิกเซน’ ในโคเปนเฮเกนก็เสร็จสมบูรณ์



นี่คือความยิ่งใหญ่ของนักเขียนหญิงคนหนึ่งที่เคยทิ้งการเขียนเพื่อค้นหาชีวิตที่ดีกว่าในแอฟริกา และใช้เวลาอีกสามสิบปีที่เหลือกลับมาทุ่มเทกับงานเขียนอีกครั้งในเดนมาร์กหลังจากที่ผลเขียนชิ้นแรกตีพิมพ์ในช่วงอายุยี่สิบ กล่าวได้ว่าชีวิตช่วงหลังนี้เป็น ‘ห้วงเวลาแห่งการเขียนโดยแท้’

สนใจงานแปลของเธอคลิก งานเลี้ยงของบาเบตต์ (Babette's Feast)
============



8. เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf)

เธอเกิดมาด้วยชื่อเต็มว่า อเดไลน์ เวอร์จิเนีย สตีเฟน เมื่อปี 1882 เป็นเด็กผู้หญิงซึ่งอยู่ในชนชั้นกลางค่อนข้างสูงในสมัยวิคตอเรียนที่ค่อนข้างหัวโบราณไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว และเช่นเดียวกับนักประพันธ์ยุคสมัยใหม่ส่วนใหญ่ วูล์ฟมักต้องถกเถียงกับอดีตของตนเอง นำมันมาใช้เป็นแหล่งที่มาของเนื้อหาที่เขียน แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามปลุกปั้นสรรค์สร้างสิ่งใหม่จากอดีต



เซอร์เลสลีย์ สตีเฟน บิดาของเธอนั้นเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมและบรรณาธิการของ พจนานุกรมชีววิทยาแห่งชาติ (Dictionary of National Biography) จูเลีย แจ็คสัน ดั๊กเวิร์ธ สตีเฟน มารดาของวูล์ฟ เป็นสาวงามซึ่งมีญาติมิตรอยู่ในวงการศิลปะและวรรณกรรมมากมาย ทั้งสองมีลูกชายหญิงรวมกันทั้งหมดแปดคนซึ่งทุกคนได้ไปตากอากาศ
ฤดูร้อนแสนสุขด้วยกันที่เมืองเซนต์ไอฟส์ในแคว้นคอร์นวอลล์ ซึ่งก็เป็นต้นแบบบ้านพักตากอากาศของครอบครัวแรมเซย์ (ครอบครัวของเหล่าตัวละครในหนังสือ ทู เดอะ ไลท์เฮาส์ (To the Lighthouse)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้