อันโตนิโอ กรัมชี่ กับความหมายของ ‘ผู้มีสถานะรอง’

Last updated: 13 ก.ค. 2563  |  13805 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อันโตนิโอ กรัมชี่ กับความหมายของ ‘ผู้มีสถานะรอง’

แนวคิดเรื่องกลุ่มคนผู้มีสถานะรองเป็นหนึ่งในแนวคิดแกนกลางที่สำคัญในการทำความเข้าใจปรัชญาปฏิบัติของกรัมชี่ ที่มีเป้าหมายในการจัดวางความคิดเรื่องการปลดแอกมนุษย์ออกจากโครงสร้างของความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม


แนวคิดทางการเมืองของกรัมชี่ที่ให้ความสำคัญกับเจตจำนงของมนุษย์ (Human will) ในการขับเคลื่อนและกำหนดความเป็นไปของประวัติศาสตร์ และในพัฒนาการของประวัติศาสตร์แบบวัตถุนิยม (Materialist conception of history) แบบมาร์กซ์นั้นได้พัฒนาสู่การเป็นสังคมที่มีคู่ขัดแย้งระหว่างชนชั้น คือชนชั้นผู้ถือครองทรัพย์สินและปัจจัยการผลิต หรือชนชั้นผู้ปกครอง (Dominant classes) และกลุ่มคนผู้ที่ถูกกดขี่ หรือมีสถานะรองโดยเปรียบเทียบกับคนอีกกลุ่มชนชั้นหนึ่ง (Subaltern/Subordinate classes)

แนวคิดเรื่องกลุ่มคนผู้มีสถานะรองเป็นหนึ่งในแนวคิดแกนกลางที่สำคัญในการทำความเข้าใจปรัชญาปฏิบัติของกรัมชี่ ที่มีเป้าหมายในการจัดวางความคิดเรื่องการปลดแอกมนุษย์ (Human emancipation) ออกจากโครงสร้างของความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม


ว่าด้วยคำว่า ‘สถานะรอง’

คำว่าผู้มีสถานะรอง ผู้เขียนแปลจากคำภาษาอังกฤษว่า ‘Subaltern’ และ ‘Subordinate’ กรัมชี่มักใช้คำนี้ในฐานะที่เป็นคำขยาย (Subaltern as an adjective) ของคำนามอื่น และใช้คำว่า ‘Subaltern’ สำหรับเป็นส่วนขยายของคำว่า ‘กลุ่มชนชั้น/กลุ่มทางสังคม’ (Social classes/Social groups) ส่วนในภาษาไทยนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการในวงวิชาการ ว่าแท้จริงแล้วควรแปลคำว่า Subaltern ว่าอะไร และมีการแปลคำนี้ไปในทิศทางที่หลากหลาย เช่น กลุ่มชนชั้นล่าง กลุ่มคนผู้ถูกกดขี่ หรือกลุ่มคนที่เป็นรอง

อย่างไรก็ตามในงานเขียนนี้ผู้เขียนเลือกใช้คำแปลว่า ‘กลุ่มคนผู้มีสถานะรอง’ เนื่องจากคำว่าสถานะรองนั้นสื่อให้เห็นถึง ‘สภาพการณ์’ หรือ ‘สภาพเงื่อนไขทางสังคม’ ที่ไม่เท่าเทียม (Uneven conditions) ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม โครงสร้างของความสัมพันธ์ทางสังคมในลักษณะเช่นนี้ใช้แทนอีกคำหนึ่งคือ ‘Subalternity’ ผู้เขียนมองว่าการเลือกใช้คำแปลในลักษณะเช่นนี้ได้สื่อภาพถึงสถานการณ์ความเป็นรองที่เกิดจากบริบทเชิงโครงสร้าง มากกว่าการตกเป็นรองที่เกิดขึ้นจากเหตุผลของปัจเจกเอง

เพราะสำหรับกรัมชี่ เมื่อเขาเลือกใช้คำว่าผู้มีสถานะรอง เขาจะใช้ในฐานะที่เป็น ‘พหูพจน์’ อยู่เสมอ ซึ่งหมายความว่าในทัศนะของกรัมชี่ สภาวะที่เป็นรองและผู้มีสถานะรองนั้นไม่ได้เกิดขึ้นหรือเป็นปัญหาส่วนตัวเฉพาะปัจเจก หรือเฉพาะผู้ใดผู้หนึ่งเท่านั้น แต่เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นร่วมกันภายใต้บริบททางประวัติศาสตร์ ที่แตกต่างกันไปของแต่ละสังคม ดังนั้นกรัมชี่จึงไม่ได้ให้ความหมายของ Subaltern แบบจำเพาะเจาะจง เพราะต้องให้ความสำคัญกับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรม ของผู้มีสถานะรองแต่ละกลุ่มเสมอ

ผู้มีสถานะรองในทางการเมืองนั้นสามารถเป็นคนธรรมดาโดยทั่วไปที่อาจมีสถานะทางการเงินที่ไม่แร้นแค้นก็เป็นได้

ดังนั้นการใช้คำว่ากลุ่มผู้มีสถานะรองในความหมายของผู้เขียนในหนังสือเล่มนี้ จึงหมายถึงกลุ่มคน ชนชั้น และกลุ่มพลังทางสังคมที่ไม่จำเป็นต้องเป็นชนชั้นล่างหรือชนชั้นกรรมาชีพ ในความหมายการนิยามชนชั้นแบบมาร์กซ์ และไม่จำเป็นต้องเป็นชนชั้นที่ยากไร้โดยการนิยามเชิงเศรษฐกิจสังคมด้วยเช่นเดียวกัน แต่ผู้มีสถานะรองในทางการเมืองนั้นสามารถเป็นคนธรรมดาโดยทั่วไปที่อาจมีสถานะทางการเงินที่ไม่แร้นแค้นก็เป็นได้ แต่ผู้มีสถานะรองคือผู้ที่ไม่มีที่ทางในทางประวัติศาสตร์ หรือไม่มีพลังขัดขืนต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรมได้ ดังนั้นเราทุกคนจึงเป็นผู้มีสถานะรองได้ในความหมายนี้

อย่างไรก็ดีในมุมมองของลิกูรี (Guido Liguori) เสนอว่า โดยสรุปแล้วเราอาจมองได้ว่ากรัมชี่มองผู้มีสถานะรองใน 3 รูปแบบด้วยกันคือ

ประการแรก ผู้มีสถานะรองในฐานะที่เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีเอกภาพในการรวมพลังกัน และเป็นกลุ่มชายขอบในทางอำนาจการเมือง ผู้มีสถานะรองในลักษณะนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาความเป็นไปได้ในการสร้างความตระหนักรู้ในทางการเมืองและการรวมตัวให้เป็นกลุ่มก้อน

ประการที่สอง ผู้มีสถานะรองในความหมายเฉพาะคือชนชั้นกรรมาชีพในสังคมอุตสาหกรรม เป้าหมายของผู้มีสถานะรองกลุ่มนี้คือความหวังเพื่อให้ได้มาซึ่งสังคมที่เป็นธรรม การขับเคลื่อนเพื่อต้านและท้าทายต่ออำนาจนำ เพื่อสร้างอำนาจนำใหม่ในแบบของคนธรรมดาได้

ประการสุดท้าย ผู้มีสถานะรองยังถูกใช้ในฐานะที่เป็นปัจเจกชนได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกชนที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับโครงสร้างอำนาจในสังคม หรือปัจเจกที่เผชิญกับขีดจำกัดในทางวัฒนธรรมในสังคมก็ตาม

...

ผู้มีสถานะรองนั้นแท้จริงแล้วควรถูกมองในฐานะกลุ่มพลังที่มีพลวัต และมีโอกาสในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้เกิดขึ้นได้

กรัมชี่ไม่ได้มองผู้มีสถานะรองในฐานะที่เป็นกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ และถูกกีดกันจากโครงสร้างอำนาจทางประวัติศาสตร์อย่างเฉื่อยชา แต่กรัมชี่อธิบายถึงผู้มีสถานะรองนั้นในประเด็นอื่นๆ ที่ควรพิจารณาร่วมด้วยเสมอ ทั้งในแง่ของของจุดมุ่งหมายในการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน ความเชื่อมโยงของกลุ่มพลังต่างๆ ทั้งในระดับเดียวกันและกับกลุ่มพลังชนชั้นอื่น โครงสร้างอำนาจในสังคม การมีอิสระในการปกครองตนเอง เป็นต้น มุมมองดังกล่าวเหล่านี้ยืนยันความคิดที่ว่า ผู้มีสถานะรองนั้นแท้จริงแล้วควรถูกมองในฐานะกลุ่มพลังที่มีพลวัต และมีโอกาสในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้เกิดขึ้นได้

สอดคล้องกับโธมัส (Peter Thomas) ที่เสนอว่า ในการทำความเข้าใจการเมืองของกลุ่มผู้มีสถานะรองและสภาวะที่เป็นรองนั้นไม่ควรถูกพิจารณาโดยแปลกแยกจากการทำความเข้าใจแนวคิดทางการเมืองอื่นๆ ของกรัมชี่โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดเรื่องรัฐแบบองค์รวม (Integral state) และการปฏิวัติที่ไม่ปฏิวัติ (Passive revolution)

สำหรับกรัมชี่ รัฐแบบองค์รวมคือรัฐสมัยใหม่ที่พื้นที่ทั้งสองระหว่างประชาสังคมและสังคมการเมือง (Civil society and Political Society) นั้นมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน พื้นที่ทางสังคมทั้งสองไม่ได้ดำรงอยู่โดยแยกขาดจากกัน หรือเป็นอิสระต่อกันอย่างสิ้นเชิง แต่พื้นที่ทั้งสองนั้นเชื่อมโยงและเสริมหนุนซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา

สำหรับกรัมชี่ รัฐแบบองค์รวมคือรัฐสมัยใหม่ที่พื้นที่ทั้งสองระหว่างประชาสังคมและสังคมการเมือง (Civil society and Political Society) นั้นมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

โธมัส เสนอว่า เราไม่ควรมองว่าประชาสังคมคือพื้นที่ตรงข้ามกับรัฐ/สังคมการเมือง ดังนั้นตามที่เราเข้าใจโดยทั่วไปว่าประชาสังคมคือพื้นที่ของการสร้างฉันทานุมัติ (Consent) เป็นพื้นที่ของการ ‘ต้าน’ (Oppose) สังคมการเมืองเพราะเป็นพื้นที่ของการบังคับ (Coercion) จึงถูกท้าทายใหม่โดยโธมัสว่า พื้นที่ทั้งสองไม่ได้ดำรงอยู่ในลักษณะของการต้านกัน แต่เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นควบคู่กัน และปฏิบัติการในพื้นที่หนึ่งนั้นสร้างความเป็นเหตุผล  (Rationality)  ให้กับอีกพื้นที่หนึ่งอยู่เสมอ

ดังนั้นสำหรับโธมัส กลุ่มผู้มีสถานะรองเองจึงไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มพลังที่อยู่ในพื้นที่ประชาสังคม เพราะไม่ได้ถือครองอำนาจรัฐ และผู้มีสถานะรองไม่ได้เป็นคนนอกของพื้นที่สังคมการเมืองแต่อย่างใด ทว่าผู้มีสถานะรองอยู่ในรัฐแบบองค์รวม ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีสถานะรองและกลุ่มพลังทางสังคมอื่นๆ ในรัฐแบบองค์รวมจึงเป็นความสัมพันธ์ที่ทับซ้อนกันอยู่ และรัฐเองก็ไม่ได้กระทำต่อผู้มีสถานะรองในลักษณะของการกด (Repressing) หรือว่ากีดกัน (Excluding) ออกจากขอบวงของอำนาจอย่างเด็ดขาดแต่อย่างใด  โธมัสจึงเสนอว่าเราควรจัดวางความคิดใหม่เกี่ยวกับผู้มีสถานะรอง
==============================

อ่านเพิ่มเติมได้ใน อันโตนิโอ กรัมชี่ กับการจัดวางความคิดทางการเมือง



อันโตนิโอ กรัมชี่ กับการจัดวางความคิดทางการเมือง:
ปรัชญาปฏิบัติ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการปลดปล่อยมนุษย์

(Gramsci and Political Installation: Philosophy of Praxis, Social Transformation, and Human Emancipation)

วัชรพล พุทธรักษา : เขียน
กาญจนา แก้วเทพ, พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : คำนิยม

ความหนา : 192 หน้า
ISBN 978-616-7196-85-5

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้