Last updated: 30 พ.ค. 2563 | 8868 จำนวนผู้เข้าชม |
ลีโอ สเตราส์ (Leo Strauss: 1899 - 1973) อพยพหนีภัยนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มาสอนหนังสือครั้งแรกที่ The New School of Social Research ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่นั่น นักวิชาการชาวยิวจากยุโรปจำนวนไม่น้อยมารวมตัวกันอยู่ จนทำให้สถาบันแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็น ‘มหาวิทยาลัยพลัดถิ่น’ (The University in Exile)
"คำสอนแบบลับๆ ของสเตราส์ (Esoteric Teaching) คือคำสอนที่ยึดตามคติของ นิคโคโล มาคิอาเวลลี (Niccolò Machiavelli) และ ฟรีดริช นิทเช่ (Friedrich Nietzsche)"
อาจกล่าวได้ว่าเมื่อแรกเริ่ม สเตราส์ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่านักคิดชาวยิวที่ให้ความสำคัญแก่ปัญหาของชนชาติยิวโดยเฉพาะ แม้แต่รูปลักษณ์ภายนอกของเขาก็ไม่มีอะไรโดดเด่น เพราะสเตราส์เป็นคนร่างเล็ก น้ำเสียงก็ไม่มีพลัง แต่นับตั้งแต่ได้ย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก ที่ซึ่งเขาสอนประจำอยู่เป็นเวลายาวนาน (สเตราส์ย้ายไปสอนที่ Claremont McKenna College และ St. John’s College อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1973) อิทธิพลทางความคิดของเขาก็เริ่มก่อตัวขึ้น และแพร่ขยายออกไปอย่างรวดเร็วทั้งในแวดวงวิชาการด้านเทววิทยา ศาสนา ปรัชญา ปรัชญาการเมือง และรัฐศาสตร์ นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนกับเขาสามารถรู้สึกได้อย่างรวดเร็วถึงพลังทางปัญญาของผู้สอนคนนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมรณกรรมของเขา
ลีโอ สเตราส์ (Leo Strauss)
แท้จริงแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า เมื่อตายแล้ว สเตราส์กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากยิ่งกว่าขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่เสียอีก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สเตราส์กลายเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านักวิชาการชาวยิวธรรมดาในอเมริกา อยู่ที่บทบาทและอิทธิพลทางความคิดของสานุศิษย์คนสำคัญๆ ของเขา ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น ‘ครู’ ผู้ยิ่งใหญ่เสียเอง ศิษย์เอกในยุคแรกๆ ของสเตราส์ที่ควรค่าแก่การกล่าวถึง เช่น
การรวมตัวกันอย่างค่อนข้างเหนียวแน่นของตัวบุคคลเหล่านี้ที่ไม่กระดากอายที่จะมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างตนกับสเตราส์เป็นเรื่องของ ‘ศิษย์’ กับ ‘ครู’ และไม่ได้เป็นเพียงแค่ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘นักศึกษา’ กับอาจารย์ธรรมดาๆ ต่อมาจะได้กลายเป็นชนวนให้มีการโจมตีว่า ‘ศิษย์’ ของสเตราส์เหล่านี้ และบรรดาผู้นิยมแนวทางของสเตราส์ (The Straussian) เป็นเหมือนพวกคลั่งลัทธิศาสนาที่มีความลับเฉพาะกลุ่มของตนที่บุคคลภายนอกไม่อาจล่วงรู้ได้
อย่างไรก็ดี ข้อโจมตีสเตราส์ที่มีสาระทางวิชาการที่เด่นชัด ได้แก่ข้อหาว่า สเตราส์เป็นผู้ที่รื้อฟื้นวิวาทะระหว่างความเชื่อสมัยโบราณกับสมัยใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง และเขาเลือกที่จะเข้าข้างสมัยโบราณ นั่นคือสเตราส์มีทัศนะที่ว่าศาสตร์ทางการเมืองและจริยศาสตร์ของนักคิดโบราณนั้นสูงส่งกว่าศาสตร์ทางการเมืองและจริยศาสตร์ร่วมสมัย
‘สาระ’ ของข้อโจมตีนี้มีข้อที่น่าสนใจยิ่งตรงที่ว่า พร้อมๆ กับที่ถูกมองว่าเป็นผู้ฝักใฝ่ระบบศีลธรรมแบบโบราณ สเตราส์ก็ถูกโจมตีด้วยว่า โดยเนื้อแท้แล้ว เขาไม่ได้เป็นเช่นว่าเลย แต่ที่จริงแล้ว คำสอนแบบลับๆ ของสเตราส์ (Esoteric Teaching) คือคำสอนที่ยึดตามคติของ นิคโคโล มาคิอาเวลลี (Niccolò Machiavelli: 1469 - 1527) และ ฟรีดริช นิทเช่ (Friedrich Nietzsche: 1844 - 1900)
สเตราส์เป็นพวกปฏิเสธพระเจ้า และเป็นผู้ที่ยึดมั่นในคติสุญนิยม (Nihilism) ที่ปั่นหัวคนหนุ่มสาวด้วยวิธีการอันชาญฉลาด ให้กลายเป็นผู้ไม่มีศีลธรรมไปในที่สุด งานเขียนที่เลอะเทอะ เพ้อเจ้อ ของ ชาเดีย ดรูรี (Shadia Drury: 1950 - ) คือตัวอย่างที่ดีที่สุดของงานประเภทนี้
ฐานรากของข้อกล่าวหานี้ส่วนหนึ่งมาจากการที่สเตราส์ค้นพบว่านักเขียนโบราณมีกลวิธีในการถ่ายทอด ‘ความจริง’ ที่สลับซับซ้อน คือมีทั้งคำสอนที่เปิดเผยต่อสาธารณะ (Exoteric Teaching) และคำสอนลับ (Esoteric Teaching) ที่เฉพาะผู้ทรงปัญญาเพียงพอเท่านั้นที่อาจค้นพบได้
และสเตราส์ใช้วิธีการเดียวกันนี้ในการเขียนงานของตนเอง นั่นคือสเตราส์พัฒนาศิลปะในการเขียนที่ไม่กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าตนไม่เชื่ออะไร แต่เลือกที่จะกล่าวอย่างไม่สมบูรณ์ในสิ่งที่ตนเชื่อว่าจริง
...
โดยปกติ สเตราส์จะตั้งคำถามเอากับตัวบทที่ศึกษาอยู่ และเสนอคำตอบผ่านการตีความของตน มีการสลับไปสลับมาระหว่างบทบาทของผู้อ่านที่ตั้งข้อสงสัยและผู้ตอบคำถามต่างๆ อยู่ตลอด นอกจากนั้น ในแต่ละบทบาทของสเตราส์ก็มักจะเต็มไปด้วยคำอธิบายอันหลากหลายอีกด้วย
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เราไม่ค่อยได้พบสเตราส์โดยลำพัง แต่มักจะพบเขาอยู่กับนักคิดที่ยิ่งใหญ่ที่เขากำลังศึกษาอยู่เสมอ ตรงนี้จึงค่อนข้างจะแน่ชัดว่าหากสเตราส์ไม่ถึงกับเขียนอย่างซ่อนเร้น แต่อย่างน้อยที่สุด ก็เขียนในลักษณะที่ปกปิดอยู่พอสมควร เราจึงอาจต้องอ่านงานของสเตราส์ในวิธีเดียวกันกับที่สเตราส์อ่านงานสำคัญๆ ในอดีตนั่นเอง
หากพิจารณาเจตนารมณ์ของสเตราส์ตามที่ปรากฏอย่างตรงไปตรงมาเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ภารกิจหลักที่เขากำหนดให้ตนเองได้แก่การรื้อฟื้นปรัชญาการเมืองคลาสสิกให้กลับมาเป็นที่ยอมรับอีกครั้ง ทั้งนี้ทั้งนั้น สืบเนื่องมาจากสิ่งที่สเตราส์เรียกว่าเป็น ‘วิกฤตของโลกตะวันตก’ (The Crisis of the West) ซึ่งเขาหมายถึงการที่โลกตะวันตกหรืออารยธรรมตะวันตกไม่มีความมั่นใจในวัตถุประสงค์ของตนเองอีกต่อไป
วัตถุประสงค์ที่ว่านี้คือการสถาปนาสังคมที่ดีบนรากฐานของเหตุผลและความรู้ วิกฤตของโลกตะวันตกตามที่สเตราส์เข้าใจนี้ เป็นผลสืบเนื่องโดยตรงมาจากปรัชญาสมัยใหม่หรือปรัชญาของยุคแห่งภูมิธรรม (The Age of Enlightenment) ที่มีรากฐานอยู่บนความคิดเรื่องเสรีนิยม ความก้าวหน้า ที่ในที่สุดแล้วต้องมาควบคู่กันกับความคิดเรื่องสัมพัทธภาพทางศีลธรรม (Moral Relativism) หรือสุญนิยม (Nihilism)
...
สเตราส์มองเห็นความไม่สมดุลหรือความไม่สอดคล้องกันอย่างสมบูรณ์ระหว่างเสรีนิยมประชาธิปไตยกับโอกาสที่จะดำรงวิถีชีวิตของชาวยิวที่อิงอยู่กับศาสนา ที่พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้เผยแสดงความจริงให้ปรากฏ (Revealed Religion) ในเยอรมันแห่งยุคสาธารณรัฐไวมาร์ สเตราส์ก็พบว่างานของสปิโนซ่าแท้จริงแล้วก็คือการโจมตีอดีต โดยปรัชญาแห่งยุคภูมิธรรม เพื่อเตรียมโลกให้พร้อมสำหรับสังคมใหม่แห่งวิทยาศาสตร์และอิสระเสรีในอนาคตนั่นเอง
"สเตราส์มองเห็นความไม่สมดุลหรือความไม่สอดคล้องกันอย่างสมบูรณ์ระหว่างเสรีนิยมประชาธิปไตยกับโอกาสที่จะดำรงวิถีชีวิตของชาวยิวที่อิงอยู่กับศาสนา"
สำหรับสเตราส์ นี่คือ ‘อคติ’ แต่เพราะว่ามันเป็นอคติที่มุ่งต่อต้านความคิดความอ่านของยุคสมัยโบราณด้วยการประกาศตนเองว่าเป็นผู้ต่อต้านอคติ ผู้คนในปัจจุบันจึงไม่รู้สึกว่ามันเป็นไปเพื่อที่จะสกัดกั้นชัยชนะของอคติที่พรางตัวมาในรูปของชัยชนะเหนืออคตินี้ สเตราส์จึงกำหนดภารกิจหลักของตนว่าต้องรื้อฟื้นหรือกลับไปหาภูมิปัญญาของนักคิดยุคโบราณโดยปราศจากอคติปิดกั้นให้ได้
แต่การเดินทางทางความคิดของสเตราส์เป็นการเดินทางที่ไม่ใช่เส้นทางสายตรง สเตราส์หวนคืนสู่สมัยโบราณหรือปรัชญากรีกผ่านการศึกษาความคิดของปราชญ์ในสมัยกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการศึกษางานของ ไมโมนิเดส (Maimonides: 1135 / 1138 - 1204) ปราชญ์ชาวยิว และไปถึง อัล - ฟาราบี (Al - Farabi: 872 - 950) ปราชญ์คนสำคัญของโลกอาหรับ
อย่างน้อยที่สุด นักปรัชญาสมัยกลางเหล่านี้ก็อยู่ใกล้กับปรัชญากรีกมากว่าปรัชญาตะวันตก เพราะในขณะที่งานคลาสสิกมีการแปลเป็นภาษาอาหรับไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่เก้า แต่กว่างานเดียวกันจะเป็นที่รู้จักกันในโลกตะวันตก ก็ต้องล่วงเข้ามาจนถึงศตวรรษที่ 15
==============================
บางส่วนจากบทนำ ลีโอ สเตราส์ กับปรัชญาการเมือง โดย สมบัติ จันทรวงศ์
ในเล่ม บทสำรวจความคิดทางปรัชญาการเมืองของ ลีโอ สเตราส์
คลิกสั่งซื้อ