ธงชัย  วินิจจะกูล | อำนาจของสาธารณชน จากบทกล่าวตามในหนังสือ 1984

Last updated: 24 ธ.ค. 2563  |  4966 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ธงชัย  วินิจจะกูล | อำนาจของสาธารณชน จากบทกล่าวตามในหนังสือ 1984

ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างชนชั้นปกครองกับผู้ถูกปกครองในสังคมโอชันเนียเป็นความสัมพันธ์แบบที่อำนาจรัฐเป็นผู้ผูกขาดการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ประชาชนถูกครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จ เป็นความสัมพันธ์แบบบนลงล่างทางเดียว ซึ่งสาธารณชนไม่มีบทบาทหรือโอกาสเป็นฝ่ายกระทำต่อรัฐหรือต่อประชาชนด้วยกันเอง

Dystopia ของออร์เวลล์คาดการณ์จากสังคมสมัยใหม่แบบต้นศตวรรษที่ 20 ว่า หากผันแปรไปถึงจุดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมประชากรจะมีหน้าตาอย่างไร เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาก้าวกระโดดในช่วงระหว่างสงครามโลกสองครั้งก่อให้เกิดทั้งความหวังใหม่ๆ ว่ามนุษย์สามารถยกระดับความสามารถและพัฒนาไปได้อีกไกลอย่างที่ไม่เคยมาก่อน แต่ก็ก่อให้เกิดความกังวล กลัวว่าเทคโนโลยีอาจทำลายมนุษย์และสังคม เพราะเทคโนโลยีอาจพัฒนาอำนาจจนน่ากลัว หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ คือจินตนาการของอย่างหลัง

แต่ออร์เวลล์ไม่สามารถมีญาณหยั่งรู้อย่างเราท่านในปัจจุบันที่มองย้อนหลังไปแล้วพบว่า ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐและประชาสังคม และธรรมชาติของอำนาจรัฐในสังคมสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กลับเปลี่ยนไปมหาศาล จากรัฐและระบบการเมืองของต้นศตวรรษที่ 20 ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ การเมืองของสาธารณชน (public) กล่าวคือ สาธารณชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมือง การเปลี่ยนผ่านอำนาจ และการใช้อำนาจ และเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมหล่อหลอมความคิดของประชาชนด้วยกันเอง

การขยายตัวของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หนังสือพิมพ์ การสื่อสารและการศึกษาที่ ‘บูม’ ขึ้นมหาศาลในเชิงปริมาณในขอบข่ายทั่วโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีส่วนทำให้การเมืองของประเทศต่างๆ (โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรม) พัฒนาขึ้นเป็นการเมืองแบบมวลชน หรือแบบสาธารณชนยิ่งกว่าช่วงก่อนหน้านั้น รัฐและสังคมมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากกว่าช่วงใดในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้น รัฐกับสังคมไม่ได้แยกออกจากกันชัดเจนอีกแล้ว

ในระยะนั้น นักทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐและสังคมไม่ว่าฝ่ายซ้ายหรือขวา พยายามอธิบายสภาวะเช่นนี้ พยายามอธิบายว่าโรงเรียน สื่อมวลชน สหกรณ์ เป็นรัฐหรือเป็นสังคม เพราะอะไรๆ ก็ดูเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไปหมด จนเหมือนว่ารัฐควบคุมครอบงำไปหมด แต่ในขณะเดียวกัน กลับสามารถมองตรงข้ามได้ว่า สังคมเป็นผู้จัดการสถาบันเหล่านั้นเอง ทั้งๆ ที่รัฐควบคุมกฎระเบียบหรือแม้กระทั่งงบประมาณ ตกลงไม่รู้ว่าจะขีดเส้นแบ่งระหว่างรัฐกับสังคมที่ตรงไหน

รัฐและสังคมใน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ไม่สะท้อนความเปลี่ยน แปลงนี้แต่อย่างใด คงรักษาจินตภาพของรัฐต้นศตวรรษที่ 20 ไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นการควบคุมบงการประชาชน หรืออะไรก็ตามที่รัฐโอชันเนียกระทำจึงดูผิดแผกต่างจากรัฐและอำนาจในปัจจุบันอย่างมาก

เมื่อการเมืองแบบเปิดที่สาธารณชนมีส่วนร่วมกว้างขวางขึ้นมาก จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อำนาจรัฐไม่กระจุกตัวอยู่ที่เดียวในมือของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียว และอำนาจของรัฐถูกตรวจสอบจากสาธารณชนอย่างกว้างขวางเปิดเผย นี่กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กระบวนการเข้าสู่อำนาจและใช้อำนาจไม่สามารถพัฒนาประสิทธิภาพไปถึงจุดที่ออร์เวลล์สร้างภาพขึ้นมาใน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ อย่างง่ายๆ

พลังของสาธารณชนในระบบการเมืองเปิดอาจช่วยป้องกันไม่ให้โอชันเนียเกิดขึ้น แต่ปัจจัยนี้ไม่ใช่หลักประกันว่าประชาชนจะฉลาด รู้ผิดชอบชั่วดี หรือมีความรับผิดชอบเสมอไป สาธารณชนสามารถตกอยู่ในมิจฉาทิฐิร่วมอย่างฝังลึกงมงายได้เช่นกัน และอาจช่วยกันกำจัดกวาดล้างพวกขบถนอกคอกได้อย่างโหดเหี้ยมไม่แพ้อำนาจรัฐ สาธารณชนสามารถเป็นผู้ค้ำจุนความอัปลักษณ์ในสังคมให้อยู่ต่อไปและเปลี่ยนยากกว่ายึดอำนาจรัฐเสียอีก ออร์เวลล์ไม่เห็นว่า ประชาชนนั่นแหละตัวอันตรายที่อาจช่วยค้ำจุนรัฐ เป็นผู้ควบคุมบงการประชาชนด้วยกันเอง และสามารถก่อความเลวร้ายได้เหลือเชื่อ

ปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งที่ท้าทายความเข้าใจต่อรัฐและสังคมแบบต้นศตวรรษที่ 20 คือ โศกนาฏกรรมขนาดใหญ่ที่ขยายวงกว้างในสังคมหนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยลัทธินาซี ความขัดแย้งทางเชื้อชาติเผ่าพันธุ์จนนำไปสู่การสังหารกวาดล้างกันขนานใหญ่อย่างที่เกิดในบอสเนีย รวันดา ซูดาน หลายแห่งในอินโดนีเชีย และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งที่เป็นข่าวครึกโครมและที่ยังคงไม่รู้จักกันนัก หรือระบอบการปกครองที่นำไปสู่การปราบปรามในวงกว้าง เช่น ลัทธิฟาสซิสม์ ลัทธิสตาลิน การปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน ระบอบเขมรแดง ฯลฯ ผู้ใช้อำนาจรัฐเป็นปัจจัยสำคัญก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมเหล่านี้ แต่ลำพังอำนาจรัฐอย่างเดียวไม่มีความสามารถพอที่จะก่อให้เกิดหายนะระดับทั่วทั้งสังคมได้ สาธารณชน หรือประชาสังคม มวลชน (หรือจะเรียกอะไรก็ตามแต่) นับเป็นปัจจัยสำคัญมากในหายนะเหล่านั้นทุกกรณี

ในกัมพูชา ถึงแม้ว่าเราจะสามารถระบุตัวผู้นำเขมรแดงได้และไม่ว่าจะนำตัวพวกเขามาลงโทษได้อย่างสาสมก่อนที่เขาจะแก่ตายไปหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่า ผู้มีส่วนลงมือในโศกนาฏกรรมคือพลพรรคระดับกลางและล่างจำนวนมาก ซึ่งก็คือชาวบ้านธรรมดานั่นเอง พวกเขามีทั้งที่ทำไปด้วยความเชื่อตามผู้มีอำนาจ ทำด้วยความมีอำนาจอยู่ในมือมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน มีทั้งที่ทำไปเพราะความกลัวอำนาจ (กลัวว่าหากไม่ทำก็อาจตกเป็นเหยื่อเอง) และที่ทำไปเพราะฉวยโอกาสหาความดีความชอบ หรือด้วยความฮึกเหิมแบบผู้อ่อนประสบการณ์ อ่อนความคิด แต่กลับมีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือ คนเหล่านี้ลงมือโดยมีอำนาจของรัฐสบับสนุนให้ท้ายอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย แต่พวกเขาเองไม่ใช่ข้าราชการหรือสมาชิกพรรคระดับสูง ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดศูนย์อำนาจด้วยซ้ำไป ปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกของการลงโทษเขมรแดงก็คือ หากเอากันจริงๆ จังๆ โดยไม่จำกัดให้อยู่แต่ระดับผู้นำ จะมีผู้สมควรถูกลงโทษอีกมหาศาล ซึ่งทั้งก่อนและภายหลังยุคเขมรแดง  พวกเขาเป็นคนทำมาหากินธรรมดาๆ นี่เอง

ปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกทำนองเดียวกันนี้เอง เกิดกับอาชญากรรมของตำรวจลับในเยอรมนีตะวันออกช่วงสงครามเย็น แม้ว่าเราจะสามารถระบุตัวและลงโทษผู้นำพรรคและผู้นำตำรวจลับ ‘สตาซี’ ได้ไม่ยากนัก แต่ Big Brother ในเยอรมนีตะวันออกไม่ปรากฏตัวโฉ่งฉ่างบนจอทีวี ทว่ากลับทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วยการไม่เผยตัว สตาซีทำให้ทั้งสังคมรู้สึกว่ากำลังถูกจับตามองอยู่ทุกขณะ จนผู้คนหวาดกลัวและหวาดระแวงตลอดเวลา ความจริงที่เปิดเผยต่อมาคือ สตาซีสร้างเครือข่ายสายลับ และเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่ตำรวจอยู่ในทุกกลุ่มทุกแวดวงของสังคม รวมทั้งเพื่อนบ้านเรือนเคียงและญาติพี่น้องของเราเอง เมื่อสตาซีและระบอบปกครองล่มสลายลง พบว่าสตาซีเก็บแฟ้มประวัติเกี่ยวกับประชาชนของตัวเองหลายหมื่นแฟ้ม

อำนาจรัฐแบบสตาซีไม่ได้แสดงออกด้วยเครื่องแบบหรืออะไรก็ตามที่แสดงอำนาจของรัฐ แต่คือประชาชนธรรมดาที่ยอมเป็นหูตาให้แก่รัฐ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลแรงจูงใจอะไรก็ตาม สตาซีอยู่กับมวลชนปกติจนแยกไม่ออกว่าอำนาจรัฐหยุดแค่ไหน ประชาสังคมเริ่มตรงไหน อะไรคือหน่วยของอำนาจรัฐ อะไรไม่ใช่อีกต่อไป ความหวาดระแวงกันเองในหมู่ประชาชนแผ่ซ่านเลยเถิดถึงจุดที่มีการให้ข่าวข้อมูลเท็จแก่สตาซีเกี่ยวกับผู้เป็นภัยต่อระบอบเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของระบอบ มีการชิงเป็นผู้ให้ข้อมูลก่อนที่จะตกเป็นเหยื่อเสียเอง และหลายปีหลังระบอบสตาซีล่มสลาย ยังคงมีการคิดบัญชีกันต่อมา เยอรมนีตะวันออกเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีบางคนเรียกว่าเป็น หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ที่เกิดขึ้นจริง

สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการสอดส่องควบคุมจนกลัวและไม่ไว้ใจกันล่วงพ้นออกนอกการบงการของรัฐมากไป กลายเป็นประชาชนควบคุมจับจ้องกันเอง ระแวงซึ่งกันและกันโดยไม่มีใครสามารถรู้ชัดอีกต่อไปว่า ตรงไหนเป็นการกระทำของรัฐ ตรงไหนไม่ใช่ อำนาจของรัฐกับอำนาจของสังคมปนเปกันจนแยกไม่ออก 

กล่าวได้ว่า สาธารณชนคือปัจจัยสำคัญที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโอชันเนีย และสามารถทำให้โอชันเนียเป็นความจริงของโลกปัจจุบัน รูปการณ์ลักษณะของอำนาจรัฐและบุคคลหรือพรรคที่กุมอำนาจรัฐซึ่งเป็นเป้าที่เราสนใจมาตลอด ไม่ใช่ปัจจัยเด็ดขาดที่ก่อให้เกิดสังคมเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้น

เราสามารถเห็นพลังอนุรักษนิยมของสาธารณชนได้ในทุกสังคมยามปกติ สาธารณชนมักโหยหาวันชื่นคืนสุขในอดีตที่ไม่เคยมีอยู่จริง แต่กลับน่าหลงใหลในจินตนาการของเราๆ ท่านๆ เพราะเราทุกคนหวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงมากบ้างน้อยบ้างด้วยกันทุกคน เพราะเราทุกคนเรียกหาความมั่นคงของชีวิต พอใจประโยชน์ที่เกิดต่อตัวเองแม้จะน้อยนิด ระยะสั้นๆ หรือแคบๆ ก็เถอะ ผู้คนโดยทั่วไปยึดติดกับอัตลักษณ์ของตน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา หรืออื่นๆ จนก่อให้เกิดทั้งการเบียดเบียนคนอื่นและการต่อสู้ต่อต้านคนอื่นที่มาดูถูกเหยียดหยามอัตลักษณ์ของตน สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นเหตุให้สาธารณชนรวมหัวกันควบคุมบงการซึ่งกันและกัน หรือก่อเหตุเลวร้ายก็ได้

อำนาจที่ค้ำจุนระบอบเก่า สังคมเก่า ที่กลัวการเปลี่ยนแปลงคอยจับจ้องพวกขบถ จึงไม่ใช่แค่ Big Brother หรือพรรคลึกลับที่อยู่เบื้องหลัง แต่รวมถึง Little Big Brother รอบตัวเราทุกวี่วันโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาชนจำนวนมากที่ควบคุมความรู้ ภาษาและประวัติศาสตร์โดยไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังทำหน้าที่ให้แก่ Minitrue ปัญญาชนพรรค์นี้ และสื่อมวลชนพรรค์นี้ไม่ต้องตีสองหน้า ไม่ต้องเป็นสปายสายลับ เพราะเขายินดีทำอย่างจริงใจ เต็มใจ โดยไม่รู้สึกว่าเป็นการรับใช้อำนาจแต่อย่างใด

อำนาจในการควบคุมบงการความคิดประชาชนในสังคมสมัยใหม่ระยะหลังเป็นอำนาจประเภทนี้ รัฐยังมีอำนาจลงมือกระทำต่อประชาชนที่ขัดขืนต่อต้าน แต่ในยามปกติ รัฐมักทำตามความต้องการของสาธารณชนเพื่อรักษาสถานภาพเดิม บ่อยครั้งขบวนการมวลชนเป็นพลังผลักดันให้รัฐจัดการพวกที่ท้าทายระเบียบสังคมที่ถือว่าดีงามตามประเพณีมาช้านาน แถมผู้มีอำนาจรัฐบาลที่อยากเปลี่ยนแปลงระบบระเบียบที่ล้าหลังยังอาจโดนขจัดโดยขบวนการมวลชนอนุรักษนิยมด้วยซ้ำไป อำนาจไม่ได้กระจุกตัวที่รัฐบาลเสมอไป หรืออีกต่อไป แต่กลับกระจัดกระจายอยู่กับสื่อมวลชน โรงเรียน วงวิชาการ ฯลฯ อีกด้วย และหากเอามวลชนอยู่ข้างตนได้ อำนาจย่อมสามารถแทรกเข้าไปอยู่ในเรือนของเราเองได้สบายๆ ไม่จำเป็นต้องมี ‘ตำรวจเฝ้าโรงหนัง’ ทุกแห่งเพื่อคอยจับ ‘คนที่ไม่ยืน’ เพราะประชาชนด้วยกันเองนี่แหละที่พร้อมจะลงมือขว้างปาของใส่คนคนนั้น แล้วฉุดกระชากคอได้โดยไม่ถือว่าเป็นความผิด สื่อมวลชนและขบวนการมวลชนนั่นแหละที่ก่นด่ากำราบประณามพวกแหกคอกอย่างมีประสิทธิ-ภาพมากกว่าตำรวจเสียอีก

‘Little Big Brother’ ไม่ต้องรวมศูนย์อำนาจ จึงไม่จำเป็นต้องมีระบบทีวีเฝ้าระวังขบถ แถมไม่เคยเปิดเผยตัวว่าเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐ เพราะเขาไม่ได้เป็นอย่างเป็นทางการ พวกขบถนอกรีตต้องพึงระวังตัวเองให้ดีว่าประชาชนรอบตัวเรากำลังจ้องมองเราอยู่! 

..,

บางส่วนจาก: 
อำนาจกับการขบถ โดย ธงชัย  วินิจจะกูล | บทกล่าวตามในเล่ม 1984 
..,

..,

อ่านบทความ 'อำนาจกับการขบถ' แบบเต็มๆ
เพียงคลิกสั่งซื้อ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984) ฉบับครบรอบ 72 ปี


ครบชุดการออกแบบ - 4 ปก


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้