สอ เสถบุตร | บริบทของอิสรภาพ บทที่ 3

Last updated: 30 พ.ค. 2563  |  4637 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สอ เสถบุตร | บริบทของอิสรภาพ บทที่ 3

บริบทของอิสรภาพ บทที่ 3 : สอ เสถบุตร
โดย นิธิ นิธิวีรกุล

.

เมื่อมองผ่านรั้วลวดหนามบนกำแพงสูงที่โอบล้อมอิสรภาพของผู้ต้องหาหลากหลายคดีมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันของเรือนจำจังหวัดนนทบุรี หรือเรือนจำบางขวางที่รู้จักคุ้นเคยกันดี นอกจากความรู้สึกหดหู่แล้ว อีกความรู้สึกที่ผุดขึ้นมา คือ เบื้องหลังกำแพงนี้ มีนักโทษการเมืองหลายต่อหลายคนที่เคยผ่านบางขวาง บางคนไม่ได้ผ่านต่อ จบสิ้นชีวิตที่นี่ เช่น เฉลียว ปทุมรส ชิต สิงหเสนี บุศย์ ปัทมศริน ขณะบางคนผ่านไปยังคุกคุมขังที่อื่น เช่น สอ เสถบุตร ผู้ต้องหาในคดี 'กบฏบวรเดช' ซึ่งถูกส่งต่อไปยังเกาะตะรุเตา สถานที่ที่ต่อมาสอได้ใช้เวลาทั้งแอบเขียนบทความ และแอบเขียนปทานุกรมจนกลายเป็นพจนานุกรมไทย-อังกฤษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเล่มหนึ่งอย่างไม่อาจปฏิเสธ

แม้ สอ เสถบุตร อาจจะยืนอยู่คนละข้างกับฝ่ายคณะราษฎร แม้ประวัติศาสตร์ที่รับรู้กันจะบ่งบอกว่านักประพันธ์คนสำคัญผู้นี้มีใจอิงอยู่กับสถาบันกษัตริย์ และปรารถนาให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หวนย้อนกลับคืน จึงได้เข้าร่วมกับพระองค์เจ้าบวรเดชเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองภายหลังเพียง 1 ปีหลังการอภิวัฒน์ 2475 และผลของการกระทำนั้น คือ อิสรภาพที่ถูกพรากไปหลายต่อหลายปีของชายที่ชื่อ สอ เสถบุตร

 

2446

เกิดก่อน กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา สองปี เป็นหลานของพระประเสริฐวานิช นายอากรรังนกที่มีฐานะร่ำรวยคนหนึ่ง ทว่าพ่อของเด็กชายสอ นายสวัสดิ์ กลับไม่ได้ชื่นชมในอาชีพข้าราชการ กลับสนใจในเครื่องยนต์กลไก จึงเดินทางไปทำงานประดิษฐ์แป้นพิมพ์อักษรไทยให้กับบริษัทพิมพ์ดีดสมิท พรีเมียร์ ของพระอาจวิทยาวิทยาคม (ยอร์ช แมคฟาร์แลนด์) เจ้าของกิจการเครื่องพิมพ์ดีดรายเดียวของสยามในช่วงเวลานั้น พ่อของสอทำงานเก็บเกี่ยวความรู้กับยอร์ชอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะลาออกมาเปิดกิจการฉายหนังของตัวเอง ตระเวนไปตามจังหวัดต่างๆ ทั้งโดยทางเรือ เกวียน และช้าง ก่อนจะเสียชีวิตที่ศรีสะเกษโดยไข้มาลาเรีย ทิ้งภาระเลี้ยงดูลูกทั้งสามไว้กับนางเกสร แม่ของสอที่หาเลี้ยงลูกๆ ด้วยอาชีพเย็บปักถักร้อย แต่ลำพังรายได้ที่ไม่มากพอ  สอจึงคิดลาออกจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเมื่อศึกษาได้ถึงชั้นมัธยม 7 แต่เมื่อครูประจำชั้นของเขาทราบเรื่องก็ระงับการขอลาออก โดยให้สอไปช่วยสอนภาษาไทยให้แก่เพื่อนชาวต่างชาติ จนสอได้ทั้งเงินที่จะนำมาจุนเจือครอบครัว และได้ทั้งความรู้ภาษาอังกฤษกลับมา

จากจุดนั้นเอง รากฐานทางภาษาที่กลายมาเป็นส่วนในการสร้างปทานุกรมไทย - อังกฤษต่อมาจึงเริ่มต้น

 

2464

ด้วยความที่เป็นคนเรียนดี หลังจากสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้แล้ว สอก็กลายเป็นบัณฑิตหนุ่มเนื้อหอมที่มีกรมกองต่างๆ มาทาบทามไว้ตั้งแต่ยังไม่ได้ไปร่ำเรียนเมืองนอก แต่ที่สุดสอเลือกไปเรียนด้านการเหมืองแร่ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ท่ามกลางบรรยากาศที่คุกรุ่นไปด้วยความรู้สึกเร่าร้อนของยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงดังที่สอได้บรรยายความรู้สึกในจดหมายที่เขียนถึงหญิงสาวคนรักเมื่อปี พ.ศ.2465-2466 แม้ในกาลต่อมา เขาและเธอจะไม่ได้เคียงคู่ไว้ว่า


...คิดๆ ดู ก็น่าปลื้มใจที่อีกชั่วเวลาราว ๓ ปีเท่านั้น ฉันก็สามารถจะกลับไปเห็นหน้าเธอได้ แล้วต่อจากนั้น เราก็จะไม่ต้องพลัดพรากจากกันอีก แม้เธอจะอยู่ห่างไกล และฉันต้องจากเธอไปนานเท่าใดก็ตาม เธอจะแลเห็นว่าจิตใจของฉันมิได้เปลี่ยนแปลงเลย...

๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๕ [1]


...ฉันทราบมาว่าพวกนักเรียนไทยที่ฝรั่งเศสเขาชุมนุมกันเสมอ นัยว่าจะมีการคบคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นดีมอคเครซี แต่พวกนี้ออกจะหัวรุนแรงมาก ฉันเกรงไปว่ามันจะไม่ใช่ดีมอคเครซีน่ะซิ...

๒๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๖ [2]


สอจะรู้ไหมถึงอนาคตในอีกสิบปีหลังจากที่เขาเขียนจดหมายถึงคนรักว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เกิดขึ้นจริงตามนั้น แต่ความหัวรุนแรงในนิยามของสอนั้น กลับไม่เคยเกิดขึ้น และตรงกันข้ามกลับเป็นฝ่ายที่สอเลือกเข้าข้างมากกว่าในอีกหนึ่งปีให้หลังที่มีความหัวรุนแรงจนพัดพาเขาไปสู่ประตูราชทัณฑ์ของเรือนจำบางขวางในที่สุด

กาลเปลี่ยน คนเปลี่ยน เป็นเรื่องธรรมดาของทุกสิ่ง กระนั้น สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะไม่จางหายไปจากความเป็น สอ เสถบุตร คือ ความสนใจในกิจการหนังสือ การพิมพ์ จนแม้เมื่อศึกษาอยู่ต่างประเทศยังได้มีโอกาสเข้าจับงานด้านสิ่งพิมพ์เล็กๆ น้อยๆ พอกลับมาเมืองไทย สอจึงเริ่มมีผลงานบทความลงในหนังสือพิมพ์ Bangkok Times และ Bangkok Daily Mail อยู่เนืองๆ จนเป็นที่พอพระทัยของรัชกาลที่ 7 ส่งผลให้สอได้เข้าทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งได้แต่งตั้งเป็นหลวงมหาสิทธิโวหาร เจ้ากรมกองเลขาธิการองคมนตรี สังกัดกองราชเลขานุการ ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์ที่สอแสดงความกังวลไว้ในจดหมายถึงคนรักเมื่อปี พ.ศ.2466 เกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 หลวงมหาสิทธิโวหารจึงถูกสอบสวน และถูกย้ายไปสังกัดรองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ก่อนจะถูกย้ายกลับไปทำงานที่กองโลหะกิจ ซึ่งน่าจะตรงกับสายการศึกษาที่สอได้ร่ำเรียนมาจากอังกฤษมากที่สุด ทว่าด้วยระบอบการปกครองใหม่ เจ้านายใหม่ ในที่สุด สอก็ลาออกจากราชการในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2475 และเข้าร่วมกับพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของสอก่อตั้งบริษัทบุญรอดบริวเวอรี จำหน่ายเบียร์เป็นครั้งแรกในสยาม โดยมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการหนึ่งในห้าคนของบริษัท ขณะเดียวกัน สอยังคงไม่ทิ้งบทบาทในฐานะนักหนังสือพิมพ์ และยังคงเขียนบทความภาษาอังกฤษโจมตีรัฐบาลใหม่ลง Bangkok Daily อยู่ไม่ขาด

ถึงจุดหนึ่ง พูดได้ว่าจากลูกชายนักเร่ขายหนังสู่หนึ่งในกรรมการผู้จัดการบริษัทจำหน่ายเบียร์บริษัทแรกของสยาม สอ เสถบุตร ได้เดินทางมาไกลแล้วระดับหนึ่ง

แต่การเดินทางไกลในอีกความหมาย และน่าจะเป็นการฝากชื่อ สอ เสถบุตร ลงในประวัติศาสตร์ มากกว่าการเดินทางครั้งใดๆ คือ การเดินทางในฐานะ ‘กบฏ’ ที่ไม่เพียงพาสอเข้าสู่คุกตะรางจากที่หนึ่งสู่อีกเกาะ แต่ยังพาสอไปสู่พรมแดนของโลกการแปล สู่ขอบเขตของพรมแดนที่อาจใกล้เคียงที่สุดแล้วต่อคำว่าอิสรภาพเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับ แม้ร่างกายจะถูกจองจำอย่างไร้อิสรภาพก็ตามที

 

2476

เกิดในฐานันดร มีศักดิ์เป็นหลานของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 4 พระองค์เจ้าบวรเดช คิดหรือรู้สึกเช่นไรในตอนขัดแย้งกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าห้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในเรื่องปรับปรุงโครงสร้างกองทัพบก จนต้องลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และคิดหรือรู้สึกเช่นไรในตอนรับรู้ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 อันมีหลักใหญ่ใจความที่สำคัญว่า

...ประเทศนี้เป็นของราษฎรทั้งหลาย มิใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง...

'เขา'
นั้นคือใคร?

'เขา' ในคำประกาศของคณะราษฎร เจาะจงตัวบุคคลหนึ่งบุคคลใดในคณะรัฐบาลของรัชกาลที่ 7 หรือไม่? หรือเป็นเพียงเขาตามที่ราษฎรเชื่อถือกันมา เหมือนที่ประชาชนไทยในปัจจุบันเชื่อกัน

คำตอบของนัยคำถามอาจไม่สำคัญ เท่าการกระทำที่สืบเนื่องต่อมาหลังคำประกาศนั้น เมื่อพระองค์เจ้าบวรเดชได้รวบรวมกำลังทหารจากหัวเมืองต่างๆ เข้าทำการสู้รบกับกองกำลังทหารของรัฐบาลใหม่ ด้วยเพราะไม่เห็นว่ารัฐบาลใหม่จะทำการบริหารบ้านเมืองได้สมกับที่ได้ประกาศไว้ อีกทั้งยังมีแนวโน้มให้คุณแก่คณะพรรคพวกตนเอง และให้โทษแก่คณะพรรคพวกที่เห็นต่างจากตน แม้ว่าพระองค์เจ้าบวรเดชจะวิพากษ์วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง และน่าจะเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังในเรื่องที่ปรากฏทั่วไปว่าในคืนวันที่ 24 มิถุนายน ช่วงเวลาห้าทุ่ม พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นเชื้อพระราชวงศ์เพียงผู้เดียวที่ไม่ถูกควบคุมตัวในฐานะองค์ประกันได้ขอเข้าพบพระยาพหล พลพยุหเสนา หัวหน้าผู้ก่อการของคณะราษฎร แล้วได้มีบทสนทนาสอบถามพระยาพหลฯ ว่าทำไมไม่แจ้งกันก่อน เมื่อได้คำตอบว่าหากแจ้ง การณ์ที่จะทำก็จะไม่สำเร็จ พระองค์เจ้าบวรเดชจึงตอบสั้นๆ เพียงว่า "เมื่อทำแล้วก็ขอให้ทำถึงที่สุด"

ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีเศษ นับจากเปลี่ยนแปลงการปกครองจนมาถึงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2476 เมื่อพระองค์เจ้าบวรเดชได้ส่งกองกำลังทหารจากหัวเมืองต่างๆ เข้ามาทำการยึดสถานีรถไฟบางเขนในฐานะ 'คณะกู้บ้านเมือง' แล้วยื่นเงื่อนไข 6 ประการให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา โดยเงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องจัดการให้ทุกทางที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน และ การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก [3] หากแต่รัฐบาลมองว่าเงื่อนไขทั้ง 6 คือ ความต้องการที่จะรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาใหม่และต่อต้านประชาธิปไตย จึงมีคำสั่งให้พันโทพิบูลสงครามเป็นผู้บังคับการกองกำลังผสมเข้าทำการตอบโต้ และในที่สุดเหตุการณ์สู้รบก็ยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของกองกำลังทหารฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชอย่างที่เรารับรู้กันในประวัติศาสตร์

ในห้วงเวลาเดียวกันนี้ ศรันย์ ทองปาน เขียนไว้ในบทความ พจนานุกรมชีวิต ตีพิมพ์ใน สารคดี [4] ไว้ว่า


...ในระหว่างนั้น บนเรือแมคอินทอช เรือชักลากแพซุงของบริษัทป่าไม้ศรีมหาราชที่ลอยลำอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Bangkok Daily Mail ของบริษัทสนามฟรีเปรสส์ (Siam Free Press)ได้มาชุมนุมกัน มีอาทิ พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช) นายหลุย คีรีวัต และหลวงมหาสิทธิโวหาร อนึ่ง สมควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ทั้งหนังสือพิมพ์ Bangkok Daily Mail ก็ดี หรือบริษัทป่าไม้ศรีมหาราชาก็ดี ล้วนแล้วแต่มีพระคลังข้างที่ หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้งสิ้น

อีกหลายปีต่อมา เจ้าคุณศราภัยฯ เขียนเล่าว่าก่อนหน้านั้น ท่านและเพื่อนๆ ได้ไปโรเนียวใบปลิวโจมตีรัฐบาลที่บริษัท วิงเซ่งหลง บางลำพูล่าง ธนบุรี อันเป็นโรงเลื่อนที่บริษัทศรีมหาราชาเช่าไว้เก็บไม้และใช้เป็นที่ทำการในกรุงเทพฯ

"...ใบปลิวที่ข้าพเจ้าพิมพ์ด้วยโรเนียวนั้นมีถ้อยคำรุนแรงมาก โจมตีรัฐบาลคณะราษฎรในเรื่องไม่ได้รักษาวาจาสัตย์ตามหลัก ๖ ประการ ประชาชนพลเมืองไม่ได้รับประชาธิปไตยอันแท้จริง...นอกจากนี้ยังมีข้อความอีกหลายประการที่สามารถสงเคราะห์เข้าในความผิดกฎหมายอาญามาตรา ๑๐๔ หรือถ้าเกิดจลาจลขึ้น อาจสงเคราะห์เข้าในพวกกบฏ...เมื่อเราทราบว่าทหารหัวเมืองได้เข้ายึดกรมอากาศยานดอนเมืองไว้แล้ว ประกอบด้วยมีงานนักขัตฤกษ์พระเจดีย์กลางน้ำที่สมุทรปราการ เราลงมือแม็คกินต๊อชของบริษัทศรีราชาไปด้วยกันก็เลยมีความคิดว่าใบปลิวชนิดนี้ไม่เหมาะกับกาลเทศะเสียแล้ว ควรจะเผาเสียดีกว่า เราจึงช่วยกันเผาเสียหมด..." ในขณะที่หลวงมหาสิทธิฯ เล่าเรื่องนี้ต่างออกไปว่า สิ่งที่กระทำกันในเรือแมคอินทอช นั้นก็คือการร่วมกันโรเนียวใบปลิวแถลงการณ์ของคณะกู้บ้านเมืองที่หลวงมหาสิทธิฯ แปลเป็นภาษาอังกฤษ ขณะที่กำลังพิมพ์อยู่นั้น เครื่องโรเนียวเกิดติดขัด คุณหลวงจึงต้องลงมือแก้ไขและหมุนเครื่องเอง แต่เมื่อมีข่าวออกมาว่ากองทัพพระองค์เจ้าบวรเดชฯ ถอยทัพจากดอนเมืองแล้ว และมีทีท่าว่าจะเป็นฝ่ายแพ้ พวกเราก็ตัดสินใจเผาใบปลิวทั้งหมดในเตาหม้อน้ำเรือ เพื่อไม่ให้ลงเหลือหลักฐานใดๆ..."


ผลจากความพ่ายแพ้ของ 'คณะกู้บ้านเมือง' ส่งผลให้พระองค์เจ้าบวรเดชลี้ภัย และส่งผลมายังกองบรรณาธิการ Bangkok Daily Mail ที่โดยสารบนเรือแมคอินทอชในวันนั้นถูกจับกุม โดยพระยาศราภัญ ถูกจับระหว่างหลบหนีทางชายฝั่งทะเลตะวันออก ส่วนหลวงมหาสิทธิโวหาร หรือ สอ เสถบุตร ถูกจับที่สำนักงานบริษัทบุญรอดบริวเวอรี

หาก 'ศรีบูรพา' เคยใช้ข้อเขียนเพื่อต่อต้านคณะที่ทำการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2476 รวมถึงต่อต้านอำนาจเผด็จการในกาลต่อมาจนส่งผลให้ถูกจับกุมชนิดเหวี่ยงแหในปี พ.ศ.2495 ในฐานะ 'กบฏสันติภาพ' เราจะมอง สอ เสถบุตร ด้วยแว่นที่ต่างไปเพียงเพราะยึดถือคนละอุดมการณ์ได้หรือไม่

ละคำถามนั้นไว้ในใจ

 

2476-2481
บางขวาง-ตะรุเตา

ช่วงเวลาที่ สอ เสถบุตร ถูกจำคุกที่บางขวาง ภาพอันชินตาของเพื่อนนักโทษที่มีหลากหลายตั้งแต่เชื้อพระราชวงศ์ลงมายังสามัญชน คือ ภาพนั่งหลังขดหลังแข็งกับพื้นคุกเขียนหนังสือ จนกระทั่งเพื่อนนักโทษต่อโต๊ะจากกระป๋องนมให้ สอจึงได้มีโต๊ะเขียนหนังสือกับเขาขึ้นมา และคงจะเหมือนที่ Andy Dufrensne เคยพูดไว้ในภาพยนตร์เรื่อง The Shawshank Redemption ความหวังเป็นสิ่งที่ดี ความหวังไม่เคยตาย ความคิดของสอในช่วงเวลานั้นจึงวางอยู่บนฐานที่ว่าตนจะเขียนหนังสืออะไรที่สามารถจะขายได้จำนวนมาก และขายได้ตลอด แม้เมื่อตัวจากโลกนี้ไปแล้ว ซึ่งสอรู้ว่าหนังสือที่ขายดีที่สุดของโลกในช่วงเวลานั้น อันดับหนึ่งคือ ปทานุกรม อันดับสองคือ ตำราทำอาหาร แต่เขาไม่ใช่นักทำอาหาร (และเราไม่อาจล่วงรู้ว่าสอทำอาหารได้หรือไม่ได้ หรือทำได้แต่อร่อยถึงขั้นเขียนตำรับตำราได้ไหม)

ดังนั้น จึงเหลือหนังสือเพียงแบบเดียวที่สอน่าจะทำได้ และทำได้ดี คือ ปทานุกรม ด้วยพื้นเพจากความรู้ด้านภาษาอังกฤษที่บ่มเพาะมาตั้งแต่สมัยช่วยสอนเพื่อนชาวต่างชาติของครูประจำชั้นที่สวนกุหลาบให้เรียนรู้ภาษาไทย มาจนถึงการไปร่ำเรียนที่อังกฤษ กลับมาทำงานกองบรรณาธิการที่ Bangkok Daily Mail และไม่เพียงแต่การเขียนปทานุกรมเท่านั้น สอยังเขียนบทความกลับไปลงหนังสือพิมพ์ Bangkok Time เพื่อให้ค่าบทความกลับไปดูแลแม่และน้องสาว รวมถึงตนเองในรูปของกินของใช้และเงินติดกระเป๋า โดยวิธีลักลอบนำต้นฉบับออกไปจากคุกของ สอ เสถบุตร คือ สอจะซุกซ่อนต้นฉบับไว้ในกระติกน้ำเปล่าเวลานางเกษร ผู้เป็นแม่มาเยี่ยม ซึ่งในชั้นในกระติกจะมีที่ว่างระหว่างแก้วให้สามารถสอดกระดาษเข้าไปได้ แต่นานวันเข้า ในที่สุดบทความของสอก็ไปเตะตะรัฐบาล จนที่สุดก็มีคำสั่งลงมาให้ผู้คุมทำการรื้อห้องขังของนักโทษทุกคน สอจึงยุติการส่งบทความไป แต่การงานแห่งชีวิตในเรื่องปทานุกรมยังคงทำต่อไป ผ่านการลักลอบนำทั้งต้นฉบับปทานุกรมออกจากคุก และนำหนังสือบางเล่มที่สอต้องใช้ด้วยวิธีซุกไว้ในก้นตะกร้าใบใหญ่ ซึ่ง ม.ร.ว.สุดใจ บรรยงกะเสนา อดีตข้าหลวงของวังบางขุนพรหม ผู้มีศักดิ์เป็นอาของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล หนึ่งในทีมงานจัดทำปทานุกรมของสอ นำของเข้ามาเยี่ยม และในช่วงเวลานี้ สอ เสถบุตรก็ได้พบรักใหม่กับหญิงสาวในละแวกคุกบางขวาง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการค่อนข้างปล่อยนักโทษการเมืองให้เป็นอิสระพอสมควรภายใต้การกำกับดูแลของ พ.ต.ท.ขุนศรีศรากร (ชลอ ศรีศรากร) ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเรือนจำมหันตโทษบางขวาง ระหว่างปี พ.ศ.2480-2481) หากทว่า ทั้งการลักลอบนำต้นฉบับปทานุกรม ทั้งการพบรักใหม่จากการให้อิสระแก่นักโทษการเมืองในการเข้าและออกคุกได้พอสมควร ก็มีอันสิ้นสุด เมื่อการตรวจค้นของผู้คุมนำไปสู่การพบเจอวิทยุที่สอประดิษฐ์ขึ้นเองเพื่อรับฟังข่าวสารบ้านเมืองซุกซ่อนไว้ ก่อให้เกิดความคิดว่านักโทษการเมืองรุ่นปี 2476 ยังไม่หลาบจำ สอ เสถบุตร และนักโทษการเมืองคนอื่นๆ จึงถูกส่งตัวไปยังเกาะตะรุเตาในที่สุด

ซึ่งในขณะนั้น การเขียนปทานุกรมของสอ ดำเนินมาถึงหมวดตัวอักษร S แล้ว ขณะที่ 'เรื่องเล่า' ต่อๆ มาถึงสภาพภายในคุกตะรุเตากับเพื่อนนักโทษการเมืองจะค่อนข้างสะดวกสบายเมื่อเทียบกับนักโทษชั้นสามัญ กระนั้น การถูกคุมขังก็ยังคงเป็นภาวะของการมองไปยังเส้นขอบฟ้าแล้วเห็นเพียงลวดหนามบนกำแพงสูงอยู่นั่นเอง ไม่ว่ากำแพงที่กางกั้นอิสรภาพจะเป็นกำแพงเรือนจำมหันตโทษเรือนขวาง หรือเรือนจำนิคมตะรุเตา คุกก็ยังคงเป็นคุก ซึ่ง สอ เสถบุตร ยังคงทำงานเรียบเรียงปทานุกรมของตนเองต่อไป แม้กระทั่งในตอนที่ถูกชักชวนให้หลบหนีจากตะรุเตา สอในวัย 36 ปีได้ปฏิเสธไปด้วยเหตุผลเพราะไม่อยากให้คนที่รออ่าน ซึ่งได้จ่ายเงินค่าสมาชิกบอกรับปทานุกรมล่วงหน้ามาแล้วต้องผิดหวัง หากหนีไป ภาระของการหนีก็จะติดตัวไปจนการงานแห่งชีวิตนี้ก็จะไม่มีวันเสร็จสิ้น

แม้ในยามสงคราม เมื่อสอต้องร่วมกับนักโทษบนเกาะตะรุเตาย้ายไปยังเกาะเต่าได้รับความลำบากมากกว่าชนิดที่ โชติ คุ้มพันธุ์ อดีตดอกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์จากเยอรมนีที่ถูกเนรเทศไปเกาะเต่ารุ่นหลังจากสอเคยพูดว่า "...ผมว่าถ้าเป็นสัตว์ มันก็ตายเสียนานแล้ว นี่เราเป็นคน ความอดทนและความหวังมันยังช่วยพยุงใจได้บ้าง..."

และความหวังนี้เองก็มาถึงสอ เสถบุตรในวันที่สงครามโลกสิ้นสุด และรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงครามต้องหมดอำนาจไป สอจึงได้กลับคืนบ้าน และได้มีชีวิตชื่นชมการงานที่ตนเองใช้เวลาร่วมสิบกว่าปีในคุกแตกต่างสถานที่เพื่อสร้างมัน 'ออกมา' ด้วยความภูมิใจใน The New Model English-Siamese Dictionary กระทั่งแม้เมื่อมีโอกาสเข้าร่วมรัฐบาลหลังจากนั้น และได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตราธิการเพียงระยะเวลาสั้นๆ แค่สามเดือน แต่เมื่อรัฐประหาร 2490 มาถึง 'สอ เสถบุตร' ซึ่งควรจะใช้คำว่า 'เศรษฐบุตร' ตามนามสกุลพระราชทานเช่นเดียวกับบุญรอด เศรษฐบุตร ลูกพี่ลูกน้อง ในยุคปรับเปลี่ยนรูปแบบการสะกดภาษาไทยรัฐบาลจอมพล ป. 'สอ เสถบุตร' จึงเป็นนามที่ 'ติดตรา' ผู้อ่านนับตั้งแต่วันที่ปทานุกรมเผยแพร่ จวบจนทุกวันนี้

และ...ไม่ว่าจะจดจำ 'สอ เสถบุตร' ในฐานะใด ในฟากฝ่ายการเมืองแบบใด ข้อเท็จจริงที่ยังคงไม่อาจปฏิเสธเสมอ คือ คุกไม่ควรเป็นสถานที่กักขังมนุษย์ แม้ด้านหนึ่ง คุกอาจให้ความหวังสำหรับบางคน แต่สำหรับหลายคน และยิ่งในสภาพการเมืองปัจจุบัน จากผลของคดีมาตรา 112 ยังคงมีนักโทษการเมืองอีกมาก อีกหลายคนที่แม้จะยังมีหวัง แม้จะรู้ว่าสักวันหนึ่งอิสรภาพจะต้องมาถึง แต่ใช่หรือไม่ว่าด้วยสภาพการเมืองที่ผลักไสคนเห็นต่างให้ไปอยู่ในขอบเขตปริมณฑลของการเป็นอื่น กระทั่งห้ามวิพากษ์วิจารณ์ในหลายๆ เรื่อง ผิดกับยุคของทั้ง 'ศรีบูรพา' 'สอ เสถบุตร' 'นายผี' มากนัก

เราต่างติดอยู่ในคุกร่วมกัน และยังไม่เห็นซึ่งความหวังที่จะได้รับอิสรภาพในเร็ววัน

 

========================

 [ ข้อมูลอ้างอิง ]


[1] อ้างอิงจาก พจนานุกรมชีวิต เขียนโดย ศรัณย์ ทองปาน สารคดีออนไลน์ 21 กรกฎาคม 2554

[2] เรื่องเดียวกัน

[3]  เงื่อนไขทั้ง 6 ข้อมีดังนี้

1.ต้องจัดการในทุกทางที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน

2.ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การตั้งและถอดถอนคณะรัฐบาลต้องเป็นไปตามเสียงของหมู่มาก

3.ข้าราชการซึ่งอยู่ในตำแหน่งประจำการทั้งหลายและพลเรือนต้องอยู่นอกการเมือง ตำแหน่งฝ่ายทหารตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือลงไปต้องไม่มีหน้าที่ทางการเมือง

4.การแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งราชการ จักต้องถือคุณวุฒิและความสามารถเป็นหลัก ไม่ถือเอาความเกี่ยวข้องในทางการเมืองเป็นความชอบหรือเป็นข้อรังเกียจในการบรรจุเลื่อนตำแหน่ง

5.การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก

6.การปกครองกองทัพบกจักต้องให้มีหน่วยผสมตามหลักยุทธวิธี เฉลี่ยอาวุธสำคัญแยกกันไปประจำตามท้องถิ่น มิให้รวมกำลังไว้เฉพาะแห่งใดแห่งหนึ่ง

[4] อ้างอิงจาก พจนานุกรมชีวิต เขียนโดย ศรัณย์ ทองปาน สารคดีออนไลน์ 21 กรกฎาคม 2554


========================

อ่าน บริบทของอิสรภาพ ของนักคิด นักเขียนไทย คนอื่นๆ

บทที่ 1 : ศรีบูรพา | กุหลาบ สายประดิษฐ์


บทที่ 2 : นายผี | อัศนี พลจันทร

 
บทที่ 4 : ทีปกร | จิตร ภูมิศักดิ์


บทที่ 5 : เทียนวรรณ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้