Last updated: 14 ต.ค. 2564 | 21020 จำนวนผู้เข้าชม |
บทความบางส่วนจาก ฉันทามติภูมิพล, จุดเริ่มต้นและการสิ้นสุด โดย วาด รวี
(สั่งซื้อได้แล้ว คลิก โอลด์รอยัลลิสต์ดาย - หนังสือรวมบทความการเมืองเล่มใหม่ของ วาด รวี )
การตระหนักถึงอิทธิพลที่มีต่อการเมืองอย่างลึกซึ้งของในหลวงภูมิพล กล่าวได้ว่าเกิดขึ้นแทบจะพร้อมๆ กับวิกฤตการเมือง ดันแคน แมคคาร์โก เสนอไอเดียเรื่อง network monarchy ในเดือนสุดท้ายของปี 2548 หนังสือ The King Never Smiles ของ พอล แฮนด์ลีย์ พิมพ์ออกมาในปี 2549 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เริ่มวิจารณ์แวดวงปัญญาชนอย่างดุเดือดและเปิดประเด็นสถาบันกษัตริย์ตามเว็บบอร์ดก็ในปี 2549 กระนั้นตลอดสิบปีก่อนที่ในหลวงภูมิพลจะสวรรคตความพยายามที่จะทำความเข้าใจและอธิบายอิทธิพล สถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ก็แทบจะไม่ได้คืบหน้าไปไหน จนกระทั่งปีถัดจากที่ในหลวงสวรรคต เกษียร เตชะพีระ จึงเสนอคำว่า “The Bhumibol Consensus” ออกมา
ก่อนหน้านี้เป็นเวลานานที่ปัญญาชนหลายคนใช้ความคิดเรื่อง “อำนาจนำ” (hegemony) ในการพยายามอธิบายลักษณะอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ในขณะที่แนวคิด network monarchy ครอบงำวงวิชาการไทยอยู่อย่างเงียบๆ (ไม่มีการอภิปรายแนวคิดนี้อย่างเปิดเผยเป็นทางการในสังคมไทย) จนกระทั่ง เออเจนี เมริโอ เสนอแนวคิดเรื่อง Deep State ต้นปี 2559
เมริโอโต้แย้งบทความของแมคคาร์โกตรงๆ และระบุว่าเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 และ 2557 ชี้ให้เห็นว่าแนวคิด network monarchy นั้นล้มเหลว “ไม่สามารถรวบยอดแก่นความคิดว่าด้วยพื้นฐานทางสถาบันของเครือข่ายชนชั้นนำไทยได้อย่างพอเพียง”[1] และเสนอแนวคิดเรื่อง Deep State เข้าแทนที่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า (ตามความเห็นของผม) บทความของแมคคาร์โกจะล้าสมัย แต่ประเด็นสำคัญคือมันเป็นแนวคิดเดียวที่มีอิทธิพลอยู่ในระหว่างวิกฤตการเมืองตลอดเวลานับ 10 ปี สาเหตุสำคัญก็เนื่องจากสังคมไทยถูกทำให้เงียบในหัวข้อนี้ บวกรวมกับความไม่กล้าและเฉื่อยช้าของนักวิชาการไทย ทำให้ “การไม่คิด” เป็นเรื่องเดียวกับ “ความไม่สามารถจะคิด” และไม่มีใครอภิปราย วิจารณ์ โต้แย้ง หรือเสริมจุดอ่อนของแมคคาร์โก
การที่บทความของแมคคาร์โกมีอิทธิพลครอบงำแวดวงวิชาการไทย โดยเฉพาะในช่วงแรกของวิกฤตการเมือง มีนัยสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือแมคคาร์โก ณ ขณะนั้นยังอยู่ในกระแสเดียวกับนักวิชาการไทยส่วนใหญ่ที่เกลียดทักษิณหรือมองทักษิณในแง่ลบอย่างเกินจริง อันที่จริง หากไม่เกิดวิกฤตการเมืองขึ้นเสียก่อน network monarchy เองก็น่าจะเป็นหนึ่งในงานวิชาการกระแสหลักที่วิจารณ์ทักษิณ เพียงแต่มันเป็นเพียงชิ้นเดียวเท่านั้นที่มองเห็นประเด็นสำคัญในเรื่องสถาบันกษัตริย์และเสนอออกมาอย่างถูกที่ถูกเวลา
ประเด็นสำคัญที่สุดของ network monarchy ก็คือการเสนอว่า สถาบันกษัตริย์หรือในหลวงภูมิพลมีอำนาจเหนือการเมืองไทยอย่างไม่เป็นทางการโดยกระทำการผ่านการใช้พร็อกซี่ ซึ่งแมคคาร์โกน่าจะไม่ใช่คนแรกที่เสนอไอเดียนี้ แต่ได้รับอิทธิพลมาจาก พอล แฮนด์ลีย์ แม้ว่าบทความของเขาจะเผยแพร่ก่อนหนังสือของแฮนด์ลีย์ แต่แมคคาร์โกได้อ่านต้นฉบับของแฮนด์ลีย์ก่อนจะเผยแพร่ และอ้างอิงบางส่วนอยู่ในเชิงอรรถของบทความ (ใน The King Never Smiles แฮนด์ลีย์ใช้คำว่า “พร็อกซี่” กับเปรมและคนอื่นๆ เกี่ยวกับการใช้คำนี้มีรายละเอียดที่ผมเขียนไว้ในบทความอีกชิ้นในเล่มนี้ เนื่องจาก “พร็อกซี่” ปัจจุบันมักหมายถึง proxy server ที่เป็นศัพท์เกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตที่มีความหมายอีกแบบอันตีความได้ว่าเป็นตัวแทนที่ใช้เพื่อปิดบังอำพรางตัวตนที่แท้จริง ประเด็นเล็กๆ ก็คือผมเห็นว่าความเป็นตัวแทนของเปรมในแบบเก่าตรงกับความหมายของคำว่า “agent” มากกว่า คือเป็นตัวแทนที่ไม่ได้ปิดบังอำพรางตัวตนแต่อย่างใด การใช้เปรมเป็นตัวแทนในลักษณะปิดบังอำพรางตัวตนเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง)
โครงเรื่องหลักของแมคคาร์โกที่ล้อกันกับวิกฤตการเมืองก็คือ ก่อนหน้าทักษิณ network monarchy มีบทบาทในการครอบงำบงการสังคมไทยมาเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ และทักษิณกำลังจะแทนที่เครือข่ายนี้ด้วยเครือข่ายของตนเอง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคนจำนวนมากหรือส่วนใหญ่ของแวดวงวิชาการไทยในช่วงแรกเห็นคล้อยตามที่บทความชิ้นนี้เสนอและดูเหมือนว่าบทความจะสะท้อนเหตุการณ์ได้อย่างเป็นจริงเป็นจังยิ่งขึ้นเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างทักษิณกับราชสำนักขึ้นในปี 2549 (กรณี “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”) โดยเฉพาะฝ่ายต่อต้านทักษิณเองก็ได้รับอิทธิพลจากบทความชิ้นนี้[2] ด้วยเหตุที่บทความชิ้นนี้เป็นบทวิเคราะห์เดียวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ดังออกมาในช่วงเวลานั้น และสอดรับกันกับหนังสือของ พอล แฮนด์ลีย์ ที่เปิดหูเปิดตาสังคมไทยอย่างมาก ทำให้ควรจะกล่าวว่า ถ้าจะมีความสอดรับระหว่างเหตุการณ์ในสังคมไทยกับแนวคิด network monarchy นี้ ก็เป็นเพราะว่าปรากฏการณ์เหล่านั้นเกิดจากการได้รับอิทธิพลจากบทความชิ้นนี้ อันเนื่องมาจากช่วงเวลาเผยแพร่ที่เหมาะเจาะ ไม่ใช่เป็นเพราะบทความชิ้นนี้เขียนขึ้นจากความเข้าใจสังคมไทยและอรรถาธิบายออกมาได้อย่างถูกต้อง
ปรากฏการณ์ลักษณะใกล้เคียงกันเกิดขึ้นกับแนวคิด Deep State ของเมริโอ กล่าวคือบทความมีอิทธิพลไปข้างหน้ามากกว่าที่จะสะท้อนหรืออธิบายเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้อย่างถูกต้อง คำว่า “รัฐพันลึก” กลายมาเป็นคำติดปากนักวิชาการและสื่อจำนวนหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเพราะว่ามันอธิบายปรากฏการณ์ที่ผ่านมาได้ แต่เป็นเพราะมันดูสอดรับกับเหตุการณ์ที่กำลังจะเป็นไปในขณะที่ไม่มีคำอธิบายอื่นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ให้ใช้
ในท่ามกลางความอับจนถ้อยคำ (และปัญญา) ในสังคมไทยก็ยังมีความพยายามคลำทางไปในความมืดของปัญญาชน ในท่ามกลางความพยายามเหล่านี้ แนวคิดเรื่องอำนาจนำเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด และในบทสนทนาอันยาวนานนี้ “ฉันทามติภูมิพล” กล่าวได้ว่าเป็นความคืบหน้าที่สำคัญ
บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาที่ “ยังคุยไม่เสร็จ” แต่จะเสนอรายละเอียดที่จะประกอบสร้างแนวคิดเรื่อง “ฉันทามติภูมิพล” ให้ชัดเจนขึ้น และเปิดเผยลักษณะอำนาจ สถานะ และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ที่แนวคิดอื่นยังไม่สามารถอภิปรายถึง
--------------------------------
ผู้ที่เสนอคำว่า “The Bhumibol Consensus” คือ เกษียร เตชะพีระ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 ในงานเสวนา ‘Direk’s Talk’ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภายใต้หัวข้อบรรยายชื่อ “ความขัดแย้งทางชนชั้นกับการเมืองมวลชนรอยัลลิสต์: ความย้อนแย้งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับพระราชอำนาจนำในสังคมไทย” ส่วนผู้ที่แปลเป็นไทยว่า “ฉันทามติภูมิพล” คือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
จำเป็นต้องหมายเหตุไว้ตั้งแต่แรกว่า แม้จะเห็นด้วยกับไอเดียบางส่วนของเกษียร แต่ก็เห็นแย้งในสัดส่วนที่ไม่น้อย ผมเคยเขียนโต้แย้งและอภิปรายเรื่องนี้ไว้ในเฟซบุคตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการเสนอ แต่บทความชิ้นนี้เป็นการทำงานทางความคิดอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อที่จะย่อยแนวคิดต่างๆ ทั้งหลายและสังเคราะห์คำอธิบายที่ถูกต้องออกมา
== ปัญหาของการนับหนึ่งอำนาจนำของในหลวงภูมิพลที่ 14 ตุลา ==
เรื่องเล่าที่แพร่หลายเกี่ยวกับอำนาจนำของในหลวงภูมิพล ซึ่งมีเกษียรเป็นกระบอกเสียงสำคัญ มักจะเริ่มต้นที่เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ทำให้มันฟังดูแปล่งแปลกที่จะใช้คำว่า “ฉันทามติ” แม้แต่ในการนำเสนอเรื่อง “ฉันทามติภูมิพล” ในงานนี้ เกษียรก็ยังเล่าเรื่องโดยใช้พล็อตนี้ ทั้งที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะบอกว่า 14 ตุลา เกิดฉันทามติที่ไร้การโต้แย้งมาจนถึงสมัยทักษิณ (ตามเรื่องเล่าของเกษียร) ดังนี้
สังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ผ่านการเดินทางแสวงหาสลับพลิกผันปรับเปลี่ยนไปมาระหว่างแรงผลักดันต่อสู้ขัดแย้งของโครงการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่ในแนวทางต่างๆ อาทิ โครงการเสรีประชาธิปไตย/สังคมนิยมประชาธิปไตยของ ปรีดี พนมยงค์, โครงการชาตินิยมแบบอำนาจนิยมทหารของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, โครงการเสรีนิยมรอยัลลิสต์ของ ม.ร.ว.เสนีย์ และ คึกฤทธิ์ ปราโมช, โครงการเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, โครงการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยของขบวนการคอมมิวนิสต์ เป็นต้น
กระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ (ในหลวงรัชกาลที่เก้า) สังคมไทยจึงได้บรรลุฉันทามติของการประนีประนอมรอมชอมระหว่างกระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่ กับฐานการเมืองวัฒนธรรมไทยแบบอนุรักษนิยม ที่ลงตัวในระดับหนึ่ง ระหว่างช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา ซึ่งพอจะสรุปสาระสังเขปในด้านต่างๆ ออกมาได้ดังนี้ :-
1. ด้านเศรษฐกิจ : เศรษฐกิจทุนนิยมที่เติบโตอย่างไม่สมดุล โดยถ่วงทานไว้ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2. ด้านการเมือง : ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
3. ด้านอุดมการณ์ : ราชาชาตินิยมหรืออุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทยภายใต้พระราชอำนาจนำ
4. ด้านศาสนา : พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
อาจกล่าวได้ว่าฉันทามติแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ (หรืออาจเรียกเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า The Bhumibol consensus) เป็นแบบวิถีการเปลี่ยนผ่านสู่ความทันสมัยแบบไทยๆ ผ่านการประนีประนอมต่อรอง ที่ไม่หักรานจนเหี้ยน ไม่ใหม่หมด คนข้างล่างได้บ้างแม้จะได้ไม่มากเท่าคนข้างบน คนชั้นกลางได้มากกว่าและเติบใหญ่ขยายตัวออกไป ส่วนคนข้างบนได้มากที่สุด มันช่วยให้หลีกเลี่ยงการแตกหักกวาดล้างรุนแรงของกระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่มาได้ และมีฐานรองรับสนับสนุนจากคนชั้นต่างๆ ตามสมควร ทั้งคนชั้นบน คนชั้นกลาง และรากหญ้า
ขณะเดียวกันก็มีเส้นอำนาจ (power boundaries) และการแบ่งเขตอำนาจ (jurisdiction) เชิงปฏิบัติ/เสมือนจริงที่ใช้การได้ เส้นและเขตที่ว่าอาจไม่ต้องตรงกับเส้นอำนาจและการแบ่งเขตอำนาจตามกฎหมาย/รัฐธรรมนูญเสียทีเดียว แต่ก็เป็นที่ยอมรับเคารพกันว่าอำนาจของฝ่ายหนึ่งหยุดตรงนี้ อำนาจของอีกฝ่ายเริ่มตรงนั้น ไม่ก้าวก่ายกัน ยอมรับเคารพกัน โดยมีสถาบันกษัตริย์เป็นประหนึ่งอนุญาโตตุลาการสุดท้าย (final arbiter) ในยามเกิดความแตกต่างขัดแย้ง
นอกจากนี้ ภายใต้ฉันทามติแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศดังกล่าว โครงการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่ทางเลือกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางเสรีประชาธิปไตย, สังคมนิยม, ชุมชนนิยม, ทหารนิยม, สมบูรณาญาสิทธิ์, ฟาสซิสต์, คอมมิวนิสต์ ฯลฯ ต่างก็ถูกแช่แข็งกดปรามให้หยุดยั้งชะงักไว้ชั่วคราวด้วยบารมีแห่งพระราชอำนาจนำ
จวบจนการปรากฏขึ้นของโครงการทางเลือกเพื่อเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่ในแนวทางประชานิยมเพื่อทุนนิยม+ประชาธิปไตยอำนาจนิยมโดยผ่านการเลือกตั้งของรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร แห่งพรรคไทยรักไทยในราว พ.ศ.2544 เป็นต้นมา [3]
สังเกตว่าเกษียรกำหนดช่วงเวลาของฉันทามติไว้ที่ 14 ตุลา 2516 ถึง ปี 2544 เมื่อทักษิณชนะการเลือกตั้งครั้งแรก โดยที่ก่อนหน้านั้นก็ยังระบุให้การปฏิวัติของพรรคคอมมูนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในการเดินทางแสวงหาสลับพลิกผันที่ “ผ่าน” มา ก่อนที่จะลงตัวด้วยฉันทามติภูมิพล ทั้งที่การต่อสู้ของพรรคคอมมูนิสต์ยุติลงหลัง 14 ตุลา ถึง 9 ปี (2525) นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์อื่นๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเกิดฉันทามติภูมิพลตั้งแต่ 14 ตุลา เช่น 6 ตุลา 19, กบฏเมษาฮาวาย 2524, การยึดอำนาจปี 2534 ของ รสช. และเหตุการณ์พฤษภา 35 เป็นต้น
เวลาเราพูดถึง “อำนาจนำ” เรากำลังพูดถึงอำนาจในเชิงวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดความคล้อยตามโดยไม่ต้องใช้อำนาจในทางวัตถุมาบังคับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายหรือกำลัง เบื้องต้นต้องแยกให้ออกก่อนว่า อำนาจนำในทางการเมืองไม่ได้หมายถึงแค่การใช้พระราชอำนาจเข้ามาแทรกแซงการเมือง ในหลวงภูมิพลอาจจะเริ่มต้นเข้าแทรกแซงการเมือง...อย่างโดดเด่นเห็นชัดในเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คืออำนาจในเชิงวัฒนธรรมที่ทำให้คล้อยตาม หรือไม่อาจขัดขืน ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับไอเดียเรื่อง “mass monarchy” ของสมศักดิ์ และ Populist King ของ ธงชัย วินิจจะกูล ถ้าเกิด “ฉันทามติภูมิพล” ขึ้นตั้งแต่ 14 ตุลา คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ในขณะเดียวกันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะยังมีความเคลื่อนไหวของพรรคคอมมูนิสต์ รวมถึงปรากฏการณ์อย่างการพยายามทำรัฐประหารของยังเติร์ก แม้แต่กรณีสุจินดาด้วย
แต่ทุกครั้งที่ปัญญาชนไทยเอ่ยถึงอำนาจนำของในหลวงภูมิพลก็มักจะต้องไปเริ่มต้นที่ไอเดียราชาชาตินิยมและปักธงเอาไว้ที่เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เสียทุกครา ทั้งที่มันเป็นเรื่องเล่าที่ขัดแย้งกันเองอย่างเห็นได้ชัด แต่ผู้เล่ามักไม่เคยรู้สึกตัวถึงความขัดแย้งกันเองนั้นเลย ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาทางความคิดที่สำคัญในกระบวนการคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์ของปัญญาชน และไม่ใช่แค่ปัญญาชนไทย จะเห็นได้ว่าแมคคาร์โกก็เริ่มต้น network monarchy ที่เหตุการณ์ 14 ตุลา โดยไม่มีรายละเอียดว่านอกจากบทบาทของในหลวงภูมิพลแล้วเครือข่ายนี้คืออะไรและเกิดขึ้นได้อย่างไร อยู่ๆ ก็เกิด “เครือข่ายในหลวง” ขึ้นตอน 14 ตุลา แล้วหลังจากนั้นเครือข่ายนี้ก็มีบทบาทบงการการเมืองมาตลอด
อันที่จริง ต้นตอของการปักธงไปที่ 14 ตุลา เวลาพูดถึงอำนาจนำของในหลวงภูมิพลมาจากบทความของ ธงชัย วินิจจะกูล ตั้งแต่ปี 2544
ข้อเสนอของธงชัย ซึ่งถือกันว่าล้ำหน้าในเวลานั้น แต่ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีวันล้าสมัยก็คือ ธงชัยเสนอว่า อุดมการณ์ประวัติศาสตร์ที่ครอบงำสังคมไทยเป็น “ยากล่อมประสาท” ก็คืออุดมการณ์ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม และเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ก็เป็นการรื้อฟื้นบทบาทของพระมหากษัตริย์ครั้งสำคัญที่ทำให้เกิด “ราชาชาตินิยมใหม่”
“บทบาทความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการรื้อฟื้นครั้งสำคัญท่ามกลางการปฏิวัติของมหาชนเมื่อ 14 ตุลา 2516
“เรื่องตลกแต่จริงของประวัติศาสตร์คือ 14 ตุลา ปลดปล่อยทั้งพลังมหาชนและพลังพระมหากษัตริย์ นับจากวันนั้นจนถึงบัดนี้ อาจกล่าวได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะสูงส่งยิ่งกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย นับจากสิ้นสมเด็จพระปิยมหาราชเป็นต้นมา สวรรคต ค.ศ.1910 (พ.ศ.2453)
“ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมซึ่งไม่เคยจากหายไปไหนจึงได้รับการหนุนส่งจากพลังทางการเมืองจนกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง กว่า 30 ปีมานี้สถานะของพระมหากษัตริย์พระองค์ต่างๆ แห่งราชวงศ์จักรีได้รับการเชิดชูสูงส่งเสียยิ่งกว่าเวลาใดในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยิ่งกว่าในสมัยพระปิยมหาราชเอง ยิ่งกว่าสมัยที่พระบิดาประวัติศาสตร์ไทยสร้างสรรค์งานเขียนทางประวัติศาสตร์กระฎุมพีกรุงรัตนโกสินทร์แต่งตั้งสถาปนาให้พระองค์ต่างๆ เป็นบรรพบุรุษแทบทุกด้านของชีวิตกระฎุมพี
“แต่นี่เป็นราชาชาตินิยมใหม่ที่ได้รับการยกระดับด้วยอิทธิพลของสังคมไทยหลัง 14 ตุลา นั่นคือ ราชาชาตินิยมที่เป็นประชาธิปไตยและรับใช้ประชาชน” [4]
การนำเสนอความคิดของธงชัยไม่ต่างจากแมคคาร์โกในแง่ที่ว่าอยู่ๆ เหตุการณ์ 14 ตุลาก็ทำให้เกิดอุดมการณ์ราชาชาตินิยมใหม่ขึ้นมา แม้เขาจะตั้งสมมติฐานขึ้นว่าราชาชาตินิยมใหม่เกิดจากการสร้างของปัญญาชนนักวิชาการที่ต่อต้านเผด็จการ แต่ก็ไม่มีรายละเอียดอะไรนอกจากคำอธิบายว่าเพราะว่าพวกนี้ได้รับอิทธิพลจากประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมซึ่งสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตามแนวคิดของธงชัย ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมเป็นคำอธิบายเดียวให้กับสถานะและบทบาท รวมถึงลักษณะของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กล่าวคือเขาคิดเรื่อง “ราชาชาตินิยม” ขึ้นมา แล้วก็ใช้อธิบายครอบจักรวาลทุกอย่าง แบบเดียวกับที่แมคคาร์โกคิดคำว่า “network monarchy” ขึ้นมา แล้วก็อธิบายครอบไปทุกอย่าง โดยทั้งสองคนเริ่มต้นที่ 14 ตุลา เหมือนกัน
ในปี 2548 ธงชัยนำเสนอแนวคิดเดิมอีกครั้งในปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี ปาฐกถาดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับ ตุลาคม – ธันวาคม 2548 ในชื่อ “ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา” ธงชัยหมายเหตุที่ชื่อบทความนี้เอาไว้ว่า “คำของ ประจักษ์ ก้องกีรติ ใน และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ ผู้เขียนใช้คำว่า “ราชาชาตินิยมใหม่” สำหรับอุดมการณ์ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมที่เน้นความเป็นนักประชาธิปไตยของกษัตริย์...”
เนื้อหาของบทความก็เป็นการเล่าเรื่องพล็อตเดียวกันกับราชาชาตินิยม เพียงแต่ใช้คำว่า “กษัตริย์นิยม” และทำความคิดให้ชัดเจนและมีรายละเอียดมากขึ้น แต่คำอธิบายเรื่อง “หลัง 14 ตุลา” ก็ยังเหมือนเดิม คือปักธงภาพของสถาบันกษัตริย์ที่เห็นในปัจจุบันนี้โดยเริ่มต้นที่เหตุการณ์ 14 ตุลา อย่างไรก็ตาม ในเล่มเดียวกันนี้มีบทความของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ตั้งคำถามกับประเด็นนี้ คือบทความ “หลัง 14 ตุลา” สมศักดิ์เปิดบทความด้วยคำถามต่อปาฐกถาของธงชัยว่า “ประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา หลังไหน?”
สมศักดิ์เสนอว่า หลัง 14 ตุลา ควรแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ
โดยทั้ง 2 ช่วงมีความแตกต่างกัน 3 ด้าน คือ ด้านการเมือง, ด้านเศรษฐกิจ และด้านที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
ด้านการเมือง 14 ตุลา (I) ศูนย์กลางอำนาจไม่ได้อยู่ที่รัฐสภา แต่กระจัดกระจาย ทั้งรัฐสภา กองทัพ และราชสำนัก ในขณะที่ 14 ตุลา (II) ศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่รัฐสภา
ด้านเศรษฐกิจ กลุ่มทุนที่ครอบงำประเทศในช่วง หลัง 14 ตุลา (I) คือ ทุนธนาคาร ส่วน หลัง 14 ตุลา (II) คือทุนคมนาคมสื่อสารทุนตลาดหุ้นและการหมุนเวียนของทุนสากล
ด้านที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อุดมการณ์ / วาทกรรม ที่ล้อมรอบสถาบันกษัตริย์ มีความแตกต่างขั้นพื้นฐานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ในช่วง หลัง 14 ตุลา (I) ในท่ามกลางการแตกกระจายของศูนย์อำนาจของรัฐ สถาบันกษัตริย์ก็มีลักษณะเหมือนๆ กับศูนย์อำนาจหรือกลุ่มปกครองอื่นๆ คือเป็นเพียงศูนย์หรือกลุ่มหนึ่ง (a ruling clique) ในทางการเมือง บทบาทของสถาบันกษัตริย์มีลักษณะของการเข้าแทรกแซงทางการเมืองโดยตรง (direct political intervention) แบบเดียวกับกลุ่มหรือศูนย์อำนาจอื่นๆ จากกรณี 6 ตุลา ถึง 1-3 เมษา ถึงกรณีสนับสนุนเปรมโดยตรงอีกหลายครั้ง (กรณี “ข้อมูลใหม่”, กรณีสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงนำเปรม “ชมสวน”, สมเด็จพระบรมฯ ทรงขับรถส่งเปรมถึงบ้าน เป็นต้น เราสามารถจินตนาการถึงปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในปัจจุบัน?)
“ปัจจุบัน ในยุค หลัง 14 ตุลา (II) เมื่ออำนาจมารวมศูนย์อยู่ที่รัฐสภาและรัฐบาลจากรัฐสภา ซึ่งเป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญ การมีบทบาททางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ ก็ต้องทำตามหรืออาศัยกรอบของรัฐธรรมนูญด้วย นั่นคือออกมาในลักษณะของการท้วงติงหรือถ่วงเวลากฎหมาย หรือการแต่งตั้งต่างๆ และการใช้ “สิทธิในการให้คำแนะนำ” (ขอให้สังเกตการอธิบาย คือต้องอธิบายว่า การมีบทบาททางการเมืองนั้น เป็น “สิทธิ” คือมีลักษณะเชิงกฎหมายรัฐธรรมนูญ constitutional อย่างหนึ่ง) ก่อนหน้านั้น รวมถึงช่วงหลัง 14 ตุลา (I) กรอบของรัฐธรรมนูญไม่มีความหมายเพราะแม้จะกำหนดให้อำนาจอยู่กับรัฐบาล/รัฐสภา แต่ความจริงไม่เคยอยู่ การที่รัฐธรรมนูญมีความหมายในการกำหนดอำนาจจริงๆ ในช่วง หลัง 14 ตุลา (II) เป็นเรื่องเดียวกับการที่ศูนย์อำนาจมารวมอยู่ที่รัฐสภา (แม้แต่งานของ ประมวล รุจนเสรี ซึ่งเสนอว่า กษัตริย์อยู่ “เหนือ” รัฐธรรมนูญ ก็ยังต้องอ้างอิงรัฐธรรมนูญ เพื่อสนับสนุนลักษณะการอยู่ “เหนือ” นี้ การพูดถึงงานของประมวลบนพื้นฐานของ 2490 จึงทำให้มองไม่เห็นลักษณะสำคัญของยุค หลัง 14 ตุลา (II) นี้) การที่ศูนย์อำนาจย้ายมาอยู่ที่รัฐสภา ทำให้ลักษณะการแทรกแซงทางการเมืองโดยตรงจากนอกรัฐสภาแบบสมัยก่อน เป็นเรื่องที่ทำได้ยากหรือเกือบจะทำไม่ได้ (ขอให้นึกถึงการระดมลูกเสือชาวบ้าน หรือ ตชด. เป็นต้น)
“เมื่อหลายปีก่อน ผมเสนอว่า พัฒนาการของสถาบันกษัตริย์หรือของบทบาทขององค์พระมหากษัตริย์ จากช่วง 14 ตุลา (หรือก่อนหน้านั้น) มาถึงปัจจุบัน อาจจะสรุปรวบยอดได้เป็นประโยคเดียวคือ “จากประมุขของกลุ่มปกครองเป็นประมุขของชนชั้นปกครอง” (from head of a ruling clique to head of a ruling class) ซึ่งผมเห็นว่ายังสามารถใช้ได้อยู่ [5]
สมศักดิ์ยังเสนอว่าอุดมการณ์ “กษัตริย์นิยม” หลัง 14 ตุลา (I) และ (II) มีความแตกต่างกัน การให้ความสำคัญในลักษณะ “พ่อ” หรือ “พลังแผ่นดิน”, การให้ความสำคัญกับการเข้าเฝ้าและรอฟังพระราชดำรัส 4 ธันวา เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง หลัง 14 ตุลา (II) รวมถึงกิจกรรมสรรเสริญพระบารมีในลักษณะอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (พระมหาชนก, คุณทองแดง, Golden Place) ก็เป็นผลผลิตของยุค หลัง 14 ตุลา (II) สมศักดิ์ตั้งคำถามว่า การเสนอให้ “ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา” นั้น ต้องถามว่าหลังแบบไหน ถ้าเป็นแบบ หลัง 14 ตุลา (I) ก็ได้ข้ามพ้นไปแล้ว แต่ถ้าเป็นแบบ หลัง 14 ตุลา (II) ก็ไม่เกี่ยวกับ 14 ตุลา เท่าไร “ถ้าจะเรียกว่าแบบ “หลัง” อะไร ควรเรียกว่าแบบ “หลัง 17 พฤษภา” ยังจะตรงกว่า”
ข้อเขียนข้างต้นนี้เขียนตั้งแต่ปี 2548 ก่อนที่บทความของ ดันแคน แมคคาร์โก จะเผยแพร่ไม่กี่เดือน มุมมองต่างๆ ยังคลาดเคลื่อนจากที่เราเห็นในปัจจุบันอยู่ไม่น้อย เช่น การที่ยังไม่เห็นสถานะความเป็น “ตัวแทน” (agent) ของราชสำนักของเปรม หรือ การแบ่งช่วงเวลาแรกจาก 14 ตุลา ถึง สิ้นสุดยุคเปรม (2531) ก็เป็นมุมมองที่ค่อนข้างล้าสมัยไปแล้วเมื่อมองผ่านกรอบของฉันทามติภูมิพล (2535) รวมถึงการที่บอกว่ารัฐธรรมนูญไม่มีความหมายในการกำหนดอำนาจในช่วงหลัง 14 ตุลา (I) ก็ไม่จริง อันที่จริง ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ดังที่จะชี้ให้เห็นข้างหน้า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สมศักดิ์พยายามจะโต้แย้งธงชัยในเวลานั้นก็มาจากการรู้สึกได้ถึงความแตกต่างระหว่าง “ก่อน” และ “หลัง” ฉันทามติภูมิพล นั่นเอง
มันมีความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างก่อนที่จะเกิดฉันทามติและหลังจากเกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งทั้งธงชัยและแมคคาร์โกมองไม่เห็น แม้แต่เกษียรซึ่งเป็นคนคิดคำว่า “The Bhumibol Consensus” ขึ้นมาในปี 2560 ก็ยังไม่เห็น? (ถ้าเกิดฉันทามติตั้งแต่ 14 ตุลา จะเกิด 6 ตุลา และ การเมืองแบบในทศวรรษ 2520 รวมถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ได้อย่างไร?) และอยู่ดีๆ ฉันทามติ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
ในที่นี้จะเสนอว่า ฉันทามติภูมิพลเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ พฤษภา 35 และไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้เหตุการณ์เดียว แต่คือผลของกระบวนการที่เกิดขึ้นก่อนหน้าตลอดทศวรรษ 2520 จนถึงครึ่งแรกของทศวรรษ 2530 และเป็นผลผลิตจากวิธีการเล่นการเมืองในเวลานั้น พอๆ กับเป็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญ
...
บทความบางส่วนจาก ฉันทามติภูมิพล, จุดเริ่มต้นและการสิ้นสุด โดย วาด รวี
(สั่งซื้อได้แล้ว คลิก โอลด์รอยัลลิสต์ดาย - หนังสือรวมบทความการเมืองเล่มใหม่ของ วาด รวี )
=======================
รายการอ้างอิง
[1] เออเจนี เมริโอ. 2559. “รัฐเร้นลึกในไทย พระราชอำนาจ และศาลรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2540-2558)” แปลโดย วีระ อนามศิลป์, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2559. หน้า 14.
[2] ดูบทความ “เครือข่ายของราชา กับ ทักษิณ” ของ วริษฐ์ ลิ้มทองกุล เผยแพร่ทางผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 3 สิงหาคม 2549
[3] เกษียรได้นำเนื้อหาของการบรรยายครั้งนี้ลงในคอลัมน์ของเขาที่มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23-29 มิถุนายน 2560 ข้อความนี้ผมยกมาจากคอลัมน์ดังกล่าว
[4] ธงชัย วินิจจะกูล. 2544. “ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม”, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 23 ฉบับที่ 1, พฤศจิกายน 2544. หน้า 62.
[5] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. 2548. “หลัง 14 ตุลา”, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2548, หน้า 169-170.
=======================
สนใจสั่งซื้อหนังสือของ วาด รวี คลิก การเมืองโมเบียส
ผลงานแปล คลิก ชายชราและทะเล (ฉบับสองภาษา) เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (เขียน)
บทความอื่นๆ คลิก สี่สิบปีของวรรณกรรมสมมติ
==================
แนะนำให้คุณโดยเฉพาะ ชุดประวัติศาสตร์ความคิดในรัฐไทย
สั่งซื้อ https://www.sm-thaipublishing.com/product/29925/set-thai-history-concept
==========
11 ม.ค. 2564
17 ต.ค. 2563
26 ธ.ค. 2565