ไชยันต์ รัชชกูล | บทกล่าวนำ คู่มือรัฐประหาร

Last updated: 6 ก.พ. 2564  |  2993 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไชยันต์ รัชชกูล | บทกล่าวนำ คู่มือรัฐประหาร

อะไรจะปานนั้น !?!

เป็นไปได้อย่างไรที่มีการพิมพ์เผยแพร่กันอย่างเปิดเผยถึงการกระทำที่ร้ายแรงต่อประเทศชาติ ต่อความสงบเรียบร้อย และต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนเช่นนี้

ลองเปรียบเทียบกับกรณีที่จะมีหนังสือชื่อเรื่องว่า ‘คู่มือการทำลายชีวิตเด็ก สตรีมีครรภ์ และคนชรา’ สาธารณชนในประเทศนี้จะเห็นเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ธุระ หรือถึงกับเป็นเรื่องที่ย่อมทำได้กระนั้นหรือ? สังคมไทยเป็นเสรีนิยม หรือไม่ก็วิปริตถึงขั้นนั้นแล้วหรือ?


ลองเปรียบเทียบใหม่กับกรณีที่ใกล้เคียงกันมากกว่า คือถ้ามีหนังสือที่ว่าด้วยวิธีการทำลายล้างประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง รวมไปถึงวิธีพิจารณาความแพ่งและอาญา แถมด้วยภาคผนวกการฉีกพระราชบัญญัติ การเผากฎกระทรวง จนไปถึงการนำระเบียบ กฎข้อบังคับทั้งหลายทั้งปวง ตั้งแต่ออกโดยสำนักนายกฯ จนไปถึงเทศบัญญัติระดับตำบลไปใช้เป็นกระดาษชำระสำหรับห้องน้ำสาธารณะ

  • วงการตุลาการและบรรดาเหล่าที่หากินกับระบบที่เรียกกันเองว่ากระบวนการยุติธรรม จะมีปฏิกิริยาอย่างไร? จะไม่รู้สึกรู้ร้อนรู้หนาวเช่นนั้นหรือ?
  • นักนิติศาสตร์ใหญ่น้อยทั้งหลายจะไม่ออกมาประณามหนังสือเช่นนี้หรือ? จะไม่ออกมาโวยวายว่าบ้านนี้เมืองนี้ไม่มีขื่อมีแป เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนกันแล้วหรือ?


ไม่ว่าจินตนาการจะพิลึกพิลั่นขนาดไหน ก็คงนึกภาพไม่ออกว่าจะมีเหล่าผู้พิพากษา อัยการ นักวิชาการนิติศาสตร์ จนถึงนักกฎหมายที่ท่องตัวบทเป็นคัมภีร์ทั้งหลายจะออกมาก่อม็อบเดินขบวนโดยถือป้ายรูปกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์นำหน้า แล้วเรียกร้องให้เผาหนังสือเช่นนั้น พร้อมทั้งนำคนเขียนไปแขวนคอหรือฐานกรุณาก็เอาใส่ตะกร้อให้ช้างเตะเพื่อให้เข็ดหลาบ มิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อีกต่อไป


ถ้าเช่นนั้น หนังสือที่แนะนำฆาตกรรมรัฐธรรมนูญ ซึ่งบรรดาบุคคลที่มีอาชีพในย่อหน้าข้างต้นถือเป็นกฎหมายสูงสุด สูงกว่ากฎหมายใดๆ ทั้งปวง ไม่ใช่เหนือกว่าเพียงบทบัญญัติ อบต. ที่ห้ามทิ้งสิ่งปฏิกูลลงบนทางเท้าทางน้ำ ถึงไม่รู้สึกรู้สา และยิ่งซ้ำร้ายกว่าการไร้ความรู้สึกใดๆ แล้ว ยังให้ความชอบธรรมแก่การทำลายล้างกฎหมายที่บรรดาข้าราชการทั้งหลายต้องให้คำสัตย์ปฏิญาณว่าจะเคารพ และบางหมู่เหล่าถึงกับประกาศว่าจะรักษาไว้ยิ่งชีวิตอีกด้วย?

เรื่องที่เป็นสุดยอดของสุดยอดแห่งปรากฏการณ์การกลับตาลปัตร หรือที่บางคนเรียกว่า ‘การย้อนแย้ง’ ก็คือ ศาลที่มีหน้าที่ปกป้องรักษารัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ ถ้าผู้ใดละเมิดมาตราใดมาตราหนึ่ง ก็จะต้องถูกลงทัณฑ์อย่างรุนแรง แต่ถ้าละเมิดจนถึงขั้นขยี้ทุกมาตรา หรือโยนทิ้งทั้งฉบับ ก็กลับไม่เห็นเป็นความผิดแต่ประการใด ซ้ำยังแก้ต่างให้ว่าเป็นเรื่องของการสถาปนารัฏฐาธิปัตย์ อันเป็นศัพท์ที่เกินความเข้าใจของตาสีตาสาและปัญญาของผู้มีสามัญสำนึก แต่ถ้าใช้คำพูดที่ใช้ตามร้านข้าวแกงข้างถนนก็คือ เป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ได้ผิดหลักนิติธรรมและโอวาทของใคร แต่อย่างไร

. . ,


อ่านออกกับอ่านแตก


ไม่ว่าจะย้อนจะแย้งหรือไม่ ก็ยังไม่สู้สำคัญว่า หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เราเข้าใจอะไรบ้าง โดยที่ความเข้าใจนั้นมาจาก 2 ด้าน คือทั้งด้านเนื้อหาสาระตรงๆ ตามตัวอักษรที่เขียน ส่วนอีกด้านหนึ่งคือด้านที่ข้อคิด ข้อเสนอ ในงานเขียน กระตุ้นหรือเสนอแนะให้เราสร้างข้อคิด ข้อเสนอ ขึ้นใหม่

การอ่านแบบด้านแรกเป็นการอ่านทำนองอ่านคู่มือการใช้กล้องถ่ายรูปหรือการอ่านเอาเรื่อง ที่ครูสอนให้เราอ่านจับความมาตั้งแต่ระดับประถมจนถึงอุดมศึกษา คำนำนี้จึงย่อมไม่ทำหน้าที่ดุจผู้ดำเนินการอภิปรายที่คอยสรุปประเด็นของผู้อภิปราย

ส่วนการอ่านแบบด้านที่สองนั้นคงปิดทางให้อภิปรายกันต่อได้อย่างกว้างขวางกว่ามาก


ทำไมหนังสือ คู่มือรัฐประหาร จึงสมควรพิมพ์ขึ้นใหม่? ทั้งๆ ที่ในการพิมพ์ครั้งแรกนั้นก็ล้วนพลาดเป้าไปทั้งเชิงจุดหมายและในเชิงการวิเคราะห์ ในเชิงจุดหมายที่ทั้ง สุชาติ สวัสดิ์ศรี และ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ หวังว่าจะให้ฝ่ายกระทำรัฐประหารได้คิดหน้าคิดหลังและยับยั้งแผนการรัฐประหารของตน เพราะประชาชนรู้ทันและ ‘จะต่อต้าน’ นั้น เป็นความฝันของคนที่นั่งค้างติดอยู่ในรถยนต์กลางกรุง ท่ามกลางวันที่ฝนตกแดดออก ถ้าจะมีการยั้งคิดของฝ่ายจะกระทำรัฐประหารก่อนช่วงปี 2549 ก็ไม่ใช่เพราะการเกรงขามต่อการต่อต้านของประชาชน แต่เป็นเพราะอุปสรรคจากปัจจัยนานาของผู้วางแผนเอง ยิ่งในด้านของประชาชนที่จะคัดง้างการรัฐประหารนั้น เป็นเรื่องพ้นวิสัย เข้ารอยที่พ่อ (ของผู้เขียนคำนำนี้) ชอบเตือนลูกอยู่ในหลายโอกาสว่า ‘อย่าเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง’

นอกจากหนังสือจะไม่บรรลุในเชิงจุดหมายแล้ว ในเชิงการวิเคราะห์ก็พลาดเป้าที่เป็นจุดหัวใจไปไกล อย่าว่าแต่การรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2549 (ที่ล้มรัฐบาลทักษิณ) เลย แม้แต่รัฐประหาร (ที่ล้มรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช) ซึ่งเกิดขึ้นหลังเพียง 2 ปีจากเวลาที่หนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกมา ก็มีลักษณะต่างไปจากลักษณะการทำรัฐประหารในด้านหลักๆ ที่ระบุไว้ในหนังสือเล่มนี้ จะถือว่าสาระของหนังสือตามไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ก็ได้

ถ้าเช่นนั้นจะพิมพ์อีกทำไม? เพื่อสนองความสะใจของสำนักพิมพ์ที่อยากจะประชดว่าประเทศไทยเป็นแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในรัฐ-ชาติมีรัฐประหาร กระนั้นหรือ? หรืออยากจะส่งสาส์นไปให้หนังสือ Guinness Book Record ได้ตื่นขึ้นมารับรู้เสียทีว่าจะมีเมืองไหนในโลกนี้อุดมสมบูรณ์ในการทำรัฐประหารเสมอเมืองไทยเป็นไม่มีกระนั้นหรือ? ถ้าสำนักพิมพ์คิดเช่นนี้ ก็คงจะต้องม้วนเสื่อในไม่ช้า

เหตุผลพื้นๆ ข้อหนึ่งในการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ก็คงเหมือนกับเล่มอื่นๆ คือย่อมมีคนสนใจซื้อไปอ่าน ความมั่นใจนี้ก็คงมาจากการคาดการณ์ว่าย่อมจะเกิดรัฐประหารในประเทศนี้อีก ทุกวันนี้คงจะไม่ค่อยมีใครเชื่อ หรือแม้กระทั่งจะตั้งความหวังว่ารัฐประหารในปี 2549 จะเป็นครั้งสุดท้าย ทั้งๆ ที่ความเชื่อและความหวังนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อหลังอำนาจพลเอกสุจินดา คราประยูรที่มาจากการรัฐประหารล่มลงเมื่อพฤษภาคม ปี 2535


สำหรับผู้ที่มีโลกทรรศน์อันหมองหม่นก็อาจรู้สึกไปว่า การที่ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยโดยมีราษฎรเป็นประมุขนั้นเป็นเรื่องไกลเกินจินตนาการ ส่วนผู้มีโลกทรรศน์ที่มองสรรพสิ่งอย่างที่เป็นจริงๆ (ไม่ใช่ตามความปรารถนา) ก็อาจจะเห็นไปว่า ประชาธิปไตยแบบนั้นไม่เหมาะกับชีวิตความเป็นไทย ซึ่งนิยม ‘ความเป็นทาส’ มากกว่า ‘ความเป็นไท’


แต่ถ้าตัดโลกทรรศน์ ชีวทัศน์ออก แล้วพิจารณาจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา บวกกับการอิงแนวคิดที่เรียนกันในรัฐศาสตร์ 101 ก็คงจะเห็นได้ว่า มีกลไกที่เอื้อต่อการเกิดรัฐประหารอยู่ในระบบการปกครองของไทยอยู่แล้วคือมีสถาบันที่ยินดีปรีดากับรัฐประหารเสมอมา ตัวอย่างของสถาบันเช่นนี้เป็นวงกว้าง รวมตั้งแต่สถาบันโฆษณาสรณะ สถาบันวินัยนิยม สถาบันมาตรค้างคาว จนถึงสถาบันบริโภคราษฎร์สมบัติ ฯลฯ บางสถาบันสร้างถ้ำของตนเองขึ้น บริหารจัดการการบุคลากร ทั้งการแต่งตั้ง เลื่อนลำดับ โยกย้าย ควบคุมกำกับความคิด ฯลฯ เป็นเอกเทศพ้นเหนือนโยบาย สายงานบังคับบัญชาของรัฐ และสถาบันตัวแทนของราษฎร

สถาบันดังกล่าวนี้มีอำนาจที่จะทำการรัฐประหารเอง และด้วยการสนับสนุนทั้งก่อนหน้าและหลังจากที่รัฐประหารได้เกิดขึ้นแล้ว จึงเป็นที่เชื่อได้ว่า ตราบเท่าที่ระบบรัฐมีกลไกก่อรัฐประหารเป็นองค์ประกอบอยู่ในตัวเช่นนี้ ตราบนั้นการรัฐประหารก็สามารถจะผุดพ้นน้ำขึ้นมาได้อยู่ร่ำไปมิไยว่าประชาชนจะรู้เท่าทันหรือไม่

“ก็เมื่อข้าพเจ้าจะทำซะอย่าง จะมีปัญหาอะไรมั้ย

ถ้าคุณไม่ชอบ ก็ไสหัวไปอยู่ที่อื่น มึงรู้มั้ยว่าบ้านนี้เป็นของใคร”

. . ,

บางส่วนจาก บทกล่าวนำ ในเล่ม คู่มือรัฐประหาร



โดย ไชยันต์ รัชชกูล

ตองยี / อุบลฯ, 5 - 10 ธันวาคม 2555
==============================


สนใจ งานวิชาการว่าด้วยวิวัฒนาการของการเมืองทั้งไทยและเทศ ไปจนถึงคอนเซ็ปต์ว่าด้วยการรัฐประหาร

แนะนำ Book Set
1. Set เรียนรู้การเมืองไทย
2. Set รื้อ-สร้าง และท้าทายทางความคิด
3. Set บทสรุปทางความคิดของนักคิดระดับโลก
==============================

PROMOTION ตรุษจีน

แจกส่วนลด 100 บาท!!! สมมติแจกอั่งเปา ใช้ได้ทั้ง Website // ใส่โค้ด ANGPAO100 ที่หน้าสรุปรายการสั่งซื้อ กรอกช่อง 'ใส่รหัสคูปอง' (เมื่อสั่งซื้อครบ 1,000 บาท)

รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.sm-thaipublishing.com/content/8969/promotion-angpao
==============================

บทความอื่นที่คุณน่าจะชอบ

อะไรคือรัฐประหาร?
https://www.sm-thaipublishing.com/content/6910/what-is-dictatorship

แนะนำ 6 หนังสือการเมืองน่าอ่าน
https://www.sm-thaipublishing.com/content/7751/read-in-may


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้