On This Day | เชอร์วูด แอนเดอร์สัน (Sherwood Anderson)

Last updated: 13 ก.ย. 2563  |  2192 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เชอร์วูด แอนเดอร์สัน (Sherwood Anderson)

On This Day : Sherwood Anderson

วันที่ 13 กันยายน ค.ศ.1876 | วันเกิดของโคตรนักเขียนอเมริกัน เชอร์วูด แอนเดอร์สัน ที่เมืองแคมเดน ในมลรัฐโอไฮโอ | ผู้เขียน เรื่องเล่าชาววิกล (Winesburg, Ohio)
==========

เชอร์วูด แอนเดอร์สัน (Sherwood Anderson) ไม่ได้เป็น อะไรกับเพอร์รี่ แอนเดอร์สัน, พาเมล่า แอนเดอร์สัน หรือ อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ปัญญาชนผู้มีชื่อเสียงโด่งดังใน บ้านเรา หากแต่ เชอร์วูด แอนเดอร์สัน เป็นนักประพันธ์อเมริกัน ที่มีบทบาทอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 ผลงานจํานวนมากที่ผ่านสายพานการผลิตของเขา (เรื่องสั้น นับร้อยเรื่อง นวนิยายนับสิบเล่ม บทละคร บทบันทึก และ จดหมายโต้ตอบ) ไม่เพียงเป็นรูปธรรมทางวรรณกรรมที่นักเขียนอเมริกันรุ่นหลังต้องศึกษา หากตัวหนังสือของเขานั้น ยังถือได้ว่าเป็น 'จุดเปลี่ยนของวรรณกรรมอเมริกันร่วมสมัย' เหมือนดังที่วิลเลี่ยม โฟล์กเนอร์ (William Faulkner) นักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบล ได้กล่าวในระหว่างให้สัมภาษณ์ นิตยสาร ปารีสรีวิว ฉบับหนึ่งว่า

“เขาคือบิดาของนักเขียนอเมริกันในรุ่นของผม และเป็นบิดาของวรรณกรรมอเมริกัน ที่คนในรุ่นถัดจากเราจะสืบทอดต่อไป”


แม้ในความเป็นจริง เชอร์วูด แอนเดอร์สันจะไม่เคยได้รับรางวัลอันทรงเกียรติใดๆ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าทั้ง เออร์เนสท์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) และ วิลเลี่ยม โฟล์กเนอร์ สองผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกตัวอักษร ต่างก็ยกย่องชื่นชม ในความสามารถของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Winesburg, Ohio (1919) และรวมเรื่องสั้น Triumph of The Egg (1921) ที่ถือว่าเป็นหนังสือสําคัญ ซึ่งผู้ศึกษาวรรณกรรมอเมริกัน ต้องอ่านทั้ง ‘ใน’ และ ‘นอก’ เวลา

เชอร์วูด แอนเดอร์สัน เกิดเมื่อวันที่ 13 กันยายน ค.ศ.1876 เขาเป็นบุตรคนที่สามในจํานวนทั้งสิ้นเจ็ดคนของนายเออร์วิน กับนางเอ็มมา แอนเดอร์สัน หลังธุรกิจล้มเหลว ครอบครัว แอนเดอร์สันก็ประสบปัญหาทางด้านการเงินเฉียบพลัน พวกเขาต้องอพยพหลบหนี้อยู่บ่อยครั้ง เล่ากันว่า พี่น้องแต่ละคน ของเขามีใบแจ้งเกิดแทบไม่ซ้ําเมืองกัน ส่วนเด็กชายเชอร์วูด ถือกําเนิดที่เมืองแคมเดน ในมลรัฐโอไฮโอ

หลังจากระหกระเหินเร่ร่อนอยู่นานปี ที่สุดครอบครัว แอนเดอร์สันก็ตัดสินใจลงหลักปักฐานที่เมืองไคลด์ในปี ค.ศ.1884 และที่เมืองเล็กๆ แห่งนี้เองที่เด็กชายเชอร์วูดได้ เติบใหญ่ขึ้นมา ชีวิตความเป็นอยู่ของเชอร์วูด แอนเดอร์สันลําบากยากแค้นแสนสาหัส เพราะเขาต้องตรากตรําทํางานหนักเพื่อช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว (หลังพ่อของเขาเสียชีวิต ด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง) เขาส่งเสียตัวเองจนจบชั้นมัธยมปลาย และจากการที่เขาต้องทํางานสารพัดประเภท เช่น รับจ้างทาสี เป็นคนงานในไร่ เดินเอกสาร ส่งหนังสือพิมพ์ ฯลฯ พี่ๆ น้องๆ จึงพากันตั้งฉายาให้เขาว่า จ็อบบี้ (Jobby)

นายเชอร์วูด แอนเดอร์สันถูกหมายเกณฑ์เรียกเข้า กองทัพบกสหรัฐฯ ก่อนจะถูกส่งไปประจําการที่ประเทศคิวบา (ระหว่างสงครามสเปน-สหรัฐอเมริกา) หลังสงครามสิ้นสุดลง ในปี ค.ศ. 1899 เขาได้เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยวิทเทนเบิร์ก อะคาเดมี ณ เมืองสปริงฟิลด์ โอไฮโอ หนึ่งปีให้หลัง เขาสมัคร เข้าทํางานในตําแหน่งเขียนคําประกาศโฆษณาที่ชิคาโก เขา ทํางานในตําแหน่งนี้เป็นเวลาเกือบห้าปี ก่อนจะลาออกมา สร้างครอบครัว และทําธุรกิจผลิตสีทาบ้านที่อิลิเรีย โอไฮโอ

กิจการของเขาดําเนินไปด้วยดี แต่แล้วในวันหนึ่งเขากลับไม่พึงพอใจกับมัน เขาเริ่มต้นเขียนนวนิยาย และดื่มหนักขึ้นๆ เขาเล่าว่านั่นเป็นห้วงเวลาที่เขามองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวว่างเปล่า และตัวเขาที่ยืนอยู่ในท่ามกลางคนเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เดียวดายอย่างที่สุด เขาละทิ้งครอบครัวที่มั่นคงกลับไปยังชิคาโก

เขาแทรกซ่อนเกร็ดชีวิตในห้วงเวลาดังกล่าวไว้ใน Loneliness (โดดเดี่ยว) บทหนึ่งใน Winesburg, Ohio เชอร์วูด แอนเดอร์สัน ทุ่มเทให้กับการเขียนหนังสือเหมือนหนึ่งเป็นหนทางในการค้นหาความหมายของการดํารงอยู่ เขากล่าวไว้ในปาถกฐาครั้งหนึ่งที่ให้แก่มหาวิทยาลัยโคโลราโด ในปี ค.ศ.1938 ว่า

“ผมไม่อาจเข้าใจชีวิตของผม อาจเป็นเพราะ ไม่มีใครในโลกที่สามารถขบคิดเกี่ยวกับตัวเองได้อย่างถ่องแท้ ด้วยเหตุนี้ผมจึงต้องสร้างตัวละครสมมติขึ้นมาเพื่อไขปัญหาปริศนาของชีวิต”


ผู้ที่ศึกษาชีวประวัติของ เชอร์วูด แอนเดอร์สัน จึงอดไม่ดืที่จะนำเอาการตัดสินใจอันเด็ดเดี่ยวของเขาไปผูกโยงกับปรากฏการณ์ที่ชนชั้นกลางอเมริกันจำนวนหนึ่งละทิ้งค่านิยมเดิม เพื่อมุ่งหน้าไปแสวงหาเป้าหมายของชีวิต...

นักวิจารณ์หลายคนนั้นมองว่า เชอร์วูด แอนเดอร์สัน เป็นเหมือนสะพานให้นักเขียนรุ่นถัดจากเขาอย่างเฮมิงเวย์ หรือโฟล์กเนอร์ก้าวข้าม เพราะเขาไม่สามารถผลิตผลงานที่แปลกใหม่ แม้ว่าจะพยายามหันไปเขียนบทละคร และผลิตผลงานประเภทนวนิยายออกมาจํานวนมาก แต่กระนั้น ตัวละครและแก่นของเรื่องราวของเขายังคงวนเวียนอยู่ในชนบท สังคมเมืองที่โดดเดี่ยวอ้างว้าง หรือการพูดถึงสังคมสมัยใหม่ที่ทั้งอัปลักษณ์และฟอนเฟะ

แต่จําเป็นด้วยหรือที่นักเขียนจะต้องวิ่งไล่ไขว่คว้าหาความแปลกใหม่อยู่ร่ําไป? ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้เอง (Fyodor Dostoyevsky) ได้กล่าววาทะสําคัญเอาไว้ว่า “ตลอดทั้งชีวิตศิลปินพูดผ่านผลงานของเขาเพียงเรื่องเดียว หากเขาเก่ง เขาอาจพูดได้สักสองเรื่อง” ซึ่งก็ทําให้เราเข้าใจได้ว่า ‘ความซ้ํา’ ที่ปรากฏอยู่ในผลงานของแอนเดอร์สันคือเครื่องยืนยันสิ่งที่เขาเชื่อหรือสิ่งที่เขาต้องการจะพูด แม้มันจะเป็นเรื่องเดิมเรื่องเดียวกันซ้ําๆ เรื่อยไปแต่นั่นก็ไม่ได้ทําให้งานของเขาลดคุณค่าลง หากว่ามันยังเป็นภาพแทนของความจริงบางอย่าง

แอนเดอร์สันเป็นนักเขียนอเมริกันที่เติบโตขึ้นมาในสังคมชนบทในช่วงปลายของศตวรรษที่ 19 เขาชื่นชมชีวิตในเมืองเล็กๆ ที่ยังใช้ม้าแทนรถหรือเครื่องจักร งานเขียนของเขาเปรียบเทียบได้กับภาพจิตรกรรมของ เอ็ดวาร์ด ฮอปเปอร์ (Edward Hopper) ที่สามารถถ่ายทอดภาพของสังคมชนบทอเมริกันช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่กําลังก้าวไปสู่สังคมอุตสาหกรรม

เขาเป็นตัวแทนของคนอเมริกันในยุคที่ต้องทํางานจําเจอยู่ตามโรงงาน งานเขียนของเขากระตุ้นเร้าให้แสวงหารูปแบบชีวิตที่มีความหมาย ซึ่งสำหรับเขาแล้ว สังคมเครื่องจักรอัปลักษณ์เท่าๆ กับสงคราม


คลิกสั่งซื้อ เรื่องเล่าชาววิกล



บทความที่คุณน่าจะชอบ
เวียง - วชิระ บัวสนธ์ อ่าน เรื่องเล่าชาววิกล | ถอดรหัสผู้คน ในบ้านเมืองวิกลจริต

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้