ศิลปะเพื่อชีวิต...ใคร? | บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

Last updated: 1 พ.ค. 2565  |  4355 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศิลปะเพื่อชีวิต...ใคร? | บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

กล่าวสำหรับ ‘ศิลปะเพื่อชีวิต’ มีลักษณะสำคัญอย่างน้อยสองประการ ได้แก่ การแสดงเนื้อหาเพื่อนำเสนอการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมที่ดีกว่า และเป็นศิลปะที่รูปแบบสามารถ ‘สื่อนำ’ ประชาชนให้เห็นถึงสาระสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงสังคม คำว่า ‘สื่อนำ’ ยังอาจหมายถึงการส่งความหมาย ความรับรู้และเข้าใจ ที่มีส่วนในการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นผู้เปลี่ยนแปลงโดยตรงการกล่าวถึงแนวทางศิลปะเพื่อชีวิตในลักษณะนี้จึงเป็นการจำกัดอยู่ที่ผลงานของศิลปินแนวทางศิลปะเพื่อชีวิตของ ประเทือง  เอมเจริญ  และกลุ่มแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย



ผลงานชิ้นสำคัญของประเทืองที่ถูกจัดอยู่ในงานศิลปะเพื่อชีวิตคือภาพ ‘ธรรมะกับอธรรม’ เป็นภาพสีน้ำมันขนาด 5.7 x 2.3 เมตร เนื้อหาสะท้อนแนวคิดทางการเมืองหลัง 14 ตุลาคม 2516 ได้เป็นอย่างดีที่สุด อภินันท์ โปษยานนท์ กล่าวถึงงานชิ้นนี้ว่า ศิลปินใช้เวลากว่าหนึ่งปี และเป็นงานศิลปะสมัยใหม่ของไทยที่ทรงพลังที่สุดในเรื่องการต่อต้านการใช้ความรุนแรงชิ้นหนึ่งโดยใช้วัตถุดิบจากภาพเหตุการณ์จริงเป็นแรงบันดาลใจอภินันท์ให้ข้อสังเกตว่า ศิลปินได้รับอิทธิพลจากงานของ ดิเอโก ริเวรา (Diego Rivera) โฮเซ่คลีเมนต์ โอรอสโก (José Clemente Orozco) และ เดวิด อัลฟองโซ ซิเกรอส (David Alfaro Siqueiros) ซึ่งเขียนภาพการต่อสู้ทางชนชั้นและเอกภาพของเหล่าชนชั้นกรรมาชีพ ยิ่งกว่านั้นประเทืองยังได้รับอิทธิพลจาก Guernica (1937) ของปิคาสโซ (Pablo Picasso) อีกด้วย โดยเทียบเคียงการปราบปรามประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่ประเทืองเลือกใช้เศียรพระพุทธรูปที่ถูกกระสุนปืนยิง โดยอธิบายว่า “ผมต้องการจับอารมณ์ของความสับสนช็อค และหวาดกลัว ผมใช้สัญลักษณ์อย่างใบหน้าคนร้องไห้และเมฆครึ้มใบหน้าพระพุทธรูปแทนคนไทยที่ถูกทำร้าย ดวงตาปิด น้ำตาไหลพรากมีรอยกระสุนเต็มใบหน้า” อภินันท์กล่าวว่า

แม้ประเทืองจะไม่ผ่านการศึกษาในมหาวิทยาลัยศิลปะ หรืองานของเขาไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับลัทธิสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ แต่ประเทืองได้รับอิทธิพลอย่างมากจากงานเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของการสนับสนุนชาวนาและแนวทางศิลปะเพื่อชีวิต

ทางด้าน พิริยะ ไกรฤกษ์ ก็ตั้งข้อสังเกตได้อย่างน่าสนใจว่า งานของ ประเทือง เอมเจริญ ที่แฝงอุดมการณ์อันสะกดจิตใจของผู้ชมได้นั้น เพราะงานของประเทืองเทียบได้กับงานของ ถวัลย์ ดัชนี “มีพลังแรงและพลวัตรวมอยู่ในตัวของมันเอง” ส่วนงานของกลุ่มอื่นตามแนวทางศิลปะเพื่อชีวิตนั้นไม่มีความสามารถเท่าเทียมผลงานของทั้งสองคน ศิลปะเพื่อประชาชนจึงลดระดับลงเหลือเพียงการโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น ถึงกระนั้นแนวทางศิลปะเพื่อประชาชน “ได้ก่อให้เกิดชีวิตและความตื่นเต้นซึ่งขาดหายไปในงานศิลปะแนวอื่นๆ และได้มีอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นต่อมาด้วย”

จากที่กล่าวมาข้างต้น อิทธิพลของแนวทางศิลปะเพื่อชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะผ่อนคลายลง แต่ศิลปินที่เคยแสดงผลงานตามแบบศิลปะเพื่อชีวิตกลับลดบทบาทลง กระทั่งอำพรางตัวโดยไม่แสดงตัวตนที่แท้จริง ตามที่สิทธิเดชประเมินไว้ว่าเกิดจากการทำลายล้างศิลปะเพื่อชีวิตของฝ่ายรัฐบาลและการทำลายทิ้งของศิลปินเอง จึงเป็นการยากที่จะประเมินว่าพวกเขานั้นยังมีอุดมการณ์ ‘ดั้งเดิม’ หลงเหลืออยู่หรือไม่ และการออกมามีบทบาทในการรณรงค์ทางการเมืองนั้น พวกเขาอยู่ในฐานะของผู้บันทึกเหตุการณ์ (producer/ethnographer) หรือเป็นผู้กระทำการในระดับใด ได้จัดระยะและวางความสัมพันธ์ตัวเองกับผลงานอย่างไร รวมถึงมีความรับผิดชอบต่อผลงานของตัวเองในระดับใด

..,
 
บางส่วนจาก คืนความเป็นการเมืองให้กับศิลปะ โดย บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

ในเล่ม การเมืองทัศนา
ว่าด้วย การเมือง อำนาจ ศิลปะ และการมองเห็น —สู่ความหมายทางวัฒนธรรม



โดย บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
=====

สั่งซื้อยกเซ็ต หนังสือศิลปะเด็กอาร์ตต้องอ่าน

หรือ

คลิกสั่งซื้อยกชุด 4 เล่มรอบ มี.ค. 2565 เราจัดให้ราคาพิเศษเท่าที่เคารพต่อราคาบนปกหนังสือ

1. การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึงพุทธศักราช 2475:
ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปรสำนึก จากกษัตริย์ สู่ชนชั้นนำ ถึงปัจเจกชนและสามัญชน
●— อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
450 บาท


2. การเมืองทัศนา: ว่าด้วยการเมือง อำนาจ ศิลปะ และการมองเห็น สู่ความหมายทางวัฒนธรรม
●— บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
350 บาท


3. ประเทศไร้ทรงจำ
●— รวมบทกวีแสบทรวง โดย รอนฝัน ตะวันเศร้า
200 บาท

4. เกดในเคิร์มแลนด์
●— วรรณกรรมแปร่งลิ้นรสขม โดย วิภาส ศรีทอง
200 บาท

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้