Last updated: 13 มิ.ย. 2565 | 3182 จำนวนผู้เข้าชม |
จากเรื่องสั้นของ ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ (Ryūnosuke Akutagawa)
จากคำบอกเล่าที่แตกต่างและมุมมองที่หลากหลาย ความจริงที่ไม่ได้มีเพียงความจริงเดียวและล้วนขึ้นอยู่กับตัวบุคคล สิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ 'ปรากฏการณ์ราโชมอน'
ปรากฏการณ์ของ 'หนึ่งความจริง' แต่ 'หลายความหมาย'
ปรากฏการณ์ของ 'หนึ่งความจริง' แต่ 'หลายการตีความ'
พาไปสืบสาวราวเรื่อง ในป่าละเมาะ กับบทกล่าวตามโดย วาด รวี
หลายคนอาจเคยอ่านเรื่องสั้น ในป่าละเมาะ ของ ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ กันไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ดี ถ้าหากคุณหลงใหลในความซับซ้อนและกำกวมของเรื่องสั้นเรื่องนี้ บทกล่าวตามหรือบทวิเคราะห์ ในป่าละเมาะ โดย วาด รวี ที่อยู่ด้านท้ายเล่ม ราโชมอน และเรื่องสั้นอื่นๆ (สำนักพิมพ์สมมติ) คงช่วยเพิ่มอรรถรสให้กับความหลงใหลของคุณได้ไม่น้อย
ความจริงมีอยู่จริง: “ความจริงจริง ๆ ในเรื่องนี้ แม้ไม่ถูกเขียนออกมา แต่ก็เป็น ‘สิ่งค้ำยัน’ ตัวเรื่องที่ปรากฏให้เห็นทั้งหมด” วาด รวี ตั้งคำถามกับตัวเรื่องว่า “ผู้เขียนได้ ‘แต่ง’ เหตุการณ์จริงที่เป็นฆาตกรรมนั้นขึ้นมาหรือไม่” แต่สุดท้าย ก็สรุปได้ว่า “แม้ว่าเขาจะให้ตัวละครพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวขัดแย้งกันอย่างไร แต่เขาจะแต่งสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาไม่ได้ถ้าเขาไม่แต่งเหตุการณ์ซึ่งอุบัติขึ้นเพียงครั้งเดียวนั้นขึ้นมาก่อน และการมีอยู่ของเหตุการณ์นี้คือสิ่งที่ทำให้เรื่องสั้นเรื่องนี้ไม่ใช่จำอวดลิเกอ่านฆ่าเวลา หากแต่มีความหมายให้ค้นหาอย่างแท้จริง”
สืบเสาะเหตุการณ์ฆาตกรรมจากหลักฐานและเบาะแสต่าง ๆ ดังนี้
- ฟังสิ่งที่พูดไม่ได้: ในเรื่องมีหลักฐานที่พูดไม่ได้ และ วาด รวี เน้นย้ำขึ้นมาวิเคราะห์เป็นรายชิ้นไป ได้แก่ ดาบของทาเคะฮิโระ ดาบของทาโจมารุ เชือกถูกคลายออกอย่างไร ใครแก้เชือก รอยเหยียบย่ำบนพื้นดินรอบบริเวณ หวี ดาบสั้นที่หายไป ม้า คันธนูและลูกศร
-คำโกหกของทาโจมารุ: การให้การของทาโจมารุที่ว่า มีการดวลดาบเกิดขึ้น กลายเป็นเรื่องย้อนแย้งกับคำให้การของตัวละครอื่น รู้ได้จากที่ทาโจมารุไม่ได้พกอาวุธใด ๆ ไปเลยแต่แรก เพราะถ้าทาโจมารุพกอาวุธไปจริง สองสามีภรรยาคงไม่ไว้ใจตามทาโจมารุเข้าไปในป่าอย่างแน่นอน คำให้การของทาโจมารุจึงเป็นเรื่องโกหก เมื่อการดวลดาบไม่สามารถเกิดขึ้นได้
-คำโกหกของวิญญาณคนตาย: ทาเคะฮิโระ (ผู้ตาย) กลายเป็นวิญญาณและกล่าวสารภาพว่า ตนเองใช้มีดสั้นฆ่าตัวเองตาย แต่สารภาพนี้ดูจะเป็นไปไม่ได้ เพราะตามคำให้การณ์ของมาซาโกะ (ภรรยาของทาเคะฮิโระ) เธอเป็นคนแก้มัดให้กับทาเคะฮิโระหลังเขาสิ้นลมหายใจแล้ว กล่าวคือ ทาเคะฮิโระไม่สามารถฆ่าตัวตายได้
การกดขี่โดยศีลธรรมตามที่ วาด รวี กล่าว “เธอตระหนักดีว่า ‘ศีลธรรม’ นั้นจะไม่ปล่อยให้เธอมีชีวิตอยู่อย่างสงบอีกต่อไป ชีวิตข้างหน้าได้กลายเป็นความสิ้นหวังหลังจากที่เธอถูกข่มขื่น” มาซาโกะผู้ถูกทาโจมารุข่มขื่นแล้ว ไม่สามารถทนที่จะมีชีวิตอยู่กับความอับอายต่อไปได้ มิเช่นนั้น เธอก็ต้องการให้ไม่โจรก็ทาเคะฮิโระ (สามีของเธอ) ตายไปซะ อย่างไรก็ตาม วาด รวี เสนอว่า “สำนึกเกี่ยวกับศีลธรรมอันถูกต้องถูกที่ภรรยาจะต้องซื่อสัตย์ต่อสามี คือสำนึกที่มองเห็นว่าการกระทำของผู้หญิงในสถานการณ์ดังกล่าว นั้นว่าต่ำช้าสมควรประณามเสียยิ่งกว่าโจร” เพราะฉะนั้น “สำนึกดังกล่าวนี้เอง ฆ่า มาซาโกะโดยที่ไม่ต้องใช้ดาบ ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ และปิดกั้นหนทางที่เหลืออยู่ของเธอ […] จะยอมถูกโบยตีจากความรู้สึกผิดไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ หรือเดินออกจากโลกของศีลธรรมไปเป็น ‘คนนอกกฎศีลธรรม’ อย่างเช่นการเป็น ‘เมียโจร’ ”
นี่เป็นเพียงบางส่วนที่ตัดมาจากบทกล่าวตามโดย วาด รวี อ่านฉบับเต็มอย่างละเอียดคลิก… ราโชมอน และเรื่องสั้นอื่นๆ (Rashomon and Other Stories)
หรือคลิกทุกอย่างเกี่ยวกับ ราโชมอน