ทำไมรัฐต้องผันเงินเข้าธุรกิจเอกชน

Last updated: 11 มิ.ย. 2566  |  726 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทำไมรัฐต้องผันเงินเข้าธุรกิจเอกชน

หนทางสำคัญในการปฏิบัติการของรัฐเสรีนิยมใหม่แบบหนึ่งในประเทศตลาดเกิดใหม่คือ การผันเงินรัฐเข้าไปสู่ธุรกิจภาคเอกชน เช่น การเปิดนโยบายสาธารณสุขที่รัฐเป็นคนจ่ายเงิน แต่รักษาได้ในโรงพยาบาลเอกชน เส้นทางการร่วมมือกันของรัฐและเอกชนจึงยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น การระดมเงินเข้าไปซื้อโรงพยาบาลเอกชนจึงเป็นหนทางหารายได้จากรัฐ ในแง่หนึ่งแล้วเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เลือกว่าจะใช้บริการแบบใด ทั้งหมดจึงอ้างได้ว่าเป็นการส่งเสริมแนวทางในเรื่องของ ‘ทางเลือก’ (choices)

ปรากฏการณ์ในโครงสร้างความคิดคล้ายคลึงกันนี้ เห็นได้จากการที่ภาคเอกชนเข้ามาซื้อกิจการสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็น รถไฟ การบิน โทรทัศน์ และการสื่อสารรูปแบบต่างๆ จากประวัติศาสตร์ของกิจการโทรคมนาคม ก็เป็นกิจการที่สร้างความร่ำรวยให้บรรดายักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก อิตาลี และในเอเชียตะวันออก หรือแม้กระทั่งการเข้ามาซื้อกิจการเล็กๆ เช่น การผลิตบุหรี่ในสาธารณรัฐเชคถูกซื้อไปโดย Philip Morris หรือที่บริษัท General Electrics ซื้อหุ้น 50% ของบริษัทฮังการี Tungram ที่คุมตลาดถึง 80% ของการผลิตหลอดไฟของโลก อีกกรณีเช่นธนาคารในเม็กซิโกก็ถูกซื้อไปโดยธนาคารจากยุโรป

ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ สายสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับการเมืองดำรงอยู่มาเป็นเวลานาน ทั้งนี้ ในฐานะแหล่งเงิน รัฐบาลเป็นแหล่งเงินมหาศาลที่ภาคธุรกิจต่างๆ ต้องการเข้าไปมีส่วนแบ่ง กล่าวได้ว่า ในปีต่อปีเป็นรัฐบาลนั่นเองที่มีเงินมากที่สุดในประเทศ หลายศตวรรษมาแล้วที่ธุรกิจเป็นตัวผลักดันสำคัญให้การเมือง แต่รัฐก็เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจสำคัญ เช่น ธุรกิจด้านการทหารและสงคราม อวกาศ ของรัฐบาลอเมริกันที่ปริมาณเงินเป็นหมื่นล้านดอลลาร์ เช่น California Institute of Technology ทำสัญญากับ NASA ส่วน United Technologies Corporation ทำสัญญากับกองทัพอากาศ ขณะที่ General Atomic Technologies Corporation กับกองทัพอากาศ หรือ Northrop Grumman Corporation กับกองทัพอากาศ หรือจะเป็น General Electric กับกองทัพเรือ และ Lockheed  Martin  Corporation  กับกองทัพเรือ

ในสหรัฐอเมริกา ตระกูลมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยหลายตระกูลล้วนทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของรัฐมาก่อน สำหรับในยุโรปตะวันตกเห็นได้จากตระกูล Krups ของเยอรมนีช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ตระกูล Wittgenstein’s แห่งอาณาจักรออสโตร-ฮังกาเรียน (Austro-Hungarian Empire) ในศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หรือตระกูล Rothchilds กับธุรกิจการเงินและกู้เงินระหว่างประเทศ ตลอดจนให้กษัตริย์ในประเทศต่างๆ กู้ทำสงคราม ขณะที่ต้นศตวรรษที่ 21 การฟื้นฟูประเทศอิรักหลังสงครามกับฝ่าย ‘ผสม’ (Coalition) หรือพันธมิตรที่มีสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นแกนนำ บริษัท Bechtel ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้าง (ยังคงรักษาความเป็นบริษัทครอบครัวเอาไว้อย่างเหนียวแน่น) ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ นั้น หากินกับรัฐบาลมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ไล่มาจนถึงการมีบทบาทอย่างยิ่งในอิรัก เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของความร่ำรวยที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจกับรัฐ

สำหรับการขยายตัวของกลุ่มทุนไปสู่ประเทศต่างๆ กลไกทางการเงินก็เป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้น การมีกฎเกณฑ์สำหรับควบคุมการไหลเวียนของเงินเป็นสิ่งที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของทุน ในแง่นี้ รัฐในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ใด ร่ำรวยหรือยากจน อยู่ใน G-8 (ในอดีต) หรือเป็นลูกหนี้ IMF มหาศาลก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างบรรยากาศที่สบายๆ ให้กับ ‘ทุน’ เพื่อ ‘ส่งเสริมการลงทุน’ การดึงดูดให้บุคคลที่ต้องการเข้ามาเพื่อแสวงหาประโยชน์ผ่านการจ้างงานในทุกระดับ เป็นวิถีที่นิยมปฏิบัติกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานราคาถูก

บางส่วนจากเล่ม On Academic Capitalism in the age of neoliberalism
ว่าด้วยทุนนิยมมหาวิทยาลัยในสภาวะเสรีนิยมใหม่ โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้