'คำนำ' หนังสือ ว่าด้วยการถอดถอนระเบียบอำนาจแบบอาณานิคม (On Decoloniality)

Last updated: 6 ส.ค. 2567  |  423 จำนวนผู้เข้าชม  | 

'คำนำ' หนังสือ ว่าด้วยการถอดถอนระเบียบอำนาจแบบอาณานิคม (On Decoloniality)

▪️ สภาวะสมัยใหม่แบบยุโรป (European modernity) ที่คนยุโรปคริสต์ผิวขาวยกตนให้มีความก้าวหน้าและสูงส่ง ซึ่งดำเนินไปพร้อมกับการขยายจักรวรรดิ (empire) และอาณานิคม ทำให้ยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือกลายเป็นต้นแบบให้แก่ดินแดนอื่นๆ

▪️ โดยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความทันสมัย (modernization) นี้ได้กลายหนึ่งในต้นแบบที่สำคัญ ทว่าการสิ้นสุดระบบอาณานิคมของเจ้าอาณานิคมคนคริสต์ยุโรปผิวขาวนั้นกลับไม่ได้เป็นการสิ้นสุดอำนาจของสังคมแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Society) ระเบียบอำนาจแบบอาณานิคม (coloniality) ที่กำหนดวิถีชีวิต ความคิด ค่านิยม ฯลฯ ของดินแดนต่างๆ ในโลกนั้น ยังคงเป็นมรดกที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

▪️ การยึดครองดินแดนในทวีปที่คนคริสต์ยุโรปผิวขาวเรียกว่า ‘อเมริกา’ ครอบคลุมตั้งแต่อเมริกาเหนือจรดอเมริกาใต้ โดยยึดครองดินแดนจากคนพื้นเมืองในรูปแบบของการตั้งถิ่นฐานอาณานิคม (settler colonialism) ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นวิถีชีวิตปกติของคนผิวขาวที่ขยายตัวไปยังดินแดนอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ และวิถีชีวิตดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นปกติเสียจนทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีแคนาดาอย่าง สตีเฟน ฮาร์เปอร์ (Stephen Harper) กล่าวไว้ในที่ประชุม G-20 ในปี ค.ศ.2009 ว่า “We also have no history of colonialism”

▪️ แม้กระแสการต่อต้านระบบอาณานิคมจะเริ่มต้นในทวีปอเมริกาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 แต่สำหรับแสงสว่างแห่งการต่อต้านอาณานิคมในเอเชียและแอฟริกานั้นกลับปรากฏเด่นชัดในศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แม้ว่าการได้รับซึ่งเอกราชของประเทศต่างๆ ในเอเชียและแอฟริกาอุบัติขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่อำนาจอาณานิคมที่ฝังรากลึกอยู่ในโลกหลังสงครามนั้นยากที่จะสูญสลาย...

▪️ การต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมคนคริสต์ผิวขาวยังคงดำรงและดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจากดินแดนลาตินอเมริกาสู่ดินแดนแอฟริกา ผู้นำทางการเมืองและนักคิดที่ต่อต้านอาณานิคมมากมายต่างต้องการ ‘ถอดถอนระเบียบอำนาจแบบอาณานิคม’ ที่ปรากฏอยู่ในโลกซีกใต้ (global south) หรือที่เคยเรียกกันว่า ‘ประเทศโลกที่สาม’ รวมถึงบรรดานักคิดซึ่งเคยอยู่เคียงข้างกับความคิดแบบเจ้าอาณานิคม เช่น งูกี วา ถงโก (Ngugi wa Thiong’o) นักเขียนและนักวิชาการชาวเคนยาผู้ปฏิเสธการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารในนิยายของเขาและได้หันมาใช้ภาษาแอฟริกันแทน นอกจากนั้น ถงโกยังเปลี่ยนชื่อตนเองโดยการเลิกใช้ชื่อแบบอังกฤษ

▪️ ความพยายามที่จะไม่ให้ทุกสิ่งต้องแปดเปื้อนด้วยอำนาจอาณานิคมเป็นอีกวิถีชีวิตที่สำคัญของบรรดาประเทศอดีตอาณานิคมในปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 โดยการถอดถอนระเบียบอำนาจแบบอาณานิคมนั้นยังถือเป็นวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในดินแดนต่างๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิถีแห่งการปลดปล่อย (liberation) เพียงแต่ผู้ปลดปล่อย  หรือ ‘messiah’ นั้นสามารถเป็นใครก็ได้

▪️ จากรัฐประชาชาติ (nation-state) มาถึงสหประชาชาติ และไล่มาถึงระเบียบโลกเสรี (liberal international order) ดูจะไม่มีสิ่งใดที่รอดพ้นจากอำนาจของเจ้าอาณานิคมคริสต์ผิวขาวได้ ดังนั้นการถอดถอนระเบียบอำนาจแบบอาณานิคมจึงปรากฏอยู่ในแทบทุกมิติของชีวิต สิ่งต่างๆ ในโลกจึงแทบจะไม่มีสิ่งใดรอดพ้นไปจากอำนาจของอาณานิคมและระเบียบนานาชนิดของมหาอำนาจตะวันตก

▪️ อำนาจซึ่งตอกย้ำถึงความรู้ที่เป็นสากล (universal) ที่ผลิตขึ้นโดยคนคริสต์ยุโรปผิวขาว และตอกย้ำ ‘ความเหนือกว่าของคนผิวขาว’ เช่น ความคิดว่าคนผิวขาวเท่านั้นที่จะมี ‘rationality’ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องถอดถอนความคิดต่างๆ เหล่านี้ไปพร้อมกับการทำลายล้างความเชื่อในเรื่องความสูงส่งของเชื้อชาติสีผิว (race)...

▪️ การให้ทุนการศึกษาถือเป็นกลไกสำคัญของชนชั้นนำและเจ้าอาณานิคมที่ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำให้ผู้คนภายใต้อาณานิคมนั้นยอมรับอำนาจ การต่อสู้กับอาณานิคมจึงต้องดำเนินผ่านการต่อสู้ด้านการศึกษา การที่ผู้มีอำนาจมอบการศึกษาให้ผู้คนนั้นคือการใช้อำนาจครอบงำที่นุ่มนวลแบบหนึ่ง ซึ่งในอดีตการขยายอำนาจก็มักดำเนินไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ เช่น การเปลี่ยนศาสนา และด้วยพลังอำนาจของผู้มีอำนาจ ทำให้ผู้คนในดินแดนต่างๆ ต้องหันมานับถือศาสนา ยอมรับในค่านิยม ภาษา การเลี้ยงดูเด็ก ฯลฯ รวมถึงยอมรับวิถีชีวิตของชนชั้นนำคริสต์ผิวขาวผู้มาจากแดนไกล

▪️ ถึงแม้ว่าขบวนการต่อต้านของนักศึกษาต่อสถาบันการศึกษาหรือหลักสูตร จะมีมาตั้งแต่ ค.ศ.2004 ในนามของขบถคนจน (rebellion of the poor) แต่การต่อสู้ที่กล่าวมานั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในระดับสูง ทั้งหมดนี้ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย ไล่ตั้งแต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำไปจนถึงความอยุติธรรม อคติผิวสี อคติทางเพศ อคติทางอายุ ฯลฯ

▪️ การต่อสู้จึงเหมือนกับโครงการการต่อสู้ทางการเมืองอื่นๆ ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานและต้องดำเนินไปอีกยาวไกล หนังสือเล่มนี้จึงเต็มไปด้วยความย้อนแย้งจากผลพวงของระเบียบอำนาจแบบอาณานิคม และทั้งหมดนี้ยังตกอยู่ภายใต้อำนาจของการศึกษาของทุนนิยมในโลกพูดภาษาอังกฤษ

▪️ บางส่วนของหนังสือเล่มนี้ ถูกนำเสนอในการประชุมวิชาการของสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2565 ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ.2566 ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาบางส่วนเป็นคำบรรยายที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในเดือนพฤษภาคม และบางส่วนเป็นคำบรรยายสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี โครงการ BIR คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในรอบหลายปีที่ผ่านมา

▪️ ขอขอบคุณ โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์, ทัศนัย เศรษฐเสรี, ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ, กฤติยา กาวีวงศ์, นาตยา อยู่คง, โครงการ BIR และนักศึกษา BIR คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นไปได้

ธเนศ  วงศ์ยานนาวา
คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
==========

บางส่วนจาก 'คำนำผู้เขียน' ในเล่ม ว่าด้วยการถอดถอนระเบียบอำนาจแบบอาณานิคม (On Decolonaility)  โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้