Last updated: 23 มิ.ย. 2565 | 3144 จำนวนผู้เข้าชม |
ในวาระครบรอบ 10 ปี ของการปรากฏกายต่อโลกหนังสือของสำนักพิมพ์สมมติ ผมเองในฐานะที่เป็นผู้โชคดีที่ได้มีโอกาสตีพิมพ์หนังสือกับสำนักพิมพ์คุณภาพอย่างสำนักพิมพ์สมมติ จึงขอใช้พื้นที่สั้น ๆ นี้กล่าวถึงความประทับใจที่ผมมีต่อสำนักพิมพ์สมมติในประเด็นแรก และจะขอกล่าวถึงหน้าที่ทางสังคมของสำนักพิมพ์ในมุมมองของผมเป็นประเด็นที่สอง
สำหรับผู้เขียนแล้ว ในปี 2551 นั้นเพิ่งเริ่มต้นอาชีพเป็นอาจารย์สอนหนังสือด้านรัฐศาสตร์ อยู่ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้เพียง 1 ปีเท่านั้น ในวันธรรมดาวันหนึ่งของเดือนพฤศจิกายน ปี 2551 ที่ผู้เขียนต้องเข้าสำนักงานเพื่อเซ็นชื่อ และเช็คเอกสารแจ้งเวียนต่างๆ รวมถึงไปรษณีย์ตามปกตินั้น ก็พบว่าได้มีซองเอกสารสีน้ำตาลส่งมาจากผู้ส่งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน นามว่า ‘สำนักพิมพ์สมมติ’
ภายในซองเอกสารบรรจุหนังสือเรื่อง ‘ยูโทเปีย’ และ ‘1984’ พร้อมด้วยจดหมายแนะนำตัวเองจากสำนักพิมพ์กล่าวถึงการมอบหนังสือเพื่อเป็นการอภินันทนาการ และการประชาสัมพันธ์หนังสือเพื่อใช้ในชั้นเรียนรัฐศาสตร์ นอกจากนั้นสำนักพิมพ์ยังเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจได้ส่งต้นฉบับเพื่อพิจารณาตีพิมพ์อีกด้วย
นั่นเป็นความประทับใจแรกสุดที่ผู้เขียนมีต่อสำนักพิมพ์ เป็นความประทับใจที่มีต่อรูปลักษณ์ของหนังสือ การออกแบบรูปเล่มและหน้าปก รวมถึงเนื้อหาของหนังสือที่ใช้ประกอบการเรียน/การสอนทางด้านรัฐศาสตร์ได้ ผ่านหนังสือที่ได้รับอภินันทนาการมาสองเล่มนั่นเอง
เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษในปี 2553 ภายหลังจากล้มลุกคลุกคลานกับการเริ่มต้นวิจัยในระบบปริญญาเอกแบบอังกฤษอยู่พักหนึ่ง ในวันที่ว่าง (เล็กน้อย) จากการอ่านและเขียนงานส่งอาจารย์ที่ปรึกษา ผู้เขียนได้เริ่มต้นสิ่งที่คิดฝันไว้ตั้งแต่ปลายปี 2551 นั่นก็คือการเขียนอีเมล์ไปถึงสำนักพิมพ์สมมติ และบอกเล่าความตั้งใจที่จะทำหนังสือเล่มแรกของตนเอง โดยจะแนะนำความคิดทางการเมืองของ อันโตนิโอ กรัมชี่ ให้กับผู้อ่านในโลกภาษาไทย
สำนักพิมพ์สมมติตอบเมล์ของผมโดยไว และโดยไม่ต้องมีข้อมูลทางการตลาดสนับสนุน หรือมีข้อเสนอต้นฉบับอย่างเป็นทางการ แต่สำนักพิมพ์สมมติตอบตกลงที่จะตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับกรัมชี่ จากนักวิชาการที่เพิ่งเริ่มต้นอาชีพที่ไม่เคยพบหน้าค่าตากันมาก่อน นี่เป็นอีกความประทับใจที่มีต่อสำนักพิมพ์ เป็นความประทับใจที่มีต่อความใจกล้า บ้าบิ่น (ที่คิดจะตีพิมพ์หนังสือที่อ่านยาก และน่าจะขายลำบาก) และความใจกว้างที่มีต่อนักวิชาการตัวน้อยๆ คนหนึ่ง
ผมทำต้นฉบับหนังสือเล่มแรกพร้อมกับการเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เมื่อเรียนจบในปี 2557 หนังสือ ‘บทสำรวจความคิดทางการเมืองของอันโตนิโอ กรัมชี่’ ก็ได้ตีพิมพ์ในปี 2557 เช่นเดียวกัน โอกาสแบบนี้จะเป็นเพียงเรื่องสมมติสถานเดียว หากผมไม่ได้รับโอกาสจากสำนักพิมพ์สมมติ
ประเด็นที่สอง ผู้เขียนมองว่าสำนักพิมพ์สมมตินั้นไม่ได้ทำหน้าที่เพียงการเป็นองค์กรธุรกิจสิ่งพิมพ์ หรือเป็นเพียงสื่อแขนงหนึ่งที่คำนึงแต่เพียงเรื่องของยอดขาย หรือกำไร/ขาดทุน อย่างสำนักพิมพ์ทั่วไป แต่สำนักพิมพ์สมมติยังได้ทำหน้าที่ทางสังคมที่สำคัญไม่ว่าจะโดยตั้งใจ หรือรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
ผู้เขียนมองว่าสำนักพิมพ์สมมตินั้นทำหน้าที่เป็นดั่ง “ปัญญาชน” (Intellectual) ดังที่กรัมชี่เคยเสนอว่าปัญญาชนนั้น (ซึ่งอาจเป็นปัจเจกชน กลุ่มคน หรือองค์กรก็ได้) ไม่ได้หมายความถึงผู้ที่มีใบปริญญาหลายใบ แต่ปัญญาชนคือผู้ที่ทำหน้าที่ทางสังคม (social functions) ที่คอยรวบรวม ผนึกกำลัง และส่งต่อความรู้ที่มีอยู่กระจัดกระจายในแหล่งต่าง ๆ ให้ส่งไปถึงยังมวลชน (ในที่นี้ก็คือผู้อ่านทุกคน) เพื่อให้เกิดผลในทางปัญญาในทางใดทางหนึ่ง
ตลอดสิบปีมานี้ สำนักพิมพ์สมมติยังทำหน้าที่สำคัญในการจัดวางความคิดทางสังคมใหม่ๆ ให้กับสังคมไทย อีกทั้งยังได้สร้างจินตนาการทางความรู้ ความคิด ตลอดจนทฤษฎีให้เกิดแก่ผู้คนในสังคมไทยผ่านงานเขียนทั้งที่เป็นงานวิชาการและงานวรรณกรรมหลากหลายรูปแบบอีกด้วย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าหน้าที่ทางสังคมที่สำคัญยิ่งของสำนักพิมพ์สมมติ ดังที่ได้ปฏิบัติเรื่อยมาก็คือ การทำหน้าที่ในการส่งต่อ ‘สิ่งสมมติ’ ในทางความคิดของผู้เขียนทุกคน มาสู่โลกจริงในมือของผู้อ่าน
ผู้เขียนหวังว่าในอีกสิบปี หรืออีกหลายสิบปีข้างหน้า หลายสิ่งหลายอย่างในสังคมไทยที่เคยเป็นเพียงเรื่องสมมติ จะได้รับการเปลี่ยนแปลงโดยพวกเราทุกคน และในระหว่างทางนั้น ‘สำนักพิมพ์สมมติ’ ก็จะคอยเป็นเพื่อนร่วมทางไปกับเรา และทำให้สิ่งสมมติเป็นจริงขึ้นมาได้อย่างสวยงาม
29 มี.ค. 2562
29 มี.ค. 2562
29 มี.ค. 2562
29 มี.ค. 2562