Last updated: 23 มิ.ย. 2565 | 2645 จำนวนผู้เข้าชม |
-- กลางปี 2548 --
ช่วงดึกต่อเช้า ท่ามกลางวงสนทนาระหว่างเพื่อนริมทะเล ชายหาดสวนสนประดิพัทธ์ ประจวบคีรีขันธ์ ต้องได้เล่าถึงความฝันในการที่อยากจะทำสำนักพิมพ์ที่ผลิตงานวรรณกรรมเข้มข้น แบบที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน ซึ่งจำได้ว่าต้องไม่ได้พูดถึงความฝันนี้เป็นครั้งแรก
พวกเราเพื่อนๆ เคยได้ยินต้องเล่าให้ฟังหลายครั้งหลายโอกาสมาตั้งแต่สมัยยังเรียนมหาวิทยาลัยกันอยู่ แต่คราวนี้ต่างออกไป เพราะพวกเราต่างก็เรียนจบกันแล้ว กำลังจะเริ่มต้นทำงาน มุ่งหน้าสู่โลกของผู้ใหญ่ที่จะต้องทำมาหาเลี้ยงชีพกันเองแล้ว ความฝันของต้องจึงให้ความรู้สึกที่น่าเป็นห่วงในมุมมองของเพื่อนๆ เป็นอย่างมาก พวกเราพยายามโน้มน้าว หาเหตุผล เพื่อแนะนำและทัดทานให้ต้องนึกถึงว่ามันยากลำบากและแตกต่างแค่ไหนระหว่างความฝันของต้องกับสภาพความเป็นจริง แต่ต้องก็ไม่ได้ฟังพวกเรามากมายนัก ยังคงยืนยันแนวคิดของตัวเองต่อไป
-- ปลายปี 2548 --
ที่นั่งทรงเกวียน ริมสนามฟุตบอลโรงเรียนเก่า ได้มีโอกาสพบกับต้องอีกครั้ง พูดคุยแลกเปลี่ยนและเล่าเรื่องชีวิตปัจจุบันกัน ต้องพูดเรื่องสำนักพิมพ์อีกครั้งพร้อมกับบอกว่าพี่จ๊อกอยากได้คนไปช่วยงานในตำแหน่งกราฟฟิกดีไซน์ที่โรงพิมพ์ภาพพิมพ์ ทั้งแนะนำ ชักจูง โน้มน้าว แถมยังพูดติดตลกว่าไว้ต้องทำสำนักพิมพ์แล้วจะได้มาช่วยกัน
หลังจากคำยุยงของต้องวันนั้น ระหว่างความกังวลและไม่มั่นใจในตัวเองที่จะต้องข้ามสายงานจากการออกแบบผลิตภัณฑ์สู่การออกแบบกราฟฟิกที่ไม่ชำนาญ แต่ก็ได้พาตัวเองพร้อมพอร์ตโฟลิโอที่ไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องกับงานกราฟฟิกไปสมัครงาน
-- ปี 2549 --
เริ่มต้นชีวิตกราฟฟิกดีไซเนอร์ทั้งๆ ที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับงานพิมพ์เลย ความรู้เท่าที่มีอยู่ก็ตั้งแต่เรียนการออกแบบกราฟฟิกพื้นฐานและการใช้โปรแกรมที่ติดตัวมาตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัย โต๊ะทำงานตัวแรกที่โรงพิมพ์คือโต๊ะเสมียนที่เอาคอมพิวเตอร์มาวางไว้ งานออกแบบผ่านไปด้วยดี แต่งานพิมพ์มันไม่ใช่แค่นั้น
จากความไม่ประสีประสาความตั้งใจดีในหน้าจอคอมพิวเตอร์กลับทำให้เกิดปัญหาในขั้นตอนก่อนการพิมพ์ ผลคือต้องแก้ไฟล์งานเพื่อทำเพลทใหม่ทั้งหมด แต่พี่จ๊อกและโรงพิมพ์ก็ไม่ได้ตำหนิอะไรกลับแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและแก้ปัญหาเหมือนมันไม่ใช่เรื่องใหญ่โต
เป็นประสบการณ์แรกในอีกหลายๆ เรื่องต่อมาที่การตัดสินใจแก้ปัญหาแบบพี่จ๊อก ส่งผลสำคัญต่อวิธีการทำงานและเนื้องาน โต๊ะทำงานตัวแรกนั้นตั้งอยู่ในห้องเดียวกับโต๊ะทำงานของพี่จ๊อก แต่ตัวเจ้าของโต๊ะมักไม่นั่งอยู่กับโต๊ะ แต่จะลงไปขลุกอยู่กับช่างพิมพ์ข้างล่างมากกว่า พี่จ๊อกทำงานอยู่ทุกที่ของภาพพิมพ์เสมอ
-- ย้อนกลับไปช่วงปี 2541-2542 --
ผมเองได้รู้จักพี่จ๊อก ชัยพร อินทุวิศาลกุล ในฐานะรุ่นพี่ที่ทำกิจกรรมชุมนุมด้วยกัน ชื่อพี่จ๊อกได้รับการเล่าถึงในฐานะหัวหน้าชุมนุมที่สอบติดมหาวิทยาลัยไปตั้งแต่ ม.5 แต่เลือกที่จะปฏิเสธการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยแล้วอยู่รับผิดชอบภาระหน้าที่ที่ไม่มีใครบังคับให้ทำ แต่เป็นไปโดยสมัครใจ
เป็นช่วงเวลา 1 ปีสั้นๆ ที่ได้รู้จักตัวตนของผู้ชายคนนึงที่ทำงานด้วยความหลงใหลและมุ่งมั่นตั้งใจอย่างถึงที่สุด พี่จ๊อกเป็นหัวหน้างานที่จริงจังมาก ทำให้ดีถึงที่สุดไม่ว่างานใหญ่งานเล็ก เวลาทำงานตั้งใจจริงจังทุกงาน หลังงานก็ปลดปล่อยความบ้าในทุกรูปแบบอย่างกับคนละคน
ผมรู้จักต้อง ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล หลังจากนั้น น่าแปลกทั้งๆ ที่เราเรียนรุ่นเดียวกันแท้ๆ ก่อนหน้านั้นผมไม่ได้มีโอกาสรู้จักเค้าเลย จนกระทั่งต้องก้าวเข้ามาทำกิจกรรมชุมนุมเดียวกันกับผมหลังจากที่พี่จ๊อกเรียนจบมัธยมไปแล้ว ต้องมาในมาดที่แตกต่างออกไป ร่าเริง ขี้เล่น พูดน้อยแต่ตรงประเด็น ด้วยภาระหน้าในกิจกรรมชุมนุมที่ต่างกันทำให้พื้นที่และเวลาของผมกับต้องไม่ตรงกันนักในช่วงปีแรก
แต่ปีถัดมางานกิจกรรมเริ่มลดลงแต่ตัวตนของต้องก็เริ่มชัดเจนในความรู้สึกของผมมากขึ้น ต้องทำงานเหมือนเล่นสนุก มีลูกล่อลูกชน ไม่ตึงไม่หย่อน แต่ไม่ผ่อนผัน งานได้ ใจก็ได้ไปพร้อมกันด้วย ทำงานด้วยแล้วสนุก หลังจาก 2 ปีที่ยาวนานในความทรงจำ เพื่อนๆ ก็แยกตัวกันไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องก็ขึ้นเชียงใหม่ไป
-- ช่วงปี 2550-2551 --
หลังจากผมสะสมประสบการณ์เกี่ยวกับงานกราฟฟิกและงานพิมพ์ที่ภาพพิมพ์มาตลอด 2-3 ปี ต้องและพี่จ๊อกก็รวมทีมกันอย่างจริงจัง ที่ตั้งสำนักพิมพ์ที่แรกอยู่ที่ตึกเดียวกันกับโรงพิมพ์เพียงแต่ทางขึ้นอยู่คนละฝั่งกับพนักงานโรงพิมพ์เท่านั้นเป็นตึกส่วนหน้าที่แยกตัวจากโรงพิมพ์อย่างหลวมๆ
งานแรกที่ทั้งคู่ทำด้วยกันยังไม่ได้ทำในชื่อ สำนักพิมพ์ สมมติ แต่เริ่มจากการทำวารสารหนังสือใต้ดินเล่ม 11 ด้วยความตั้งใจของทั้งคู่ วารสารหนังสือใต้ดินเล่ม 11 จึงต้องคิดใหม่ทำใหม่ทั้งหมด รื้อตั้งแต่วิธีการออกแบบปกการวางเลย์เอ้าท์จนถึงการวางโฆษณา ทำงานอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่วางโครงสร้างจนถึงตัดคำ
หลังจากรับเป็นงานนอกในฐานะเพื่อนและน้องมาช่วยทำหลังเลิกงานประจำของโรงพิมพ์ ก็ได้รับอนุมัติจากพี่จ๊อกให้ทำในเวลางานที่ว่างที่จริงๆ ก็ไม่ค่อยว่างมันซะเลย เลยเถิดถึงตอนที่จะต้องปิดเล่มให้ได้ พวกเรา 3-4 ที่ช่วยๆ กันทำในตอนนั้นถึงขนาดอยู่ค้างปิดเล่มกันยันสว่างที่โรงพิมพ์กันเลยทีเดียว พอสายๆ ผมก็พาร่างตัวเองย้ายฝั่งกลับไปนั่งทำงานเป็นพนักงานโรงพิมพ์ตามเดิมพร้อมอาการสัปหงกตลอดวัน
-- 2551 --
วรรณกรรมในวงเล็บ 3 เล่มแรกคือจุดเริ่มต้นของ สมมติ ผมได้มีส่วนร่วมจากทางฝั่งโรงพิมพ์ในฐานะคนดูแลความเรียบร้อยก่อนส่งไฟล์งานไปทำเพลท ต่อจากนั้น ความสนุกก็เริ่มต้นขึ้น ต้องและพี่จ๊อกยังคงเดินหน้าทำวารสารหนังสือใต้ดินเล่ม 12-14 ต่อไปพร้อมการปรับดีไซน์ทุกฉบับ พร้อมกับเริ่มวรรณกรรมโลกสมมติ 2 เล่มแรกไปพร้อมๆ กัน คราวนี้ต้องอยากให้ผมลองออกแบบปก ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นของผมกับปกของ สมมติ
ในช่วงแรกๆ หลังจากผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างต้องกับพี่จ๊อกในฐานะบรรณาธิการและเจ้าของสำนักพิมพ์และผมในฐานะคนออกแบบ จากการปรับแก้ เพิ่มเติม ตัดทอนหลายครั้ง 'หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่' และ 'ยูโทเปีย' ฉบับปกแรกก็ได้ออกสู่ตลาด
แต่ถึงอย่างนั้น 'ยูโทเปีย' ฉบับพิมพ์ครั้งแรกก็ยังมีข้อผิดพลาดจากปัญหาการตัดคำ โดยปกติการแก้ปัญหาที่นิยมทำคือการพิมพ์ใบปลิวแก้แทรกไปในหนังสือ หรือแม้กระทั่งการปล่อยผ่านโดยไม่แก้ไขอะไร แต่ ‘สมมติ’ ไม่ทำอย่างนั้น ทั้งคู่ตัดสินใจแก้ต้นฉบับใหม่ทั้งเล่ม ทำเพลทใหม่ทั้งหมด และพิมพ์ใหม่ โดยแจ้งให้ผู้อ่านนำเล่มเก่าที่ผิดพลาดมาเปลี่ยนเล่มใหม่ได้ฟรีทั้งผ่านช่องทางงานสัปดาห์หนังสือ หรือการส่งไปรษณีย์ รวมถึงการโละหนังสือล็อตที่ผิดพลาดทั้งหมด
ทั้งๆ ที่ ‘สมมติ’ เพิ่งอยู่ในช่วงตั้งตัวยังไม่มีรายได้เข้ามามากพอที่หักลบต้นทุนที่ลงไปในช่วงเริ่มต้นด้วยซ้ำ แต่ด้วยความเป็นเพอร์เฟคชั่นนิสต์ของทั้งคู่ แม้งานจะเสร็จแล้วแต่ถ้ามันยังไม่ดีพอก็พร้อมที่จะรื้อทำใหม่ แม้กระทั่งกับตัวเองก็ไม่ผ่อนผันให้แม้แต่น้อย
‘สมมติ’ เรียกร้องคุณภาพทั้งจากต้นฉบับ การแปล กระดาษ และงานออกแบบ ปกหนังสือสำหรับ ‘สมมติ’ จึงไม่ใช่แค่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่ใช้ประดับตกแต่งเนื้อหาที่ถือเป็นส่วนหลักของหนังสือเท่านั้น แต่ ‘สมมติ’ มองหนังสือ คือ วรรณกรรม และมองงานออกแบบปก คือ งานศิลปะ
จากเดิมงานออกแบบของผมที่มักจะมองแต่ภาพกว้างให้เข้าใจได้ง่ายและเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม ถูกเรียกร้องแกมบังคับให้มองภาพที่ลึกขึ้นแต่ยังคงต้องรักษาความกว้างด้วยเหมือนเดิม ซึ่งก็เป็นภาระที่มากมายเหลือเกินสำหรับคนทำงานประจำที่จะต้องพยายามทำความเข้าใจกับเนื้อหาหนังสือที่จะต้องออกแบบทุกเล่ม หลังเลิกงานผมต้องอ่านต้นฉบับเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาและออกแบบภาพร่างของปกต่างๆ ก่อนจะนำไปทดลองวางในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อนำมาเสนอให้ทั้งคู่ได้พิจารณา
ช่วงเวลา 2-3 ปีต่อจากนั้น ‘สมมติ’ ก็เติบโตขึ้น พร้อมกับงานหลากหลายแนว ทั้งงานวิชาการ บทกวี รวมถึงวรรณกรรมไทย รวมถึงมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ บนหน้าปกด้วยการหาศิลปิน นักวาดรูป นักออกแบบ หลายๆ คนมาทดลองทำปกของสำนักพิมพ์ งานออกแบบเริ่มมีความหลากหลายและเริ่มกำหนดจุดยืนและทิศทางของ ‘สมมติ’ ได้ชัดเจนมากขึ้น
ระหว่างนั้นผมได้ตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยนทิศทางความฝันอีกครั้ง ซึ่งนำไปสู่การลาออกจากโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ที่อยู่มานานถึง 5-6 ปี มุ่งไปสู่อีกความฝันนึงในชีวิต ทิ้งงานออกแบบกราฟฟิกไว้ข้างหลัง โดยทั้งต้องและพี่จ๊อกรับรู้และเข้าใจพร้อมทั้งให้โอกาสและสนับสนุนเป็นอย่างดีมาตลอด งานออกแบบให้สำนักพิมพ์ของผมก็เลยหยุดลงด้วยเหตุนั้น
-- 2561 --
ผมยังคงอยู่บนเส้นทางของความฝัน งานออกแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นอาชีพแรกและงานออกแบบกราฟฟิกยังคงอยู่ในชีวิตบ้างตามแต่โอกาส สิ่งที่เป็นความฝันในวัยเด็กได้ปรับเปลี่ยนไปตามเวลาและพื้นที่ พวกเรายังได้คงพบเจอกันบ้างอาจไม่บ่อยแต่ก็ไม่ถึงกับห่างหายกันไป
วาระสมมติ ครบ 10 ปี ต้องและพี่จ๊อกยังคงหยัดยืนในความฝันจุดเดิมเหมือนเมื่อวันแรกตั้งสำนักพิมพ์เมื่อ 10 ปีก่อนไม่ผิดเพี้ยน ในวงสนทนาประสาเพื่อน ต้องกับพี่จ๊อกเคยพูดเล่นๆ ไว้ว่าสำนักพิมพ์ของพวกเค้า ไม่ได้อ่านตามชื่อว่า สมมติ แต่อ่านตามความหมายว่า สม-มติ ผมเดาเอาเองว่าหมายถึง มืออาชีพสองคนที่มีมติร่วมกันในความฝันและความเป็นจริงแห่งสำนักพิมพ์สมมติ
เปิดรับสมาชิกตลอดชีพรุ่นสาม ราคา 44,000 บาท
#รับจำนวนจำกัดเหมือนเดิม
#ปรับราคาขึ้นตามปฏิจจสมุปบาท
#มีระบบผ่อนเหมือนสมาชิกสองรุ่นแรก
#ได้รับหนังสือทุกเล่มที่มีอยู่และจากนี้ตลอดไป
#มีสิทธิพิเศษอื่นอีกหลายอย่างที่มากกว่าเดิม
29 มี.ค. 2562
29 มี.ค. 2562
29 มี.ค. 2562
29 มี.ค. 2562