1984 | 5 ประโยคที่เป็นอันตรายต่อรัฐ

Last updated: 16 ก.ย. 2565  |  9698 จำนวนผู้เข้าชม  | 

1984 | 5 ประโยคที่เป็นอันตรายต่อรัฐ

นวนิยายอันทรงพลังของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ที่พูดได้เลยว่า ชีวิตหนึ่งควรได้อ่าน!

นวนิยายที่จะพาผู้อ่านดำดิ่งไปกับภาพของการสอดส่องชีวิตและการวางระบบควบคุมทั้งหมดของ 'พรรค' ที่เป็นทั้งการชวนเชื่อ ทำให้เชื่อ และต้องเชื่อ



ใน 1984 เราจะสนุกไปกับขั้ว 'ความเชื่อ' และขั้ว 'ความคิด' ผ่านเรื่องราวการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเสรีภาพของ 'วินสตัน' [ตัวละครสำคัญในเรื่องและโลกวรรณกรรมสากล] ที่ต้องดำเนินไปอย่างเงียบเชียบที่สุด

นอกเหนือไปจากสภาพแวดล้อมและฉากอันน่าหดหู่สมจริงแล้ว สิ่งที่ดึงดูดเราให้ติดตามไปตั้งแต่ต้นจนจบ และผู้อ่านจะปล่อยผ่านไม่ได้เลย คงหนีไม่พ้น 'ความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร'

โดย จอร์จ ออร์เวลล์ ได้แทรกไว้ เสมือนว่าทั้งหมดคือตัวแทนของความคิด-ความอ่าน ที่ต้องการจะบอกและคาดการณ์ไว้

สำนักพิมพ์สมมติขอนำเสนอ บางท่อน บางตอน บางประโยค ที่เกิดขึ้นและดำเนินไปพร้อมกับตัวละคร

ความสนุกในการอ่าน 1984 จึงไม่ใช่แค่เพียงต้องรู้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร

แต่ต้องรู้ไปให้ถึงว่า พวกเขาเหล่านั้น คิด รู้สึก และจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอย่างไร!
==========



1

[...] ผู้ควบคุมอดีตย่อมควบคุมอนาคต :
ผู้ควบคุมปัจจุบันย่อมควบคุมอดีต [...]

ในโลกของ 1984 'ความจริง' 'ข้อเท็จจริง' หรือ 'ความหลัง' เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาจากผู้บงการหรือผู้มีอำนาจในการสั่งการ มันง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน ที่ต้องทำก็คือเอาชนะความทรงจำของเราให้หมดจดแบบที่พวกเขาเรียกกันว่า ‘การควบคุมความจริง’ ดังที่คำขวัญพรรคกล่าวไว้
==========



2

[...] ความจริงจะมีก็แต่ในจิตใจพรรค ซึ่งเป็นจิตใจรวมหมู่และไม่มีวันตาย สิ่งใดที่พรรคถือเป็นความจริงย่อมเป็นจริง ไม่มีวันที่มนุษย์จะมองเห็นความจริง เว้นแต่มองผ่านดวงตาพรรค นี่เป็นข้อเท็จจริงที่คุณต้องเรียนรู้ใหม่ [...]

ในห้องที่ไร้ความมืด แสงสว่างสาดส่องไปทั่วทุกพื้นที่ ทุกซอกทุกมุม เหมือนกับคำพูดของ 'โอไบรอัน' ที่พยายามชอนไชเข้าไปในทุกความคิดของวินสตัน ด้วยคำพูดที่พังทลายความเชื่อที่เขามีต่อความเป็นจริง และการมีตัวตนของเขา คำถามที่ออกมาจากปากโอไบรอันนั้นส่งแรงกระแทกไปทุกอณูความคิดและความรู้สึก เป็นคำถามที่สั่นคลอนจนวินสตันเริ่มสับสนกับความจริงที่ตนกำลังเผชิญ ความจริงที่เขาเคยเชื่อว่าคือ 'ตัวตน' ของเขา
==========



3

[...] ลักษณะเฉพาะแท้จริงของวิถีชีวิตสมัยใหม่ หาใช่ความโหดร้ายและไร้เสถียรภาพ หากเป็นเพียงความว่างเปล่ามืดมัวและเฉื่อยเนือย [...]

วินสตันรู้สึกสะเทือนใจต่อความจริงที่ว่า ชีวิตเป็นเพียงความว่างเปล่ามืดมัวและเฉื่อยเนือย มองไปรอบตัวก็พบว่าชีวิตไม่ได้เหมือน 'คำโฆษณาที่ชวนให้เชื่อ' ซึ่งผลิตจากโทรภาพหรือสื่อของพรรค ไม่เหมือนภาพความฝันที่พรรคพยายามไปให้ถึง ชีวิตส่วนใหญ่...ต่อให้เป็นสมาชิกพรรค ก็มักดำเนินไปโดยไม่ยินดียินร้าย ไม่สนใจการเมือง แต่ต้องตรากตรำงานน่าเบื่อต่อไป
==========



4

[...] คุณจะอุทธรณ์ต่ออนาคตได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีร่องรอยของคุณหลงเหลืออยู่ ไม่เหลือซากแม้แต่ถ้อยคำนิรนามที่เขียนบนกระดาษสักแผ่น [...]

วินสตันสงสัยในสิ่งที่เขาเชื่อมั่นว่าเป็นสิ่งที่ 'ถูกต้อง' และเป็นสิ่งที่ 'ควรทำ' นั่นคือการคิดและการเขียนบันทึก แต่ด้วยสภาพแวดล้อมรอบตัวบังคับให้เขาเกิดคำถามที่ว่า เขาเขียนบันทึกเพื่อใคร เพื่ออนาคต อดีต หรือยุคสมัยที่อาจเป็นเพียงจินตนาการ เพราะสิ่งที่รอเบื้องหน้าไม่ใช่ความตาย แต่เป็นการทำลายล้าง สมุดบันทึกจะถูกทำลายกลายเป็นเถ้าถ่าน ตัวเขาระเหยหาย มีเพียงตำรวจความคิดเท่านั้นจะได้อ่านสิ่งที่เขาเขียน ก่อนจะลบล้างมันจากความมีอยู่และความทรงจำ
==========



5

[...] การยึดมั่นในจารีตของระบบหมายถึงไม่ต้องใช้ความคิด ไม่จำเป็นต้องคิด เพราะจารีตก็คือความไร้จิตสำนึก [...]

เมื่อความรู้แท้จริงทั้งหลายใน 'โอลด์สปีค' หายไป งานเขียนทั้งหมดในอดีตจะถูกทำลาย งานเขียนเหล่านี้จะมีแต่ฉบับ 'นิวสปีค' เท่านั้น ไม่ใช่แค่เปลี่ยนให้ผิดแปลกไป แต่ต้องเปลี่ยนชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ความคิดเสรีภาพถูกล้มเลิก บรรยากาศทางความคิดดั้งเดิมที่เป็นจารีตทั้งหมดจะเปลี่ยนไป
==========

1984 วรรณกรรมที่ท้าทายการอ่านตลอดระยะเวลาที่มันปรากฏต่อผู้อ่านทั่วโลก

1984 ตั้งคำถามสำคัญว่าอะไรคือความจริง ที่เป็นแบบนั้นจริงๆ และอะไรที่เป็นความจริงแบบที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้คนรับรู้ว่ามันเป็นแบบนั้น !!! 

1984 วรรณกรรมและเรื่องเล่าที่ในชีวิตนี้คุณต้องอ่าน!!!  



สำหรับผู้อ่านที่สนใจวรรณกรรมการเมืองคลาสสิคเล่มนี้

สามารถสั่งซื้อหนังสือ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984) ฉบับครบรอบ 72 ปี


ครบชุดการออกแบบ - 4 ปก

วรรณกรรมโลกสมมติลำดับที่ 2

จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) : เขียน
รัศมี เผ่าเหลืองทอง และ อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ : แปล
ธงชัย วินิจจะกูล : บทกล่าวตาม
อิศรา โฉมนิทัศน์ : ภาคผนวก ว่าด้วยหลักการของนิวสปีค
ปฐมพงศ์ น้ำใจดี : ออกแบบปก


คลิกสั่งซื้อ วรรณกรรมโลกสมมติครบชุด

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้