อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง | ความเปราะบางของระบอบปิตาธิปไตย ในนิยายดังนั้นจึงสิ้นสลาย

Last updated: 2 ก.ย. 2563  |  6709 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง ดังนั้นจึงสิ้นสลาย

นี่คือนิยายที่ผมชอบที่สุดในรอบปีนี้ (2558)

--- อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง


นี่คือนิยายที่ผมชอบที่สุดในรอบปีนี้ (2558) มีหลายอย่างที่ชอบ แต่ที่น่าสนใจที่สุดก็คือลักษณะเชิง Allegory ที่พูดถึงการเมืองร่วมสมัยแบบไม่ต้องพูด คือเล่าเรื่องหนึ่งแต่สื่อไปอีกเรื่องหนึ่งได้อย่างมีชั้นเชิงน่าสนใจ

เนื้อหาของนิยายจริงๆ ก็ไม่มีอะไรมาก เพราะเป้าหมายนั้นมีเพียงอย่างเดียวคือสืบหาแรงขับที่ทำให้ตัวเอกของเรื่องผู้มีชื่อว่า ชอบ อนุจารี ฆ่าตัวตายในคืนวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2557 โดยวิธีการสืบหาแรงขับดังกล่าวก็น่าสนใจเพราะจะเป็นการตามอ่านบันทึกของคนรุ่นก่อนซึ่งส่งอิทธิพลกลายเป็นปมในชีวิตของชอบ ตลอดจนนิยายอัตชีวประวัติที่ตัวชอบเองเขียนขึ้นมา รวมทั้งเนื้อหาข้อความที่หญิงสาวรุ่นน้องซึ่งเขาชื่นชอบกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์เขียนส่งให้เขาผ่านจดหมายไฟฟ้า (e-mail) วิธีการดังกล่าวนั้น—สำหรับผมแล้ว—ถือว่ามีประสิทธิภาพมากในการทำให้ผู้อ่านอินไปกับชีวิตและความรู้สึกของตัวละคร โดยเฉพาะการรับรู้ถึงความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจกระทั่งความแค้นที่ตัวละครมีต่อโชคชะตาของตนเอง เป็นการเปลี่ยนสถานะของผู้อ่านจากบุคคลที่สามที่มอง(อ่าน) เรื่องราวของตัวละครอยู่ห่างๆ มาเป็นคู่สนทนาที่ร่วมรับรู้อารมณ์ของตัวละครได้อย่างใกล้ชิดราวกับเป็นเพื่อน เป็นตัวละครตัวหนึ่งที่ร่วมรับรู้ชะตากรรมของตัวละครเอกตามไปด้วย
=====

ครึ่งแรกของนิยายนั้นจะเป็นส่วนเรื่องเล่าจากอนุทินของลออ ยายบุญธรรมผู้เลี้ยงดูชอบและบันทึกส่วนตัวของโมห์ราที่เป็นแม่แท้ๆ ของชอบ ความน่าสนใจในส่วนครึ่งแรกนี้นอกจากที่ตัวเอกทั้งสองคนจะเป็นผู้หญิงเหมือนกันแล้ว ช่วงเวลาในการเขียนอนุทินและบันทึกตลอดจนชะตากรรมของทั้งคู่ก็ยังมีส่วนคล้ายกันอย่างน่าประหลาด อนุทินของลออนั้นเริ่มต้นในช่วงปลายปี พ.ศ.2490 ภายหลังเหตุเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากการสวรรคตของ 'พ่อแห่งชาติ' (ซึ่งคนไทยทุกคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดีว่าคือเหตุการณ์อะไร) กล่าวถึงความระทมทุกข์จากรักที่ไม่สมหวังและการที่ต้องแต่งงานกับพุ่ม นายทหารหนุ่มอนาคตไกลเพื่อความพึงพอใจของพ่อทั้งๆ ที่ตนยังไม่ลืมรักครั้งเก่า คล้ายเป็นการบอกเล่าชะตากรรมของหญิงสาวในโลกของปิตาธิปไตยที่ตนเป็นเพียงแค่วัตถุทางเพศเท่านั้น

ความเจ็บปวดรวดร้าวในฐานะผู้หญิงของลออนี้ดูเหมือนจะฉายซ้ำอีกครั้งในบันทึกของโมห์ราลูกเลี้ยง นักศึกษาสาวรักร่วมเพศผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และเป็นประจักษ์พยานต่อการอัตวินิบาตกรรมตนเองของพุ่มพ่อแท้ๆ ของตน ทั้งยังตกอยู่ในโครงสร้างสังคมแบบปิตาธิปไตยที่จัดวางผู้หญิงในฐานะวัตถุทางเพศซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตลูกและสนองความใคร่ให้กับเพศชายเท่านั้น

ทั้งลออและโมห์ราต่างก็เป็นตัวละครซึ่งยืนยันถึงความไม่สมบูรณ์และเปราะบางในโครงสร้างอำนาจแบบปิตาธิปไตยทั้งสิ้น


อย่างไรก็ตาม แม้ลออกับโมห์ราอาจเป็นผู้หญิงซึ่งดูเหมือนถูกกดขี่จากโครงสร้างอำนาจที่มี 'พ่อ' เป็นศูนย์กลาง แต่สิ่งที่ทำให้ทั้งคู่เหมือนกันอย่างแท้จริงก็คือการที่ทั้งลออและโมห์ราต่างก็เป็นตัวละครซึ่งยืนยันถึงความไม่สมบูรณ์และเปราะบางในโครงสร้างอำนาจแบบปิตาธิปไตยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นลออผู้แม้อาจดูเหมือนยอมตนให้กับอำนาจตามโครงสร้างแห่ง 'พ่อ' (ทั้งพ่อที่แท้จริงและ 'พ่อ' ทางสัญลักษณ์อย่างสามีผู้เป็นนายทหาร) แต่การที่ตนเองไม่ได้มอบใจให้กับสามีนายทหารหากแต่ยังสงวนความรักให้กับคนรักเก่าก็กลับเป็นการท้าทายอำนาจการปกครองของ 'พ่อ' อย่างเงียบๆ

ถึงขั้นที่สุดท้ายแล้วก็ทำให้ตัวแทนความเป็นพ่ออย่างพุ่มผู้เป็นสามีของตนต้องทำอัตวินิบาตกรรม เฉกเช่นเดียวกับโมห์ราผู้ที่รสนิยมการเป็นคนรักเพศเดียวกันมิเพียงแต่ท้าทายขนบจารีตตามโครงสร้างอำนาจของพ่อเท่านั้น หากแต่การปล่อยตัว ปล่อยใจ มีสัมพันธ์สวาทกับชายมากหน้าหลายตาเพื่อล้างแค้นให้กับคนรักเก่า และแก้แค้นระบอบปิตาธิปไตยที่จำขังบทบาทฐานะของเจ้าหล่อน (โดยมีสามีนายทหารของตนเป็นจุดเริ่มต้น) ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเหมือนกันของทั้งคู่ในฐานะหญิงผู้ไม่อยู่ในกรอบแห่งปิตาธิปไตย หญิงที่แม้สุดท้ายอาจไม่สามารถทำลายปิตาธิปไตยทั้งระบบ แต่ก็สามารถฆ่า (ตัวแทนความ) เป็นพ่ออย่างสามีได้ทั้งเป็น หญิงซึ่งถึงที่สุดแล้วก็คือภาพแทนความเปราะบางของระบอบปิตาธิปไตยที่พร้อมจะสิ้นสลายลงได้เสมอ
=====

นั่นจึงไม่แปลกที่ชีวิตของชอบซึ่งถูกคลอดออกมาโดยโมห์รา และได้รับการเลี้ยงดูจากลออจะเป็นชีวิตที่มีปัญหากับความเป็นชายมาตลอด เพราะถ้าทั้งลออและโมห์ราคือภาพแทนความเปราะบางภายในระเบียบโครงสร้างอำนาจแห่งพ่อ บทบาทและอัตลักษณ์ความเป็นชายซึ่งเป็นผลผลิตสำคัญจากระเบียบโครงสร้างดังกล่าวก็ย่อมจะต้องอยู่ในภาวะสับสน ไม่มั่นคงตามไปด้วย

ปมที่กำกับชีวิตของชอบ ไม่ใช่อะไรเลยนอกจากความปรารถนาที่ต้องการพิสูจน์และเติมเต็มความเป็นชายให้กับตน


ด้วยเหตุนี้ ปมที่กำกับชีวิตของชอบ ปมที่ทำให้เขาเลือกตัดสินใจกระทำสิ่งต่างๆ—สำหรับผม—จึงไม่ใช่อะไรเลยนอกจากความปรารถนาที่ต้องการพิสูจน์และเติมเต็มความเป็นชายให้กับตน เนื้อหาทั้งหมดในครึ่งหลังของนิยายจึงเป็นเรื่องของความล้มเหลวในการเติมเต็มความเป็นชายของชอบ โดยเฉพาะความล้มเหลวในการเผชิญหน้ากับผู้หญิงและรับบทชายหนุ่มตามที่ระเบียบแบบปิตาธิปไตยต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำหลอกหลอนถึงการอกหักครั้งแรกกับเด็กผู้หญิงข้างบ้านเมื่อวัยเด็ก ความหวาดกลัวที่จะรับรักจากเพื่อนหญิงร่วมชั้นเรียน ความล้มเหลวในการรักษาความสัมพันธ์เยี่ยงคู่รักกับรุ่นพี่สาวและการเผชิญหน้ากับการปฏิเสธความรักอย่างซ้ำซากจากรุ่นน้องต่างมหาวิทยาลัย

แต่ท่ามกลางความล้มเหลวของชอบในการเติมเต็มความเป็นชายตามระเบียบภายใต้โครงสร้างแบบปิตาธิปไตยนี้ สิ่งที่สะดุดใจผมที่สุดก็คือความล้มเหลวในความสัมพันธ์ระหว่างตัวชอบกับต้นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในช่วงค่อนท้ายของนิยาย ดังที่ปรากฏจากเนื้อหาในส่วนของบันทึกการสนทนาผ่านจดหมายไฟฟ้าภายหลัง พ.ศ.2549 ซึ่งเป็นปีที่ระเบียบการปกครองที่อ้าง 'พ่อแห่งชาติ' เผยตัวให้เห็นอย่างชัดเจน โดยในช่วง 6 ปีตั้งแต่ พ.ศ.2549 -2555 นั้น แม้เราอาจพบเห็นความผิดหวังที่ชอบได้รับจากการที่รุ่นน้องต่างมหาวิทยาลัยปฏิเสธความรักของตนอย่างไร้เยื่อใย แต่ขณะเดียวกันความเป็นชายของเขาก็กลับได้รับการเติมเต็มจากการเป็น 'ไอดอล' ให้กับเพื่อนที่ใช้ชื่อในจดหมายไฟฟ้าว่า 'เด็กชายต้น'

ไม่ว่าจะเป็นการเป็นผู้ชี้นำถึงแนวคิดทางการเมืองและประวัติศาสตร์ร่วมสมัย หรือแม้แต่การเข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวของขบวนการพันธมิตร ซึ่งเรียกเสียงชื่นชมยกย่องจากเพื่อนคนนี้ได้อย่างเต็มเปี่ยม ในแง่นี้ ความสัมพันธ์ระหว่างชอบกับเด็กชายต้นจึงไม่ต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกชาย ที่พ่อจะเป็นไอดอล เป็นผู้นำเรียกเสียงยกย่องชื่นชมจากลูก

สุดท้ายแล้วชอบก็พบเส้นทางใหม่ของการสถาปนาความเป็นชายให้กับตนเอง นั่นก็คือการสวมบทบาทพ่อ (ทางสัญลักษณ์) นำทางลูกชาย (ทางสัญลักษณ์) อย่างเด็กชายต้น


ความน่าสนใจตรงนี้ก็คือ แม้ความสัมพันธ์อันล้มเหลวกับผู้หญิงอาจทำให้ตัวเขาไม่สามารถเติมเต็มความเป็นชายของตนได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็ดูเหมือนว่าสุดท้ายแล้วชอบก็พบเส้นทางใหม่ของการสถาปนาความเป็นชายให้กับตนเอง นั่นก็คือการสวมบทบาทพ่อ (ทางสัญลักษณ์) นำทางลูกชาย (ทางสัญลักษณ์) อย่างเด็กชายต้น ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะกลับมาสร้างตัวตนความเป็นชายให้กับชอบในท้ายที่สุด การเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวชาตินิยมฝ่ายขวาสำหรับชอบ—หากถือตามนิยาย—จึงไม่ได้มีแรงขับจากเป้าประสงค์ทางการเมืองเป็นเบื้องต้น หากแต่มีแรงขับเพื่อรักษาความเป็นชายของตัวชอบเองมากกว่า
=====

ถึงตรงนี้ การกระทำของชอบที่เล่นบทพ่อในความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเด็กชายต้น จึงกลายเป็นสิ่งเดียวกันกับการปกป้องระเบียบแบบปิตาธิปไตยซึ่งยึดพ่อเป็นศูนย์กลาง และเนื่องจากการเล่นบทดังกล่าวจะถูกแสดงออกผ่านการเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวชาตินิยมฝ่ายขวา การกระทำของชอบที่ต้องการเล่นบทบาทพ่อและปกป้องระเบียบแบบปิตาธิปไตยจึงกลายเป็นสิ่งเดียวกับการเคลื่อนไหวแบบชาตินิยมที่อ้างอิงความชอบธรรมเข้ากับพ่อแห่งชาติตามไปด้วย

แน่นอน การเชื่อมโยงชุดการกระทำของชอบ (อย่างการเติมเต็มบทบาทความเป็นชายภายใต้โครงสร้างอำนาจแบบปิตาธิปไตย) เข้ากับการเคลื่อนไหวของมวลชนชาตินิยมฝ่ายขวาซึ่งอ้างอิงความชอบธรรมกับพ่อแห่งชาตินั้นอาจฟังดูแปลกประหลาด แต่สำหรับผู้ที่ศึกษาประเด็นเรื่องเพศสภาพความเป็นชายในสังคมไทยมาเป็นอย่างดี ก็จะพบว่าการเชื่อมโยงดังกล่าวหาได้เป็นเรื่องแปลกเกินความคาดหมายแม้แต่น้อย

การกระทำของชอบที่ต้องการเล่นบทบาทพ่อและปกป้องระเบียบแบบปิตาธิปไตยจึงกลายเป็นสิ่งเดียวกับการเคลื่อนไหวแบบชาตินิยมที่อ้างอิงความชอบธรรมเข้ากับพ่อแห่งชาติตามไปด้วย


ดังข้อเสนอของนักประวัติศาสตร์แนวหลังอาณานิคมบางท่านที่ได้ชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วการสถาปนาเพศสภาพความเป็นชายในแบบที่เข้าใจกันโดยทั่วไปในปัจจุบันนั้น เป็นผลของการนำเข้าความคิดเรื่องเพศแบบวิกตอเรียนสู่สยามจากชนชั้นปกครองทั้งสิ้น โดยเฉพาะบทบาทของล้นเกล้ารัชกาลที่หกผู้นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งชาตินิยมไทย (ซึ่งสถาปนาความเป็นชาติผ่านการจงรักภักดีในตัวพระองค์เป็นหลัก) แล้วยังให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นชายภายใต้บทบาทที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์แบบทวิลักษณ์ (คือแบบชายกับหญิงที่ความเป็นชายจะถูกสถาปนาผ่านบทบาทการมีปฏิสัมพันธ์อย่างเหมาะสมกับคู่ตรงข้ามอย่างความเป็นหญิง)

ในแง่นี้ การสถาปนาระบอบปิตาธิปไตยในสังคมไทยจึงอาจไม่ได้จำกัดขอบเขตแต่ในปริมณฑลเรื่องเพศวิถี หากแต่ยังอาจหมายถึงโครงสร้างทางการเมืองที่ให้ความสัมพันธ์กับลำดับชั้นทางสังคมและฐานะความเป็นศูนย์กลางของพ่อแห่งชาติตามไปด้วย


ด้วยเหตุนี้ ความเปราะบางของระบอบปิตาธิปไตยซึ่งยึดระเบียบภายใต้โครงสร้างอำนาจที่มีพ่อเป็นศูนย์กลาง จึงย่อมมิใช่อะไรเลยนอกจากความเปราะบางของโครงสร้างทางการเมืองที่ให้ความสัมพันธ์กับลำดับชั้นทางสังคมและฐานะความเป็นศูนย์กลางของพ่อแห่งชาติ ความล้มเหลวของชอบในการเติมเต็มความเป็นชายอันเนื่องมาจากการที่ตัวเขาไม่สามารถเกลี้ยกล่อมเด็กชายต้นให้เชื่อตามตนได้อีกต่อไป โดยเฉพาะภายหลังจากเหตุสังหารกลางกรุงในปี พ.ศ.2553 ซึ่งจบลงด้วยการแตกหักอย่างสมบูรณ์ในอีกสี่ปีต่อมาเมื่อเขาเข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชน (ขณะที่เด็กชายต้นปฏิเสธ) จึงมิเพียงแต่เป็นความล้มเหลวส่วนบุคคลของชอบ หากแต่ยังเป็นความล้มเหลวของระเบียบอำนาจที่ตัวเขายึดถืออย่างปิตาธิปไตยที่มีพ่อแห่งชาติเป็นแกนกลาง

นี่จึงอาจเป็นเหตุผลที่สุดท้ายแล้วเขาจำต้องฆ่าตัวตายในวันเดียวกับที่พ่อแห่งชาติถือกำเนิด เพราะถ้าชีวิตทั้งหมดของชอบคือความล้มเหลวจากการสวมบทบาทความเป็นชาย ไม่ว่าจะเป็นในบทของชายหนุ่มหรือบทของพ่อ ทางเลือกสุดท้ายที่อาจทำให้ชอบได้เติมเต็มความเป็นชายก็คงไม่ใช่อื่นใดนอกจากการสังเวยชีวิตทั้งหมดให้กับพ่อแห่งชาติ ด้วยการทำตัวเองให้กลายเป็นเครื่องบวงสรวงแก่พ่อในวันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาติ (ซึ่งมีพ่อเป็นศูนย์กลาง)

ความตายของชอบนั้นคือผลจากความเปราะบางของระบอบปิตาธิปไตย...หรือแท้จริงแล้วอาจคือการสิ้นสลายของระเบียบที่มีพ่อแห่งชาติเป็นศูนย์กลางนั่นเอง


แต่ขณะเดียวกัน ความตายของชอบเองก็กลับส่องสะท้อนถึงอีกหนึ่งความตายที่กำลังมาถึง เพราะต้องไม่ลืมว่าความตายของชอบนั้นคือผลจากความเปราะบางของระบอบปิตาธิปไตย ในแง่นี้ ความตายของชอบจึงเปรียบได้กับความตายของระเบียบที่ชอบยึดถือ ความตายซึ่งก็คือการสิ้นสลายของปิตาธิปไตย หรือแท้จริงแล้วอาจคือการสิ้นสลายของระเบียบที่มีพ่อแห่งชาติเป็นศูนย์กลางนั่นเอง
=====

ชอบมากครับ โดยเฉพาะความกำกวมของภาษาและการเล่าเรื่อง เพราะเป็นการเปิดช่องให้ตีความได้อย่างหลากหลาย แต่ที่ชอบที่สุดก็คือการพูดเรื่องการเมืองแบบไม่พูดนี่แหละ ถือได้ว่าเป็นเสน่ห์ที่น่าหลงใหลและชวนให้อ่านจริงๆ รอคอยนิยายเรื่องต่อไปของคุณนิธิอย่างใจจดใจจ่อครับ


อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง
อาจารย์ผู้สนใจปรัชญาการเมือง รัฐศาสตร์ อย่างเข้มข้น
====================

บทความที่คุณน่าจะชอบ

บทวิจารณ์หนังสือ | นวนิยายไทยร่วมสมัย 'ดังนั้นจึงสิ้นสลาย' | ความบิดเบี้ยวแหว่งวิ่นแห่งยุคสมัย
ทำความรู้จักผู้เขียน นิธิ นิธิวีรกุล
อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง | ไม่มีเรื่องสมมติเรื่องไหนที่ไม่อ้างอิงกับความจริง
====================

คลิกสั่งซื้อ ดังนั้นจึงสิ้นสลาย


ดังนั้นจึงสิ้นสลาย
วรรณกรรมไทย (นวนิยาย)
นิธิ นิธิวีรกุล : เขียน
พิมพ์ครั้งแรก : มีนาคม 2558
ความหนา : 300 หน้า
ISBN 978-616-7196-51-0

หรือคลิกสั่งซื้อ Set 6 เล่ม เข้าใจการเมือง เข้าถึงประชาชน
หนังสือของ นิธิ นิธิวีรกุล ครบทุกเล่ม




Set 4 เล่ม นิธิ นิธิวีรกุล


----------------------------------------------------------------

เชิญเลือกซื้อชุดหนังสือราคาพิเศษ คลิก Special Set

จัดชุดหนังสืออย่างพิถีพิถัน มากกว่า 40 ชุด
จากหนังสือกว่า 100 ปก ในราคาสุดพิเศษ

โปรดอย่ารอช้า หนังสือบางเล่มเหลือจำนวนจำกัด
=====

เสื้อยืดศรัทธา Pre-Order Now

สั่งจองในราคาพิเศษ 320 บาท (จากราคาเต็ม 380)


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้