Last updated: 23 มิ.ย. 2565 | 3251 จำนวนผู้เข้าชม |
ไม่มีเรื่องสมมติเรื่องไหนที่ไม่อ้างอิงกับความจริง
แม้ตัวมันเองอาจไม่ใช่ความจริง แต่ความสมมติ—ในเรื่องสมมติ—คงมิอาจเป็นไปได้หากตัวมันเองไม่สามารถอ้างอิงสายสัมพันธ์เข้ากับความจริง เพราะเรื่องสมมติคือเรื่องที่อยู่เหนือความจริง การอยู่เหนือที่แม้อาจทำให้ตัวมันเองไม่ใช่ความจริง แต่ก็ทำให้เรื่องสมมติกลายเป็นสิ่งที่ต้องสัมพันธ์กับความจริงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างเป็นวิภาษวิธี เรื่องสมมติคือเรื่องไม่จริง ที่โดยการปรากฏตัวในฐานะสิ่งที่ ‘ไม่’ จริงของมัน ก็ได้จัดวาง แต่งตั้ง และยืนยันการดำรงอยู่ของความจริงไปโดยปริยาย
ในบรรดาตัวอย่างที่สะท้อนภาพ ‘ความจริง’ ของเรื่องสมมติได้ดีที่สุด คงไม่มีตัวอย่างอะไรที่โดดเด่นและชัดเจนเทียบเท่านิทานเรื่องถ้ำของเพลโต นิทานซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยมนุษย์ผู้ถูกจองจำให้ต้องจดจ้องแต่ผนังด้านในถ้ำจนเชื่อว่ารูปเงาต่างๆ ที่ทอดลงมาบนแผ่นผนังเบื้องหน้าตนนั้นคือความจริง แน่นอน คงเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยเกินไปที่จะสาธยายถึงรายละเอียดทั้งหมดของนิทานเรื่องนี้
เนื่องด้วยสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเนื้อหาของนิทานเรื่องดังกล่าวก็คือ การเล่า นิทานของตัวเพลโตเอง การเล่า ที่สลายเส้นแบ่งระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องสมมติ เพราะจะมีใครกล้ากล่าวว่านิทานเรื่องถ้ำของเพลโตคือเรื่องที่ออกมาจากจินตนาการล้วนๆ ของเพลโต? จะมีใครที่กล้าบอกว่านิทานดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทัศนะทางปรัชญาและการเมืองของตัวเพลโตเอง?
ใช่หรือไม่ที่นครเอเธนส์ในสมัยที่เพลโตยังมีชีวิตอยู่นั้น คือถ้ำที่พลเมืองต่างก็เมามายอยู่กับรูปรสที่จับต้องได้จนหลงไปว่าสิ่งเหล่านั้นคือความจริงแท้? ใช่หรือไม่ที่ชะตากรรมอันน่าสังเวชของบุรุษผู้ซึ่งออกไปพบความจริงนอกถ้ำ—และพยายามกลับมาปลดปล่อยมนุษย์ในถ้ำ—คือชะตากรรมเดียวกันกับโสเกรติส ปราชญ์ผู้ที่ด้วยความปรารถนาในการปลดปล่อยชาวเอเธนส์จาก ‘ถ้ำภายใน’ ได้พาตัวเขาไปสู่อสัญกรรมในท้ายที่สุด?
ในแง่นี้ การเล่านิทานเรื่องถ้ำของเพลโตจึงไม่เคยเป็นแค่การเล่านิทาน เพราะนิทานของเพลโตไม่ใช่แค่นิทาน นิทานดังกล่าวอาจเป็นแค่เรื่องสมมติ แต่ก็เป็นเรื่องสมมติที่พูดความจริงแก่ผู้ฟัง ความจริงซึ่งคงไม่ใช่เรื่องของแก่นแท้ทางสัจธรรมที่เป็นนิรันดรไม่เปลี่ยนแปลง (แม้อาจปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าเพลโตเองก็พยายามเชื่อมโยงมิติดังกล่าวเข้าไปในการเล่านิทานของตัวเขา)
แต่คือความจริงในใจที่เพลโตมีต่อบ้านเมือง ความจริงที่สะท้อนทัศนะที่เพลโตมีต่อสังคมการเมืองของตนเองว่าไม่ได้แตกต่างอะไรจากถ้ำในนิทานที่เขาเล่า ความจริงที่แม้ตัวมันเองอาจไม่สามารถถูกกล่าวถึงได้อย่างตรงๆ แต่ก็พร้อมจะส่องสะท้อนออกมาจากเนื้อหาของสิ่งที่ดูเหมือนตรงข้ามกับความจริงอย่างเรื่องสมมติ
จากตัวอย่างในนิทานเรื่องถ้ำข้างต้น คงพอช่วยให้เราสัมผัสได้ถึงคุณูปการของสำนักพิมพ์ที่ตั้งชื่อตัวเองว่าสมมติ นี่ย่อมไม่ได้หมายความในเชิงสอพลอว่าสิ่งที่สำนักพิมพ์กระทำมีความยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับปรัชญาและอิทธิพลของเพลโต ทว่า อย่างน้อยที่สุด สำนักพิมพ์สมมติก็คือช่องทางหนึ่งที่เปิดให้เรื่องเล่าทั้งหลายได้โลดแล่นสู่สายตาของสาธารณชน เรื่องเล่าที่ปรากฏทั้งในรูปของนิยายและงานเขียนเชิงวิชาการ เรื่องเล่าที่สวมใส่อาภรณ์แห่งความสมมติเพื่อบอกเล่า ส่งต่อและยืนยันความจริงต่างรูปลักษณ์ ต่างแบบแผน
สิบปีนับตั้งแต่กำเนิดของสำนักพิมพ์สมมติ จึงเปรียบได้กับสิบปีของการเป็นช่องทางให้ความจริงได้ส่องแสงต่อผู้อ่าน เป็นสิบปีที่ยืนยันว่าแม้อาจยังคงอยู่ในถ้ำที่พร้อมถูกกดหัวให้ต้องจดจ้องภาพเงาลวงตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ภาพเงาเหล่านั้นก็ไม่เคยทดแทนความกระหายในเรื่องเล่าถึงความจริงของผู้อ่านชาวไทยได้
เพียงเท่านี้—บางที—ก็เป็นเหตุอันเพียงพอแก่การเฉลิมฉลอง การเฉลิมฉลองให้กับความจริง การเฉลิมฉลองให้กับเรื่องสมมติ เพราะนั่นคือภาพสะท้อนว่าตลอดเวลาสิบปีมานี้ สิ่งที่สำนักพิมพ์กระทำหาได้เป็นสิ่งที่ไร้ค่าเสียทีเดียว (หากว่าความจริงจะพอมีค่าอยู่บ้าง) ... บางที
ระลึกต่อความจริงในเรื่องสมมติ และต่อเรื่องสมมติในความจริง
อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง
===============================================
อ่าน คำประกาศความรู้สึกและจินตนาการใหม่ในการทำสำนักพิมพ์
สนพ.เปิดรับสมาชิกตลอดชีพรุ่นสาม
29 มี.ค. 2562
29 มี.ค. 2562
29 มี.ค. 2562
29 มี.ค. 2562