โฟลแบรต์ (Gustave Flaubert) กับนิยาย ‘ชั้นหนึ่ง’ ที่ยังไม่ได้แปลเป็นภาษาไทย

Last updated: 30 พ.ค. 2563  |  3788 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โฟลแบรต์ (Gustave Flaubert) กับนิยาย ‘ชั้นหนึ่ง’ ที่ยังไม่ได้แปลเป็นภาษาไทย

Sentimental Education คือนิยายคลาสสิค ‘ชั้นหนึ่ง’ ที่ควรได้รับการแปลเป็นภาษาไทยอีกเล่มหนึ่ง เป็นนิยายในยุคร่วมสมัยเดียวกับ สงครามและสันติภาพ (War and Peace) แม้จะเขียนขึ้นภายหลังจากเรื่อง มาดามโบวารี (Madame Bovary)12 ปี แต่บ้านเราก็เหมือนรู้จัก กุสตาฟ โฟลแบรต์ (Gustave Flaubert: 1821 - 1880) จากเรื่อง มาดามโบวารี ที่ วิทย์ ศิวะศริยานนท์ แปลและเรียบเรียงไว้เมื่อ  50  ปีก่อนเรื่องเดียว

มีนักวิจารณ์หลายสำนักเคยกล่าวว่าวิธีการนำเสนอเรื่อง Sentimental Education ของโฟลแบรต์เรื่องนี้จัดได้ว่าเป็น ‘one of the greatest novel’ และ ‘the greatest triump in literary realism’

กล่าวได้ว่านี่คือนิยายในสมัยกลางศตวรรษที่ 19 ของฝรั่งเศสที่นำรูปแบบ ‘เรื่องซ้อนเรื่อง’ มาปรากฏ กล่าวคือ เป็น a novelist’s novel ที่เดินทางมาก่อนคำว่า ‘หลังสมัยใหม่’ บริบทของนิยายซ้อนนิยายเรื่องนี้ กล่าวถึงชีวิตแบบทอดหุ่ยของ เฟรดริก มอโร (Frédéric Moreau) ที่นั่งนอนอยู่บนกองมรดกก้อนใหญ่ และใช้ชีวิตบริโภคอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยท่ามกลางความซับซ้อนของยุคเปลี่ยนผ่านในกรุงปารีสที่เรียกว่า ‘การปฏิวัติปี 1848’ บนท้องถนนเต็มไปด้วยความหิวโหย การลุกฮือ การนองเลือด และความตาย แต่ เฟรดริก มอโร กลับทอดหุ่ยอยู่ในซ่องโสเภณีชั้นสูง  และมีความลุ่มหลงอยู่กับ  ‘เมียคนอื่น’

นี่คือนิยาย ‘ชั้นเลิศ’ หรือจะเรียกว่า ‘ชั้นหนึ่ง’ ก็ได้ ที่นักวิจารณ์ของตะวันตกคนหนึ่งกล่าวว่าเป็นผลงาน ‘a gigantive in its historical perception’ ผลงานชั้นหนึ่งของ กุสตาฟ โฟลแบรต์ เรื่องนี้จะเป็นงานแปลที่น่าจดจำของนักแปลผู้ใดในบ้านเรา นอกจากเรื่อง Ulysses ของ เจมส์ จอยซ์ และ Remembrance of Things Pastของ มาร์แซ็ล พรุสต์ ในช่วงสมัยต้นศตวรรษที่ 20 แล้ว ผมอยากเห็นงานแปลเรื่อง Sentimental Education เรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยควบคู่ไปกับ เหยื่ออธรรม และ  สีแดงกับสีดำ

สังคมการอ่านที่เข้มแข็งจนได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองหนังสือแห่งโลก’ นั้น ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรมก็คือมีงานแปลวรรณกรรม ‘ชั้นเลิศ’ ปรากฏออกมาเป็นภาษาไทยอย่างมีคุณภาพมากที่สุด หรือไม่เช่นนั้นก็จงไปเป็น ‘ผักชีอีเวนต์’ (โวหารของ สุจิตต์ วงษ์เทศ) เพื่อให้ ‘เมืองแห่งเทพสร้าง’ ได้เตะต่อยแล้วแต่วาทกรรมทั้งของ ‘ไพร่’ และของ ‘อำมาตย์’ หรือนี่กระมังคือ Sentimental Education แห่งยุคเปลี่ยนผ่านแบบเมืองพุทธที่มีผู้คนฆ่ากันตายแทบทุกวัน!
==============================

บางส่วนจาก 121 Classic Literature Book Lists บ่นสนทนาวรรณกรรม โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี



สนใจอ่าน มาดามโบวารี 'ฉบับอเมริกัน' คลิก 'การฟื้นตื่นของเอ็ดน่า' วรรณกรรมว่าด้วยคำว่า 'แม่' และ 'เมีย' ของนักประพันธ์หญิงที่กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และท้าทายมาตรฐานสังคมของผู้หญิงยุคนั้น!

การฟื้นตื่นของเอ็ดน่า

บทความที่คุณน่าจะชอบ



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้