ทำไมต้องมี 'รัฐ' ? สิ่งฟุ่มเฟือยหรือความจำเป็น

Last updated: 21 ก.ค. 2564  |  12794 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทำไมต้องมี 'รัฐ' ? สิ่งฟุ่มเฟือยหรือความจำเป็น

รัฐคือสถาบันที่ไม่รู้จักคำว่าพอ ซึ่งทำให้รัฐต้องสถาปนาตัวเองให้มีอำนาจเหนือมนุษย์อื่นๆ


พัฒนาการของรัฐไม่สามารถหลีกเลี่ยงการครอบงำและการกดขี่เพื่อทำให้เกิดการผลิตมากเกินความจำเป็น รัฐเป็นกลไกที่ไม่ได้ต้องการการหาอาหารแบบพออยู่พอกินแต่อย่างใด รัฐคือสถาบันที่ไม่รู้จักคำว่าพอ ซึ่งทำให้รัฐต้องสถาปนาตัวเองให้มีอำนาจเหนือมนุษย์อื่นๆ แต่เมื่อรัฐทำหน้าที่แบบไม่พึงปรารถนาด้วยความที่ไม่รู้จักพออย่างที่กล่าวมาแล้ว ทำไมรัฐถึงยังต้องมีอยู่?

การดำรงอยู่ของรัฐอันเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีมาพร้อมกับการอุบัติขึ้นของมนุษย์นับล้านปีมาแล้ว ทำให้เกิดคำถามเดิมๆ ว่า ทำไมรัฐจึงมีอยู่? รัฐมีอยู่เพื่อการกดขี่หรือบีบบังคับให้คนต้องผลิตเท่านั้นหรือ? คำตอบในลักษณะดังกล่าวดูจะทารุณเกินไปสำหรับมนุษย์ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นคำถามพื้นฐานสำคัญของปรัชญาการเมือง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทำไมถึงต้องมีผู้ปกครองทั้งที่ความคิดตามแบบคริสต์ศาสนากล่าวว่า ‘มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียม’กัน  แล้วทำไมกลับกลายเป็นว่า  ‘มนุษย์บางคนจึงมีอำนาจเหนือคนอื่น?’

โดยทั่วไปแล้วเป็นที่เข้าใจกันว่า การดำรงอยู่ของรัฐจะอยู่ในโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง แต่การกล่าวเพียงเท่านี้ไม่สามารถใช้บรรยายคุณลักษณะของรัฐ เพราะในระบบครอบครัว ความสัมพันธ์ก็ยังมีลักษณะของผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองเช่นกัน สถาบันครอบครัวนั้นเป็นสถาบันที่ดำรงอยู่มาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ ขณะที่รัฐเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงหรือวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากความจำเป็นในเชิงชีววิทยา แม้ว่าพ่อแม่จะเป็นผู้ที่ใช้อำนาจต่อลูกเป็นพวกแรกก็ตาม แต่รัฐก็ไม่ใช่เงื่อนไขทางชีววิทยาแบบครอบครัว (biological family)

รัฐเป็นสิ่งจำเป็นหรือสิ่งฟุ่มเฟือย?

การดำรงอยู่แบบนอกเหนือหรือเกินความจำเป็นของรัฐจึงจำเป็นต้องหาบางอย่างมารองรับว่า ‘รัฐเป็นสิ่งจำเป็น’ แนวความคิดในการอธิบายความสมเหตุสมผลแก่การปกครองของผู้ปกครองและการดำรงอยู่ขององค์กรทางการเมืองอย่างรัฐ จึงกลายเป็น ‘ความจำเป็น’ ที่อยู่นอกเหนือความจำเป็นแบบความจำเป็นทางชีววิทยา เพราะรัฐเป็นส่วนเกินหรือ ‘ความฟุ่มเฟือย’ ที่ไม่จำเป็นต้องมีมาตั้งแต่เริ่มแรก

ความคิดที่ว่า ‘ผู้ปกครองเป็นเรื่องของความจำเป็น’ จึงเป็นเรื่องที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องจำเป็นเสียมากกว่า ในแง่นี้เห็นได้จากคำอธิบายและการให้เหตุผลถึงความจำเป็นต่างๆในทางการเมือง  เช่น  ความคิดเรื่องมนุษย์เป็นสัตว์การเมือง  เป็นต้น

ความหมายดั้งเดิมของอริสโตเติลในเรื่องมนุษย์เป็นสัตว์การเมืองนั้น ไม่ได้มีความหมายในลักษณะที่ตายตัว เพราะสำหรับสภาวะของการเข้ามาอยู่ในการเมืองของมนุษย์เป็นไปเพื่อชีวิตที่ดี และมีความสุข (eudaimonia) มากกว่าการเป็นสภาวะทางชีววิทยา ทั้งนี้ การรวมตัวใดๆ ก็ตามต่างมีเป้าหมายที่มุ่งสู่ความดี แต่การรวมตัวดังกล่าวย่อมไม่ใช่เงื่อนไขตามชีววิทยาดังเช่นครอบครัว

ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จำเป็นต้องเลือกในสิ่งที่ดีเสมอไป โดยยังไม่ต้องคิดอีกว่าสิ่งที่ว่าดีนั้นเป็นความดีของใคร?


การรวมตัวทางการเมืองแสดงให้เห็นนัยของ ‘การเลือก’ หรือ‘ทางเลือก’ เพื่อไปสู่สิ่งที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จำเป็นต้องเลือกในสิ่งที่ดีเสมอไป โดยยังไม่ต้องคิดอีกว่าสิ่งที่ว่าดีนั้นเป็นความดีของใคร? ดังนั้นการยกสถานะของมนุษย์ให้กลายเป็นสัตว์การเมืองจึงเท่ากับเป็นการทำให้มนุษย์มีสภาวะตายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความหมายและความรู้สึกที่ได้มาจากการใช้คำว่า ‘สัตว์’ ความตายตัวที่อยู่ในกรอบของความเป็นสัตว์ตอกย้ำสภาวะที่ดูจะเปลี่ยนแปลงได้ยาก ในขณะเดียวกัน สถานะของความเป็นมนุษย์ก็ยังเป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากสัตว์

การสร้างความตายตัวด้วยการเป็น ‘สัตว์ - การเมือง’ ไม่ได้บ่งบอกถึงการมีหนทางที่จะได้เลือกแต่อย่างใด เนื่องด้วยไม่มีทางเลือก (choices) การเมืองในกรอบของรัฐจึงไม่ได้เป็นเรื่องทางเลือกอีกต่อไป ทั้งนี้ การกล่าวถึงความเป็น ‘สัตว์การเมือง’ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเข้าใจด้วยกรอบคิดเรื่องธรรมชาติจากคำว่า ‘สัตว์’) ทำให้ดูราวกับว่าการเมืองเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในพันธุกรรม (genetics) ของมนุษย์ มนุษย์จึงหลีกหนีการเมืองไปไม่ได้

การกล่าวถึงความเป็น ‘สัตว์การเมือง’ ทำให้ดูราวกับว่าการเมืองเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในพันธุกรรม (genetics) ของมนุษย์ มนุษย์จึงหลีกหนีการเมืองไปไม่ได้


เมื่อไม่สามารถหลีกหนีการเมืองซึ่งในที่นี้หมายถึงรัฐ จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองกลายเป็นเรื่อง (ที่ถูกทำให้เป็น) ธรรมชาติ เมื่อเป็นเรื่องธรรมชาติก็ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามในทำนองเดียวกันกับการปกครองของพ่อแม่ทางชีววิทยาที่ต้องปกครองดูแลลูกๆ มนุษย์ไม่จำเป็นต้องถามว่า “ทำไมพ่อแม่ถึงมีอำนาจและปกครองลูกได้ พ่อแม่ได้อำนาจแต่ใดมา?” เนื่องด้วยสภาวะทางชีววิทยาทำให้พ่อแม่ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ทางชีววิทยาหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องเป็นผู้เลี้ยงดูและควบคุมพฤติกรรมของลูก เพราะอย่างน้อยที่สุด มนุษย์ก็เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ต้องใช้เวลายาวนานกว่าที่จะเติบโตและแข็งแรงพอที่หากินเองได้

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ‘ตัวแบบของครอบครัว’ จะกลายเป็นรากฐานให้แก่ความคิดทางการเมืองในช่วงเวลาต่างๆ ตลอดจนเป็นตัวแบบการอ้างอิงทางการเมืองให้แก่ระบอบการเมืองและประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการฟาสซิสต์ ไล่มาจนถึงประเทศไทย


สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่แสดงคุณลักษณะทางชีววิทยาหรือธรรมชาติที่ทำให้รัฐสามารถแอบอิงได้อย่างกลมกลืน และภายในกรอบของครอบครัวก็ทำให้ภาระหน้าที่ของมวลสมาชิกในรัฐถูกนำไปเปรียบกับภาระหน้าที่ของมวลสมาชิกในครอบครัว นอกจากนั้น การเชื่อมโยงรัฐเข้ากับครอบครัวเป็นกระบวนการสร้างให้ผู้คนที่ไม่รู้จักหน้าค่าตากันกลายมาเป็นคนที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน กระบวนการทางการเมืองที่ทำให้ ‘รัฐมีสถานะเป็นครอบครัว’ ดังกล่าว ทำให้คนนอกสายเลือดหรือที่อยู่นอกครอบครัว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวแบบที่นับตามสายเลือด) ได้กลายเป็นสายเลือดเดียวกันหรือราวกับเป็นคนที่สนิทสนมกันเพราะว่าเติบโตมาด้วยกัน

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กลไกของรัฐดังกล่าวทำให้คนนอกสายเลือดกลายเป็นคนในสายเลือดเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการทางชีววิทยาและการผสมพันธุ์กันแต่อย่างใด


การแอบอิงรัฐเข้ากับครอบครัวจึงกลายเป็นการสร้าง ‘ครอบครัวจินตนาการ’ (imagined family) โดยครอบครัวดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แต่กลับให้ความใกล้ชิดมากกว่าที่จะเป็นเพียงแค่ชุมชนจินตนาการ (imagined community) ทั้งนี้ การเป็นชุมชนเดียวกันยังไม่สามารถบ่งบอกถึงความใกล้ชิดเท่ากับครอบครัว ผู้นำของชุมชนไม่มีความใกล้ชิดกับมวลสมาชิกในชุมชนได้มากเท่ากับพ่อหรือแม่ เมื่อเป็นครอบครัวที่มีพ่อแม่สายเลือดเดียวกันจึงยิ่งแสดงความใกล้ชิดภายใต้หลักการ ‘เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ’

สถานะของผู้นำประเทศที่ดำรงอยู่ในลักษณะความเป็นพ่อทางจินตนาการผ่านครอบครัวจินตนาการ ย่อมแสดงความใกล้ชิดของผู้คนภายในประเทศ ในขณะเดียวกัน อำนาจที่ยอมรับกันได้ตามลักษณะของพ่อที่มีอำนาจตามเกณฑ์ทางธรรมชาติก็กลับกลายเป็นอำนาจที่ใกล้ชิด หรือเป็นอำนาจที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีความโหดร้ายทารุณภายใต้มาตรฐานของครอบครัวแบบชนชั้นกลางแต่ประการใด
==============================

บางส่วนจากเล่ม ความสมเหตุสมผลของความชอบธรรม (การครอบงำ)

  คลิกสั่งซื้อ




ธเนศ วงศ์ยานนาวา : เขียน
ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล : บรรณาธิการ

ความหนา : 419 หน้า
ISBN: 978-616-7196-61-9
==============================

ชุดหนังสือแนะนำ ราคาพิเศษ

1. Set 4 เล่มหนาตาสว่าง

2. Set รวมงานธเนศ วงศ์ยานนาวา ครบชุด

3. Set 7 เล่ม หนังสือรางวัล C


เลือกหนังสือ SET อื่นๆ มากกว่า 70 SET  ไม่ต้องการเลือกให้วุ่นวาย เราจัดมาให้แล้ว คลิก SPECIAL SET

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้