Last updated: 11 ส.ค. 2565 | 10724 จำนวนผู้เข้าชม |
- 1 -
นั่นคือคำพูดของนักบุญเซนต์ปอลล์เมื่อกว่าสองพันปีล่วงมาแล้ว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติ ผิวพรรณ ฐานะในสังคม และเพศ อีกทั้งยังเป็นการประกาศยกเลิกความแตกต่างเหล่านั้นด้วย นับจากตอนนั้นแม้กาลเวลาได้ผ่านไป แต่ปัญหาความแตกต่างทั้งสามกรณีกลับยังไม่คลี่คลาย และดูเหมือนจะทวีความซับซ้อนรุนแรงมากยิ่งขึ้น ถึงกับเป็นชนวนให้เกิดสงคราม เกิดขบวนการต่อต้านเรียกร้องสิทธิ ตลอดจนเกิดการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของสตรีในภาพกว้าง
ในอดีตถึงปัจจุบัน ข้อเรียกร้องของสตรีให้มีความเท่าเทียมกับบุรุษยังคงมีอยู่ โดยในอดีตเป็นไปสองระดับคือ ในวงการงาน สตรีเรียกร้องให้ตนมีรายได้เท่ากับบุรุษ เมื่อทำงานประเภทเดียวกัน และให้มีโอกาสก้าวหน้าเลื่อนตำแหน่งขึ้นไป ไม่ใช่จำกัดอยู่เพียงขั้นใดขั้นหนึ่งโดยเฉพาะ นอกจากนั้น ในครอบครัว สตรีก็ปรารถนาจะมีสิทธิ์มีเสียงในการวางแผนของครอบครัว เป็นต้นว่าปัญหาการมีบุตรควรมีเมื่อไร มีกี่คน ตลอดจนการทำแท้งเมื่อไม่ต้องการมีบุตร นักเขียนสตรีซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างความเข้าใจถึงปัญหาที่สตรีประสบและตกอยู่ใต้อิทธิพลมาทุกยุคทุกสมัย หนึ่งในนั้นก็มี ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) นักเขียนสตรีชาวฝรั่งเศสอยู่ด้วย โดยหนังสือที่เธอเขียนชื่อว่า Le Deuxieme Sexe (เพศที่สอง) พิมพ์ออกมาเมื่อปี พ.ศ.2492 ซึ่งข้อโต้แย้งสำคัญที่เธอนำมาอ้าง เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของสตรีก็คือ
“…คนเรามิได้เกิดมาเป็นผู้หญิง หากแต่กลายมาเป็นผู้หญิงในภายหลัง...”
ซีโมน เดอ โบวัวร์ มีความเห็นว่า ถึงแม้มนุษย์จะมีความแตกต่างกันทางด้านสรีรวิทยา แต่เป็นเพราะการเลี้ยงดูอบรมและการศึกษาต่างหากที่แบ่งแยกหญิงจากชาย ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีในแต่ละสังคม ที่มีส่วนทวีความแตกต่างระหว่างหญิงกับชายให้เด่นชัดยิ่งขึ้น อันความคิดแบบฉบับเฉพาะแต่ละเพศนี้เป็นกรอบซึ่งมนุษย์เราสร้างขึ้นมาเอง ไม่ได้เป็นไปโดยธรรมชาติ กรอบฉบับแบบนี้ได้มีส่วนกดดันไม่ให้มนุษย์แต่ละคนเป็นตัวของตัวเอง
และเนื่องด้วย ซีโมน เดอ โบวัวร์ เป็นนักเขียนผู้หนึ่งในกลุ่ม ‘เอ็กซิสเตนเชียลลิสท์’ (existentialiste) เธอจึงมีความเห็นว่า มนุษย์เรามีตัวตน (existence) ก่อนสิ่งอื่นใด ส่วนสาระของความเป็นมนุษย์ (essence) นั้นเป็นสิ่งที่ตามมาภายหลัง และแต่ละบุคคลจะต้องเป็นผู้สร้างสรรค์ความหมายให้แก่ตนเอง ในแต่ละสถานการณ์ของตน มนุษย์เราไม่ควรยอมรับสภาพหรือสาระซึ่งสังคมหรือคนอื่นๆ สร้างขึ้นไว้ก่อนหน้ามาเป็นของตน เพราะการกระทำเช่นนั้นจะทำให้บุคคลนั้นขาดความเป็นตัวของตัวเองโดยแท้จริง (authenticity) สำหรับสตรีก็เช่นเดียวกัน เราไม่สามารถกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ลงไปล่วงหน้าได้ว่าผู้หญิงจะต้องเป็นแบบฉบับนั้นๆ เสมอไป หากแต่ผู้หญิงควรเป็นเช่นที่มนุษย์ทั้งหลายควรเป็น คือผู้หญิงแต่ละคนต่างก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของตนเอง ซึ่ง ซีโมน เดอ โบวัวร์ ได้กล่าวไว้ว่า
“…มนุษย์ทุกรูปมิใช่อะไรเลยนอกไปจากสิ่งซึ่งเขากระทำ สิ่งที่อาจเป็นไปได้ไม่อาจมาก่อนสิ่งที่เป็นจริง สาระจะมีก่อนตัวตนมิได้ ฉะนั้น เมื่อพิจารณามนุษย์เราอย่างปราศจากข้อรังเกียจเดียดฉันท์แล้ว มนุษย์เราก็คืออนัตตา จะมีคุณค่าก็ด้วยการกระทำของตนเอง เป็นต้นว่าหญิงชาวนาผู้หนึ่ง เราอาจกล่าวได้ว่า เขาเป็นคนทำงานดีหรือไม่ก็เลว ส่วนนางละครคนนั้นว่าหล่อนมีพรสวรรค์ในการแสดงหรือไม่ แต่ถ้าหากเราพิจารณาผู้หญิงคนหนึ่งในฐานะที่มีตัวตนในขณะนั้น เราไม่อาจกล่าวอะไรได้เลย เขาอยู่นอกเหนือคำจำกัดความใดๆ ทั้งสิ้น…”
ความคิดในข้อที่ให้รับผู้หญิงในฐานะเป็นมนุษย์ก่อนอื่นใดนั้น ทำให้เกิดมี ‘นางเอก’ อีกแบบขึ้นในวงนวนิยายฝรั่งเศส และขณะเดียวกัน ก็มีผลให้เกิดวิธีการเขียนนวนิยายอีกแบบขึ้นด้วย
- 2 -
นวนิยายแบบ ‘เอ็กซิสเตนเชียลลิสท์’
เนื่องจากหลักสำคัญของปรัชญา ‘เอ็กซิสเตนเชียลลิสท์’ คือความเป็นอิสระ การตระหนักซึ้งถึงสภาพของตน ตลอดจนความเป็นตัวของตัวเองโดยแท้จริง ลักษณะทั้ง 3 ประการดังกล่าวนี้ จึงปรากฏออกมาในรูปแบบของนวนิยายที่เป็นอิสระจากกฎเกณฑ์แบบแผนของนวนิยายคลาสสิคโดยทั่วๆ ไป กล่าวคือ ผู้แต่งไม่ใช่เป็นผู้รู้ล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ได้มีอำนาจเหนือตัวละครทั้งหลายแบบพระเจ้าผู้กำโชคชะตามีอำนาจเหนือมนุษย์ หากแต่ผู้แต่งรู้เท่าๆ กับตัวละครแต่ละตัว ซึ่งมีอิสระที่จะทำหรือตัดสินใจกระทำโดยขึ้นกับสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่ตนประสบอยู่ อันถือเป็นจักรกลสำคัญ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปแบบจริงจังและถ่องแท้ มิใช่เป็นเพียงแบบสมจริง
ฉะนั้นนวนิยายแบบนี้จึงมีรูปแบบคล้ายคำสารภาพหรือการเล่าแบบเปิดอก จุดสำคัญอยู่ที่การสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจระหว่างผู้อ่านกับตัวละคร เพื่อเน้นให้เห็นเด่นชัดว่าทั้ง 2 ฝ่ายเป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน อันความสัมพันธ์นั้นเป็นไปใน 2 ระดับคือ 'ระดับความนึกคิดจิตใจ' และ 'ระดับภายนอก' โดยมิได้คำนึงถึงศีลธรรมจรรยาหรือคุณค่าทางด้านศิลปะ ซึ่งนิยมยึดถือกันเป็นแบบแผนของนวนิยายมาแต่เดิม ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ภาษาที่ใช้ในนวนิยายแบบนี้เป็นภาษาซึ่งปราศจากการขัดเกลาปรุงแต่ง หากเป็นเช่นภาษาพูด ซึ่งแต่ละคนใช้พูดกับตนเอง
ส่วนในการที่นวนิยายเป็นอิสระจากกฎเกณฑ์รูปแบบนวนิยายเดิมก็เพื่อเป็นตัวแทนของมนุษย์ผู้ใฝ่ฝันหาเสรีภาพ ความเป็นตัวของตัวเอง ตลอดจนความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง สำหรับตัว ซีโมน เดอ โบวัวร์ เองก็พอใจที่จะเลือกเขียนนวนิยายด้วย เธอมีความเห็นว่านวนิยายเป็นรูปแบบการแสดงออกที่เปิดโอกาสอย่างเต็มที่ให้นักเขียนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและจินตนาการ โดยเธอมักใช้เทคนิคแบบ ‘มุมมอง’ มาเขียน แน่นอนว่าเทคนิคดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในนวนิยายเล่มแรกของเธอ
วิธีการเขียนแบบ ‘มุมมอง’ นี้เน้นให้เห็นความสำคัญของ ‘การมอง’ หรือ ‘สายตา’ ซึ่งตามความเห็นของนักปรัชญา ‘เอ็กซิสเตนเชียลลิสท์’ โดยเฉพาะ ซาตร์ และ ซีโมน เดอ โบวัวร์ แล้ว สายตาเป็นสื่อยืนยันความมีตัวตนของมนุษย์และสรรพสิ่ง ในขณะเดียวกัน สายตาก็เป็นเครื่องจำแนกมนุษย์ออกจากวัตถุอย่างเด่นชัด ด้วยเหตุที่ว่าวัตถุมีตัวตนเหมือนมนุษย์ แต่หารู้สึกถึงความตัวตนของมันไม่ ส่วนมนุษย์นอกจากจะตระหนักถึงความมีตัวตนของตนเองแล้ว ยังสามารถมองเห็นคนอื่นๆ และสิ่งอื่นๆ เพื่อยืนยันความมีตัวตนของบุคคลเหล่านั้นและสรรพสิ่งเหล่านั้นกับทั้งยังรู้สึกถึงการที่ตนเองถูกมองอีกด้วย การถูกมองนี้ทำให้มนุษย์เราแต่ละคนต้องยอมรับเสรีภาพของคนอื่นว่าเท่าเทียมกับเสรีภาพของตน เพราะบุคคลที่ถูกมองจะมีความรู้สึกว่าตนเองกลายเป็นวัตถุไป เช่นเดียวกับเมื่อตนเองมองถูกอื่นและทำให้เขาผู้นั้นกลายเป็นวัตถุ หมดอำนาจความเป็นตัวตน
บางส่วนจากบทความ นางในนวนิยายแบบเอกซิสเตนเชียลลิสท์
ใน นิตยสารโลกหนังสือ บรรณาธิการโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี ปีที่ 1 ฉบับที่ 11 สิงหาคม 2521
==================
สนใจหนังสือที่เป็น 'ต้นแบบวรรณกรรมแบบ Existentialism' ซึ่งอาจทำให้คุณนึกถึงผลงานเรื่อง คดีความ (The Trial) ของ ฟรันซ์ คาฟคา (Franz Kafka)
คลิกสั่งซื้อ บาร์เทิลบี (Bartleby, the Scrivener) มรดกวรรณกรรมของ เฮอร์แมน เมลวิลล์ (Herman Melville)
==================
26 ธ.ค. 2565
11 ม.ค. 2564
17 ต.ค. 2563