ถนอม ชาภักดี ถึง John Ruskin - นักวิจารณ์ศิลปะและขบถศาสนา

Last updated: 28 มิ.ย. 2565  |  5879 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ถนอม ชาภักดี ถึง John Ruskin - นักวิจารณ์ศิลปะและขบถศาสนา

ช่วงฤดูหนาวปี ค.ศ.1998 พอมีเวลานั่งรถไฟข้ามทุ่ง Canterbury, Kent ผ่านหน้ามหาวิหาร Canterbury ฝ่ากรุงลอนดอน ตะลอนขึ้นเหนือปลายทางคือ The Lake District, Cumbria แต่ระหว่างทางได้แวะคารวะเรือนชานบ้านสะสมผลงานของนักวิจารณ์ศิลปะนามกระเดื่องเลื่องลือในศตวรรษที่ 19 ของอังกฤษนาม จอห์น รัสกิน (John Ruskin) ที่เมือง Sheffield ให้สมใจอยาก แม้ว่าอรรถรสการอ่านจากลายลักษณ์อักษรจะอิ่มเอมกับถ้อยคำพรรณาถึงธรรมชาติ ศิลปะ สถาปัตยกรรม ในยามนั้น แต่ถ้าให้รับรู้ดูเห็นท่วงทำนองการขับขานของผู้ประพันธ์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะสร้างแรงปลุกปั่นต่อความใฝ่ฝันของการเป็นนักวิจารณ์ศิลปะ แม้จะไม่ได้แม้แต่เศษเสี้ยวของรัสกินก็ตาม

จอห์น รัสกิน นั้นมีความผูกพันกับเมือง Sheffield มาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1870 ด้วยเหตุที่เห็นหายนะจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมจากเมือง Sheffield ที่มีทั้งอุตสาหกรรมเหมืองแร่และโรงงานถลุงเหล็ก สภาวะล้มละลายของเกษตรกรที่ถูกรุกไล่เวนคืนที่ดินจากเจ้าของธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาเปิดธุรกิจ จากเรือกสวนนาไร่กลายเป็นเขตคามโรงงาน เกษตรกรทิ้งจอบเสียมมุ่งสู่โรงงาน จนกลายเป็นสภาวะที่สะพรึงกลัวของชายหนุ่มผู้หันหลังให้กับวิถีทางศาสนา ซึ่งครอบครัวมุ่งหวังให้เขาไปไต่บันไดนำสู่สวรรค์หาพระเจ้า เขาไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ จากพระเจ้านอกจากก้าวเท้าสู่พื้นที่ของผู้ตกระกำลำบาก

Sheffield คือเมืองที่เขาต้องการจะสร้างดินแดนแห่ง Utopia เมืองในฝันท่ามกลางการผุดพรายของปล่องควันโรงงานอุตสาหกรรม เขาได้พบเจอพูดคุยกับมิตรสหายและควักทุนซื้อที่ เพื่อที่จะทำฟาร์มแข่งกับอุตสาหกรรมที่รายรอบ ความฝันของนักวิจารณ์ที่ต้องการจะปกป้องปฐพีอันอุดมให้ขจีตระการตา เขาจึงได้ตั้งสมาคม St. George ที่ฟาร์ม Totley เมือง Sheffield โดยสร้าง Cottage เพื่อเป็นพื้นที่พบปะและเก็บสะสมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ของเกษตรกร หินแร่จากโรงงาน เอกสาร รูปภาพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมือง รวมทั้งของใช้ หนังสือ ต้นฉบับส่วนตัวเขา เขาหวังว่าพื้นที่แห่งนี้จะเป็นพื้นที่การเรียนรู้ชุมชน เป็นแหล่งสะสมของเก่าๆ เศษซากปรักจากอาคาร โบสถ์ วิหารที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้เชื่อมโยงจากอดีตถึงปัจจุบันของคนรุ่นหลัง อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่า การรุกรานจากอุตสาหกรรมมันได้พรากชีวิตของเกษตรกรไปอย่างไร เครื่องมือเครื่องใช้ในงานหัตถกรรมจากไม้มาสู่เหล็กถูกแปรเปลี่ยนในยุคนี้

The Ruskin Gallery ไม่ใช่พื้นที่การแสดงศิลปะ แต่เป็นพื้นที่สะสมและสั่งสมชีวิตของผู้คนในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงศตวรรษที่ 19 นี่คือประกายอันเจิดจ้าที่เขาได้ปลุกพลังความคิดและการปฏิบัติ เพื่อต่อรองกับความเชี่ยวกรากของสังคมยุคนั้น ผ่านพื้นที่เล็กๆ ในอุดมคติโดยวาดหวังว่าสมาคม St. George ที่ตั้งอยู่ในฟาร์มแห่งนี้จะเป็นดินแดนอันอุดมด้วยขุมพลังผู้คนที่เข้ามาร่วมแรงร่วมใจในการทำงาน เพื่อต่อต้านการรุกไล่การขยายตัวของอุตสาหกรรม แต่ทว่าดินแดนในฝันของเขากลับล้มเหลว ไม่สามารถทานทนกับแรงพลังของเครื่องจักรกลที่ทะลวงโลกในอุดมคติของเขาพังทลายลง แต่ในความเป็น The Ruskin Gallery แห่งนี้ได้เห็นรอยพลังความเชื่อมั่น ความกล้าหาญ ในการวิวาทะกับอุตสาหกรรมผ่านวิถีการสะสมสรรพสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1875

จวบจนวันนี้ที่แนวคิดของเขายังเอกอุผ่านความคิด การปฏิบัติของนักปฏิบัติการทางสังคม การเมือง ศิลปะ วัฒนธรรม อย่างไม่จบสิ้น

. . .

หนังสือ Modern Painters ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1843 เขาเพิ่งอายุยี่สิบสี่ปี โดยที่เขากล่าวถึงความงดงามอันวิจิตรของภาพจิตรกรรมภูมิทัศน์ของบรรดาศิลปินชั้นครูในอิตาลีและดัตช์ช่วงสมัยศตวรรษที่ 17 ซึ่งเขาถือว่าผลงานเหล่านั้นไม่ใช่เพียงแค่ภาพทิวทัศน์ธรรมดาเท่านั้น แต่เขามองด้วยมุมทางนักธรณีวิทยา นักพฤกษศาสตร์ที่เห็นชีวิตจิตวิญญาณของธรรมชาติที่โอบอุ้มหล่อเลี้ยงกันไว้ นี่คือแนวคิดที่สำคัญในฐานะนักวิจารณ์ศิลปะที่ไม่ใช่แค่การชื่นชมสีสันหรือรูปทรงจากภาพเขียนแล้วตีมูลค่าราคางาน โดยไมได้สะท้อนบริบททางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมใดเลย

และหลังจากนั้นเขาก็สร้างสรรค์ตัวอักษรผ่านแนวคิดการวิจารณ์ออกมาอย่างต่อเนื่องในชุดความคิดทางศิลปะ เช่น ว่าด้วยเรื่องหลักการพื้นฐานทางศิลปะ อำนาจ การลอกเลียนแบบ ความจริง ความงาม ความสัมพันธ์ นอกจากนั้นยังมีหนังสือ The Stones of Venice (1851-1853) ว่าด้วยเรื่องความงามของสถาปัตยกรรม หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมในสมัยวิคตอเรียของอังกฤษกับสถาปัตยกรรมกอธิคในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ในเชิงเสียดสีวิพากษ์วิจารณ์การใช้แรงงานในยุคอุตสาหกรรม

. . .

แนวความคิดของ จอห์น รัสกิน จากเกาะอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 19 ไม่ได้จำกัดบริเวณดินแดนที่มีน้ำล้อมรอบเท่านั้น จิตวิญญาณแห่งการขบถต่อระบบทางสังคม การเมือง ศิลปะ วัฒนธรรม ของเขาในฐานะนักวิจารณ์ศิลปะและผู้เห็นความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน เกษตรกรในยุคแห่งความผันผวนเปลี่ยนแปลงขณะนั้น จนมีการกล่าวขานถึงแนวคิดเชิงสังคมนิยมในห้วงการปล่อยพลังความคิดและการปฏิบัติการทางสังคม ศิลปวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งสมาคม St. George ที่เมือง Sheffield การสนับสนุนสถาปนากลุ่มพี่น้อง Pre-Raphaelite หรือการก่อตั้งสมาคมหัตถกรรมขึ้นเพื่อต่อรองเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กระแสหลัก อันเป็นผลให้แนวความคิดในลักษณะนี้แพร่เข้าไปในแผ่นดินใหญ่ยุโรป ที่เห็นได้ชัดเจนคือ กลุ่ม Bauhaus ในเยอรมนี ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 (1919) ส่วนหนึ่งก็ได้รับแนวคิดการต่อต้านการยึดครองกระแสหลักจากเกาะอังกฤษด้วยเช่นกัน

ไม่ค่อยปรากฏในสารบบการวิจารณ์ศิลปะเท่าไรนักที่วงการศิลปะในประเทศไทยจะหยิบยกเอาแนวคิดของ จอห์น รัสกิน มาประยุกต์ใช้ในวิถีของการวิจารณ์ศิลปะ การเมือง สังคม วัฒนธรรม หรือสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมหากาพย์ Modern Painters ที่ประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในท้ายบทที่ 1 ในบทที่ว่า Modern Painters ต้องคู่ควรกับ Modern Criticism การพรรณนาอย่างแยบยล ความเชี่ยวในการใช้ภาษาที่บ่มเพาะมาจากคัมภีร์ไบเบิลทำให้รัสกินสามารถอุปมาอุปไมยในการเปรียบเทียบ วิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างคมคาย...

เชื่อว่าบทความสองชิ้นของรัสกินที่นำมาเสนอในชุดความคิดเรื่อง “The Nature of Gothic” จากหนังสือ The Stones of Venice และ “The Work of Iron” จะทำให้ผู้อ่านได้รับรู้อรรถรสของภาษาท่วงทำนองของการวิจารณ์จากนักวิจารณ์นามอุโฆษในสมัยวิคตอเรีย

และที่สำคัญจะเป็นการเปิดประตูสู่การวิจารณ์ศิลปะที่แตกต่างจากนักคิดนักวิจารณ์แผ่นดินใหญ่ยุโรปก็อาจเป็นได้  ไม่เชื่อลองอ่านและพินิจดู


บางส่วนจาก บทนำ โดย ถนอม ชาภักดี 
ในเล่ม ว่าด้วยศิลปะและชีวิต (On Art and Life)

----------

อ่านงานเขียนเพิ่มเติมของ ถนอม ชาภักดี 
คลิก วัฒนธรรมทัศนาคืออะไร?!
----------

สนพ.สมมติ ขอแนะนำชุดหนังสือในราคาพิเศษ

Set เด็กอาร์ตต้องอ่าน ศิลปะ สถาปัต ดนตรี วรรณกรรม

Set นักคิดทางการเมืองคนสำคัญ 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้