Poem& Rhyme ภาษาแห่งการวิพากษ์การเมือง

Last updated: 21 ส.ค. 2563  |  2468 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Poem& Rhyme ภาษาแห่งการวิพากษ์การเมือง


พอปืนเปรี้ยงแปลบไปในมณฑล


ก็รู้ว่าประชาชนจะชิงชัย

ครานั้น...2516

บทกวีเคยใช้เป็นถ้อยถางทางภาษาที่ให้ผู้อ่านได้เสพผ่านอักษรเพื่อสื่อภาพของการวิพากษ์วิจารณ์รัฐในการต่อสู้ในประวัติศาสตร์ เราจะเห็นวิธีการเล่าที่บ้างก็นำเรื่องของตาสีตาสาที่ลำบากมาให้เห็นเช่นในบท “คำขาดของทิดเที่ยง”  เพื่อสะท้อนความล้มเหลวของรัฐผ่านความเป็นอยู่ของเขาเหล่านั้น

“คราน้ำท่วมกูทุกข์ ครั้นข้าวสุกกูโศก ให้แบกโลกทั้งโลก ก็บรรลัย”

ภาพตัวแทนบางอย่างถูกยกขึ้นมาใช้แทนกลุ่มผู้ปรารถนาในเสรีภาพ บ้างก็นก บ้างก็เหยี่ยว และบ้างก็แทนกลุ่มชนเหล่านั้นด้วยภาพของนักรบผ่านการใช้ขนบเพลง “เจ้าขุนทอง” อันหมายความถึงนักรบในสมัยอยุธยามาเล่าใหม่เป็นเจ้าขุนทองเดือนตุลา ผู้กล้าหาญและแบกความหวังไปต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

อาจกล่าวได้ว่ากลอน เรื่องสั้น หรืองานเขียนใด ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์และความกล้าหาญในการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตัวรัฐบาลได้แจ้งเกิดนักเขียนจำนวนมาก และปูทางมายังการใช้งานเขียนในช่วงเวลาต่อมา

แน่นอนงานชิ้นนั้นได้รับการยกย่องเชิดชู  เช่นกันกับนักเขียนที่ได้รับการชื่นชมในฐานะกวีแห่งรัตนโกสินทร์ กระทั่งได้ตำแหน่งทางการเมือง ในฟากฝั่งเดียวกันกับที่งานกวีของตนเองเคยวิพากษ์ในกาลก่อน คำกลอนเหล่านั้นจึงอาจเป็นเพียงถ้อยคำไพเราะด้วยพรสวรรค์ทางภาษา แต่แห้งแล้งเหลือเกินในอุดมการณ์

ในปัจจุบันท่ามกลางความพยายามในการย้อนกลับมาของกฎหมายที่กดหัวประชาชนในการแสดงออกซึ่งเสียงแห่งตน ก็เป็นเช่นกันกับการกับมาของกวี

ในประเภทที่ต่างออกไป

ครานี้...2562

เพลง “ประเทศกูมี” กลายเป็นกระแสอย่างรวดเร็วกับการใช้เพลงแร็พในการวิพากษ์รัฐบาลและประวัติศาสตร์การเมืองในประเทศไทยอย่างตรงไปตรงมาพร้อมกับมิวสิควิดีโอที่เล่นล้อไปเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในยุคหกตุลา ทั้งการวาดแขนเชียร์และโทนสีขาวดำในลักษณะของการอ้างอิงเทคโนโลยีการถ่ายภาพในอดีต 

นอกเหนือจากวิถีทางอันเฉพาะของฉันทลักษณ์แบบเพลงแร็พที่บางครั้งทำนองอาจจะไม่ต่างกันซึ่งทำให้เราเสพภาษาได้โดยละเอียดแล้ว การปะทะกันของขนบความเป็น ‘กวี’ ในวิถีที่ต่างกันก็เป็นอีกหนึ่งนัยสำคัญที่น่าสนใจอีกด้วย 

หนึ่งที่เห็นได้ชัดในเพลงแร็พคือ การเรียนรู้ในประวัติศาสตร์ของคนรุ่นใหม่ ที่ทำให้พวกเขาพูดถึงตัวเองน้อยลงและมุ่งไปวิพากษ์ที่ตัวรัฐบาลและระบบการบริหารประเทศอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น ในเพลงประเทศกูมีเอง เราแทบไม่เห็นภาพของการแทนตัวเองด้วยสัญญะใดๆ นอกจาก ‘กู’ ... กูผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศที่มีเหตุการณ์อันไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศที่อ้างตัวเป็นประเทศประชาธิปไตย ทั้งเรื่องของระบบกฎหมาย การคอร์รัปชั่น และประวัติศาสตร์อันโหดร้ายที่ถูกทำให้หายไปจากความรับรู้ของคนรุ่นหลังอยู่เสมอ และไม่เคยได้รับความเป็นธรรมแม้ในปัจจุบัน

“ประเทศที่ใจกลางกรุงกลายเป็นทุ่งสังหาร

ประเทศที่ผู้นำทานอิฐทานปูนเป็นของหวาน”

ไม่ใช่เพียงประเทศกูมีเท่านั้นที่ออกมาใช้เพลงแร็พในการวิพากษ์การทำงานของรัฐและเรื่องราวอันฟอนเฟะที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย มีเพลงอีกเป็นจำนวนมากทั้งในและนอกกระแสที่ใช้ฉันทลักษณ์ของความเป็น ‘แร็พ’ ในการออกมาวิพากษ์รัฐบาลและประเทศไทย เช่น เพลงของ section 44 ของ P9D ที่ออกมาวิพากษ์การใช้กฎหมายมาตรา 44 หากแต่ภาษาที่มีความรุนแรงกว่า จึงอาจทำให้เพลงไม่ได้เป็นที่พูดถึงหรือถูกรองรับให้มีการดาวโหลดในแอพลิเคชั่นสำหรับฟังเพลงได้อย่างเพลงประเทศกูมี

“ซ่องสุมเอาแต่พวกของพวกมึงแม่งโคตรเหี้ย

ถือกฎหมายแล้วใครจะกล้าไปจวกมึงแม่งโคตรเหี้ย

ทำคนบริสุทธิ์ตายแล้วยังให้ท้ายแม่งโคตรเหี้ย

กากีหาดีไม่ได้แม่งหาง่ายแต่โคตรเหี้ย”

สิ่งหนึ่งที่ไม่มีปรากฏอยู่ในเพลงแร็พอย่างน้อยก็จากประสบการณ์ที่ผ่านหูนั้น คือการ ‘ปลุกระดม’ อย่างที่เราเคยเห็น ฉะนั้นในบทเพลงเรานี้ เราจะเห็นการแสดงออกซึ่งความคิดของปัจเจกอย่างเสรีโดยไม่มีการสร้างตัวละครเพื่อเล่าเรื่องราวของใคร ภาพตัวแทนอย่าง ‘ใบไม้’ ‘นกพิราบ’ หรือพวงดอกไม้ใบกาหลงใดๆ ก็แทบไม่ปรากฏให้เห็นในเพลงแร็พอันวิพากษ์รัฐในปัจจุบัน

แต่หากเราจะกล่าวว่า ความตรงไปตรงมาเหล่านั้นขาดซึ่งวรรณศิลป์และความงามทางภาษาก็คงไม่ใช่

แร็พมีฉันทลักษณ์ของมัน ฉันทลักษณ์ที่ส่งสัมผัสในพยางค์หรือสองพยางค์สุดท้าย (Rhyme) บางครั้งเราจะเห็นการเล่นคำ flip ซึ่งรวมไปถึงการส่งสัมผัสคำที่น่าสนใจ ทั้งยังเปิดโอกาสให้เกิดการเลี่ยงสัมผัส กล่าวคือ อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้สัมผัสสระเดียวกันในการรับกันในทุกครั้ง หากแต่สามารถใช้คำที่มีเสียงคล้ายกันในการรับสัมผัสของวรรคก่อนหน้าได้

“นี่มันเมืองมิตรสยามหากใครมาหยามก็เป็นมิตร

อยากเป็นรัฐบาลแค่ส่งสัญญาณมาเป็นซิก”

แน่นอนว่าฉันทลักษณ์เหล่านี้อ้างอิงตามฉันทลักษณ์การส่งสัมผัสแบบตะวันตก เนื่องจากประวัติศาสตร์ของเพลงแร็พเดิมนั้นมาจากตะวันตก จากกลุ่มชนชั้นแรงงานและยากไร้ ซึ่งต่อมามันได้กลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือวิพากษ์รัฐ พูดเรื่องปัญหาการเมือง และการเรียกร้องสิทธิต่างๆ แรกเริ่มเมื่อวัฒนธรรมแร็พเข้ามาในเมืองไทย สำนึกแห่งการวิพากษ์ที่ไม่ได้มาพร้อมกัน อาจกล่าวได้ว่าการใช้แร็พเป็นเครื่องมือทางภาษาในการวิพากษ์รัฐนั้นปรากฏอย่างชัดเจนในระยะหลัง เจาะกลุ่มเข้าอย่างจังกับกลุ่มเยาวนชน ทำให้เหตุการณ์ทางการเมืองที่รัฐพยายามปิดหูปิดตาคนรุ่นใหม่ได้รับการรับรู้มากขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน เพลงแร็พเป็นอีกอีก Genre ที่เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือให้เลือกใช้ในการวิพากษ์รัฐบาลนอกเหนือจากเรื่องสั้นและกวีแล้ว เหนือกว่านั้นคือวิธีการเสพที่ผ่านทั้งคำ เสียง และดนตรี อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้ยินน้ำเสียงโดยตรง หาใช่การอ่านหนังสือแล้วจินตนาการน้ำเสียงจากอักษรเพื่อมาพบว่าแท้จริงน้ำเสียงอันฮึกเหิมที่เราเคยชื่นชมนั้นไม่เคยมีอยู่จริง 

ในช่วงเวลาหนึ่ง ผู้หลงลืมอุดมการณ์เหล่านี้เคยเป็นวัยรุ่นซึ่งอหังการ์ที่กล้าออกมาต่อสู้กับอำนาจอันไม่เป็นธรรมของรัฐ เช่นกันกับกลุ่มวัยรุ่นเหล่านี้

ในช่วงเวลานั้น บทกวีอันเคยถูกจำกัดไว้เพียงงานประเภทสายลมแสงแดด ได้ออกมาวิพากษ์อำนาจรัฐก่อนจะได้รับการยอมรับอย่างยิ่งเช่นกันกับเพลงแร็พเหล่านี้ ที่แจ้งเกิดตัวเองด้วยผู้เข้าชมสูงถึงแปดสิบล้านวิว

หวังเพียงอย่างเดียว ว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป อุดมการณ์เหล่านั้นจะไม่ถูกลืมอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับกวีรุ่นก่อนเท่านั้น


เชิร์ลตะวัน เขียน
==================


-- บทความแนะนำ --




-- ชุดหนังสือบทกวีแนะนำ ในราคาพิเศษ -- (คลิกที่รูปเพื่อดูรายละเอียดเพิ่ม)


1. ปลดปล่อยอิสรภาพผ่านตัวอักษร


=====

2. มากกว่าคำคมและข้อคิดให้กำลังใจ 


=====

3. ขบถ ประหลาดล้ำ เสียดเย้ย



==================


ORDER NOW

ยกชุด 8 เล่มใหม่ล่าสุด!!! จากสำนักพิมพ์สมมติ จับจองเป็นเจ้าของหนังสือสุดสวยทั้ง 8 เล่มนี้ -- ในราคาพิเศษ 

8 เล่มครบทุกชุดงาน ครบทุกอรรถรส (คลิกที่ชื่อเล่ม / ชื่อนักเขียน เพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)


นี่คือความมุ่งมั่นตั้งใจหนึ่ง ที่เรากล้ารับประกันถึงความคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ของผู้อ่าน


หากหนังสือทุกเล่มที่ผ่านมาของเรา พอจะนำเสนอให้เห็นถึง ความเอาจริงเอาจังต่อวิชาชีพและมาตรฐานการทำหนังสือของสำนักพิมพ์ การสนับสนุนของผู้อ่าน จะทำให้ความตั้งใจของเราไม่สูญเปล่า

สั่งซื้อยกชุดในราคาพิเศษ คลิก https://bit.ly/3alEWMu

สนพ.สมมติขอขอบคุณทุกแรงสนับสนุน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้